ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลา จังหวัดยะลา

ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลา (也拉慶佛寺 ) หรือที่รู้จักกันในนาม “วัดเห้งเจีย”  ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 30/10 หมู่ 4 ถนนเทศบาล 4 ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นศาลเจ้าอีกแห่งในพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีโครงสร้างใหญ่โตโอ่อ่าและประดิษฐานองค์พระและเทพเจ้ากว่าร้อยองค์ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้มากราบไหว้เป็นสิริมงคล
ศาลเจ้าแห่งนี้มีประวัติยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ โดยมีจุดเริ่มต้นจากครอบครัวของคุณองอาจ รัตตัญญู ครอบครัวชาวจีนเล็ก ๆ ครอบครัวหนึ่งซึ่งได้ประกอบอาชีพค้าขายร่วมกันกับพี่ ๆ น้อง ๆ ในตระกูลในจังหวัดยะลา กล่าวคือคุณแม่ของคุณองอาจเกิดล้มป่วยด้วยโรคที่การแพทย์สมัยนั้นไม่สามารถระบุสาเหตุและรักษาได้ จนกระทั่งองค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้ว (大聖佛祖) ลงมาประทับทรงผ่านร่างของคุณองอาจเพื่อช่วยเหลือคุณแม่จนอาการป่วยของท่านหายเป็นปกติ  ข่าวการประทับทรงรักษาโรคนี้ได้บอกเล่ากันกันปากต่อปาก ทำให้ผู้ที่มีปัญหาหรือเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจต่างพากันมาขอความช่วยเหลือจากการประทับทรงขององค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้วนี้ ในช่วงเวลานั้นการประทับทรงจะใช้พื้นที่ของบ้านพักซึ่งเป็นอาคารห้องแถว โดยปกติจะรับประทับทรงเดือนละ 1 – 2 ครั้ง หรือตามแต่เหตุจำเป็นขององค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้วและตามความเดือดร้อนของผู้ที่มาหา ซึ่งคุณองอาจไม่ เรียกร้องสิ่งตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้นตามคำสั่งขององค์เทพที่ประสงค์ช่วยเหลือผู้คน  

 

เวลาผ่านไปหลายปี จำนวนผู้คนที่มาพึ่งความช่วยเหลือจากร่างทรงขององค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้วมีมากยิ่งขึ้น ทำให้สถานที่ค่อนข้างคับแคบ วันหนึ่ง องค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้วลงประทับทรงและกล่าวกับลูกหลานว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องสร้างศาลเจ้าขึ้น เพื่อประดิษฐานองค์พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ รวมถึงเพื่อที่จะได้ช่วยเหลือผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากได้มากและสะดวกยิ่งขึ้นด้วย จากนั้นจึงมีการเสาะหาสถานที่ที่จะก่อสร้างศาลเจ้าขึ้น โดยมีผู้เสนอสถานที่อยู่หลายแห่งให้องค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้วเป็นผู้เลือก ท่านจึงได้เลือกพื้นที่ที่บริเวณตำบลสะเตงนอก ซึ่งในช่วงเวลานั้นค่อนข้างอยู่ห่างไกลจากย่านชุมชนเมืองยะลาและมีเส้นทางการเดินทางที่ลำบากด้วยมีสภาพข้างทางเป็นป่ายางและมีทางเข้าเป็นถนนดินลูกรัง ผู้ที่จะเดินทางมาจะต้องผ่านคลองเล็ก ๆ ซึ่งมีสะพานไม้เก่าพาดให้รถยนต์ผ่านได้ทีละคันเท่านั้น เมื่อผลการเลือกสถานที่เป็นเช่นนี้ จึงมีผู้ทักท้วงว่าเป็นสถานที่ที่กันดาร ห่างไกลจากชุมชน และการสัญจรลำบาก แต่องค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้วได้ชี้ทางสว่างแก่ลูกศิษย์ว่า ในอนาคต สถานที่บริเวณนี้จะเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งตามลำดับ คณะกรรมการจึงตกลงสร้างศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลาขึ้น ณ ที่นี้ โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2510 และด้วยเหตุที่องค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้ว หรือ “เจ้าพ่อเห้งเจีย” เป็นองค์เทพผู้ดำริให้ก่อสร้างศาลเจ้าขึ้น ผู้คนจึงต่างพากันเรียกศาลเจ้าแห่งนี้อย่างลำลองว่า “วัดเห้งเจีย”

