ชมศิลปะไทใหญ่ในแม่ฮ่องสอน

 

วันที่ออกอากาศ: 8 กุมภาพันธ์ 2558
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองที่มีประชากรจำนวนมากเป็นชาวไทใหญ่ หรือ ชาวฉาน ซึ่งอพยพเข้ามาในพื้นที่ตั้งแต่สมัยอดีต โดยนำวัฒนธรรมของไทใหญ่เข้ามาแลกเปลี่ยนปะทะสังสรรค์กับวัฒนธรรมดั้งเดิมในพื้นที่ ซึ่งจะพบว่ามีงานศิลปะและพุทธศิลป์แบบไทใหญ่มากมายปรากฏอยู่ทั่วจังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

งานพุทธศิลป์ของชาวไทใหญ่มีวิวัฒนาการคล้ายกับชาวสยาม ต่างก็รับเอาพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์มาเป็นแก่นความเชื่อหลักของสังคมมาตั้งแต่สมัยโบราณ อาทิ วิถีการดำเนินชีวิตตามหลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา ความเชื่อเรื่องกรรม บุญกุศล การสั่งสมบุญบารมี พิธีกรรมที่สะท้อนคติความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนการสร้างสรรค์งานศิลปะต่างๆ ที่สะท้อนคติความเชื่อทางศาสนา และมีประเพณีของการสร้างงานพุทธศิลป์เพื่อเป็นการประกาศศรัทธา การบำเพ็ญบุญกุศล รวมถึงการทนุบำรุงพระพุทธศาสนา

 

รูปแบบของงานพุทธศิลป์ไทใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะมอญพม่า เนื่องจากชาวไทใหญ่ตกอยู่ใต้อำนาจของชาวพม่ามาตั้งแต่สมัยพุกาม สืบมาในยุคราชวงศ์ตองอู จนถึงราชวงศ์อลองพญาราวพุทธศตวรรษที่ 22-24 ซึ่งมีอิทธิพลต่อกรอบการพัฒนางานพุทธศิลป์ของชาวไทใหญ่อย่างมาก ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม รวมถึงงานประณีตศิลป์

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณางานพุทธศิลป์ของชาวไทใหญ่โดยละเอียดแล้วจะพบว่ามีเอกลักษณ์เป็นของตนเองภายใต้กรอบของศิลปะแบบมอญพม่า

 

ด้านสถาปัตยกรรม การก่อสร้างวัด หรือ จอง ในภาษาไทใหญ่ นิยมสร้างอาคารต่างๆ ประกอบด้วย อุโบสถ วิหาร หอฉัน กุฎีสงฆ์ อยู่ติดกันในลักษณะเรือนหมู่แบบคนไทย แต่สร้างหลังคาของอาคารต่างๆ ทรงยอดปราสาทแบบพม่ามอญ เรียกว่า ทรงพญาธาตุ แต่ลดจำนวนชั้นและความซับซ้อนของโครงสร้างลงไป สำหรับเจดีย์มีลักษณะคล้ายกับสถูปเจดีย์แบบมอญพม่า แต่มีการประยุกต์โดยขยายส่วนสูงเพิ่มขึ้น ทำให้เจดีย์ไทใหญ่มีรูปทรงสูงชลูดมากกว่าเจดีย์พม่า 

 

ด้านประติมากรรม พบว่ามีการสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ครบทั้ง 4 อิริยาบถ ได้แก่ นั่ง ยืน นอน เดิน มีรูปพระพักตร์แบบพม่า นิยมแกะสลักจากหินหยก หรือเป็นพระพุทธไม้แกะสลักปิดทองแล้วประดับด้วยกระจก นอกจากพระพุทธรูปแล้ว ยังนิยมสร้างรูปพระอรหันต์อุปคุต รวมถึงรูปประติมากรรมต่างๆ ที่สร้างถวายเป็นพุทธบูชา เช่น รูปสิงห์ รูปหงส์ รูปคนฟ้อนรำ เป็นต้น 

 

ด้านจิตรกรรม นิยมเขียนภาพจากพุทธประวัติ ภาพชาดก มีทั้งตัวละครที่แต่งกายแบบพม่า เขียนตัวละครที่แต่งกายทรงมงกุฎยอดแหลม มีเครื่องแต่งกายเหมือนจิตรกรรมไทย จึงเป็นภาพจิตรกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะไทยและพม่า อาจกล่าวได้ว่างานพุทธศิลป์ไทใหญ่ประเภทจิตรกรรมปรากฏพบอยู่ในเมืองแม่ฮ่องสอนค่อนข้างน้อยกว่างานศิลปกรรมประเภทอื่น

 

ด้านงานประณีตศิลป์ ได้แก่ เครื่องเขิน เป็นเครื่องใช้สำหรับพระสงฆ์ บาตรพระ พานสำหรับใส่เครื่องบูชา ทำจากไม้ตกแต่งด้วยการลงเขิน หรือลงรักปิดทองและประดับด้วยกระจก งานประณีตศิลป์ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทใหญ่คือ ลายฉลุ เป็นการฉลุลายแบบที่ภาษาภาคกลางเรียกว่า งานทองแผ่ลวด แต่ชาวไทใหญ่เรียกว่า ลายไตร นำไปใช้ตกแต่งอาคารในวัดวาอาราม ศาลา หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ 

 

ปัจจุบัน สามารถเยี่ยมชมและศึกษาตัวอย่างงานพุทธศิลป์ไทใหญ่ในแม่ฮ่องสอนได้จากศาสนสถานสำคัญๆ ได้แก่ พระธาตุดอยกองมู พระธาตุเจดีย์สำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอน วัดหัวเวียง ซึ่งมีพระเจ้าพาราละแข่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญประดิษฐานอยู่ จำลองแบบจากพระมหามัยมุนีของเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า วัดจองคำ-วัดจองกลาง ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองแม่ฮ่องสอน ริมหนองจองคำ เป็นต้น