การสถาปนาบุรุษเสน่หา (Androphilia) ในนิยายวายเดือนเกี้ยวเดือน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

 

– ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

 

นิยายเรื่องเดือนเกี้ยวเดือน เป็นนิยายแนว Boys Love หรือนิยายที่นำเสนอตัวละครหลักเป็นชายรักชายที่ถูกแต่งขึ้นโดยนักเขียนผู้หญิงที่ใช้นามปากกาว่า Chiffon_Cake ซึ่งเผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกในเว็บไซต์ thaiboyslove เมื่อปี 2557 ความยาวรวมทั้งหมด 54 ตอน ต่อมาได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เอเวอร์วายในปี 2559 โดยแบ่งออกเป็น 3 เล่ม และมีการนำไปสร้างเป็นซีรีส์ในปี 2560 และปี 2562 เนื้อหาหลักของนิยายเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวความรักและความสัมพันธ์ของนักศึกษาชายในมหาวิทยาลัย โดยมีคู่รักสำคัญ 3 คู่คือ พนากับวาโย มิ่งกับคิด และโฟร์ทกับบีม เรื่องราวความรักที่เกิดขึ้นบ่งบอกถึงความผูกพันและความใกล้ชิดระหว่างผู้ชายวัยรุ่นที่มีรูปร่างหน้าตาดีซึ่งมิได้นิยามตัวเองเป็น “เกย์” แต่เป็นการแสดงอารมณ์ความปรารถนาและความเสน่หาต่อคนเพศเดียวกัน การนำประเด็นนี้มาเขียนเป็นนิยายได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มผู้อ่านที่เรียกตัวเองว่า “สาววาย” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้หญิงที่ชื่นชอบและสนใจเรื่องความรักระหว่างผู้ชาย 

ประเด็นสำคัญในการวิเคราะห์เรื่องนี้คือนิยายเดือนเกี้ยวเดือนเป็นภาพตัวแทนของการสร้างความหมายใหม่ของอัตลักษณ์ “ชายรักชาย” ที่ละทิ้งภาพจำเก่าๆเกี่ยวกับการเป็น “เกย์” ซึ่งมักจะถูกตีตราว่า “ไม่ใช่ผู้ชาย” เพราะมีบุคลิกและอารมณ์นุ่มนวลอ่อนหวานเหมือนผู้หญิงผสมอยู่มาก แต่ตัวละครในนิยายเดือนเกี้ยวเดือนจะแสดงความเป็นชายที่แข็งแกร่งตามบรรทัดฐานที่สังคมคาดหวัง ผู้เขียนนิยายได้เพิ่มความรักและความเสน่หาต่อเพศเดียวกันเข้าไปในตัวละคร ซึ่งในที่นี้จะเรียกว่า “บุรุษเสน่หา” (Androphilia) คำนี้เป็นคำที่ Jack Donovan ใช้เป็นอธิบายในหนังสือเรื่อง Androphilia: A Manifesto ในปี 2006 โดยระบุว่าผู้ชายสามารถแสดงความรักและความเสน่หาทางเพศต่อกันได้โดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งความแข็งแกร่งของตัวเอง  นิยายเดือนเกี้ยวเดือนจึงตอกย้ำและสถาปนาบุรุษเสน่หา ซึ่งหมายถึงการทำให้ “ความเป็นชาย” มีคุณค่าในทางเพศและกามารมณ์ เป็นการผลิตซ้ำตัวแบบเพศภาวะของชายชาตรี (Masculine Gender) ตามอุดมคติที่จะต้องไม่เปราะบางและอ่อนแอแบบผู้หญิง 

 

ถึงแม้ว่านิยายวายเดือนเกี้ยวเดือนจะเปิดพื้นที่ทำให้สังคมมองเห็น “ความเป็นไปได้” ที่ผู้ชายจะแสดงความรัก ความปรารถนา และความเสน่หาต่อกัน  แต่นิยายเรื่องนี้เลือกที่จะพูดเฉพาะประสบการณ์ของผู้ชายวัยรุ่นที่มีรูปร่างหน้าตาดีและมีการศึกษาดีเท่านั้น ซึ่งมีนัยยะของการปิดกั้นและการเบียดขับผู้ชายที่มีรูปร่างหน้าตาไม่ดี มีฐานะไม่ดีและมีอายุมากออกไปอยู่ชายขอบ สิ่งนี้คือวิธีการสร้างและหล่อหลอมมายาคติใหม่ที่ทำให้สังคมเชื่อว่าผู้ชายหน้าตาดีเท่านั้นที่จะรักและเสน่หาต่อกันได้  

 

คำสำคัญ: บุรุษเสน่หา, นิยายวาย, เดือนเกี้ยวเดือน
 

 

(เสนอในการเสวนาวิชาการ "ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย (LGBTQ in Thai Literature)" วันที่ 26 มกราคม 2563 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร)