ตำราดูแมว

 

วันที่ออกอากาศ: 22 กรกฎาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

แมว เป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านในสังคมไทยมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ซึ่งได้อภิสิทธิ์ให้ขึ้นไปอยู่บนเรือนได้ ดังเห็นได้จากประเพณีการขึ้นบ้านใหม่ของคนไทยที่นิยมมอบข้าวของที่เป็นสิ่งของมงคลต่างๆ แก่เจ้าของเรือน ซึ่งรวมถึงสัตว์เลี้ยง 2 ชนิด คือ ไก่ และ แมว

 

นอกจากนี้ ในสุภาษิตหรือสำนวนไทยต่างๆ มีการกล่าวถึงแมวซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านอยู่มากมาย เช่น หุงข้าวประชดหมา-ปิ้งปลาประชดแมว ฝากปลาย่างไว้กับแมว หรือ แมวนอนหวด ก็สะท้อนให้เห็นว่าแมว เป็นสัตว์เลี้ยงใกล้ชิดของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ

 

คนไทยโบราณเชื่อว่าการเลี้ยงแมวที่มีลักษณะดีจะทำให้เกิดคุณแก่เจ้าของบ้านจนกลายเป็นค่านิยมสืบต่อกันมา และได้บันทึกลายลักษณ์อักษรจนเกิดเป็นตำราดูแมว    

 

สันนิษฐานว่า ตำราดูแมว มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งเป็นหนึ่งในตำราพรหมชาติ กล่าวกันว่าเป็นตำราโบราณที่คัดลอกสืบต่อกันมา ซึ่งมีฉบับหนึ่งอยู่ในความครอบครองของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) สมเด็จพระราชาคณะผู้ใหญ่รูปหนึ่งในรัชกาลปัจจุบัน ท่านเป็นพระเถระที่โปรดการเลี้ยงแมวเป็นพิเศษ

 

ตำราดูแมวดังกล่าวเป็นสมุดข่อย มีเนื้อหาแต่งเป็นโคลง และมีภาพวาดพันธุ์แมวต่างๆ ประกอบ ในตำรานี้กล่าวถึงแมวพันธุ์ต่างๆ 23 สายพันธุ์ แบ่งเป็นแมวมงคล 17 สายพันธุ์ และแมวให้โทษอีก 6 สายพันธุ์

 

แมวที่เป็นมงคล ได้แก่ เช่น แมววิเชียรมาศ มีขนสีเหลืองนวล มีแต้มสีน้ำตาลออกน้ำตาลเข้ม 9 จุด และตาสีฟ้าสวยงามมาก แมวศุภลักษณ์ หรือแมวทองแดง ขนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลแดงทั้งตัว แมวมาเลศ หรือแมวโคราช มีสีเทาทั้งตัว แมวนิลรัตน์ หรือแมวโกนจา เรียกทั่วๆ ไปว่าแมวดำปลอด มีสีดำทั้งตัวและมีหางยาว

 

แมวเก้าแต้ม  เป็นแมวสีขาวแต่มีจุดแต้มสีดำตามลำตัว 9 จุด แมวปัดเศวต เป็นแมวดำแต่มีขนบริเวณหน้าอกเป็นสีขาวโดยรอบไปถึงหลัง แมวแซมเสวตร เป็นแมวสีดำแต่จะมีขนสีขาวแซมทั้งตัว แมวขาวมณี หรือขาวปลอด มีสีขาวทั้งตัว

 

นอกจากนี้ ยังมีแมวที่ตำรากล่าวถึงอีก อย่างเช่น แมวกระจอก แมวสิงหเสพย์ แมวการเวก แมวจตุบท เป็นต้น แมวต่างๆ เหล่านี้จะให้คุณแก่ผู้เลี้ยงแตกต่างกันไป ทั้งในเรื่องโชคลาภ ทรัพย์สินเงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือการเสริมสร้างเสน่ห์

 

แมวที่เป็นโทษ ได้แก่ แมวทุพลเพศ เกิดมาพิการ แมวพรรณพยัคฆ์ หรือแมวลายเสือ แมวปีศาจ คือแมวที่กินลูกตัวเอง แมวหิณโทษ คือแมวที่ลูกตายในท้องด้วย  แมวกอบเพลิง เป็นแมวที่ชอบซุกตัวอยู่ตามมุมต่างๆ ไม่รับแขก และแมวเหน็บเสนียด มีหางลักษณะคดงอ มักเอาหางเหน็บไว้ใต้ท้อง ซึ่งเชื่อกันว่าแมวเหล่านี้จะนำความเดือดร้อนมาให้แก่ผู้เลี้ยง 

