เครือข่ายเสน่หา : ปรากฏการณ์วายในปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับอุตสาหกรรม

รองศาสตราจารย์ ดร. นัทธนัย ประสานนาม

 

– คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

 

บทความนี้มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ยาโออิ (เรียกอย่างย่อว่า “วาย”) ในประเทศไทยนับตั้งแต่ พ.ศ.2557 เป็นต้นมา อันเป็นช่วงเวลาที่ภาคอุตสาหกรรมเข้าไปพัวพันกับวัฒนธรรมแฟนยาโออิอย่างใกล้ชิด การศึกษาครั้งนี้ใช้กรอบความคิดของพอล บูท (Paul Booth, 2015) เรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับอุตสาหกรรมเพื่อขยายการวิจัยวัฒนธรรมยาโออิในบริบทไทยให้กว้างขวางขึ้น จากแต่เดิมที่เน้นเชื่อมโยงกับต้นแบบในวัฒนธรรมญี่ปุ่น การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณา และแง่มุมการเมืองวัฒนธรรมเควียร์ กรณีศึกษาของบทความนี้คือบริษัท จีเอ็มเอ็มทีวี จำกัด องค์กรสำคัญที่ผลิตสื่อยาโออิในประเทศไทยและส่งออกไปสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย บทความต้องการเน้นให้เห็นว่าจีเอ็มเอ็มทีวีขยายเครือข่ายผ่านอุตสาหกรรมหนังสือร่วมกับส่วนงานที่รับผิดชอบการสร้างดาราและผลิตเพลงในเครืออย่างไร ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับอุตสาหกรรมที่เด่นชัดในการศึกษาครั้งนี้คือ การเลียนแบบวัฒนธรรมแฟนโดยจีเอ็มเอ็มทีวี ปฏิบัติการดังกล่าวประกอบด้วย “การชิป” (การจับคู่ศิลปินที่รับบทเป็นคู่วาย) ผ่านสื่อ OPV (ภาพเคลื่อนไหวประกอบเพลงที่อ้างอิงเรื่องราวจากสื่ออื่น) และรายการโทรทัศน์ นอกจากนั้น บทความยังมุ่งอธิบายวิธีการที่จีเอ็มเอ็มทีวีใช้การหวนไห้หาอดีตของแฟนในการสร้างกิจกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยความทรงจำ รวมทั้งกิจกรรมพบปะแฟนที่จัดขึ้นโดยบริษัท ที่แต่เดิมแฟนจะเป็นผู้จัด พื้นที่กิจกรรมดังกล่าวคือพื้นที่สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในลักษณะที่อุตสาหกรรมเป็นผู้นำและแฟนเป็นผู้บริโภค ทั้งที่กิจกรรมดังกล่าวมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมแฟน 

 

คำสำคัญ: วัฒนธรรมแฟน, ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับอุตสาหกรรม, ยาโออิ, บอยส์เลิฟ, วัฒนธรรมประชานิยม

 

 

(เสนอในการเสวนาวิชาการ "ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย (LGBTQ in Thai Literature)" วันที่ 26 มกราคม 2563 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร)