ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ จังหวัดยะลา

ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ หรือที่มีชื่อภาษาจีนซึ่งปรากฏอยู่บนป้ายชื่อของทางศาลเจ้าว่า ศาลเจ้าหลงฝ่าจุง (龍華宮) ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านแบหอ ตำบลกาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ห่างจากตัวเมืองยะลาไปทางทิศตะวันออกตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4067 ระยะประมาณ 22 กิโลเมตร และอยู่ติดกับอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาสด้วย ศาลเจ้าแม่มาผ่อแห่งนี้เป็นศาลเจ้าแห่งเดียวในอำเภอรามัน ขณะที่หมู่บ้านแบหอก็เป็นหนึ่งพื้นที่ในชายแดนใต้ที่ได้ฉายภาพสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างชัดเจนยิ่ง เพราะมีทั้งผู้อาศัยที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยมุสลิม ชาวไทยพุทธ และชาวไทยซิกซ์ ซึ่งอยู่ร่วมกันบนวิถีของการเคารพความแตกต่างกันมายาวนาน

 

ตามประวัติที่เล่าสืบกันมา เมื่อประมาณ พ.ศ. 2227 หมู่บ้านแบหอเป็นหมู่บ้านที่มีชาวจีนแผ่นดินใหญ่อพยพมาประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ดีบุก และมีชาวจีนชื่อ “นายฉิ่นกิม” เป็นผู้อัญเชิญรูปจำลององค์เจ้าแม่มาผ่อมาด้วย เพื่อไว้กราบไหว้บูชาช่วงที่ตนเข้ามาทำเหมือง นายฉิ่นกิมได้สร้างศาลเจ้าให้เจ้าแม่มาผ่อ ตามคติความเชื่อของคนจีนที่จะไม่นำพระมาไว้ที่บ้านพักอาศัยของตนเอง แต่จะสร้างบ้านอีกหลังไว้ประดิษฐานพระเพื่อกราบไหว้โดยเฉพาะ กาลเวลาผ่านไปได้มีการยกเลิกการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ คนจีนบางส่วนจึงได้ย้ายถิ่นฐานออกไป ประกอบกับศาลเจ้ามีสภาพทรุดโทรมลง ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างศาลเจ้าแม่มาผ่อขึ้นใหม่บริเวณที่ตั้งปัจจุบัน โดยมีลักษณะเป็นบ้านไม้หลังเล็ก ๆ ซึ่งมีการบูรณะอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 5 ครั้ง ทั้งนี้ บริเวณด้านเหนือของศาลเจ้ามีศาลเจ้าแป๊ะกงตั้งอยู่ด้วย ซึ่งสร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 2540

 

ปัจจุบัน ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอเป็นที่ประดิษฐานรูปจำลององค์เทพเจ้า  สำคัญจำนวน 7 องค์ แต่มีเทพเจ้าทั้งหมด 8 องค์ โดยเทพเจ้าแต่ละองค์ล้วนมีความผูกพันกับผู้คนในพื้นที่ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ และมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจจากคำบอกเล่าของชาวบ้านแบหอที่ใกล้ชิดกับศาลเจ้า ดังนี้

 

 

เจ้าแม่มาผ่อ (天后聖母) เจ้าแม่ท่ายมา (大天后聖母) และเจ้าแม่ซามมา (三天后聖母)

 

ก่อนที่จะได้รับการสถาปนาเป็นเทพ เจ้าแม่มาผ่ออาศัยอยู่ที่ประเทศจีน มีพี่น้องร่วมสาบาน 2 คน คือ “เจ้าแม่ท่ายมา” ผู้เป็นพี่ใหญ่ และ “เจ้าแม่ซามมา” ผู้เป็นน้องเล็ก ในยุคนั้นประเทศจีนประสบความยากลำบาก ผู้คนส่วนใหญ่ยากจน เจ้าแม่ทั้งสามมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือคนที่เจ็บไข้ไม่สบายแต่ไม่มีเงินรักษา หรือเดือดร้อน แต่ท่านไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้มากนักด้วยไม่มีความสามารถที่มากเพียงพอ เหตุนี้ ทั้ง 3 ท่านจึงออกเดินทางไปเรื่อย ๆ จนถึงทะเลและเห็นเส้นลวดที่ถูกขึงพาดยาวอยู่บนทะเลประมาณ 3 – 4 เส้น ทั้งยังได้พบชายผู้หนึ่ง ยืนอยู่อีกฝั่ง เขาได้กล่าวกับเจ้าแม่ทั้งสามว่า ในเมื่อพวกท่านเดินมาถึงที่แห่งนี้ หากท่านมีจิตเมตตาและมีใจตั้งมั่นอยากจะช่วยเหลือคนที่เจ็บไข้ไม่สบายและคนที่เดือดร้อน ให้พวกท่านเดินบนเส้นลวดเหล่านี้ข้ามทะเลไปให้ได้ ถ้าพวกท่านสามารถเดินไปจนสุดทางได้จะกลายเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่เปี่ยมบารมี มีทั้งความรู้และความสามารถที่จะศึกษาวิชาต่าง ๆ ที่สนใจเพื่อใช้ช่วยเหลือผู้คน

