วิวัฒนาการของศิลปะในคาบสมุทรภาคใต้ของไทย

วันที่ออกอากาศ: 20 เมษายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ภาคใต้เป็นแหล่งงานศิลปกรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนา ทั้งงานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม รวมถึงงานประณีตศิลป์ มีตัวอย่างงานสำคัญๆ ในแต่ละยุคสมัยซึ่งมักถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงในการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ของประเทศไทย ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย ยุคอยุธยา จนถึงยุครัตนรัตนโกสินทร์ ภาคใต้จึงเป็นแหล่งศึกษาพัฒนาการของงานศิลปะไทยได้เป็นอย่างดี

 

ในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยปรากฎแหล่งโบราณคดีที่ค้นพบผลงานศิลปะที่โดดเด่นของมนุษย์ในสังคมก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ประมาณ 2,500-3,000 ปีที่แล้ว แบ่งได้ 2 ประเภท ประเภทแรกคือศิลปะภาพเขียนผนังถ้ำ และประเภทที่ 2 คือเครื่องประดับ โดยเฉพาะลูกปัดหินต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าจากพ่อค้าอินเดียที่เดินเรือเข้ามายังคาบสมุทรภาคใต้ทั้งฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย

 

จังหวัดกระบี่ถือเป็นแหล่งรวมภาพเขียนฝนังถ้ำและลูกปัด โดยเฉพาะที่อำเภอคลองท่อมซึ่งอยู่ติดทะเลฝั่งอันดามัน มีถ้ำติดทะเลที่ปรากฏภาพเขียนอยู่เป็นจำนวนมาก มีภาพเขียนคนแต่งตัวประหลาดสวมเสื้อคลุมและสวมเครื่องประดับศีรษะ ชาวบ้านเรียกว่าผีหัวโต ภาพลายประทับฝ่ามือมนุษย์ ภาพวาดสัตว์ทะเล ซึ่งเป็นภาพที่คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ใช้ในการถ่ายทอดความนึกคิด และอาจจะใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประกอบพิธีกรรมบางอย่างเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ชุมชนที่อยู่อาศัย 

 

ประมาณคริสตวรรษที่ 7 ชุมชนบริเวณนี้เริ่มได้รับอิทธิพลของศาสนาพรามหณ์และพุทธศาสนาผ่านพ่อค้าและนักบวชชาวชมพูทวีปที่เดินทางผ่านเข้ามาสู่คาบสมุทรภาคใต้ จึงมีปฏิสัมพันธ์กับคนพื้นเมืองและถ่ายทอดอารยธรรมความเจริญของอินเดียโบราณจนวิวัฒนาการกลายเป็นบ้านเมืองภายใต้ระบบกษัตริย์ที่อิงอยู่กับฐานะสมมุติเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์

 

ศิลปวัตถุจากยุคนี้ส่วนใหญ่เป็นรูปเคารพต่างๆ ทั้งในพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ที่นำเข้ามาจากอินเดีย โดยมีศิลปวัตถุชิ้นที่สำคัญๆ ได้แก่ เทวรูปพระวิษณุสวมหมวกทรงกระบอก พระพุทธรูปแบบอมราวดี ซึ่งต่อมาเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้ช่างท้องถื่นสร้างสรรค์งานของตนเอง

 

นอกจากอารยธรรมอินเดียแล้ว ในช่วงคริสตวรรษที่ 7-9 รัฐศรีวิชัยในหมู่เกาะอินโดนีเซียซึ่งควบคุมเส้นทางการค้าระหว่างจีนกับอินเดีย มีศูนย์กลางรัฐอยู่ในเกาะสุมาตราตอนใต้ ก็ได้แผ่ขยายอิทธิพลข้ามช่องแคบมะละกาแหลมมลายูเข้ามายังคาบสมุทรภาคใต้ โดยปรากฎจารึกของกษัตริย์ศรีวิชัยที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุถึงการสร้างเทวาลัยถวายพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ตามคติพุทธมหายาน ซึ่งต่อมามีการค้นพบศาสนสถานโบราณขนาดใหญ่ ได้แก่ สถูปที่วัดแก้ว สถูปที่วัดหลง และองค์พระบรมธาตุไชยยา 

หลังจากรัฐศรีวิชัยเสื่อมอำนาจช่วงประมาณคริสตวรรษที่ 13 ภาคใต้ก็ได้รับอิทธิพลด้านศิลปะของราชวงศ์โจละจากอินเดียใต้ ซึ่งนับถือพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ จึงพบการบูรณะดัดแปลงศาสนสถานและเทวรูปดั่งเดิมต่างๆ ให้สะท้อนหลักพุทธศาสนาแบบเถรวาท อาทิ การบูรณะสถูปแบบพุทธมหายานให้เป็นพระบรมธาตุเจดีย์ การประดิษฐานพระพุทธรูปแทนที่เทวรูปและรูปพระโพธิสัตว์ต่างๆ

 

จนถึงยุครุ่งเรืองของอาณาจักรอยุธยา เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองไชยา ซึ่งถือเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคใต้ ได้ถูกผนวกกลายเป็นหัวเมืองสำคัญของอาณาจักรอยุธยา ขณะเดียวกันช่างศิลปะท้องถิ่นก็รับเอาอิทธิผลด้านศิลปะมาจากอยุธยาจนเกิดเป็นศิลปะอยุธยาสกุลช่างไชยา สกุลช่างนครศรีธรรมราช สกุลช่างสงขลา

 

ตัวอย่างงานศิลปะสำคัญๆ เช่นภาพปูนปั้นที่วิหารพระทรงม้าในวัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ด้านหนึ่งเป็นภาพเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช และอีกด้านมีภาพพญามารยืนห้ามไม่ให้พระโพธิสัตว์เสด็จออกผนวช เป็นศิลปะปูนปั้นที่งดงามมากสร้างมาตั้งแต่ต้นสมัยอยุธยา และต่อมามีการบรูณะซ่อมแซมในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