อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย : คุณูปการต่อการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์

 

ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาวิชาวรรณกรรมพื้นเมือง

 

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย  เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของล้านนา ในฐานะผู้ที่ศึกษาและเผยแพร่ความรู้ด้านวรรณกรรมล้านนาในสมัยเริ่มมีความตื่นตัวในการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่น ได้สละเวลาให้ความรู้แก่นักวิชาการที่ประสงค์จะค้นคว้าวิจัยวรรณกรรมล้านนาหลายคน และเป็นอาจารย์สอนวิชาอักษรธรรมล้านนาและวรรณกรรมล้านนาแก่นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ นอกจากเขียนบทความและตำราเกี่ยวกับพิธีกรรมตัวอักษร และวรรณกรรมล้านนา ตลอดจนแต่งบททำขวัญ บทเวนทาน คำร่ำและนิราศคำกลอนไว้หลายเรื่องแล้ว ยังปริวรรตถ่ายถอดวรรณกรรมล้านนาเรื่องสำคัญๆจากอักษรธรรมล้านนาเป็นอักษรไทยไว้เป็นจำนวนมาก ผลงานปริวรรตมีทั้งกฎหมาย วรรณกรรมตำนาน วรรณกรรมประกอบพิธีกรรม วรรณกรรมคำสอน  วรรณกรรมชาดก ตลอดจนวรรณกรรมนิทานที่มีที่มาจากวรรณกรรมสันสกฤต   ผลงานแปลวรรณกรรมเรื่องตำนานพระเจ้าเลียบโลกเป็นภาษาไทยมีผู้นำมาพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับ ดร.ฮารัลด์ ฮุนดีอุส ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิเยอรมันเดินทางไปถ่ายสำเนาคัมภีร์ใบลานตามวัดต่างๆ ในภาคเหนือด้วยไมโครฟิล์ม เพื่ออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผลงานที่เกิดจากการทุ่มเทแรงกายแรงใจของอาจารย์สิงฆะ วรรณสัยกล่าวได้ว่ามีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นในสังคมไทยในสมัยต่อๆ มา

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า" วันที่ 14 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมแคนทารี่ ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)