วรรณกรรมท้องถิ่น: มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ

ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา

 

ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ( Intangible Cultural Heritage) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 หมายถึง ความรู้ การแสดงออก การประพฤติปฏิบัติ หรือทักษะทางวัฒนธรรมที่แสดงออกผ่านบุคคล กลุ่มบุคคล หรือชุมชน ยอมรับและรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และมีการสืบทอดกันมาจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม 

 

วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยลักษณะหนึ่ง แบ่งเป็นหมวดใหญ่ได้ 2 ลักษณะ  วรรณกรรมพื้นบ้าน หมายถึงเรื่องราวที่ถ่ายทอดอยู่ในวิถีชีวิตชาวบ้าน ด้วยวิธีการบอกเล่า เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นภาพ ได้แก่ นิทานพื้นบ้าน ตำนานพื้นบ้าน บทร้องพื้นบ้าน บทสวดหรือบทกล่าวในพิธีกรรม สำนวน ภาษิต  คำพูดหรือคำกล่าวที่มีสัมผัสคล้องจองกัน ปริศนาคำทายและตำรา  หมวดภาษา  หมายถึง เครื่องมือที่ใช้สื่อสารในวิถีชีวิตของแต่ละกลุ่มชน ทั้งเสียงพูด ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ ซึ่งสะท้อนโลกทัศน์ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาถิ่น ภาษาชาติพันธุ์ และภาษาสัญลักษณ์

 

คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มีหน้าที่พิจารณา  ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ตามรายการเบื้องต้นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในระดับจังหวัดที่เสนอขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการตระหนักถึงคุณค่า ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ  ส่งเสริมศักดิ์ศรีทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของกลุ่มชนที่มีอยู่ทั่ว เป็นหลักฐานสำคัญในการแสดงความเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่อยู่ในอาณาเขตประเทศไทย ก้าวให้ทันกระแสโลกที่มีความเคลื่อนไหว  และปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อันจะเป็นการปูทางไปสู่การอนุรักษ์ สร้างสรรค์ พัฒนา สืบทอดอย่างเป็นระบบและยั่งยืนต่อไป

 

ปัจจุบันมีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ประกาศขึ้นบัญชีระหว่าง 2552-ปัจจุบัน ทั้งหมด 336 รายการ เฉพาะหมวดวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา 86 รายการ เป็นนิทาน 16 เรื่อง  ตำนาน 17 เรื่อง บทร้อง 4 บท บทสวด 4 บท ตำรา 8 เรื่อง ภาษาและอักษร 24 ชนิด

 

การขึ้นบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติมีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ที่ประกาศใช้ในราชกิจจา-นุเบกษา วันที่ 8 ตุลาคม 2561 สามยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า" วันที่ 14 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมแคนทารี่ ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)