รายละเอียดโครงการ (การเสวนาวิชาการ – รู้ไทย เข้าใจจีน : ระดมความคิดแนวทางการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยในประเทศจีน)

หลักการและเหตุผล

 

ประเทศไทยได้ทำสัญญาความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับประเทศจีนมาแล้ว 3 ฉบับ ได้แก่     

 

1.ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้มีการลงนามเมื่อปี พ.ศ.2544 

 

2.ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการจัดตั้งและสถานะของศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งได้มีการลงนามเมื่อปี 2550  

 

3.แผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับปี พ.ศ. 2562-2564

 

สาระสำคัญคือการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมในประเทศคู่สัญญาเพื่อการแลกเปลี่ยนกิจกรรมและองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ในปัจจุบันการดำเนินการของฝ่ายจีนเรียบร้อยแล้ว ปรากฎเป็นศูนย์วัฒนธรรมจีนในประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ 18 ถนนเทียมร่วมมิตร เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ บนเนื้อที่ 8222 ตารางเมตร มีภารกิจหลักในการเผยแพร่วัฒนธรรมจีน กระชับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างจีนกับไทย และส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประชาชนและรัฐบาลทั้งสองประเทศ จากการดำเนินงานของศูนย์วัฒนธรรมจีนในประเทศไทยเห็นได้ชัดว่าประสบความสำเร็จสูง สามารถตอบสนองพันธกิจที่จะเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมจีนให้แก่ผู้สนใจทั่วไป

 

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บุกเบิกการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปสู่สากลในรูปแบบของงานวิชาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภูมิภาคอเมริกาใต้ (แมกซิโก บราซิล และอาร์เจนตินา) และในภูมิภาคใกล้เคียงเช่น เกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศจีน(บางพื้นที่) จึงร่วมมือกับกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในการจัดทำร่างแผนการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยในประเทศจีน เพื่อเป็นหน่วยงานสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้และความเคลื่อนไหวด้านวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวจีน และเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

 

อนึ่ง การดำเนินการศึกษาและร่างแผนงานเบื้องต้นในการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยในประเทศจีนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจรูปแบบงานและความสัมพันธ์ของหน่วยงานอื่นๆ ที่มีภารกิจใกล้เคียงกันเพื่อศึกษารูปแบบในการจัดการไม่ให้ทับซ้อนและพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานอื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งจำเป็นที่จะต้องศึกษาความคาดหวังและความต้องการของประชาชนชาวจีนที่มีต่อการดำเนินการของศูนย์ เพื่อให้การดำเนินงานของศูนย์เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย โดยเฉพาะในการกระชับความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมของคนทั้งสองประเทศ และช่วยเผยแพร่สินค้าทางวัฒนธรรมทั้งแบบดั้งเดิมและแบบสร้างสรรค์ให้ก้าวเข้าสู่ตลาดจีนอย่างสง่างามและยั่งยืน

 

กระทรวงวัฒนธรรมจึงร่วมกับสถาบันไทยศึกษาจัดการเสวนาครั้งนี้ขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ในการรับฟัง ความคิดเห็นของบุคคล หน่วยงาน องค์กร และสถาบันที่ทำงานด้านวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมไทยที่สัมพันธ์กับจีน เพื่อจะนำข้อมูลที่ได้มาประเมินและสังเคราะห์เป็นข้อสรุปแนวทางในการดำเนินการของศูนย์วัฒนธรรมไทยในประเทศจีนต่อไป

 

 

วัตถุประสงค์

 

1. เพื่อศึกษาการทำงานของบุคคล หน่วยงาน องค์กร และสถาบันที่ทำงานด้านวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมไทยที่สัมพันธ์กับจีน

 

2. เพื่อรับฟังความคิดเห็นและรวบรวมองค์ความรู้ในการร่างแผนงานในการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยในประเทศจีน โดยเฉพาะประเด็นด้านโอกาสและอุปสรรคจากผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินงานของศูนย์ในอนาคต

 

3. เพื่อสังเคราะห์ความคิดเห็นจากการเสวนามาจัดทำแผนการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยในประเทศจีน

 

 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

 

1. ได้รับฟังความคิดเห็นและความรู้เกี่ยวกับโอกาสและอุปสรรคในการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทย      ในประเทศจีนจากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่มีส่วนได้เสียกับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-จีน

 

2. เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำร่างแผน การจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทยในประเทศจีน

 

3. เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง อันจะไปสู่การดำเนินกิจกรรมอย่างยั่งยืนร่วมกันในอนาคต