ท่องเที่ยวศาลเจ้าจีน เยือนถิ่นวัฒนธรรม ชื่นชมความงามชายแดนใต้

นายชูโชติ เลิศลาภลักขณา

 

ร้านหย่งชางกิมซิ้น ปัตตานี

 

อาจารย์ชวิน พงษ์ผจญ

 

สาขาวิชาการสอนภาษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

การบรรยายนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างคนในและคนนอกเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้ชีวิตบนวิถีแห่งศรัทธาต่อศาลเจ้า เทพเจ้า และวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ส่วน

 

ส่วนแรกเป็นการบอกเล่าเส้นทางชีวิตของ “ชูโชติ เลิศลาภลักขณา” หรือ “เฮียโก้” ช่างซ่อมองค์พระและองค์เทพเจ้าจีน เจ้าของร้านหย่งชางกิมซิ้น ที่เติบโตมาบนความผูกพันที่มีต่อศาลเจ้าเล่งจูเกียง และศาลเจ้าอื่น ๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเริ่มต้นจากคำสอนของพ่อที่พร่ำบอกเสมอว่าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนี้ศักดิ์สิทธิ์ นับเป็นจุดเริ่มต้นให้สืบทอดเรื่องวิถีการถือธงนำหน้าเกี้ยวแห่องค์พระมาจนถึงการหามเกี้ยวองค์พระในศาลเจ้าผ่านพิธีลุยน้ำ – ลุยไฟ 

 

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอประสบการณ์และมุมมองส่วนตัวที่มีต่อศาลเจ้าแต่ละแห่งที่เข้าร่วมงานประชุมวิชาการครั้งนี้ เริ่มจากความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อตั่วเล่าเอี่ยะ ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย บางตะโล๊ะ ที่ได้ดลให้ถูกสลากกินแบ่งกว่า 4 แสนบาทเพื่อนำเงินมาพัฒนาร้านซ่อมองค์พระ ไปจนถึงการเดินทางตามองค์พระทั้งที่รับซ่อมและมีผู้ศรัทธาบูชาไปไว้ที่ศาลเจ้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ ศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง และศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ รวมถึงการไป สักการะบูชาศาลเจ้าที่ไม่เคยได้ไปมาก่อนอย่างศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลา

 

ส่วนต่อมา เป็นการสะท้อนคิดจากประสบการณ์การวิจัยภาคสนามของ“อาจารย์ชวิน พงษ์ผจญ” นักวิชาการด้านการศึกษา ตั้งแต่เริ่มรู้จักพื้นที่พิเศษนี้เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว สืบเนื่องมาจนปัจจุบันที่เข้ามาเป็นคนนอกในพื้นที่ ผู้ตระเวนไปตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่สามัญ และสถาบันการศึกษาปอเนาะ เพื่อที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษา ความขัดแย้ง และสันติภาพ อันเป็นฐานของการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่พหุวัฒนธรรมในฐานะปัจจัยหลักในการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์และสังคม อย่างยั่งยืนแท้จริง

 

ในฐานะลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนจากกรุงเทพฯ ผู้ศรัทธาการไหว้เจ้าและมีงานอดิเรกเป็นการท่องเที่ยวและเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับศาลเจ้า เทพเจ้าและวัฒนธรรมต่าง ๆ ศาลเจ้าในพื้นที่ชายแดนใต้จึงเป็นทั้งที่ท่องเที่ยวยามว่างและที่ปลอดภัยทางใจยามว่างเว้นจากการลงพื้นที่ภาคสนาม ซึ่งทำให้ตระหนักว่าตามความเข้าใจของคนนอกพื้นที่ เมื่อพูดถึงพื้นที่ชายแดนใต้ หลายคนอาจนึกถึงคำว่า “พหุวัฒนธรรม” และความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยภาพจำและภาพแทนของความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธ (ไทย-พุทธ) และมุสลิม (ไทย-มุสลิม/มลายู-มุสลิม) ทั้งที่แท้จริงแล้วพื้นที่นี้เต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งเชิงชาติพันธุ์ ศาสนาและประเพณีวิถีชีวิต ยังไม่นับรวมสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ซึ่งองค์อัลเลาะห์เมตตา เหล่าเอี๊ยะประทาน และสวรรค์จัดสรรให้อย่างสมบูรณ์ การจะมองภาพพื้นที่นี้อย่างเข้าใจและเข้าถึง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงมาสัมผัสด้วยตนเอง ซึ่งอาจจะต้องใช้ความกล้าในระยะแรกในการลบภาพจำจากสื่อต่าง ๆเพื่อเข้าใจว่าพื้นที่นี้มิได้น่ากลัวอย่างที่คิด

 

