พระมหากษัตริย์ ข้าราชการ และประชาชน: มุมมองผ่านการเสด็จประพาสต้นคราวแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

สรุปความจาก ปิยนาถ บุนนาค. “พระมหากษัตริย์ ข้าราชการและประชาชน: มุมมองผ่านการเสด็จประพาสต้นคราวแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” .วารสารไทยศึกษา. ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556- กรกฎาคม 2256., 1-40.

 

“การเสด็จประพาสต้น” หมายถึงการเสด็จเที่ยวเล่นอย่างสามัญชนธรรมดา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ ไปยังสถานที่ต่างๆ อย่างที่สามัญชนเดินทางและประสบกับสภาพอย่างที่สามัญชนประสบ พร้อมกันนั้นก็พยายามทำพระองค์ให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเพื่อไม่ให้ใครจำพระองค์ได้  โดยไม่โปรดให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองจัดที่ประทับแรมหรือเตรียมการรับเสด็จแต่อย่างใด ไม่มีผู้ใดล่วงรู้เวลาและสถานที่ที่จะเสด็จ
 
หลักฐานบันทึกการเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือจดหมายเหตุเรื่องประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 (เสด็จประพาสต้น ร.ศ.123) พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยผู้ได้ตามเสด็จอย่างใกล้ชิด  

 

เส้นทางเสด็จประพาสต้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2447 ระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม ถึงวันที่ 7 สิงหาคม เป็นเวลา 25 วันเป็นการเสด็จทางเรือจากบางปะอินล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านเมืองนนทบุรี เข้าคลองบางกอกใหญ่ คลองภาษีเจริญ ฝั่งธนบุรี แล้วเสด็จฯ เข้าคลองดำเนินสะดวกเมืองราชบุรี ผ่านแม่น้ำแม่กลองไปเมืองเพชรบุรี เสด็จประพาสทางทะเล แวะเมืองสมุทรสงคราม ไปเมืองสมุทรสาคร ไปเมืองสุพรรณบุรี  
 
จากการศึกษาจดหมายเหตุเรื่องประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 ทำให้เห็นมุมมองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ที่มีต่อ พระมหากษัตริย์ ข้าราชการ และประชาชน ดังต่อไปนี้

 

มุมมองของพระมหากษัตริย์ การเสด็จประพาสต้นคราวแรกได้ให้มุมมองเกี่ยวกับพระราชอุปนิสัยและพระราชจริยวัตรในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายประการ ได้แก่ ทรงต้องการ “รับรู้” ทุกข์สุขของประชาชนด้วยวิธีการปฏิบัติด้วยพระองค์ ซึ่งกระทำด้วยการ “พักแรม” “เดินตลาด” และ “ทำครัว” แบบสามัญชน สถานที่ทำครัวก็ได้แก่บริเวณหน้าวัดต่างๆ ที่เรือประภาสต้นไปจอด นอกจากนี้ยังทรงประทับรถไฟชั้นที่ 3 ปะปนไปกับราษฎร อีกทั้งทรงประสบรถไฟมีปัญหาวิ่งไม่ได้เพราะภัยธรรมชาติ  
 
นอกจากนี้ยังทรงหา “โอกาส” ที่จะสร้างความสุขให้แก่พระองค์เองและคนอื่นในท่ามกลางความทุกข์ยากลำบาก  เมื่อต้องประสบปัญหาในการเดินทาง ทั้งปัญหาจากยานพาหนะหรือปัญหาที่เกิดจากธรรมชาติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดให้ทำอาหารแจกจ่ายแก่คณะเดินทาง  นอกจากนี้การเสด็จประพาสต้นยังทำให้เห็นพระอารมณ์ขันในการเปรียบเทียบบุคคลกับสิ่งต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น การเรียกกำนันผู้หนึ่งว่า “กำนันเหม็น” เพราะเรือของกำนันผู้นั้นมีกลิ่นเหม็น  เหนือสิ่งอื่นใดการเสด็จประพาสต้นยังทำให้เห็นพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ทั้งพวกข้าราชการที่มาตามเสด็จ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่รับเสด็จ และถวายเลี้ยงพระยาหารโดยไม่รู้ว่าเป็นคณะเสด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

มุมมองของข้าราชการ ข้าราชการที่ตามเสด็จประพาสต้นเป็นข้าราชการที่ใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิ  สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสยามกุฎราชกุมาร) จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  พลเรือเอกสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครราชสีมา  และขุนนาง เช่น พระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) และหลวงศักดิ์นายเวร (อ้น นรพัลลภ) 

 

จะเห็นได้ว่าข้าราชการที่ตามเสด็จในการเสด็จประพาสต้นนี้ ต่างเป็นข้าราชการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองเฉพาะด้าน  เพื่อให้ได้ประสบการณ์จากการตามเสด็จไปทำประโยชน์แก่ประชาชนและบ้านเมืองต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวิชราวุธ สยามมกุฎราชกุมารที่นอกจากจะได้ใกล้ชิดกับข้าราชการสำคัญแล้ว  ยังทำให้รับรู้วิถีชีวิตของผู้คนในหัวเมืองเพื่อจะนำไปแนวทางการในปฏิรูปและปกครองประเทศต่อไปเมื่อดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์

 

มุมมองของประชาชน การเสด็จประพาสต้นทำให้เห็นมุมมองฝั่งประชาชนหลายประการ ทั้งการประกอบอาชีพที่มีหลากหลายทั้งการเพาะปลูก การประมงโดยวิถีธรรมชาติ การต่อเรือขายและรับจ้างขนส่งสินค้า นอกจากนี้ยังทำให้เห็นความเชื่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ไสยศาสตร์ และความผูกพันของชุนกับวัดซึ่งมักตั้งอยู่ริมน้ำ  

 

นอกจากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น การเสด็จประพาสต้นยังทำให้เห็นความมีอัธยาศัยเอื้อเฟื้อเต็มใจต้อนรับผู้มาเยือนเห็นได้ชัดจากผู้ที่ถวายเลี้ยงพระยาหารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งๆที่ไม่รู้ว่าเป็นพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นความจงรักภักดีของประชาชนต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

การเสด็จประพาสต้นนอกจากจะทำให้เห็นมุมมองของพระมหากษัตริย์  ข้าราชการ และประชาชนแล้ว  การเสด็จประพาสต้นยังก่อให้เกิดผลต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

1. ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหายประชวร เพราะจุดมุ่งหมายของการเสด็จประพาสต้นก็คือให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พักผ่อน 

 

2.เกิดธรรมเนียมเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 หลังจากการเสด็จประพาสต้นครั้งแรกแล้ว ก็เกิดการเสด็จประพาสต้นในทำนองเดียวกันอีกครั้งทั้งในกรุงเทพ และมณฑลหัวเมือง เช่น สระบุรี กำแพงเพชร นครสวรรค์ สุพรรณบุรี และปราจีนบุรี
 
3. การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างพระมหากษัตริย์กับข้าราชการ และประชาชน และระหว่างข้าราชการกับประชาชน การเสด็จประพาสต้นคราวแรกก่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเป็นการ “เข้าถึง” ประชาชนอย่างแท้จริงเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ประชนชนอย่างแท้จริง
 
4. การทำนุบำรุงเศรษฐกิจ เพราะการใช้จ่ายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการกระจายเงินไปสู่ชาวบ้าน

 

5. การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เห็นได้จากการพระราชทาน “เงินล้างวัด” ให้แก่ที่ได้เสด็จไป

 

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 มกราคม – มีนาคม 2560)