ยี่จับสี่เห่า (นิทานจีนชุดยี่สิบสี่ยอดกตัญญู) : ความหลากหลายและบทบาทหน้าที่ของวรรณกรรมจีนในสังคมไทย

อาจารย์ ดร. นรุตม์ คุปต์ธนโรจน์

 

ภาควิชาภาษาไทย วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

 

“ยี่จับสี่เห่า” (二十四孝 Èr Shí Sì Xiào) หรือ “นิทานจีนชุดยี่สิบสี่ยอดกตัญญู” เป็นนิทานจีนซึ่งปรากฏมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน เล่าเกี่ยวกับบุคคลที่มีความกตัญญูอย่างยิ่งยวดจำนวนทั้งสิ้น 24 คน ซึ่งตัวละครที่ปรากฏมีทั้งที่เป็นตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ พงศาวดาร หรือเป็นเรื่องเล่าเหนือจริงในลักษณะนิทาน ความน่าสนใจของนิทานชุดนี้คืออนุภาคความกตัญญูและการได้รับรางวัลจากความกตัญญูซึ่งมีความน่าสนใจและมีสีสัน เช่น การชิมอุจจาระของบุพการีเพื่อให้ทราบอาการป่วย การให้มารดาดื่มนมจากเต้า การนอนถอดเสื้อให้ยุงกัดตนแทนบุพการี การสู้กับเสือเพื่อปกป้องบิดา การนั่งร้องไห้คร่ำครวญจนหน่อไม้งอกใน ฤดูหนาวแล้วนำไปให้มารดารับประทาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นิทานชุดนี้มีหลายสำนวนเพราะเป็นวรรณกรรมที่ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน ทำให้มีผู้รวบรวมเรื่องใหม่แทนชุดนิทานเดิม การตัดบางเรื่องออก การแทรกเรื่องใหม่เข้ามาแทนที่ การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบางส่วนหรือแม้แต่การลดหรือเพิ่มจำนวนเรื่อง ยี่จับสี่เห่านอกจากจะแพร่หลายในประเทศจีนแล้วยังพบในหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมทั้งในไทยซึ่งปรากฏหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ รูปแบบวรรณกรรมพบการตีพิมพ์หลากหลายสำนวนทั้งในลักษณะหนังสือธรรมะ การตีพิมพ์เป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพหรือแม้แต่การ์ตูน รูปแบบศิลปกรรมพบในศาลเจ้า วัดจีน วัดไทย วัดญวณ สุสานจีน และมูลนิธิชาวไทยเชื้อสายจีน รูปแบบการแสดงพบในการแสดงงิ้วชุดเบิกโรง รูปแบบพิธีกรรมพบในบทร้องกงเต๊กของจีนแต้จิ๋วและใบเซียมซีในศาลเจ้า นอกจากความหลากหลายดังกล่าวแล้ว ยี่จับสี่เห่ายังมีบทบาทหน้าที่ 4 ประการ ได้แก่ บทบาทหน้าที่ด้านวรรณกรรมคำสอน บทบาทหน้าที่ในเชิงพิธีกรรม บทบาทหน้าที่ในการเป็นองค์ประกอบของศิลปะแบบจีน และบทบาทหน้าที่ด้านการนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นจีน จากบทบาทหน้าที่เหล่านี้ทำให้ยี่จับสี่เห่ายังคงปรากฏอย่างแพร่หลายในสังคมไทยปัจจุบัน
 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)