 

เมื่อได้ยินเช่นนั้น เจ้าแม่ท่ายมาจึงเดินบนเส้นลวดข้ามทะเลเป็นคนแรก ท่านค่อย ๆ เดินไปเรื่อย ๆ และหายไปในหมอกขาวท่ามกลางทะเลที่กว้างใหญ่ หลังจากนั้นเจ้าแม่มาผ่อและเจ้าแม่ซามมาต่างเดินบนเส้นลวดตามกันไปและหายไปในหมอกขาวเช่นกัน จากนั้น แต่ละท่านจึงไปศึกษาวิชาต่าง ๆ ตามที่สนใจ 

 

เจ้าแม่ท่ายมา เป็นผู้หญิงที่มีลักษณะนิสัยห้าวหาญและชอบเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ จึงศึกษาเกี่ยวกับวิชาการสู้รบและเพลงดาบ เจ้าแม่ท่ายมานี้คือ “เจ้าแม่โต๊ะโมะ” ที่สถิตที่ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ จังหวัดนราธิวาส

 

เจ้าแม่มาผ่อ เป็นผู้หญิงที่มีลักษณะนิสัยนุ่มนวล อ่อนโยน ชอบศึกษาค้นคว้าตำรายาสมุนไพร จึงเลือกศึกษาทางด้านนี้ด้วยตั้งใจช่วยรักษาโรคภัยต่าง ๆ 

 

เจ้าแม่ซามมา เป็นผู้หญิงที่มีลักษณะนิสัยอย่างสาววัยรุ่นและรักสนุก เนื่องจากเป็นน้องเล็ก ท่านชอบอ่านตำราต่าง ๆ และสนใจศึกษาศิลปะการต่อสู้ แต่จะถนัดด้านศิลปะการต่อสู้และวิชาการสู้รบเป็นพิเศษ 

 

หลังจากที่เจ้าแม่มาผ่อมาประดิษฐานอยู่ที่หมู่บ้านแบหอ ต่อมาเจ้าแม่ได้ประทับทรงและบอกกล่าวลูกหลานให้เชิญพี่น้องของท่าน คือ เจ้าแม่ท่ายมา ที่จังหวัดนราธิวาส และเจ้าแม่ซามมา มาสถิตอยู่ ณ ศาลเจ้ามาผ่อแบหอนี้ด้วยกัน

 

 

เจ้าพ่อหลินท่ายซือหย่า (林太师爺) 

 

เดิม เจ้าพ่อหลินท่ายซือหย่า ประทับอยู่เหมืองแร่ ได้รับการอัญเชิญมาจากเมืองจีนโดยตระกูลของนายรัตน์ เง่าสวัสดิ์ ในขณะนั้น เมื่อการทำเหมืองแร่ถูกยกเลิก ทางตระกูลจึงได้อัญเชิญรูปจำลององค์ท่านจากที่เหมืองมากราบไหว้บูชาที่บ้าน หลังจากนั้น เจ้าแม่มาผ่อจึงเชิญท่านมาอยู่ที่ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอนี้ 

 

 

เจ้าพ่อเปิ่นเถากง (本頭公公) 

 

คนจีนสมัยก่อนที่ทำเหมืองแร่ที่เขาโต๊ะมาหงัน (บริเวณหมู่บ้านแบหอ) ได้ร่วมกันสร้างศาลเจ้าเปิ่นเถากงขึ้นบริเวณนั้น ต่อมาศาลเจ้ามีสภาพทรุดโทรมลงเพราะไม่มีผู้ดูแลเป็นกิจจะลักษณะ เจ้าแม่มาผ่อจึงเชิญท่านมาอยู่ที่ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอนี้ 

 

 

เจ้าพ่อแยะกวง (月光) 

 

