ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย บางตะโล๊ะ จังหวัดปัตตานี

ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย บางตะโล๊ะ ปัจจุบันตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลปะเสยะวอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นศาลเจ้าที่มีประวัติยาวนาน เชื่อว่ามีจุดเริ่มต้นประมาณ พ.ศ. 2381 เมื่อบิดาของนายคงซึ่งเป็นชาวไทย-พุทธเชื้อสายจีน ได้ไปขอปลาจากชาวมุสลิมที่กำลังออกหาปลาอยู่ ขณะนั้นมีท่อนไม้ท่อนหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยพวกหอยและเพรียงติดอวนขึ้นมาด้วย ชาวมุสลิมจึงโยนทิ้งลงไปในทะเลแต่ท่อนไม้ดังกล่าวกลับติดอวนขึ้นมาอีกครั้ง เป็นที่แปลกใจของผู้คนบนเรือนั้น เมื่อพิจารณท่อนไม้อย่างละเอียดและพบว่ามีลักษณะคล้ายองค์พระจีน ชาวมุสลิมจึงเรียกบิดาของนายคงผู้เป็นชาวไทย-พุทธคนเดียวในบริเวณนั้นมานำพระจีนออกจากอวน ทันทีที่บิดาของนายคงซึ่งป่วยเป็นโรคคุดทะราด (ลักษณะอาการคล้ายโรคเรื้อน) อุ้มพระจีนออกจากอวนก็รู้สึกมีกำลังแข็งแรงขึ้นมาและออกวิ่งด้วยเท้าเปล่าฝ่าดงหญ้าลูกลมที่แหลมคมจากบริเวณชายฝั่งทะเลลงคลองข้ามฝั่งไปยังบ้านบางตะโล๊ะ แล้วนำองค์พระไปวางไว้ในกอเตย ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ยในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน 

 

หลังจากนั้น บิดาของนายคงได้ไปบอกข่าวเรื่ององค์พระนี้แก่ “แป๊ะตัน” หัวหน้าหมู่บ้านซึ่งเป็นผู้มีฐานะดีและได้รับการเคารพนับถือจากชุมชน แป๊ะตันจึงเกณฑ์ชาวบ้านมาดูและช่วยกันแกะพวกหอยและเพรียงที่ติดอยู่ที่องค์พระออก ก่อนนำองค์พระมาวางบนโต๊ะและรมด้วยควันธูปและกำยานพร้อมทั้งตีล่อโก้ว (เครื่องดนตรีจีนที่ประกอบกันเป็นวงดนตรี) เพื่อให้เทพเจ้าได้มาสถิต ณ องค์พระ ในตอนนั้นเอง องค์พระได้แสดงปาฏิหาริย์โดยการทำให้โต๊ะที่ตั้งองค์พระสั่นไปมา แป๊ะตันและชาวบ้านจึงเกิดความศรัทธาและร่วมกันสร้างศาลเจ้าแบบชั่วคราวขึ้นเพื่อประดิษฐานองค์พระ โดยองค์พระนั้น คือ องค์ตี่ฮู่อ่องเอี่ย (池府王爺) หรือที่ชาวบ้านเรียกอย่างลำลองตามประสาลูกหลานผู้มีจิตศรัทธาว่า “ตั่วเล่าเอี่ย” หรือ “อากง” 

 

ด้วยบารมีของอากง ในเวลาต่อมาโรคคุดทะราดและบาดแผลที่เกิดจากการวิ่งฝ่าดงหญ้าลูกลมของบิดาของนายคงได้หายเป็นปลิดทิ้ง รวมถึงผู้ใดที่เจ็บไข้แล้วมาขอพรหรือบนบานต่อองค์พระมักจะหายจากอาการเจ็บไข้เหล่านั้นจนเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ เหตุนี้ ชื่อเสียงและความศักดิ์สิทธิ์ของอากงจึงเลื่องลือไปในบริเวณพื้นที่ที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะในกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน ที่ต่างเดินทางมาขอพรอากงให้สิ่งที่คิดสัมฤทธิ์ผลดังใจและแคล้วคลาดปลอดภัยจากเคราะห์และโรคร้ายทั้งปวง 

