พระราชวังฤดูร้อน

 

วันที่ออกอากาศ: 13 พฤษภาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ธรรมเนียมการสร้างพระราชวังฤดูร้อนของไทยมีพัฒนาการมาจากแนวคิดของโลกตะวันตกหรือในซีกโลกทางเหนือที่มีอากาศหนาว ซึ่งเราสามารถพบเห็นพระราชวังฤดูร้อนทั้งในทวีปยุโรปและเอเชียที่มีจุดประสงค์ในการสร้างเพื่อเป็นที่ประทับสำหรับพระมหากษัตริย์ในช่วงฤดูที่มีอากาศร้อนจัด ซึ่งมีคลื่นความร้อนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยมักสร้างให้อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำเพื่อนำมาใช้ทำน้ำพุหล่อเลี้ยงความเย็นและความชื้นในบริเวณพระราชวัง

 

ต่อมา พระมหากษัตริย์ของไทยจึงรับเอาธรรมเนียมการสร้างพระราชวังฤดูร้อนมาใช้ แต่ไม่ได้ใช้เพียงแค่เป็นที่ประทับสำหรับในฤดูร้อนเท่านั้น เนื่องจากเมืองไทยมีสภาพอากาศร้อนเกือบตลอดทั้งปี จึงใช้เป็นพระราชวังสำหรับเสด็จไปพักหลบร้อนหรือผ่อนคลายพระอิริยาบถเมื่อทรงว่างจากพระราชกรณียกิจต่างๆ ด้วย

 

ธรรมเนียมการสร้างพระราชวังฤดูร้อนในราชสำนักไทย สามารถย้อนไปได้ถึงสมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้สร้างพระนารายณ์ราชนิเวศน์ที่เมืองลพบุรี เพื่อใช้เป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่ง ด้วยเมืองลพบุรีมีอากาศที่ร้อนจัด จึงได้นำเทคนิคการสร้างน้ำพุมาช่วยทำให้พระราชวังมีความรื่นรมย์ นอกจากนี้ ยังโปรดให้สร้างพระตำหนักที่ทะเลชุบศร ซึ่งเป็นพระตำหนักกลางทะเลสาบจำลองที่สร้างขึ้นนั้นเพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำ

 

ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่าทรงโปรดเสด็จไปทรงเบ็ดตกปลาที่ปากน้ำบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี และประทับพักผ่อนบริเวณหาดที่ปัจจุบันเรียกว่า หาดเจ้าสำราญ ซึ่งได้สร้างเป็นพลับพลาที่ประทับไว้

 

ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ก็โปรดให้สร้างพระราชวังบริเวณบางปะอิน โดยพบร่องรอยการขุดสระน้ำและสร้างพลับพลาที่ประทับกลางสระ เพื่อใช้ความเย็นของน้ำในสระมาหล่อเลี้ยงให้เกิดความชุ่มชื้นและลดอุณหภูมิความร้อนของอากาศ

 

ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างพระราชวังเมืองสมุทร เป็นพระราชวังขนาดเล็กตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับปากแม่น้ำแขวงเมืองสมุทรปราการ เพื่อใช้เป็นที่ประทับเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงตรวจการก่อสร้างพระสมุทรเจดีย์ ซึ่งเป็นพระเจดีย์กลางน้ำสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยต่อมาทรงมีพระราชประสงค์เพื่อใช้เป็นที่ประทับพักร้อนด้วย นอกจากนี้ ยังทรงโปรดให้พื้นฟูพระราชวังเดิมบริเวณบางปะอินเพื่อใช้เป็นที่ประทับพักผ่อนอีกแห่งหนึ่ง

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ก่อสร้างพระราชวังบางปะอินขึ้นมาใหม่ ซึ่งปัจจุบันชาวต่างชาติเรียกพระราชวังแห่งนี้ว่า Summer Palace หรือพระราชวังฤดูร้อน จากจดหมายเหตุต่างๆ พบว่าทรงเสด็จไปประทับอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูกฐิน ซึ่งทรงนำพระอัครเมเหสี พระภรรยาเจ้า พระราชโอรสและธิดารวมถึงข้าราชบริพาร ไปบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินและถวายผ้าป่าวัดในกรุงศรีอยุธยาทุกๆ ปี

 

นอกจากนี้ ก็โปรดให้สร้างพระราชวังพญาไทและพระราชวังดุสิตเพื่อเสด็จประทับในฤดูร้อนตามคำแนะนำจากแพทย์และวิศวกรชาวตะวันตก ซึ่งเห็นว่าพระบรมมหาราชวังมีความแออัดของอาคารสถานที่จึงถ่ายเทอากาศได้ไม่ดี ทำให้มีอากาศที่ร้อนจัดเป็นพิเศษในช่วงฤดูร้อน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ

 

ภายหลังจึงมีพระราชนิยมสร้างที่ประทับพักผ่อนบริเวณริมชายทะเล ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างพระราชวังเกาะสีชัง หรือ พระจุฑาครุฑราชฐาน ที่จังหวัดชลบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดในสร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยทรงเอาพระทัยใส่อย่างมากในการวางแผนผังและออกแบบหมู่พระที่นั่งต่างๆ ให้สามารถรับลมได้โดยทั่ว ทำให้พื้นที่ต่างๆ ในเขตพระราชวังมีความเย็นสบาย

 

ในสมัยรัชกาลที่ 7 ก็โปรดให้สร้างพระราชวังไกลกังวล ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีขนาดของที่ประทับไม่ใหญ่โตนัก โดยตั้งพระทัยสร้างในลักษณะเป็นบ้านมากกว่าเป็นพระราชวัง ซึ่งได้ใช้เป็นพระราชฐานที่ประทับมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน