ความเชื่อเรื่องปาฏิหารย์พระบรมธาตุในสังคมไทย

วันที่ออกอากาศ: 4 มกราคม 2558
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การสร้างเจดีย์เป็นคติความเชื่ออย่างหนึ่งในสังคมไทย เป็นการสร้างศาสนสถานเพื่ออุทิศถวายเป็นพุทธบูชา เรียกกันว่า เจดียวัตถุ แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ พระธาตุเจดีย์ ถวายบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมถึงอัฐิธาตุของพระอรหันตสาวก พระธรรมเจดีย์ ถวายบูชาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พระบริโภคเจดีย์ อนุสรณ์สถานที่เกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอรหันตสาวก อย่างเช่นสังเวชนียสถานทั้ง 4 และ อุเทสิกเจดีย์ สิ่งเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเช่นรอยพระพุทธบาทต่างๆ  

 

พระธาตุเจดีย์ ถือเป็นเจดีย์วัตถุสูงสุดที่ควรบูชาตามคติทางพุทธศาสนาของทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าความเชื่อเรื่องการถวายบูชาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าเข้ามาพร้อมกับการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในอาณาจักรต่างๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ประเทศไทยปัจจุบัน

 

พบพระธาตุเจดีย์สมัยทวารวดีที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในกรุใต้ดินในพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสาน พระธาตุเจดีย์ในภาคเหนือตั้งแต่แคว้นหริภุญชัยโบราณไปจนถึงแคว้นล้านนา พระธาตุเจดีย์ในกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนพระธาตุเจดีย์ในเมืองโบราณทางภาคใต้ อย่างเช่นพระบรมธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ที่นครศรีธรรมราช 

 

พุทธศาสนิกชนตั้งแต่ยุคโบราณถือว่าพระบรมสารีริกธาตุเป็นพระพุทธสรีระส่วนหนึ่งของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนองค์พระพุทธเจ้าที่เป็นรูปธรรม ในคัมภีร์โบราณได้พรรณนาถึงลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุ โดยแบ่งไว้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ประเภทที่ยังคงรูปอัฐิธาตุ เช่น พระทนต์ พระเขี้ยวแก้ว พระรากขวัญหรือกระดูกไหปลาร้า ข้อนิ้วพระหัตถ์ เป็นต้น

 

อีกประเภทหนึ่งเป็นพระพุทธสรีระซึ่งสลายตัวเป็นเม็ดเล็กๆ มันเงา และมีสีสันต่างๆ ซึ่งเชื่อกันมาแต่โบราณว่ามีปาฏิหารย์เพิ่มจำนวนได้ และก่อให้เกิดรัศมีที่เรียกว่า พระบรมสารีริกธาตุเสด็จปาฏิหารย์ 

 

การแสดงปาฏิหารย์ของพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเรื่องราวที่อยู่ในความเชื่อของคนไทยมาตั้งแต่โบราณ ทั้งจากการบอกกล่าวของพระสงฆ์เกจิอาจารย์และชาวบ้านทั่วไป แต่ที่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรมักเป็นบันทึกเรื่องราวในอดีตของชนชั้นสูง อาทิ จารึก ตำนาน และพงศาวดารต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับบุญบารมีของพระมหากษัตริย์ที่พบเห็นปรากฎการณ์เสด็จปาฏิหารย์ของพระบรมสารีริกธาตุ

 

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดอยู่ในตำนานพระธาตุหริภุญชัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 พระยาอาทิตยราชซึ่งเป็นกษัตริย์ครองนครหริภุญชัยในราชวงศ์จามเทวีทอดพระเนตรเห็นแสงรัศมีเป็น 6 สีจากพื้นดินซึ่งมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานฝั่งอยู่ใต้ดิน จึงทรงสร้างพระธาตุเจดีย์สำหรับถวายบูชา

 

ในจารึกวัดช้างล้อม กรุงสุโขทัย กล่าวถึงสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไททรงสร้างพระพุทธรูปศิลาและทอดพระเนตรเห็นพระศรีรัตนมหาธาตุกระทำปฏิหารย์สว่างดังลวดเงินเป็นแผ่นขนาดใหญ่เท่าเสื่อสาด  

 

ในพระราชพงศาวดารอยุธยาบันทึกว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุเสด็จปฏิหารย์คล้ายดาวหางตกลงมาที่พื้น จึงทรงสร้างพระปรางค์วัดพระมหาธาตุในบริเวณนั้น

 

นอกจากนี้ ยังมีบันทึกที่กล่าวถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทอดพระเนตรเห็นปฏิหารย์พระบรมสารีริกธาตุถึง 4 ครั้ง ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะทรงทำสงครามยุทธหัตถี

 

ในสมัยรัตนโกสินทร์มีบันทึกว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่างทรงมีทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุเสด็จปฏิหารย์ที่องค์พระปฐมเจดีย์ในลักษณะของการปรากฎรัศมีต่างๆ เช่นเดียวกัน