รายละเอียดโครงการ (การประชุมวิชาการระดับชาติ – “ประคองขวัญวรรณกรรม” พินิจวรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลาง: นิยาม พรมแดน อัตลักษณ์ และความหลากหลาย)

หลักการและเหตุผล

 

เมื่อปีพุทธศักราช 2533 สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อครั้งที่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์ ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา ได้จัดงานประชุมวิชาการและจัดพิมพ์หนังสือชุดไทยศึกษาเรื่อง “วรรณคดีท้องถิ่นพินิจ” ขึ้น โดยเชิญนักวิชาการด้านวรรณกรรมท้องถิ่นมานำเสนอและ “พินิจ” วรรณกรรมท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้วงวิชาการสนใจศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

 

กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการศึกษาวิจัยวรรณกรรมท้องถิ่นในทิศทางที่หลากหลาย และกว้างขวาง เริ่มมีการขยายความสนใจของการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น สู่การศึกษาบริบทของท้องถิ่น และบริบทของที่มาหรือที่เก็บตัวบท โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางพบว่า การศึกษาวรรณกรรมภาคกลางยังมีข้อถกเถียง มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน และมีข้อคำถามอยู่มากพอสมควร เช่น ภาคกลางไม่มีวรรณกรรมท้องถิ่น มีแต่วรรณกรรมราชสำนัก วรรณกรรมราชสำนักไม่เป็นวรรณกรรมภาคกลาง พรมแดนของวรรณกรรมภาคกลางเป็นอย่างไร วรรณกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคกลางนับเป็นวรรณกรรมภาคกลางหรือไม่ อัตลักษณ์ของวรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลางคืออะไร ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นสำคัญในการทำความเข้าใจ ทบทวน และพินิจใคร่ครวญ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน

 

ด้วยเหตุนี้ คณะผู้จัดงานโดยความร่วมมือระหว่างสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการนามานุกรมวรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลาง ของ สกสว. จึงได้ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติเรื่อง “ประคองขวัญวรรณกรรม” พินิจวรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลาง: นิยาม พรมแดน อัตลักษณ์ และความหลากหลาย ขึ้น เพื่อเป็นเวทีวิชาการในการทบทวนและสร้างความเข้าใจองค์ความรู้ด้านวรรณกรรมท้องถิ่น เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงวิชาการต่อไป

 

 

วัตถุประสงค์โครงการ

 

1) เพื่อเป็นเวทีวิชาการในการทบทวนและสร้างความเข้าใจองค์ความรู้ด้านวรรณกรรมท้องถิ่น

 

2) เพื่อนำเสนองานวิจัยและแนวทางการวิจัยด้านวรรณกรรมท้องถิ่นศึกษา

 

3) เพื่อแสดงมุทิตาจิตแด่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์ ปูชนียบุคคลด้านวรรณกรรมท้องถิ่น ในโอกาสอายุวัฒนมงคล 80 ปี

 

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

 

1) พัฒนาเครือข่ายนักวิชาการด้านวรรณกรรมท้องถิ่นศึกษา

 

2) ได้แนวทางในการศึกษาวิจัยด้านวรรณกรรมท้องถิ่นศึกษา

 

3) ได้แสดงมุทิตาจิตแด่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์ ปูชนียบุคคลด้านวรรณกรรมท้องถิ่น ในโอกาสอายุวัฒนมงคล 80 ปี