รายละเอียดโครงการ (การประชุมวิชาการระดับชาติ – คราม : ทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานกับการพัฒนาที่ยั่งยืน)

หลักการและเหตุผล

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแนวทางการพัฒนาพื้นที่ระดับภาคด้วยการยกระดับมาตรฐานสินค้ากลุ่มผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าย้อมคราม และส่งเสริมพื้นที่ที่มีศักยภาพให้ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางแฟชั่นในระดับภูมิภาค อาทิ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมาสุรินทร์ และสกลนคร เป็นต้น โดยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสินค้า การออกแบบ และตราสัญลักษณ์ พัฒนาเทคโนโลยีและงานศึกษาวิจัยสร้างนวัตกรรมเพิ่มมูลค่า พร้อมทั้งพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่น ๆ ยกระดับผู้ประกอบการและนักออกแบบรุ่นใหม่ ให้มีทักษะ มีความรู้ความสามารถทั้งการออกแบบและการจัดการ เพื่อให้สินค้ามีความหลากหลายและทันสมัย สร้างความเชื่อมโยงระหว่างวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกับภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ

 

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย    ราชภัฏสกลนคร จึงมีดำริจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ "คราม : ทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานกับการพัฒนาที่ยั่งยืน" โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ และส่งเสริมผู้นำทางการวิจัยเชิงพื้นที่ในด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยดำเนินการวิจัยที่มุ่งตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนสร้างความเข้มแข็งจากภายใน สนับสนุนกลุ่มการออกแบบและแฟชั่นซึ่งสอดคล้องกับมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่เกิดจากฐานชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นนั่นคือ “ผ้าไหม ผ้าฝ้ายและผ้าย้อมคราม” เพื่อพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานและนำไปพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก

 

การประชุมวิชาการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านงานวิจัย และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิด และประสบการณ์ในการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่องค์ความรู้เชิงวิชาการพร้อมถ่ายทอดสู่สากล รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคีเครือข่ายด้านไทยศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย นิสิตนักศึกษา และร่วมพัฒนาด้านงานวิจัยและกิจกรรมวิชาการที่สามารถสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กลายเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่สามารถดำรงอยู่ในสังคมอย่างยั่งยืนสืบไป
การประชุมวิชาการประกอบด้วยการนำเสนอผลงานวิจัย  บทความทางวิชาการ การนำนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าย้อมคราม จากสถาบันอุดมศึกษาและภาคีเครือข่าย รวมถึงการเสวนาและเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าย้อมคราม และการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไหมย้อมครามเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

 

 

วัตถุประสงค์

 

1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนพรรษาครบรอบ 88 พรรษา

 

2. เพื่อเป็นเวทีให้ นักวิจัย นักวิชาการ คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา ผู้สนใจทั้งภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ ได้นำเสนอผลงานวิจัยและเผยแพร่ผลงานวิชาการสู่สาธารณชนและชุมชน

 

3. เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัย นักวิชาการ คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา ผู้สนใจและผู้เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ตลอดจนข้อคิดเห็นในการพัฒนางานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

4. เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนางานวิจัยให้เกิดขั้นระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา ในสถาบันการศึกษาตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน

 

 

วัน เวลา และสถานที่จัดการประชุม

 

วันที่ 25 ธันวาคม มกราคม 2563 
ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร

 

 

กิจกรรม/เนื้อหาที่จะดำเนินการ

 

1. ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ไขป่องเอี้ยมเยี่ยมผ้าทออีสาน”

 

2. การเสวนา หัวข้อ “Smart Entrepreneur New Gen : ครามกับกระแสแฟชั่นโลก”

 

3. การจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไหมย้อมคราม จากกลุ่มนักออกแบบ Keep KRAM Sakon Nakhon

 

4. นิทรรศการ “ไหมย้อมครามเฉลิมพระเกียรติ”

 

5. การนำเสนอผลงานวิจัยแบบ Oral presentation ตามหัวข้อดั้งนี้
– ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
– ด้านศิลปะและการออกแบบ
– ด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ
– ด้านการตลาด การจัดการและโลจิสติกส์
– ด้านการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตร
– ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
– ด้านการเกษตร

 

 

สิ่งที่คาดว่าจะได้รับ

 

1. ผลผลิตงานวิจัยได้นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ผ้าฝ้าย และผ้าย้อมครามของชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่มและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

2. ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นความสำคัญของงานวิจัยที่มีประเด็นเชื่อมโยงกับความสนใจด้านวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น

 

3. สร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านไทยศึกษาระดับภูมิภาค เพื่อการต่อยอดการวิจัยในท้องถิ่นอย่างเข้มแข็ง

 

4. โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย ได้เป็นที่รู้จักในส่วนภูมิภาคมากยิ่งขึ้น