รายละเอียดโครงการ (การประชุมวิชาการระดับชาติ – “เปลี่ยนสลับ ทับซ้อน ซ่อนร่าง” ในประเพณีและการละเล่นสวมหน้ากาก)

“เปลี่ยนสลับ ทับซ้อน ซ่อนร่าง” ในประเพณีและการละเล่นสวมหน้ากาก

 

ประเพณีและการละเล่นสวมหน้ากากมีอยู่ในวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก บางเทศกาลกลายเป็นหมุดหมายทางการท่องเที่ยวของผู้คนจำนวนมาก ในสังคมไทยก็มีงานประเพณีสวมหน้ากากของแต่ละท้องถิ่น อาทิ หัวโตอ่างทองของจังหวัดสุพรรณบุรี แป๊ะยิ้ม-ซิ้มของคนไทยสัญชาติจีน การละเล่นกระตั้วแทงเสือในภาคกลาง การแสดงผีตาโขน ผีขนน้ำ ผีโขน และผีบุ้งเต้าของจังหวัดเลย การแสดงฟ้อนหน้ากากในประเพณีใส่ขันดอก บูชาอินทขิลของจังหวัดเชียงใหม่  การแสดงนกโตของจังหวัดแม่ฮ่องสอน  อายกของจังหวัดเชียงราย  ประเพณีกินโสลดในอำเภอปัว จังหวัดน่าน ประเพณีผีโก๋นในการแห่ครัวตาน ล้านนา เมืองปาน จังหวัดลำปาง รวมถึงการใช้หน้ากากพรานในการแสดงโนราทางภาคใต้ของไทย ซึ่งเป็นแหล่งทุนทางวัฒนธรรมที่ควรนำมาศึกษา วิเคราะห์และนำเสนอในเชิงวิชาการอย่างรอบด้าน เพื่อหาคำตอบว่าเหตุใดมนุษย์จึงมีความคิดและการแสดงออกเพื่อ “เปลี่ยนสลับ ทับซ้อน ซ่อนร่าง” ตนเองในชั่วขณะหนึ่ง เพื่อสร้างความหมาย อารมณ์ และความรู้สึกต่อผู้เข้าร่วมประเพณี อาทิเช่น ความกลัว ความศรัทธา ความยำเกรง

 

โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง และ หน่วยวิจัยศิลปวัฒนธรรมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เห็นสมควรจัดประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง “เปลี่ยนสลับ ทับซ้อน ซ่อนร่าง” ในประเพณีและการละเล่นสวมหน้ากาก เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับประเพณีและการละเล่นสวมหน้ากากของไทย การส่งเสริมให้สังคมไทยตระหนักถึงคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ รวมถึงขยายแนวคิดไปสู่การต่อยอดงานศึกษาวิจัยเพื่อสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์และงานบริการที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง อันก่อให้เกิดนวัตกรรมทางสังคมต่อไป