 

ความศักดิ์สิทธิ์ของอากง โดยเฉพาะด้านการคุ้มครองชาวประมงจากพายุคลื่นลม และการปัดเป่าโรคระบาด เช่น อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไม่ให้คร่าชีวิตของชาวบ้านบางตะโล๊ะท่ามกลางสถานการณ์ที่หมู่บ้านใกล้เคียงมีผู้คนล้มตายจากโรคระบาดเป็นจำนวนมาก ได้รับการบอกเล่าอย่างกว้างขวางจนทราบถึงเจ้าเมืองสายบุรี หรือ “พระยาแขก” ท่านจึงได้มาบนบานต่ออากงและมอบเหรียญทองคำลายดวงดาวพระจันทร์เสี้ยว ตามที่ท่านได้บนบานไว้ในเวลาต่อมา

 

ต่อมาเมื่อเถ้าแก่ “เองวัฒน์” ได้เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบดูแลศาลเจ้า ท่านและแป๊ะตันได้ร่วมมือร่วมใจกับชาวบ้านสร้างศาลเจ้าแบบถาวรขึ้น และได้ให้ช่างฝีมือมาแกะสลักไม้เป็นรูปพระจีน 3 องค์ ได้แก่ ปุนเถ้าก๊อง ม่อจ้อโป่ และฮู่จ้อ (เจ้าแม่กวนอิม) เพื่อประดิษฐานร่วมกับอากงให้ชาวบ้านเคารพสักการะ แต่นั้นมา จึงจัดให้มีงานประจำปีขึ้นทุกปีซึ่งถือเป็นงานวันเกิดของอากง 

 

ปัจจุบันศาลเจ้าแห่งนี้ไม่มีร่างทรง เนื่องจากผู้ที่อากงจะรับเป็นร่างทรงจะต้องเป็นผู้ที่มีแซ่ (นามสกุล) เดียวกับท่าน ทำเนียบร่างทรงของศาลเจ้าแห่งนี้มีอยู่ 4 คนตามลำดับ คือ ตั่งกี่สู่ ตั่งกี่วัฒน์ ตั่งกี่แป๊ะจี่ และตั่งกี่จิ้วป่าน ทุกคนล้วนถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา อาจกล่าวได้ว่า พิธีกรรมบางส่วนที่ศาลเจ้าเคยปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตได้เลือนหายตามการจากไปของร่างทรงเหล่านี้

 

อย่างไรก็ตาม ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ยยังคงสืบทอดพิธีแห่หามพระในงานวันเกิดของอากงอยู่ทุกปี กำหนดระยะเวลาจัดงาน 5 วัน 5 คืน โดยเริ่มต้นวันแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 หรือ 4 ก่อนวันมาฆบูชา 1 วัน และมีพิธีไหว้พระจันทร์ตอนย่ำรุ่ง (ประมาณ 05.00 น.) ของวันขึ้น15 ค่ำ ตลอดจนฉลองวันเกิดของอากงในวันแรม 3 ค่ำ ซึ่งจะมีการเชิญองค์พระทุกองค์ขึ้นเกี้ยวและหามแห่ไปตามบ้านเรือนของลูกหลานในเขตตำบลตะลุบันที่เคารพนับถือองค์พระเหล่านี้ อำเภอสายบุรี ก่อนที่จะไปปักหลักคุ้มของเขตของท่าน (เต็งฮู่) ที่หน้าถ้ำหลังที่ทำการเทศบาลในปัจจุบัน แล้วจึงกลับศาลเจ้าและไปลงเล่นน้ำทะเลบริเวณที่เชื่อกันว่าพบองค์พระในอดีต จากนั้นเป็นการปักหลักเขตที่ชายทะเลและที่ทางเข้าหมู่บ้านบางตะโล๊ะ พิธีลุยไฟ และการเชิญพระกลับเข้าศาลเจ้าซึ่งเป็นพิธีสุดท้าย อนึ่ง จะ มีมหรสพต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาจัดงาน มหรสพที่ขาดไม่ได้คือการแสดงมโนห์รา

