รายละเอียดโครงการ (นิทรรศการ – ยลยันต์)

หลักการและเหตุผล

 

โครงการนวัตกรรมวิจัยไทยศึกษา เป็นแนวคิดต่อยอดองค์ความรู้ที่เกิดจากผลงานวิจัยด้านไทยศึกษาให้เกิดผลงานทางนวัตกรรมในหลากหลายมิติ นอกจากนี้ยังทำให้องค์ความรู้ทางด้านไทยศึกษาเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจเข้าถึง และจับต้องได้ ดังนั้น สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงนำโครงการนี้ออกสู่พื้นที่สาธารณะในวงกว้างนอกเหนือจากแวดวงวิชาการ โดยการนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การจัดเสวนาแลกเปลี่ยนความคิด การจัดนิทรรศการที่ทำให้ผลงานวิจัยได้รับการย่อยออกมาในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและน่าสนใจแต่บุคคลทั่วไป การต่อยอดงานวิจัยโดยผสมผสานเชื่อมโยงกับศาสตร์สาขาอื่น ทั้งทางด้านงานออกแบบสร้างสรรค์ และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้โดยมีองค์ความรู้ด้านไทยศึกษาเป็นเนื้อหาสาระที่สามารถเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของผลงาน

นิทรรศการเรื่อง “ยันต์” (Yantra)  มีเนื้อหาสาระจากการศึกษาของนักวิชาการหลายคนทั้งด้านคติชนวิทยาและด้านไทยศึกษา ความเชื่อเรื่องคาถาอาคมและเครื่องรางของขลังเป็นมรดกภูมิปัญญาของมนุษย์ยุคโบราณที่สืบทอดกันมาช้านาน โดยเฉพาะชาวพุทธในบริเวณสุวรรณภูมิ ซึ่งปรากฎในระบบเลขยันต์ต่างๆ  ได้ย่อสูตรต่างๆ เป็นอักขระ จัดเรียงในรูปแบบตารางหรือลายเส้นเป็นตัวเลข หรือรูปภาพ เขียน สัก หรือแกะลงบนผืนผ้า ผิวหนัง ไม้ โลหะ ฯลฯ ทั้งหมดทั้งสิ้นมีหลักฐานแสดงวิวัฒนการมานานหลายร้อยปี  ในปัจจุบันการทำเลขยันต์ยังคงอยู่และเป็นที่นิยมมากขึ้นจนเป็นสินค้าด้านความเชื่อที่ได้รับความต้องการของกลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติ จนบางครั้งทำให้องค์ความรู้ด้านนี้ผิดเพี้ยนและนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นจึงเห็นควรที่จะนำองค์ความรู้นี้มานำเสนอให้ผู้คนในสังคมได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องและเห็นคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาของคนไทย 

 

นอกจากนี้ จากการศึกษาเนื้อหาผลงานวิจัยดังกล่าว ทำให้เกิดแรงบันดาลใจแก่นักออกแบบ ศิลปิน และผู้สร้างสรรค์แขนงอื่นๆ อีกมาก ทำให้เกิดผลงานต่อยอดจากองค์ความรู้เกี่ยวกับ “ยันต์” ของไทย กลายเป็นผลงานสร้างสรรค์ต่างๆ ที่น่าสนใจ ทำให้เห็นว่าองค์ความรู้ด้านไทยศึกษา เข้าใจ เข้าถึง และจับต้องได้ มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อทั้งวงการวิชาการและวงการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ซึ่งสามารถต่อยอดไปถึงการสร้างสรรค์เชิงเศรษฐกิจได้อีกด้วย ขณะเดียวกันก็ทำให้คนในสังคมไทยหันกลับมาสนใจศึกษาองค์ความรู้ต่างๆ อันมีคุณค่ามากของชาติ 

 

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีนโยบายที่จะส่งเสริม เผยแพร่ ต่อยอด องค์ความรู้ด้านไทยศึกษาให้เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้คนในสังคมไทยและสังคมโลก

 

 

วัตถุประสงค์
1. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องระบบเลขยันต์ของไทยให้ผู้คนในสังคมได้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
2. เผยแพร่องค์ความรู้ด้านไทยศึกษาต่อสาธารณะในวงกว้าง
3. เพื่อต่อยอดงานวิจัยด้านไทยศึกษาให้เกิดผลงานนวัตกรรมในหลากหลายมิติ 
4. เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับส่วนงานอื่นทั้งในภาครัฐ และเอกชน

 

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ 
1. องค์ความรู้เรื่องระบบเลขยันต์ของไทยเป็นที่ประจักษ์แก่คนในสังคมไทยและนานาชาติ
2. องค์ความรู้เรื่องไทยศึกษาเป็นที่ประจักษ์แก่คนในสังคมไทยและนานาชาติ
3. องค์ความรู้เรื่องไทยศึกษาสามารถต่อยอดเป็นผลงานนวัตกรรม