สามทศวรรษแห่งวรรณกรรมล้านนาศึกษา (พ.ศ. 2530 – 2560)

รองศาสตราจารย์ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล

 

ศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

การศึกษาวรรณกรรมล้านนาในสถาบันอุดมศึกษาของไทย เริ่มต้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2509 ผลงานศึกษาเชิงภาพรวมในยุคบุคเบิกคือการศึกษาของประคอง นิมมานเหมินท์ มณี พยอมยงค์ และ สิงฆะ วรรณสัย ในช่วงสองทศวรรษแรก(พ.ศ.2509 – 2529) เป็นงานเชิงสำรวจ รวบรวม ปริวรรต มีงานศึกษาวิเคราะห์วิจัยจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มากนัก ช่วงสามทศวรรษต่อมา (พ.ศ. 2530 – 2560) เมื่อภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวรรณกรรมล้านนาขึ้น (เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 จนปิดหลักสูตรปี พ.ศ. 2557) มีผู้สำเร็จการศึกษาจำนวน 62 คน มีวิทยานิพนธ์ที่เลือกศึกษาด้านวรรณกรรมล้านนาจำนวน 50 รายการ ส่วนที่เลือกศึกษาด้านภาษามีเพียง 12 รายการ นอกจากนี้ การเปิดหลักสูตรศิลป-ศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทยของมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ทำให้เกิดวิทยานิพนธ์ด้านวรรณกรรมล้านนาศึกษาเป็นจำนวนไม่น้อย ตลอดจนหลักสูตรบัณฑิตศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยของสถาบันต่างๆ เช่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ก็ทำให้เกิดวิทยานิพนธ์ด้านวรรณกรรมล้านนาศึกษาจำนวนหนึ่ง งานศึกษาวิจัยวรรณกรรมล้านนาในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาดังกล่าวล้วนมีพัฒนาการที่น่าสนใจ ทั้งในด้านการค้นพบต้นฉบับวรรณกรรมใหม่ๆ การปริวรรต การชำระ การวิเคราะห์วิจารณ์ในเชิงวรรณกรรมศึกษา การแสวงหาแนวคิดทฤษฎีทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มาปรับใช้ในการตีความตัวบท การมุ่งค้นหาลักษณะเด่น ความหมาย ภูมิปัญญาและคุณค่าของวรรณกรรมล้านนา บทเรียนจากสามทศวรรษนี้จะเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นในอนาคตต่อไป

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า" วันที่ 14 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมแคนทารี่ ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)