ความเข้าใจข้างต้นจะช่วยขับเน้นภาพของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่แห่งนี้ซึ่งถูกทำให้เลือนลางด้วยพลังและอำนาจของสื่อกระแสหลัก และชวนให้ซาบซึ้งถึงพลวัตแห่งศรัทธาของชุมชนเหล่านี้ที่ก่อรากและฝากรอยไว้ในพื้นที่มาหลายช่วงอายุคนจนเกิดเป็นวิถีวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงแผ่นดินเดิมซึ่งบรรพบุรุษได้จากมาเข้ากับแผ่นดินใหม่ที่ลงหลักปักฐานเป็นเรือนเกิด เรือนใจ และเรือนตายของลูกหลานรุ่นต่อมาเข้าไว้ด้วยกัน ปฏิเสธมิได้ว่าพลวัตแห่งศรัทธานี้คือส่วนหนึ่งของความรุ่งโรจน์ของดินแดนแถบนี้ และแม้จะข้ามฝ่าการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคสมัย แต่ก็ยังสามารถปรับรูปรอยเพื่อดำรงอยู่อย่างสง่างามท่ามกลางความไม่ปกติของพื้นที่พิเศษ

 

การบรรยายทั้ง 2 ส่วน นำไปสู่ข้อสรุปสำคัญ 3 ข้อ กล่าวคือ หลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อ พ.ศ. 2547 นอกจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เองแล้ว สื่อกระแสหลักมีส่วนสำคัญในการซ้ำเติมความรุนแรงแก่ผู้คนในพื้นที่ ซึ่งชาวไทยเชื้อสายจีนรวมถึงกลุ่มคนอื่น ๆ ที่มีลักษณะเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ เพราะมิอาจยึดโยงเข้ากับคู่ตรงข้ามใดของภาพความขัดแย้งอย่างสมบูรณ์ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างมาก แม้ว่าพลวัตของความรุนแรงจะเปลี่ยนไปแล้ว แต่ทั้งภาพจำและภาพแทนที่คนนอกมีต่อคนในพื้นที่กลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงตาม ศาลเจ้าจึงเป็นภาพที่ชัดเจนของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนที่ได้รับผลกระทบส่วนนี้ 

 

ข้อสรุปข้างต้นนำไปสู่ข้อสรุปต่อมาที่ว่า ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตที่เกิดขึ้นทำให้พิธีกรรมต่าง ๆ มีความสำคัญยิ่งในฐานะเครื่องมือและกระบวนการดำรงอัตลักษณ์ของชาวไทยเชื้อสายจีนให้คงอยู่ ความศรัทธาที่ส่งต่อผ่านเรื่องเล่าและพิธีกรรมมีส่วนสำคัญในการพาลูกหลานที่โยกย้ายออกจากพื้นที่กลับมาบ้านเพื่อแสดงถึงการมีอยู่ของอัตลักษณ์อันเป็น “ตัวตน” ทั้งเชิงนามธรรมและรูปธรรมที่ถูกรุกคืบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมในหลายมิติ (และแน่นอนว่า ศาสนาไม่ใช่ปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้เกิดจากเปลี่ยนแปลงนี้อย่างที่สื่อกระแสหลักนิยมนำเสนอ) 

 

ข้อสรุปสุดท้ายเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมว่า นโยบายที่มุ่งเสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ดำเนินสืบต่อมาหลายทศวรรษ เป็นการส่งเสริมพหุวัฒนธรรมในฐานะที่ยอมรับและส่งเสริมความหลากหลายบนพื้นฐานความเคารพกันอย่างเท่าเทียมและยุติธรรมมากน้อยเพียงใด หรือเป็นเพียง “คำวิเศษ” ที่สามารถดลบันดาลให้เกิดโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมประจำปีงบประมาณ แต่ปราศจากพลังที่จะสร้างเปลี่ยนแปลงสังคมสู่สันติดังที่ปรารถนา

 

การศึกษาและการส่งเสริมชุมชนบนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจด้านพหุวัฒนธรรม จึงมิใช่หน้าที่และภาระหลักที่ประชาชนในพื้นที่ต้องจำยอมแบกรับแต่เพียงลำพัง แต่เป็นหน้าที่ของคนนอกพื้นที่และทุกภาคส่วนในสังคมไทยที่ต้องร่วมรับผิดชอบ โดยเฉพาะภาครัฐ ในฐานะต้นธารแห่งนโยบาย งบประมาณ และการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในพื้นที่

 

ดังนั้น การเปิดพื้นที่กลางให้คนในและคนนอกได้ ท่องเที่ยวศาลเจ้าจีน เยือนถิ่นวัฒนธรรม ชื่นชมความงามชายแดนใต้ จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนความหมายและคุณค่าของสังคมพหุวัฒนธรรมแห่งสันติสุขบนแผ่นดินปลายด้ามขวาน เพื่อที่จะฉายภาพความเป็นจริงในพื้นที่ให้ชัดเจน และชวนหลงรักกว่าที่เคยรู้จักแต่ไม่เข้าใจ

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)