 

นอกจากงานวันเกิดของอากงแล้ว ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ยยังสืบต่อพิธีกรรมล่องเรือสำเภาลงทะเลเพื่อลอยเคราะห์และสิ่งอัปมงคลในบริเวณดังกล่าวออกจากชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธามาร่วมพิธีและพื้นที่ พิธีกรรมนี้เป็นการสืบทอดความเชื่อตามตำนานของตี่ฮู่อ่องเอี่ยที่ท่านและน้องทั้ง 6 คน ถูกพิษจนถึงแก่ชีวิต มีเพียงท่านและน้องอีก 2 คน ซึ่งต่อมาลูกหลานเรียกกันว่า “ยี่เล่าเอี่ย” และ “ซำเล่าเอี่ย” มาสถิตเป็นองค์เทพ ส่วนน้องอีก 4 คน ซึ่งมีนิสัยอันธพาลกลายเป็นดวงวิญญาณเร่ร่อน จึงจำเป็นต้องทำพิธีส่งดวงวิญญาณเหล่านี้และพรรคพวกลงเรือสำเภาออกสู่ทะเล เพื่อไม่ให้มารังควานชาวบ้าน พิธีนี้จัดขึ้นเดือนพฤษภาคมของทุกปีซึ่งเป็นช่วงที่มีลมบกพัดจัด โดยจะมีการทอดเบี้ยเสี่ยงทาย (ปะโป้ย) เพื่อถามกำหนดวันทำและล่องเรือสำเภา โดยภายในเรือนี้จะบรรทุกเสบียงอาหาร สิ่งของอัปมงคลที่พบโดยการชี้ของเกี้ยวพระขณะทำการหามแห่พระ ตลอดจนเส้นผมและเล็บของชาวบ้านที่ต้องการลอยเคราะห์ไปกับเรือสำเภานี้ เมื่อถึงวันลอยเรือสำเภาตามที่กำหนด ชาวบ้านจะใช้ขบวนเรือลากจูงเรือสำเภาไปกลางทะเลาแล้วทำพิธีเวียนรอบเรือสำเภา 3 รอบ ก่อนกลับขึ้นฝั่ง

 

นอกจากศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ยที่บ้านบางตะโล๊ะแล้ว ในอำเภอสายบุรียังมีศาลเจ้าเล่าเอี๊ยะกง ซึ่งประดิษฐานองค์ตี่ฮู่อ่องเอี่ยพร้อมน้องของท่านทั้ง 2 องค์ ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้เคารพสักการะด้วย

 

ผู้ศรัทธาและสนใจมากราบอากงที่ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย บ้านบางตะโล๊ะ นี้สามารถติดตามข่าวสารทางเพจเฟซบุ๊ก เจ้าพ่อตั่วเล่าเอี่ย ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย บางตะโล๊ะ และสามารถติดตามข่าวสารของศาลเจ้าเล่าเอี๊ยะกง อำเภอสายบุรี ที่เพจเฟซบุ๊ก ศาลเจ้าจ่ายเฮงเกียง เล่าเอี่ยก๊องตี่ฮู้อ่องเอี่ยเบ้ว

 

หมายเหตุ 

 

เรียบเรียงจากเอกสารต้นฉบับของนายฉ้วน เบ้งฮ้อ นายแจ้ง สกนธวุฒิ (ผู้เล่า) และนายกิตติ เบ้งฮ้อ (ผู้เรียบเรียง) และคำบอกเล่าของชาวบ้านบางตะโล๊ะ ทั้งนี้ ได้รับการตรวจทานความถูกต้องจากผู้แทนศาลเจ้าแล้ว ผู้ที่สนใจใช้ข้อมูลชุดนี้เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ขอความกรุณาอ้างอิงแหล่งข้อมูลนี้โดยระบุชื่อ ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย บางตะโล๊ะ ในฐานะผู้เขียน 

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)