รายละเอียดโครงการ (การเสวนาวิชาการ – เผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ (ร่าง) แผนแม่บทผ้าไทย)

หลักการและเหตุผล

 

ผ้าไทย งานหัตถกรรม มรดกทางวัฒนธรรม ที่เป็นรากฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งผ่านกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สร้างความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ 
ทั้งในด้านเป็นเครื่องนุ่งห่ม ใช้ตกแต่งบ้านเรือน โดยในแต่ละภูมิภาคต่างมีวัฒนธรรมการทอผ้าและวัสดุที่หลากหลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น สามารถบ่งบอกถึงความเป็นมาอันยาวนาน สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณี อีกทั้งลายผ้าหรือวัสดุที่นำมาทอนั้น ยังสามารถบ่งบอกถึงชนชั้นทางสังคมของคนไทยในอดีตอีกด้วย 

 

ด้วยผ้าไทยแสดงออกถึงความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมประจำชาติไทย ดังเช่นที่สมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณด้านการส่งเสริมผ้าไทย ในการสร้างรายได้ให้แก่ คนไทยทั่วทุกภูมิภาค แต่ละท้องถิ่น ทั้งยังเป็นการรักษาภูมิปัญญาการทอผ้าไทยมิให้สูญหายไปจากสังคมไทย จนมาถึงในยุคปัจจุบัน พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงเป็นต้นแบบของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในเรื่องของการนำผ้าไทยมาออกแบบและตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายที่มีความ ทันสมัย หรูหรางดงาม ซึ่งทรงสวมใส่ตามงานพระราชกรณียกิจต่างๆ อยู่เป็นนิจ ด้วยทรงสนพระทัยเกี่ยวกับการออกแบบแฟชั่น ทรงเป็นดีไซเนอร์แบรนด์เสื้อผ้าของพระองค์

 

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เล็งเห็นถึงความสำคัญของผ้าไทย เพื่อเป็นการ  อนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์ จึงได้ดำเนินงานโครงการเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ (ร่าง) แผนแม่บทผ้าไทย  ซึ่งโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ  ทรัพยากรมนุษย์ รวมไปถึงแผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจและสังคม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการที่ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของ กระทรวงวัฒนธรรม ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรักความภูมิใจในวัฒนธรรมความเป็นไทย มีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่ดีงาม 

 

ในการนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ร่วมมือกับสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยเก็บข้อมูลจากชุมชนในแต่ละภูมิภาคที่มีความโดดเด่นเรื่องผ้าไทยเพื่อจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทพัฒนาผ้าไทยขึ้น โดยหลังจากการการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากชุมชนแล้ว ทางสถาบันฯ จะดำเนินการจัดงานเสวนานำเสนอผลงานวิจัยบางส่วนในวันที่ 16 สิงหาคม และรับฟังความคิดเห็นในการพัฒนาผ้าไทยจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่น ๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน จากต้นน้ำ (เจ้าของวัตถุดิบ) จนถึง ปลายน้ำ (ผู้ขาย) โดยการเสวนานี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปสู่การต่อยอดที่เป็นประโยชน์ สร้างความยั่งยืนและความภาคภูมิใจให้เกิดแก่บุคลากรที่อยู่ในวงการผ้าไทย ตลอดจนเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ใช้ผ้าไทยเป็นวัตถุดิบ 

 

การจัดเสวนาวิชาการโครงการเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ (ร่าง) แผนแม่บทผ้าไทย จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ทำงานเกี่ยวกับผ้าทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการผ้าไทย มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการผลิต การออกแบบ และการขายผ้าไทย จากนั้นนำองค์ความรู้จากการวิจัยและการเสวนามาประมวลและสังเคราะห์จัดทำเป็น (ร่าง) แผนแม่บทผ้าไทย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนางานด้านผ้าไทยให้สามารถดำรงคุณค่า เพิ่มมูลค่า สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ผลิต ชุมชน นักออกแบบ และผู้ประกอบกิจการผ้า และให้ได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมจากภาครัฐเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน 

 

 

วัตถุประสงค์

1. เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดการทำงานของผู้ผลิต ชุมขน และเจ้าของกิจการในการผลิต ออกแบบ และการจัดจำหน่ายผ้าไทยที่ได้มาจากการลงพื้นที่ภาคสนามของคณะวิจัย

 

2. เพื่อรับฟังความคิดเห็น และรวบรวมองค์ความรู้ในการผลิต ออกแบบ และการจำหน่ายผ้าไทย โอกาสและอุปสรรคจากหน่วยงานภาครัฐและผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับผ้าในภาคเอกชน 

 

3. เพื่อสังเคราะห์คิดเห็น ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทยจากผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับผ้าทุกฝ่ายมาประมวลเพื่อจัด (ร่าง) แผนแม่บทผ้าไทย

 

 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

 

1. คณะวิจัยได้รับความคิดเห็น ความรู้เกี่ยวกับการผลิต การออกแบบ และการจัดจำหน่ายผ้าไทย โอกาสและอุปสรรคจากผู้ที่เกี่ยวกับข้องและผู้ที่มีส่วนได้เสียกับผ้าอย่างลุ่มลึกและรอบด้าน

 

2. เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผ้าไทย ผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับผ้าได้ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทเกี่ยวกับผ้า

 

3. เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องผ้าไทย ผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับผ้า อันนำไปสู่การดำรงอยู่และการเติบโตกิจกรรมเกี่ยวกับผ้าในสังคมไทยอย่างยั่งยืน