เก๋งจีนในศิลปะไทย

 

วันที่ออกอากาศ: 23 สิงหาคม 2558
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เก๋ง คืออาคารรูปทรงจีน ที่ปะปนอยู่ในงานสถาปัตยกรรมไทยมาตั้งแต่โบราณ ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง เรือน หรือ ตึก ที่มีรูปหลังคาแบบศาลาจีน ก่อด้วยอิฐหรือปูน ไม่ได้สร้างด้วยไม้ทั้งหมด

 

อาจสันนิษฐานได้ว่า เก๋ง มีรากศัพท์มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน ซึ่งแปลว่า บ้าน หรือ เรือน ลักษณะของเก๋งแบ่งได้ตามวัตถุประสงค์หลักของการสร้างเพื่อประโยชน์ใช้สอย ได้แก่

 

เก๋งที่มีลักษณะเป็นห้องที่มีรั้วรอบขอบชิด มีทางเปิดปิดสำหรับเข้าออกได้ ใช้เป็นศาสนสถาน เช่น อุโบสถ วิหาร หรือหอสำหรับประดิษฐานปูชนียวัตถุ หรือพระพุทธรูป เป็นต้น

 

อีกลักษณะหนึ่ง เป็นเก๋งทรงศาลา ปล่อยโล่ง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พักหรือประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ศาลารายที่อยู่รอบพระอุโบสถวิหาร หรือพระสถูปเจดีย์ 

 

ในสถาปัตยกรรมไทย นิยมสร้างเก๋งทั้งในเขตพระราชฐานที่ประทับ และในวัด เก๋งในเขตพระราชฐานมีทั้งลักษณะอาคารรโหฐาน หรือศาลา ตัวอย่างเช่น พระตำหนักสวนกุหลาบ ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อใช้เป็นที่ประทับ

 

ส่วนเก๋งที่สร้างในบริเวณวัด มักสร้างเพื่อใช้เป็นวิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิ หอไตร หอระฆัง หรือศาลาท่าน้ำ ตัวอย่างเช่น เก๋งรอบพระอุโบสถวัดโปรดเกศเชษฐาราม ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 กุฎิหลังคาทรงเก๋งจำนวน 9 หลังที่วัดบพิตรพิมุข ศาลาท่าน้ำหลังคาเก๋งจำนวน 6 หลังที่วัดอรุณราชวราราม ศาลาท่าน้ำเก๋งจีนวัดราชโอรสาราม เก๋งจีนหน้าพระวิหารหลวงของวัดสุทัศเทพวราราม เป็นต้น

 

วิวัฒนาการของเก๋งในสถาปัตยกรรมไทย สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งเริ่มติดต่อการค้าสำเภากับจีน แต่ปัจจุบันไม่สามารถพบร่องรอยของเก๋งที่สร้างในสมัยอยุธยาได้ เนื่องจากถูกทำลายไปเมื่อคราวศึกสงคราม

 

ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงโปรดให้สร้างพระตำหนักเก๋งคู่ ไว้ที่ริมประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกของพระราชวังหลวง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า พระราชวังเดิม ทรงใช้เป็นพระวิมารที่บรรทม

 

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชนิยมในศิลปะจีน จึงโปรดให้สร้างเก๋งจีนขึ้นเป็นจำนวนมาก  ในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงสร้างเก๋งนารายณ์เพื่อใช้เป็นที่ทรงงานช่าง และโปรดให้สร้างประตูทางเข้าออกในเขตพระราชฐานชั้นใน เป็นหลังคาทรงเก๋งอีก 3 ประตู คือ ประตูมังกรเล่นลม ประตูกลมเกลาตรู และประตูชมพู่ไพที

 

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้สร้างเก๋งบอกพระปริยัติธรรม บริเวณด้านทิศตะวันออกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นสถานที่สำหรับพระสงฆ์เรียนพระปริยัติธรรม (ถูกรื้อไปในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อปฏิสังขรณ์วัดในโอกาสสมโภชพระนคร 150 ปี)

 

และโปรดให้สร้างเก๋งจีนหลังใหญ่ 2 หลังที่วัดพระเชตุพนฯ หลังแรกสร้างบริเวณทิศตะวันตก มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับการติดต่อค้าขายสำเภา ระหว่างจีนกับสยาม หลังที่สอง สร้างบริเวณทางด้านทิศใต้ของวัด ใช้สำหรับให้พระราชโอรสเรียนหนังสือในวัยพระเยาว์

 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ช่างฝีมือชาวจีนสร้างพระที่นั่งเวหะจำรูญ เป็นพระที่นั่งทรงเก๋ง บริเวณพระราชวังบางปะอิน 

 

แม้ว่าเก๋งจะเป็นอาคารก่อตึกที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปกรรมของจีน แต่เราจะพบว่าอาคารทรงเก๋งได้เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมของไทยอย่างกลมกลืน ซึ่งแสดงถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ระหว่างไทยและจีน ที่มีอย่างยาวนาน จนเกิดเป็นงานศิลปะที่ผสมผสานระหว่างศิลปะจีน กับงานศิลปะประเพณีไทยได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยม