คุณค่าและการดำรงอยู่ของศาลเจ้าจีนในบริบทสังคมเมืองกรุงเทพมหานคร

ดร. ภัทรวรรณ พงศ์ศิลป์

 

กองโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

 

 

กรุงเทพมหานครเป็นชุมชนเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นเมืองท่าการค้าทางทะเลมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศไทย และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ทำให้มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อพยพเข้ามาอยู่อาศัยจำนวนมาก รวมถึงชุมชน ชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาของเมืองบางกอกและได้ขยายชุมชนออกไปทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้นำประเพณีความเชื่อในการนับถือเทพเจ้าจีนเข้ามาและได้มีการตั้งศาลเจ้าจีนขึ้นเป็นศาสนสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนชาวจีนแต่ละแห่ง ซึ่งสืบทอดต่อกันมาเป็นมรดกวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนในกรุงเทพมหานคร (อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช, 2561) ทว่าการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและกระแสการพัฒนาอย่างรวดเร็วในสังคมเมืองปัจจุบันได้ส่งผลกระทบที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนในกรุงเทพมหานคร (Sirisrisak, 2015) ซึ่งคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามความเข้าใจและความสัมพันธ์ของผู้คนแต่ละกลุ่มภายใต้บริบทสังคมเมือง (Smith, G. S., Messenger, P. M. and Soderland, H. A., 2009) 

 

การนำเสนอนี้อธิบายการให้ความหมายต่อคุณค่าและการดำรงอยู่ของศาลเจ้าจีนที่มีความเก่าแก่ในฐานะมรดกวัฒนธรรมของชุมชนไทยเชื้อสายจีนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งสะท้อนผ่านรูปแบบของการใช้ประโยชน์ มาตรฐานของการอนุรักษ์ และระบบการบริหารจัดการศาลเจ้า โดยการสังเกต สัมภาษณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารและสื่อต่าง ๆ ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบกรณีศึกษาระหว่างกลุ่มศาลเจ้าจีนที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานกับกลุ่มศาลเจ้าจีนที่ไม่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลวัตและช่วงชั้นทางวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกันระหว่างศาลเจ้าจีนแต่ละกลุ่มและความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้คนในสังคมเมืองในลักษณะที่แตกต่างกัน

 

เอกสารอ้างอิง

 

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช. 2561. ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ : ภาพสะท้อนจีนโพ้นทะเลผ่านสถาปัตยกรรมศาลเจ้าสมัยรัชกาลที่ 1-5. นนทบุรี : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด

 

Sirisrisak, T. 2015. “The Urban Development and Heritage Contestation of Bangkok’s China Town”. In van der Veer, P. ed. Handbook of Religion and the Asian City: Aspiration and Urbanizationin the Twenty-First Century. Berkeley: University of California Press. pp. 168-185 

 

Smith, G. S., Messenger, P. M. and Soderland, H. A. 2009. Heritage Values in Contemporary. New York: Routledge
 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)