 

ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่นี้ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปีจึงแล้วเสร็จ และได้จัดงานเฉลิมฉลองสมโภชศาลเจ้าครั้งแรกในวันที่ 3 – 7 พฤษภาคม 2512 โดยเบื้องต้นมีองค์พระที่ประดิษฐานเพียง 11 องค์ โดยมีองค์ประธานเป็นองค์หยู่ไหล่ฮุกโจ้ว หรือ พระพุทธ และเฉพาะองค์พระหยู่ไหล่ฮุกโจ้วนี้เองที่จัดสร้างขึ้นตามพุทธลักษณะแบบไทย (ปางมารวิชัย) ส่วนองค์อื่น ๆ จะมีเทวลักษณะตามแบบจีนทั้งนี้เพราะคุณสุทธิชัย รัตตัญญู ประธานคนแรกของศาลเจ้า พี่ชายของคุณองอาจพร้อมทั้งคณะผู้สร้างเห็นพ้องกันว่า เป็นการให้เกียรติและสำนึกถึงบุญคุณของแผ่นดินไทยที่ให้คนจีนและลูกหลานที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนได้มาอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุข องค์พระทั้ง 11 องค์นี้ มีลักษณะเป็นงานปูนปั้นลงรักปิดทองและมีขนาดใหญ่เท่าตัวคนจริง ในงานสมโภชศาลเจ้าครั้งแรกนี้ คณะกรรมการศาลเจ้าได้เรียนเชิญร่างทรงจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมาช่วยลงทรงเทพเจ้าต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเป็นร่างทรงในงานสมโภชศาลเจ้าในยุคแรกของศาลเจ้า

 

ในปี พ.ศ. 2513 ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลาได้จัดงานสมโภชศาลเจ้าและอัญเชิญองค์พระจำลองของศาลเจ้าออกแห่รอบเมืองยะลา พร้อมจัดให้มีพิธีลุยไฟเป็นปีแรกและจัดให้มีพิธีปลุกเสกพระผงเนื้อว่านร้อยแปด รุ่นแรกของศาลเจ้านี้รวม 11 องค์ คือ องค์พระทั้งหมดของศาลเจ้าในขณะนั้น ทั้งยังมีพิธีเคี่ยวน้ำมันว่านร้อยแปดแจกจ่ายให้ประชาชนนำไปสักการะบูชาและรักษาโรคภัยต่าง ๆ สำหรับการจัดงานสมโภชแห่พระลุยไฟประจำปีของศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลานั้น ได้จัดต่อเนื่องกันมาทุกปี โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 เดือน 3 ของจีน หรือช่วงประมาณเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคม

 

ด้วยบารมีขององค์พระและเทพเจ้า รวมถึงความศรัทธาของลูกหลานเวลาต่อมาจึงได้มีการจัดสร้างองค์พระต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ ตามคำบอกกล่าวขององค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้วและผู้ที่มีจิตศรัทธาต่อศาลเจ้าแห่งนี้ ทั้งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2535 ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ได้จัดสร้าง “โรงเจเทียนอ่วงเก็ง”(天皇宮) บริเวณด้านหลังของศาลเจ้าเพื่อใช้เป็นสถานปฏิบัติธรรม ถือศีลกินเจ และประดิษฐานองค์พระและองค์เทพต่าง ๆ เพิ่มเติมจำนวนมาก โดยมีองค์เง็กอ้วงเซี่ยงตี่ (玉皇上帝) หรือองค์เง็กเซียนฮ่องเต้เป็นองค์ประธาน ซึ่งทำพิธีเบิกเนตรองค์พระและองค์เทพเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2541 และเชิญประดิษฐานบนแท่นบูชาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2541 ก่อนจะมีการทำพิธีเปิดป้ายอาคารโรงเจแห่งนี้และจัดงานสมโภชอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2543

 

ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลาเป็นศาลเจ้าหนึ่งในภาคใต้ที่มีองค์พระและองค์เทพประทับเกี้ยวออกแห่มากที่สุด โดยศาลเจ้าแห่งนี้มีองค์พระและองค์เทพรวมทั้งสิ้น 109 องค์ ประดิษฐานที่อาคารศาลเจ้า 49 องค์ และที่โรงเจเทียนอ่วงเก็ง 60 องค์รายละเอียดโดยรวมดังนี้

 

– หยู่ไหล่ฮุกโจ้ว (พระยูไล)

– โผวเอี้ยงผ่อสัก (พระสมันตภัทรโพธิสัตว์) 
– บุ่งซู้ผ่อสัก (พระมัญชุศรีโพธิสัตว์)

– ฉื่อปุยเนี่ยเนี้ย (พระแม่กวนอิม)    
– ปุกกุยฮุกโจ้ว (พระสังฆจาย)

– เฮี่ยงเต็งฮุกโจ้ว (พระทีปังกรพุทธเจ้า)
– หลิ่วลี้ฮุกโจ้ว (พระพิฆเนศวร์)         

– กวงเทียนฮุกโจ้ว
– เฮี่ยงบู่ซัวฮุกโจ้ว หรือ เฮี่ยงเทียนไต่ตี่     

– ถั่งเจ็งฮุกโจ้ว (พระถังซำจั๋ง)    
– ไต่เสี่ยฮุกโจ้ว (พระเห้งเจีย)

– จี้กงฮุกโจ้ว (พระจี้กง)         
– ไต่เสี่ยฮุกโจ้วปางบู้

– ไต่เสี่ยฮุกโจ้วปางสำเร็จ
– เทียนเผิงง่วนซ่วย (เทพตือโป้ยก่าย)

– อึ่งไบ้ฮุกโจ้ว 
– หน่าจาชายซ่วย            

– จงตั๋งง่วยซ่วย    
– กิมจาไท้จื้อ

– บักจาไท้จื้อ        
– อั่งไฮ่ยี้ชายซ่วย 

– บู้ไฉ่ซิ้ง (เทพเจ้าโชคลาภปางบู้)    
– ตี่บ้อเนี้ย (พระแม่ธรณี)

– จุ้ยบ้อเนี่ยเนี้ย (พระแม่คงคา)    
– โหงวก๊กบ้อเนี่ยเนี้ย (พระแม่โพสพ) 

– จูแซเนี้ย (เจ้าแม่กำเนิด)    
– ไหล่ซัวเหล่าบ้อ

– ทีโหวเซี๊ยะบ้อ         
– เทพหูทิพย์  

– เทพตาทิพย์            
– ตั๊กม้อโจ้วซือ  

– กิวเทียนเฮี่ยงนึ่ง (เจ้าแม่เก้าสวรรค์)    
– ไท้เสียงเล่ากุง

– ไท้ส่วยเอี้ย            
– ไท้แปะกิมแช

– ฮั่วท้อเซียงซือ         
– เซียนลี้เท็กก้วย

– เซียนฮั่งเจ็งลี้
– เซียนลื่อตงปิง  

– เซียนเตียก๋วยเล่า        
– เซียนหน่าไฉ่ฮั้ว  

– เซียนฮ้อเซียนโกว        
– เซียนฮั่งเซียนจื้อ 

– เซียนเชาก๊กกู๋        
– หน่ำเทียนมึ้งแปะกง  

– ฮกเต็กแปะกง        
– เองบ่วนตั๊กง่วนซ่วย 

– ซำฮวบโจวซือ (เจ้าพ่อหมื่นราม)    
– เสี่ยอ่วงกง (เจ้าพ่อหลักเมือง) 

– ซำท่งเอี้ย            
– เง็กอ้วงเซี่ยงตี่ (เง็กเซียนฮ่องเต้)

– กิมบ้อเนี่ยเนี้ย        
– อ่วงบ้อเนี่ยเนี้ย 

– สี่ไต่เทียนอ้วง (ท้าวจตุโลกบาล)    
– หยี่นึ่งเสี่ยกุง (เทพสามตา)

– ตี่ฉั่งอ้วงผ่อสัก (พระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์)
– ไต่ฮงโจวซือ (พระไต่ฮงกง)

