ชุมชนจีนในวิถีพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี

รองศาสตราจารย์ อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ

 

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

 

จังหวัดปัตตานีมีลักษณะสังคมพหุวัฒนธรรมที่โดดเด่น สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การศึกษาและการอนุรักษ์ เพื่อนำมาเป็นต้นทุนในการพลิกฟื้นเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในมิติต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ดำเนินการโครงการวิจัยมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ 3 ระยะ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมเชิงพื้นที่วงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี 2) ม.อ.ปัตตานีกับการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี และ 3) การจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม : การขยายพื้นที่และต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี ระหว่างปี 2561-2565 โดยมีขอบข่ายชุมชนและพื้นที่ศึกษาในย่านวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นเขตเมืองเก่าปัตตานีขนาดพื้นที่ 2.093 ตารางกิโลเมตร ตามประกาศคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 3 บริเวณซึ่งเชื่อมต่อกันโดยแม่น้ำปัตตานี ได้แก่ กลุ่มพื้นที่ทางทิศเหนือเป็นชุมชนจีนบริเวณถนนอาเนาะรูที่ตั้งศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว กลุ่มพื้นที่ตอนกลางบริเวณถนนฤาดีและถนนปัตตานี-ภิรมย์ซึ่งเป็นย่านการค้าและชุมชนโดยรอบ และกลุ่มพื้นที่ทางทิศใต้บริเวณเมืองเก่าจะบังติกอซึ่งเป็นที่ตั้งของวังเจ้าเมืองและย่านชุมชนโดยรอบ ครอบคลุมชุมชนไทย ชุมชนมลายู และชุมชนจีน โดยมีองค์ประกอบและทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมในพื้นที่ที่ศึกษา ประกอบด้วยมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิทัศน์วัฒนธรรม วิสาหกิจวัฒนธรรม องค์กรวัฒนธรรม มรดกทางธรรมชาติและเทศกาลวัฒนธรรม 

 

การนำเสนอ เรื่อง “ชุมชนจีนในวิถีพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี” ครั้งนี้เป็นการเพ่งมองเฉพาะมิติพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่ทางสังคม และพื้นที่ศรัทธาเฉพาะ “ชุมชนจีน” ในพื้นที่วงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี ถนนอาเนาะรู ถนนปัตตานีภิรมย์ และถนนฤาดีซึ่งเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจย่านตลาดจีนและที่อยู่อาศัยของชาวจีนกลุ่มแรก ๆ ที่เดินทางมายังปัตตานีและได้ก่อร่างสร้างถิ่นฐานทำมาค้าขายจนมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจในดินแดนที่แตกต่างจากวัฒนธรรมเดิม สามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้คน สามารถปรับตัวยอมรับลักษณะวัฒนธรรมที่เปิดกว้างแต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตน มีการสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น ไหว้เทพเจ้า ไหว้พระจันทร์ ไหว้บรรพบุรุษ เฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน เทศกาลเช็งเม้ง เป็นต้น

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)