 

นอกจากตำราดูแมวพรหมชาติแล้วยังมีตำราดูแมวสำคัญอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลความเชื่อมาจากตำราตะวันตก กล่าวถึงรูปพรรณสัณฐานของแมวมงคลที่แต่งต่างจากตำราเดิม

 

ตัวอย่างเช่น แมวลายเสือ กลายเป็นแมวมงคลเนื่องจากสามารถเลี้ยงไว้ปราบหนู นก งู ภายในบ้านได้เป็นอย่างดี แมวสีทอง หรือแมวจิงเจอร์ เลี้ยงไว้ในบ้านจะทำให้มีเสน่ห์ แมวสีเทาเป็นแมวนักปราชญ์ รวมถึงแมวด่างและแมวสีทองแดงก็เป็นแมวให้คุณ

 

หากวิเคราะห์ตำราดูแมวที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะพบว่าแมวที่ให้คุณล้วนแต่มีรูปพรรณสัณฐานที่ดี ในขณะที่แมวที่ไม่ควรเลี้ยงจะมีลักษณะไม่พึงประสงค์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของคนไทยในเรื่องรูปลักษณ์ โดยเฉพาะการเลี้ยงแมวซึ่งเป็นสัตว์อยู่ในเรือนก็ถือเป็นหน้าเป็นตาของบ้านอย่างหนึ่ง คนไทยจึงนิยมเลี้ยงแมวที่มีลักษณะชวนมองและเป็นที่นิยมชมชอบแก่ผู้พบเห็น  

พระมหากษัตริย์ ข้าราชการ และประชาชน: มุมมองผ่านการเสด็จประพาสต้นคราวแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

สรุปความจาก ปิยนาถ บุนนาค. “พระมหากษัตริย์ ข้าราชการและประชาชน: มุมมองผ่านการเสด็จประพาสต้นคราวแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” .วารสารไทยศึกษา. ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556- กรกฎาคม 2256., 1-40.

 

“การเสด็จประพาสต้น” หมายถึงการเสด็จเที่ยวเล่นอย่างสามัญชนธรรมดา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ ไปยังสถานที่ต่างๆ อย่างที่สามัญชนเดินทางและประสบกับสภาพอย่างที่สามัญชนประสบ พร้อมกันนั้นก็พยายามทำพระองค์ให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเพื่อไม่ให้ใครจำพระองค์ได้  โดยไม่โปรดให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองจัดที่ประทับแรมหรือเตรียมการรับเสด็จแต่อย่างใด ไม่มีผู้ใดล่วงรู้เวลาและสถานที่ที่จะเสด็จ
 
หลักฐานบันทึกการเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือจดหมายเหตุเรื่องประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 (เสด็จประพาสต้น ร.ศ.123) พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยผู้ได้ตามเสด็จอย่างใกล้ชิด  

 

เส้นทางเสด็จประพาสต้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2447 ระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม ถึงวันที่ 7 สิงหาคม เป็นเวลา 25 วันเป็นการเสด็จทางเรือจากบางปะอินล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านเมืองนนทบุรี เข้าคลองบางกอกใหญ่ คลองภาษีเจริญ ฝั่งธนบุรี แล้วเสด็จฯ เข้าคลองดำเนินสะดวกเมืองราชบุรี ผ่านแม่น้ำแม่กลองไปเมืองเพชรบุรี เสด็จประพาสทางทะเล แวะเมืองสมุทรสงคราม ไปเมืองสมุทรสาคร ไปเมืองสุพรรณบุรี  
 
จากการศึกษาจดหมายเหตุเรื่องประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 ทำให้เห็นมุมมองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ที่มีต่อ พระมหากษัตริย์ ข้าราชการ และประชาชน ดังต่อไปนี้

 

มุมมองของพระมหากษัตริย์ การเสด็จประพาสต้นคราวแรกได้ให้มุมมองเกี่ยวกับพระราชอุปนิสัยและพระราชจริยวัตรในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายประการ ได้แก่ ทรงต้องการ “รับรู้” ทุกข์สุขของประชาชนด้วยวิธีการปฏิบัติด้วยพระองค์ ซึ่งกระทำด้วยการ “พักแรม” “เดินตลาด” และ “ทำครัว” แบบสามัญชน สถานที่ทำครัวก็ได้แก่บริเวณหน้าวัดต่างๆ ที่เรือประภาสต้นไปจอด นอกจากนี้ยังทรงประทับรถไฟชั้นที่ 3 ปะปนไปกับราษฎร อีกทั้งทรงประสบรถไฟมีปัญหาวิ่งไม่ได้เพราะภัยธรรมชาติ  
 
นอกจากนี้ยังทรงหา “โอกาส” ที่จะสร้างความสุขให้แก่พระองค์เองและคนอื่นในท่ามกลางความทุกข์ยากลำบาก  เมื่อต้องประสบปัญหาในการเดินทาง ทั้งปัญหาจากยานพาหนะหรือปัญหาที่เกิดจากธรรมชาติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดให้ทำอาหารแจกจ่ายแก่คณะเดินทาง  นอกจากนี้การเสด็จประพาสต้นยังทำให้เห็นพระอารมณ์ขันในการเปรียบเทียบบุคคลกับสิ่งต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น การเรียกกำนันผู้หนึ่งว่า “กำนันเหม็น” เพราะเรือของกำนันผู้นั้นมีกลิ่นเหม็น  เหนือสิ่งอื่นใดการเสด็จประพาสต้นยังทำให้เห็นพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ทั้งพวกข้าราชการที่มาตามเสด็จ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่รับเสด็จ และถวายเลี้ยงพระยาหารโดยไม่รู้ว่าเป็นคณะเสด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

มุมมองของข้าราชการ ข้าราชการที่ตามเสด็จประพาสต้นเป็นข้าราชการที่ใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิ  สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสยามกุฎราชกุมาร) จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  พลเรือเอกสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครราชสีมา  และขุนนาง เช่น พระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) และหลวงศักดิ์นายเวร (อ้น นรพัลลภ) 

 

จะเห็นได้ว่าข้าราชการที่ตามเสด็จในการเสด็จประพาสต้นนี้ ต่างเป็นข้าราชการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองเฉพาะด้าน  เพื่อให้ได้ประสบการณ์จากการตามเสด็จไปทำประโยชน์แก่ประชาชนและบ้านเมืองต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวิชราวุธ สยามมกุฎราชกุมารที่นอกจากจะได้ใกล้ชิดกับข้าราชการสำคัญแล้ว  ยังทำให้รับรู้วิถีชีวิตของผู้คนในหัวเมืองเพื่อจะนำไปแนวทางการในปฏิรูปและปกครองประเทศต่อไปเมื่อดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์

 

มุมมองของประชาชน การเสด็จประพาสต้นทำให้เห็นมุมมองฝั่งประชาชนหลายประการ ทั้งการประกอบอาชีพที่มีหลากหลายทั้งการเพาะปลูก การประมงโดยวิถีธรรมชาติ การต่อเรือขายและรับจ้างขนส่งสินค้า นอกจากนี้ยังทำให้เห็นความเชื่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ไสยศาสตร์ และความผูกพันของชุนกับวัดซึ่งมักตั้งอยู่ริมน้ำ  

 

นอกจากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น การเสด็จประพาสต้นยังทำให้เห็นความมีอัธยาศัยเอื้อเฟื้อเต็มใจต้อนรับผู้มาเยือนเห็นได้ชัดจากผู้ที่ถวายเลี้ยงพระยาหารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งๆที่ไม่รู้ว่าเป็นพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นความจงรักภักดีของประชาชนต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

การเสด็จประพาสต้นนอกจากจะทำให้เห็นมุมมองของพระมหากษัตริย์  ข้าราชการ และประชาชนแล้ว  การเสด็จประพาสต้นยังก่อให้เกิดผลต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

1. ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหายประชวร เพราะจุดมุ่งหมายของการเสด็จประพาสต้นก็คือให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พักผ่อน 

 

2.เกิดธรรมเนียมเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 หลังจากการเสด็จประพาสต้นครั้งแรกแล้ว ก็เกิดการเสด็จประพาสต้นในทำนองเดียวกันอีกครั้งทั้งในกรุงเทพ และมณฑลหัวเมือง เช่น สระบุรี กำแพงเพชร นครสวรรค์ สุพรรณบุรี และปราจีนบุรี
 
3. การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างพระมหากษัตริย์กับข้าราชการ และประชาชน และระหว่างข้าราชการกับประชาชน การเสด็จประพาสต้นคราวแรกก่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเป็นการ “เข้าถึง” ประชาชนอย่างแท้จริงเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ประชนชนอย่างแท้จริง
 
4. การทำนุบำรุงเศรษฐกิจ เพราะการใช้จ่ายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการกระจายเงินไปสู่ชาวบ้าน

 

5. การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เห็นได้จากการพระราชทาน “เงินล้างวัด” ให้แก่ที่ได้เสด็จไป

 

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 มกราคม – มีนาคม 2560)