อาหารเช้าของคนไทย

 

 

วันที่ออกอากาศ: 31 สิงหาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

"กินข้าวกินปลามาหรือยัง" คำทักทายคุ้นเคยในตอนเช้าที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมการกินในสังคมไทย ซึ่งไม่ได้มีการแบ่งมื้ออาหารอย่างชัดเจน รวมถึงไม่ได้กำหนดประเภทอาหารรับประทานในแต่ละมื้อ

 

คนไทยสมัยก่อนใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำลำคลอง ซึ่งแหล่งอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือปลา สามารถหาจับขึ้นมาปรุงอาหารได้ง่าย ทานร่วมกับข้าวสวยที่เป็นอาหารจานหลักของสังคมไทย จนกลายเป็นสำนวนติดปากว่า "กินข้าวกินปลา" 

 

แม้แต่ในประเพณีการเลี้ยงพระของไทยซึ่งพระสงฆ์ฉันท์ได้ 2 มื้อ คือ มื้อเช้าและมื้อเพล เมื่อพิจารณาจากวรรณกรรมและหลักฐานทางประวัติศาสตร์เก่าๆ ที่พูดถึงการเลี้ยงพระเช้า ก็จะมีรายการอาหารไม่แตกต่างจากมื้อเพล หรือในเวลาตักบาตรเช้า คนไทยก็นิยมตักบาตรด้วยข้าวตามด้วยกับข้าวประเภทต่างๆ

 

แสดงให้เห็นว่าอาหารจากหลักของคนไทยไม่ว่าจะมื้อไหนๆ ก็คือข้าวและกับข้าว ซึ่งในค่านิยมปัจจุบันของคนไทยถือเป็นอาหารที่เรียกว่าหนักท้องอยู่พอสมควร

 

การแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็นอย่างชัดเจน เป็นวัฒนธรรมการบริโภคที่สังคมไทยรับมาจากวัฒนธรรมต่างชาติ ในช่วงปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัยอย่างชาติตะวันตก ตั้งแต่ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 3 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6

 

เริ่มจากสังคมชั้นสูงที่รับเอาประเพณีการรับประทานมื้อเช้าที่เป็นอิทธิพลทางวัฒนธรรมทั้งจากชาติตะวันตก จีน และมลายู ซึ่งทำให้สังคมไทยมีรายการอาหารให้เลือกทานในมื้อเช้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาติตะวันตกถือว่ามีวัฒนธรรมการบริโภคที่มีความพิถีพิถันในการเลือกอาหารมารับประทานเป็นมื้อเช้า และมีการวางแบบแผนเป็นกิจลักษณะ

 

อย่างอาหารเช้าแบบยุโรปที่เรียกว่า continento เกิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 รวมถึงอาหารเช้าแบบอเมริกันที่เรียกว่า American breakfast ซึ่งเน้นอยู่บนพื้นฐานของอาหารประเภทเนื้อ นม ไข่ และผลไม้

 

สำหรับอาหารเช้าที่สังคมไทยรับมาจากวัฒนธรรมจีน ได้แก่ โจ๊ก ก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้ม รวมถึงขนมจีบ ซาลาเปา ที่เรียกรวมๆ ว่าติ่มซำ นิยมทานร่วมกับชาหรือกาแฟ โดยเฉพาะในภาคใต้ของไทยนิยมทานติ่มซำกับชา จนมีเป็นคำศัพท์ที่เรียกอีกอย่างว่า แต่เตี้ยม เป็นวัฒนธรรมการรับประทานอาหารเช้านอกบ้านพร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวสารความคิดเห็นต่างๆ จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าสภากาแฟ

 

นอกจากนี้ ในสังคมภาคใต้ยังได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากโลกมลายู ซึ่งรับประทานเช้าประเภทข้าวกับแกง โดยเฉพาะข้าวมันที่หุงข้าวกับกะทินำมาทานกับน้ำพริกปลาแห้ง กุ้งป่น ไก่ทอด ถั่วลิสงคั่ว หรือจะทานร่วมกับแกงไก่หรือแกงกุ้งก็ได้ เป็นข้าวมันแบบแขกมลายูที่ภาษาถิ่นเรียกว่า นาซิ เลอมัก (Nasi Lemak)

 

จากการผสมผสานวัฒนธรรมอาหารของชนชาติต่างๆ เข้ามาในวัฒนธรรมการกินของเรา ทำให้สังคมไทยในปัจจุบันมีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารเช้าที่มีสีสันมากที่สุดชาติหนึ่งของโลก มีรายการอาหารเช้ามากมายให้เลือกรับประทานได้อย่างไม่จำเจ ทั้งอาหารหนักและอาหารเบา

 

ตั้งแต่ข้าวแกง ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว เกาเหลาเลือดหมู น้ำเต้าหู้ ข้าวเหนียวไก่ทอด หมูปิ้ง สลัดผัก ขนมปัง แซนวิส ไปจนถึงอาหารท้องถิ่นอย่างข้าวยำปักษ์ใต้ ข้าวซอย ขนมจีนน้ำเงี้ยว