จากปราสาทหินถึงกู่ในอีสานใต้

 

วันที่ออกอากาศ: 8 มิถุนายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

โบราณสถานหลายแห่งที่เราพบในภาคอีสานตอนล่างตั้งแต่นครราชสีมาไปจนถึงอุบลราชธานี ส่วนใหญ่เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมเขมรที่แพร่อิทธิพลเข้ามาจากศูนย์กลางของอาณาจักรกัมพูชาโบราณ ตั้งอยู่บริเวณจังหวัดเสียมเรียบของประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน

 

ในสมัยโบราณจะเรียกบริเวณที่ตั้งเมืองยโสธาราปุระ ซึ่งเป็นเมืองพระนครศูนย์กลางอำนาตของอาณาจักรเขมรว่า เขมรต่ำ หรือเขมรตอนล่าง ส่วนบริเวณภาคอีสานตอนใต้ที่ตั้งอยู่อีกฝั่งของเทือกเขาพนมดงรักเรียกว่า เขมรสูง ตามลักษณะของภูมิประเทศ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมรมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14-15 ภายหลังจากความเสื่อมลงของวัฒนธรรมทวารวดี

 

นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 ภาคอีสานตอนล่างจึงกลายเป็นพื้นที่ในปริมณฑลทางอำนาจปกครองของอาณาจักรกัมพูชาโบราณ ทำให้ศาสนาฮินดู ทั้งลัทธิไศวะนิกาย และลัทธิไวษณพนิกาย เจริญรุ่งเรืองขึ้นแทนที่พุทธศาสนา มีการก่อสร้างศาสนสถานหรือเทวสถานจำนวนมาก ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กทั่วในอาณาบริเวณ

 

ปัจจุบันมีการขุดพบซากโบราณสถานขนาดต่างๆ ได้มากกว่า 100 แห่ง บ้างก่อด้วยศิลาแลง บ้างก่อด้วยหินทรายบ้าง หรือก่อด้วยอิฐไม่สอปูนบ้าง หากเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่จะเรียกว่า ปราสาท ถ้ามีขนาดเล็กมักนิยมเรียกว่า กู่

 

โบราณสถานที่น่าสนใจในเขตอีสานใต้มีอยู่เป็นจำนวนมาก เฉพาะจังหวัดมหาสารคามก็มีกู่จำนวนมากกว่า 13 แห่ง อาทิ กู่ทอง กู่แก้ว กู่น้อยบ้านหมี่ รวมถึงกู่สันตรัตน์ ซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุดและยังอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ในจังหวัดนครราชสีมามีศาสนสถานขนาดใหญ่ที่เรียกว่าปราสาทอย่างเช่นปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมวัน ปราสาทเมืองแขก รวมถึงกู่ต่างๆ ที่อยู่สร้างอยู่ในบริเวณใกล้เคียง

 

จังหวัดบุรีรัมย์มีปราสาทพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดสุรินทร์ในตัวเมืองมีปราสาทบ้านพลวงซึ่งเหลือแค่ปรางค์ประธานองค์เดียว หากเลยออกไปทางชายแดนติดกับกัมพูชาจะพบกลุ่มปราสาทตาเมือน ประกอบด้วยปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ต ออกไปทางจังหวัดศรีสะเกษก็มีปราสาทศีขรภูมิ ปราสาทเมืองที ส่วนในเขตจังหวัดศรีสะเกษมีปราสาทสระกำแพงใหญ่ และปราสาทสระกำแพงน้อย

 

คำว่า "ปราสาท" เป็นศัพท์ภาษาสันสกฤตที่รับมาจากวัฒนธรรมเขมร มิได้หมายถึงปราสาทราชวังของท้าวพระยามหากษัตริย์ แต่หมายถึงวิมานของเทพเจ้าซึ่งมนุษย์สร้างถวายบนพื้นพิภพให้เป็นที่ประทับของเทพเจ้า ซึ่งถือเป็นจุดศูนย์กลางของบ้านเมืองตลอดจนเป็นสถานที่กระทำพิธีสักการะบูชาเทพเจ้าของชนชั้นสูงโดยอาศัยพลานุภาพยึดโยงให้เกิดความเป็นเอกภาพของราชอาณาจักร ด้วยความเชื่อที่ว่าพระเจ้าแผ่นดินอวตารมาจากพระศิวะหรือไม่ก็พระวิศณุ

 

จนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันต์ที่ 7 ทรงเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนามหายานแบบวัชรยาน จึงได้ก่อสร้างรวมถึงบูรณะศาสนาสถานตามความเชื่อใหม่ นอกจากนี้ยังปรากฎในจารึกปราสาทพระขันธ์ที่นครธมว่า ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยการสร้างศาสนสถานที่เรียกว่า "ธรรมศาลา" คือที่พักคนเดินทาง และ "อโรคยศาล" ซึ่งเป็นสถานพยาบาล รวมจำนวน 102 แห่งกระจายตามเส้นทางจากเมืองพระนครไปยังเมืองต่างๆ ในเขตปริมณฑลซึ่งรวมถึงดินแดนของประเทศไทยในปัจจุบัน

 

กู่ ในอีสานใต้ส่วนใหญ่จึงน่าจะเป็นธรรมศาลาและอโรคยศาลที่เป็นโบราณสถานขนาดเล็ก โดยส่วนหนึ่งพบรูปพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุซึ่งเชื่อว่ามีอานุภาพในการรักษาอาการเจ็บป่วย รวมถึงขุดพบหม้อต้มยา เศษถ้วยหลงเหลืออยู่ด้วย