รายละเอียดโครงการ (นิทรรศการ – ผ้าไทยไปไหน)

หลักการและเหตุผล 

 

โครงการนวัตกรรมวิจัยไทยศึกษา เป็นแนวคิดต่อยอดองค์ความรู้ที่เกิดจากผลงานวิจัยด้านไทยศึกษาให้เกิดผลงานทางนวัตกรรมในหลากหลายมิติ นอกจากนี้ยังทำให้องค์ความรู้ทางด้านไทยศึกษาเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจเข้าถึง และจับต้องได้ ดังนั้น สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงนำโครงการนี้ออกสู่พื้นที่สาธารณะในวงกว้างนอกเหนือจากแวดวงวิชาการ โดยการนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การจัดเสวนาแลกเปลี่ยนความคิด การจัดนิทรรศการที่ทำให้ผลงานวิจัยได้รับการย่อยออกมาในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและน่าสนใจแต่บุคคลทั่วไป การต่อยอดงานวิจัยโดยผสมผสานเชื่อมโยงกับศาสตร์สาขาอื่น ทั้งทางด้านงานออกแบบสร้างสรรค์ และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้โดยมีองค์ความรู้ด้านไทยศึกษาเป็นเนื้อหาสาระที่สามารถเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของผลงาน

 

นิทรรศการ เรื่อง “ผ้าไทยไปไหน” มีเนื้อหาสาระจากโครงการวิจัยที่ได้รับมอบหมายจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในการจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทผ้าไทย เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าไทยของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีประเด็นยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผ้าไทย ได้แก่ ยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ และยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสและความเสมอภาคของบุคคล  ดังนั้น การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน และสร้างโครงข่ายการค้าที่เหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมวัฒนธรรมในการใช้และเห็นคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชน ทั้งนี้จุดแข็งสำคัญคือ “ทุนทางวัฒนธรรม” 

 

นอกจากนี้ ภายในนิทรรศการยังนำเสนอผ้าไทยที่ได้รับการพัฒนาในหลายระดับ เช่น ผ้าไทยที่เกิดจากการทำงานระหว่างนักออกแบบแฟชั่นอาชีพกับกลุ่มทอผ้า ผ้าไทยที่เกิดจากการสนับสนุนในโครงการศิลปาชีพ ผ้าไทยที่ได้รับการพัฒนาจากผู้ประกอบการองค์กรเอกชน เป็นต้น เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ผ้าไทย ซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรมของชาติ ได้รับการพัฒนาจนเป็นผลงานทางศิลปะที่ทรงคุณค่าและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล 

 

 

วัตถุประสงค์

1. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องผ้าไทยในบริบทของการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย
2. เผยแพร่องค์ความรู้ด้านไทยศึกษาต่อสาธารณะในวงกว้าง
3. เพื่อต่อยอดงานวิจัยด้านไทยศึกษาให้เกิดผลงานนวัตกรรมในหลากหลายมิติ 
4. เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับส่วนงานอื่นทั้งในภาครัฐ และเอกชน

 

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ 

1. องค์ความรู้เรื่องผ้าไทยเป็นที่ประจักษ์แก่คนในสังคมไทยและนานาชาติ
2. องค์ความรู้เรื่องไทยศึกษาเป็นที่ประจักษ์แก่คนในสังคมไทยและนานาชาติ
3. องค์ความรู้เรื่องไทยศึกษาสามารถต่อยอดเป็นผลงานนวัตกรรม