ห้องน้ำในวัฒนธรรมไทย

 

วันที่ออกอากาศ: 11 มีนาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ห้องน้ำในสังคมไทยที่พบเห็นได้ในปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลแนวคิดมาจากสังคมตะวันตก ซึ่งมีการพัฒนานวัตกรรมและวัฒนธรรมการใช้ห้องน้ำมาก่อน โดยคำว่า ห้องน้ำ สันนิษฐานว่านำมาจากคำว่า Washroom หรือ Bathroom ในภาษาอังกฤษ โดยความหมายของห้องน้ำในบริบทของวัฒนธรรมไทยได้รวมลักษณะในการใช้ประโยชน์ 2 กิจกรรมไว้ในห้องเดียวกัน คือ การขับถ่าย และการอาบน้ำ ซึ่งแต่เดิมเราแยกพื้นที่สำหรับ 2 กิจกรรมนี้ออกเป็นส้วมและที่อาบน้ำ

 

ในวัฒนธรรมเดิมของไทยพบหลักฐานการสร้างห้องส้วมเป็นห้องเฉพาะอยู่บ้าง แต่สร้างไว้ให้ใช้สำหรับพระสงฆ์เท่านั้น ซึ่งตามพระธรรมวินัยให้พระสงฆ์ทำกิจกรรมเหล่านี้ในที่มิดชิด การค้นพบร่องรอยของส้วมที่เก่าที่สุดย้อนไปได้ถึงสมัยสุโขทัย ซึ่งปรากฏร่องรอยของฐานสงฆ์ในวัดอาวาสใหญ่ในเขตอรัญญิก เมืองกำแพงเพชร  

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่ได้ครองสมณเพศ ตั้งแต่กลุ่มชนชั้นสูงลงมาจนกระทั่งสามัญชนก็ไม่ได้มีการสร้างห้องส้วมเป็นการเฉพาะ สำหรับชาวบ้านจะใช้ท้องทุ่งหรือแม่น้ำเป็นที่ขับถ่าย แต่ในกลุ่มชนชั้นสูงจะขับถ่ายลงในกระโถน ซึ่งสำหรับพระมหากษัตริย์หรือเจ้านาย จะมีเจ้าพนักงานเย็บใบตองเป็นกระทงเจิมสำหรับรองไว้ที่ก้นกระโถน โดยขับถ่ายในห้องมีฉากกั้นไว้เฉพาะเรียกว่า ที่ลงพระบังคน

 

ส่วนที่สำหรับอาบน้ำนั้น ชาวบ้านทั่วไปที่นิยมปลูกบ้านอยู่ริมน้ำก็มักพากันไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ แต่สำหรับกลุ่มชนชั้นสูงหรือผู้ดีต่างๆ แล้ว จะมีบ่าวไพร่ตักน้ำขึ้นไปให้อาบบนชานเรือนซึ่งมิดชิดมากกว่า 

 

การใช้ห้องน้ำในลักษณะปัจจุบัน เริ่มมีวิวัฒนาการเมื่อกลุ่มชนชั้นสูงได้นำคตินิยมของชาวตะวันตกเข้ามาปรับใช้ในสังคมไทย หากการลองสำรวจพระที่นั่งวิมานเมฆที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 จะพบห้องลงพระบังคนจัดไว้เฉพาะแต่ยังไม่มีโถส้วม แต่ก็พบห้องสำหรับสรง เป็นห้องที่มีอ่างอาบน้ำทำจากทองแดงแต่ยังไม่มีระบบประปา

 

จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที 6 ในพระนิพนธ์ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ เรื่อง เกิดในวังปารุสก์ ทรงเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้านายพระองค์แรกๆ ที่มีพระราชนิยมใช้ห้องน้ำแบบตะวันตก โดยโปรดให้สร้างห้องสรงหรือห้องน้ำแบบตะวันตกในพระราชมณเฑียรต่างๆ ที่เสด็จไปประทับ อย่างเช่น พระราชวังบางปะอิน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชวังบ้านปืน พระราชนิเวศมฤคทายวัน พระราชวังพญาไท พระราชวังสนามจันทร์

 

แม้กระทั่งพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นพระราชมณเฑียรที่พระมหากษัตริย์ต้องเสด็จประทับเมื่อแรกพระบรมราชาภิเษก ก็โปรดให้ต่อเติมห้องสรงโดยจัดแอบไว้อย่างกลมกลืนกับงานสถาปัตยกรรมไทยแบบโบราณ ต่อมาพระราชนิยมในเรื่องห้องน้ำแบบตะวันออกจึงได้แพร่หลายในหมู่ชั้นชนสูง ตลอดจนคหบดีและสามัญชนทั่วไป

 

ปัจจุบัน ห้องน้ำถือเป็นสิ่งความสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไทย ซึ่งสะท้อนการคำนึงถึงหลักสุขอนามัยในการขับถ่ายและชำระร่างกายที่เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่คนไทยมักไม่นิยมสร้างห้องน้ำบนตัวบ้าน เพราะเชื่อว่าการมีห้องส้วมอยู่ในบ้านถือเป็นสิ่งไม่ดี จึงนิยมสร้างห้องน้ำหรือห้องส้วมไว้นอกบ้าน แต่ปัจจุบันมักนิยมสร้างห้องน้ำทุกๆ ชั้นเพื่อความสะดวกในการใช้สอย ทั้งยังให้ความพิถีพิถันในการก่อสร้างเป็นพิเศษจนกลายเป็นห้องที่เป็นหน้าเป็นตาของบ้าน ไม่เพียงแต่ห้องน้ำส่วนตัวเท่านั้น

 

คนในสังคมไทยยังให้ความสำคัญต่อห้องน้ำสาธารณะ ทั้งในเรื่องความสะดวกและความสะอาด อันทำให้สถานีบริการน้ำมัน สถานที่ท่องเที่ยว แม้กระทั่งวัดวาอาราม ยังต้องปรับปรุงสภาพห้องน้ำให้มีความสะอาดและความสะดวกสบายเพื่อตอบสนองผู้มาใช้บริการหรือแวะมาเยี่ยมชม จนได้กลายเป็นจุดขายอย่างหนึ่งของสถานที่นั้นไป