รายละเอียดโครงการ (การประชุมวิชาการระดับชาติ – ครูและพิธีกรรมไหว้ครูในวัฒนธรรมไทย ศึกษาเพื่อสืบสานและสร้างสรรค์อย่างมีคุณค่า)

หลักการและเหตุผล

สังคมไทยเป็นสังคมที่นับถือและยกย่องครูว่าเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้และอบรมสั่งสอนจนศิษย์สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้ตลอดจนดำรงตนเป็นพลเมืองดีในสังคม  ครูจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ในด้านการอ่านเขียนหนังสือ  และด้านวิชาชีพต่างๆเช่น แพทย์แผนไทย มวยไทยและโหราศาสตร์ ตลอดจนความรู้ในด้านศิลปกรรม เป็นต้นว่า ดนตรี การขับร้อง และศิลปะการแสดง ควบคู่ไปกับการอบรมบ่มนิสัย

 

คนไทยนับถือครูและประกอบพิธีกรรมไหว้ครูมาแต่โบราณ พิธีกรรมไหว้ครูนับเป็นวัฒนธรรมที่งดงาม นอกจากแสดงให้เห็นถึงความกตัญญูกตเวทีของศิษย์ที่มีต่อครูแล้ว ยังมีบทบาทกระชับความสัมพันธ์ทำให้เกิดความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างครูกับศิษย์ และเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ศิษย์ในฐานะผู้ที่จะสืบทอดความรู้ต่อไป  

 

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การศึกษาบางอย่างไม่จำเป็นต้องเรียนรู้จากครูในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย  ผู้ต้องการศึกษาหาความรู้สามารถค้นหาได้โดยไม่ต้องพึ่งครู ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม  ครูจำนวนไม่น้อยต้องดิ้นรนขวนขวายในการทำงานหารายได้เลี้ยงดูครอบครัวหรือเพื่อเพิ่มพูนวิทยะฐานะจนละเลยบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของตน ทำให้ความสำคัญของครูลดลง  รวมทั้งความรู้ความเข้าใจในบทบาทความหมายของพิธีกรรมในการไหว้ครูก็เริ่มเลือนไปด้วย   

 

สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภาซึ่งประกอบด้วยราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านอักษรศาสตร์และศิลปกรรมแขนงต่างๆ จึงเห็นสมควรร่วมมือกับสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมทางวิชาการเรื่อง “ครูและพิธีกรรมไหว้ครูในวัฒนธรรมไทย ศึกษาเพื่อสืบสานและสร้างสรรค์อย่างมีคุณค่า” ขึ้น   โดยคาดหวังว่าการประชุมทางวิชาการดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของครูและพิธีกรรมไหว้ครู  และช่วยกันสืบสานและสร้างสรรค์อย่างมีคุณค่าในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทยสืบไป

 

 

วัตถุประสงค์

 

1. เพื่อเผยแพร่ความรู้ในเรื่องความหมายและความสำคัญของครูและพิธีกรรมไหว้ครูแขนงต่างๆที่สืบทอดมาในสังคมไทย 

 

2. เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนเห็นความสำคัญของการสืบสานพิธีกรรมไหว้ครูโดยมีการสร้างสรรค์อย่างมีคุณค่า

 

 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

 

1. ผู้เข้าร่วมประชุมและผู้รับชมบันทึกการถ่ายทอดได้รับความรู้และตระหนักในความสำคัญของครูและคุณค่าของพิธีกรรมไหว้ครู ตลอดจนได้แนวความคิดที่จะช่วยกันสืบสานพิธีกรรมไหว้ครูในแนวทางที่เป็นการสร้างสรรค์อย่างมีคุณค่าต่อไป

 

2. สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา และสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกันในการจัดกิจกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคมไทย