ความศรัทธาและพิธีกรรมเกี่ยวกับพระหมอ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง จังหวัดปัตตานี

อาจารย์บัญชา เตส่วน

 

สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

 

การนำเสนอนี้มุ่งเน้นการอธิบายความศรัทธาและพิธีกรรมต่อพระหมอศาลเจ้าเล่งจูเกียง จังหวัดปัตตานี จากเรื่องเล่าการกำเนิดพระหมอ การอัญเชิญพระหมอสถิตที่ศาลเจ้าเล่งจูเกียง ความศรัทธาพุทธคุณของพระหมอ พิธีไหว้บูชาและบนบานที่ศาลเจ้า วิธีการศึกษาคือการลงพื้นที่ภาคสนามโดยใช้วิธีสัมภาษณ์แบบเจาะจงและสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม แนวคิดที่ใช้คือบทบาทหน้าที่ทางคติชนวิทยา ขอบเขตประชากรคือคนปัตตานีที่ศรัทธาและทำพิธีเกี่ยวกับพระหมอ ขอบเขตด้านเนื้อหาคือวิเคราะห์ความศรัทธาและพิธีต่อพระหมอ 

 

การนำเสนอนี้นำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับความศรัทธาและพิธีกรรมต่อพระหมอที่สื่อบทบาททางคติชน 3 ประการดังนี้

 

1) การสถิตเป็นองค์ประธานที่ศาลเจ้า ชี้ว่าพระหมอเป็นที่รวมใจและความศรัทธาของชาวปัตตานี ทั้งคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธและผู้ที่มีเชื้อสายจีน 

 

2) เรื่องเล่าการกำเนิดพระหมอที่กล่าวถึงการเป็นเทพและพระผู้ถือศีล แสดงให้เห็นว่าพระหมอมีบทบาทเป็นที่พึ่งทางใจแก่คนปัตตานี ที่ทำพิธีไหว้บูชาและพิธีบนบานที่ศาลเจ้าเพื่อขอพึ่งความศักดิ์สิทธิ์และพุทธคุณของพระหมอให้ช่วยรักษาให้หายป่วยไข้ 

 

3) การดำรงอยู่ของความศรัทธาและพิธีกรรมของพระหมอ คือ บทบาทที่สื่อบรรทัดฐานชุมชนรอบศาลเจ้า ที่คนต่างเชื้อสายอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบเพราะฝากตัวเป็นลูกหลานของพระหมอ
 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)