บทบาทของอาหารในพิธีกรรมเกี่ยวกับดนตรีของชาวล้านนาในภาคเหนือของประเทศไทย

แปลและสรุปความจาก Bussakorn Binson. “The Role of Food in the Musical Rites of the Lanna People of Northern Thailand” in Rian Thai. Vol.2 /2009.pp 45-70.

 

พิธีไหว้ครูดนตรีไทยแบ่งเป็น 3 พิธี ได้แก่ (1) พิธีไหว้ครูเมื่อนักเรียนดนตรีจะเริ่มต้นเรียนดนตรี เรียกว่า “ยกครู” เพื่อให้นักเรียนได้แสดงความเคารพต่อผู้สอน  (2) พิธีไหว้ครูเมื่อจะเริ่มการแสดง เพื่อเรียกให้เทพเจ้าดนตรีให้มาช่วยการแสดงสำเร็จ  (3) การไหว้ครูประจำปีช่วงสงกรานต์ (12-14 เมษายน) เรียกว่าเลี้ยงครู

ในพิธีไหว้ครูมีอาหารหลายชนิดเพื่อเตรียมไว้เลี้ยงวิญญาณครูในอีกโลกหนึ่ง โดยอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่า แม้ครูดนตรีจะจากไปแล้ว ทว่าความรู้ที่ครูดนตรีประสิทธิประสาทให้ไว้ก็ยังคงอยู่ ในพิธีไหว้ครูของล้านนาได้ใช้อาหารหลายชนิดที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ ได้แก่

มะพร้าว เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญงอกงาม และด้วยคุณลักษณะที่ต้นมะพร้าวเจริญเติบโตได้ง่าย  มะพร้าวในพิธีไหว้ครูจึงมีความหมายแทนการแพร่กระจายของความรู้                     

กล้วย เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาและความก้าวหน้าในความรู้เรื่องดนตรี  

ข้าวดิบทั้งเมล็ด ในพิธีกรรมอื่นๆของภาคเหนือ การหว่านข้าวในพิธีมีความหมายแทนการขับไล่สิ่งชั่วร้าย  นอกจากนี้ความอุดมสมบูรณ์ของข้าวยังเป็นสัญลักษณ์แทนการใช้ชีวิตอย่างสบาย  สื่อความหมายแทนการใช้ชีวิตที่มีอาหารเพียงพอ                                                                                                                                                             

หัวหมู จะใช้พิธีเลี้ยงครูช่วงสงกรานต์ได้รับอิทธิพลมาจากพิธีเลี้ยงครูของภาคกลาง หัวหมูในพิธีไหว้ครูเป็นสัญลักษณ์แทนความกินดีอยู่ดี  แต่บางชุมชนก็ไม่สามารถหาหัวหมูมาประกอบในพิธีได้

ไก่ เนื่องจากไก่เป็นสัตว์ที่โตเร็วและให้ลูกมาก ไก่จึงแทนความหมายของปัญญาที่สำเร็จและรุ่มรวย                                                                                                                                                          
เหล้า  ใช้เพื่อเชิญวิญญาณครูมาร่วมชมการแสดง และช่วยให้การแสดงดำเนินไปได้อย่างลุล่วง    

องค์ประกอบของเครื่องแกง อันได้แก่ ตะไคร้ ข่า หอมแดง กะปิ กระเทียม  เพื่อเป็นการเตรียมเสบียงให้แก่วิญญาณของครูเพลงที่เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ 

นอกจากอาหารแล้วในพิธีไหว้ครูยังปรากฏวัตถุพิธีอื่นๆ ที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์เช่นกัน เช่น 

น้ำส้มป่อย กิ่งส้มป่อยใช้เป็นที่ปะพรมน้ำส้มป่อยในพิธีไหว้ครู  ความหมายของน้ำส้มป่อยคือการรักษาความชำนาญและความรู้เกี่ยวกับดนตรีไม่ให้ถูกทำลาย  หลังพิธีไหว้ครูนักเรียนดนตรีส่วนมากจะอาบน้ำส้มป่อยที่ผ่านการประกอบพิธีแล้ว   โดยเชื่อว่าน้ำส้มป่อยจะสามารถช่วยป้องกันและขับไล่สิ่งชั่วร้าย                                                            
เบี้ย (เปลือกหอย) ในสังคมบรรพกาลใช้เบี้ยเป็นสื่อแลกเปลี่ยนแทนเงินตรา การใส่เบี้ยในขันตั้งพบในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้เบี้ยสื่อแทนการจ่ายค่าเรียนดนตรีให้ครู  ถึงแม้ปัจจุบันจะใช้เงินบาทแทนเบี้ยแล้วก็ตาม การใช้เบี้ยในพิธีไหว้ครูก็ยังปรากฏอยู่

ในพิธีกรรมทางดนตรีของล้านนา  การถวายอาหารที่นำมากล่าวข้างต้น มีความหมายเพื่อตอบแทนคุณความดี ความรู้ที่ครูได้ถ่ายทอดให้ลูกศิษย์  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ความชำนาญ  ปัญญาด้านดนตรีที่กว้างขวางแต่ทว่าลึกซึ้ง  การถวายอาหารในพิธีไหว้ครูยังเป็นเสมือนคำขออนุญาตของศิษย์จากครูดนตรีที่ล่วงลับไป ให้ศิษย์สามารถอำนวยการแสดงได้อย่างลุล่วง

นอกเหนือจากบทบาทของข้างต้น อาหารในพิธีไหว้ครูของล้านนา ยังเป็นแสดงให้เห็นการตอบแทนของศิษย์ที่ต้องการตอบแทนครูดนตรีให้ควรค่ากับความรู้ที่ครูดนตรีได้ประสิทธิ์ประสาทให้  ครูดนตรีไม่ได้เพียงแต่สอน ปกป้อง หากแต่ยังทำให้ศิษย์ที่ได้เรียนดนตรีได้กลายเป็นบุคคลที่ได้รับเกียรติ ได้รับความนับหน้าถือตาจากสังคม     

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 17 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม-กันยายน 2559)