– ไฉ่เส่งเอี้ย (เทพเจ้าโชคลาภ)    
– ชิงจุ้ยโจวซือ 

– กวงซีอิมผ่อสัก        
– กิมท้งเอี้ย

– เง็กนึ่ง        
– ไชชิ้วไชงั่งกวงซีอิมผ่อสัก  

– ลิ่มฮู้โกวเนี้ย (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว)    
– เต๋าบ้อเนี่ยเนี้ย 

– กิวอ้วงฮุกโจ้ว        
– หน่ำเซ่งแชกุง

– บักเต้าแชกุง        
– เตียเทียนโจวซือ

– ซำเกียกโจวซือ        
– อุ่ยท้อผ่อสัก (พระเวทโพธิสัตว์)

– กวงเสี่ยตี่กุง (เทพเจ้ากวนอู)    
– จิวฉองง่วงกุง

– กวนเพ้งไท้จื้อ        
– ไฮ่เหล่งอ้วง (4 มังกรเจ้าสมุทร) 

– เหงี่ยมหล่ออ้วง (พญายมราช)    
– แฉ่โผ่วกัว (สุวรรณเลขา)

– เตียเสี่ยตี่กุง (ฮวบจู้กง)        
– อั่งเสี่ยตี่กุง

– แชเสี่ยตี่กุง            
– โหงวโถ้วซิ้ง  (เทพ 5 ธาตุ) 

– เทพจงขุย        

 

ในแต่ละปี ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่จัดกิจกรรมและพิธีกรรมเนื่องในวันสำคัญทางศาสนาของชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนมาก ดังนี้

 

– งานพิธีเสริมดวงชะตา (จ้อเก่ง) และพิธีแก้ชง (วันที่ 6 เดือน 1 ของจีน)

– งานสมโภชแห่พระลุยไฟประจำปี (วันที่ 16 – 20 เดือน 3 ของจีน)

– งานทิ้งกระจาดประจำปี (ซิโกว) (เดือน 7 ของจีน)
– งานเทศกาลไหว้พระจันทร์ (วันที่ 15 เดือน 8 ของจีน จัดที่มูลนิธิแม่กอเหนี่ยว ฉื่อเซี่ยงตึ้งยะลา ร่วมกับ 3 องค์กรชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัด)
– งานเทศกาลกินเจประจำปี (วันที่ 1 – 9 เดือน 9 ของจีน)
– งานแก้บนประจำปี (เสี่ยซิ้ง) ( วันที่ 5 เดือน 12 ของจีน)

 

นอกจากกิจกรรมข้างต้นแล้ว ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลายังมีกิจกรรมย่อย เพื่อการสักการะบูชาองค์พระและองค์เทพต่าง ๆ พร้อมทั้งมีการทำพิธีปั้งแซ (ปล่อยชีวิตสัตว์) ในวันเทวสมภพขององค์พระและองค์เทพที่ประดิษฐานในศาลเจ้าแห่งนี้และในโรงเจเทียนอ่วงเก็ง นอกจากนี้ ยังมีการประทับทรงเพื่อช่วยรักษาและปัดเป่าเคราะห์หรือแก้คุณไสย ตามที่มีผู้เดือดร้อนมาขอความช่วยเหลือ โดยไม่ได้เรียกร้องสิ่งตอบแทนใดทั้งสิ้น

 

ผู้ที่มีจิตศรัทธาและประสงค์ที่จะมาสักการะขอพรองค์พระและเทพเจ้าต่าง ๆ รวมถึงร่วมกิจกรรมและพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ ณ ศาลเจ้าเฮ่งคุดจี่ยะลา สามารถติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลทางเพจเฟซบุ๊ก ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลา

 

 

หมายเหตุ 

 

เรียบเรียงจากเอกสารที่เขียนโดยคุณประดิษฐ์ รัตตัญญู ประธานศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลา รุ่นที่ 2 และคำบอกเล่าของท่าน ทั้งนี้ ได้รับการตรวจทานความถูกต้องจากผู้ให้ข้อมูลแล้ว ผู้ที่สนใจใช้ข้อมูลนี้เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ขอความกรุณาอ้างอิงแหล่งข้อมูลนี้โดยระบุชื่อ ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลา ในฐานะผู้เขียน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)