เจ้าพ่อแยะกวง เป็นสหายของเจ้าแม่ซามมา ปีหนึ่งท่านลงจากสวรรค์มาเที่ยวงานสมโภชประจำปีของศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ และเกิดความประทับใจจนไม่ปรารถนาที่จะกลับสวรรค์ จึงขอเจ้าแม่มาผ่อว่าท่านประสงค์ที่จะอยู่ที่ศาลเจ้าแห่งนี้ด้วย แต่เจ้าแม่ปฏิเสธ เพราะตามคติของคนจีน จำนวนพระในศาลเจ้าต้องเป็นเลขคี่ เจ้าพ่อแยะกวงจึงมาอาศัยอยู่เสากลางบ้านของครอบครัวนายลี้หมัน และนางโม่ย แซ่ลี้ เมื่อเจ้าพ่อแยะกวงมาสถิตที่หมู่บ้าน ช่วงนั้น คนจีนมาเลเซียเข้ามาขอให้เจ้าแม่มาผ่อช่วยรักษาอาการป่วยเป็นจำนวนมาก เจ้าพ่อแยะกวงจึงช่วยเจ้าแม่รักษาคนไข้ด้วย ทั้งนี้ เจ้าพ่อแยะกวงได้เข้ามาประทับในศาลเจ้าแห่งนี้พร้อมกับเจ้าพ่อท่ายซือกุง ในเวลาต่อมา

 

 

เจ้าพ่อท่ายซือกุง (太师公)  

 

เจ้าพ่อท่ายซือกุง เป็นเพื่อนของเจ้าแม่ท่ายมา ท่านได้ลงประทับมาพร้อมกับเกี้ยวพระ ลักษณะพิเศษของท่านที่ต่างจากเทพเจ้าองค์อื่น ๆ ในศาลเจ้าคือการใช้ภาษากวางตุ้งในการสื่อสารผ่านร่างทรง 

 

 

เจ้าพ่อท่ายซือหล่าวกงกงท่ายสิ่น (太师老公公太神)      

 

เจ้าพ่อท่ายซือหล่าวกงกงท่ายสิ่น ท่านเป็นอาจารย์ของเจ้าพ่อท่ายซือกุง  มีคุณลักษณะวิเศษคืออิ่มทิพย์ ท่านประทับอยู่ที่ขอนไม้ในศาลเจ้า ไม่มีรูปจำลอง และใช้ภาษาจีนกลางสื่อสารผ่านร่างทรง ท่านมีเทพหูทิพย์และเทพตาทิพย์ที่มีผู้ศรัทธานำมาถวายเจ้าแม่มาผ่อเป็นบริวาร 

 

ปัจจุบัน ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอมีร่างทรงจำนวน 4 ท่าน เป็นร่างทรงของเจ้าแม่มาผ่อ เจ้าพ่อหลินท่ายซือหย่า เจ้าพ่อเปิ่นเถากง และเจ้าพ่อแยะกวง

 

ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ เป็นอีกศาลเจ้าที่มีพิธีกรรมที่น่าสนใจหลายพิธี แต่ละพิธีล้วนสะท้อนอัตลักษณ์ที่ผสมผสานกับลักษณะภูมิศาสตร์เชิงพื้นที่และวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังนี้

 

งานสมโภช-แห่พระลุยไฟ ศาลเจ้าแม่มาผ่อ (แบหอ) ประจำปี ตรงกับวันที่ 12 เดือน 3 ตามปฏิทินจีน โดยจะจัดงาน 5 วัน ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของปี การจัดงานมีวัตถุประสงค์เพื่อบวงสรวงองค์เจ้าแม่ที่ประทับอยู่ในศาลเจ้าแห่งนี้ ตลอดจนเทพยดาฟ้าดินทั้งปวง งานนี้ถือเป็นการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีน และเป็นการสร้างความสมานสามัคคีและสันติในชุมชนชาวพหุวัฒนธรรมแห่งนี้  

 

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มงานประมาณ 1 อาทิตย์ จะมีการทำความสะอาดศาลเจ้า จัดเตรียมเครื่องบูชาต่าง ๆ ตอนเย็นก่อนเข้างานวันแรกจะมีพิธีปักธง 4 ทิศ วันแรกตอนเช้าจะมีพิธีไหว้บวงสรวงเชิญองค์พระและองค์เทพเจ้าต่าง ๆ มาร่วมในงานตามขนบธรรมเนียมประเพณี หลังจากนั้นจะเป็นพิธีเปิดโดยเรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในพิธี นอกจากนี้ ยังมีการเชิญคณะกรรมการศาลเจ้าต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ อบต.กาลอ และชุมชนมุสลิมในหมู่บ้านมาร่วมงานด้วย 

 

ช่วงเวลากลางคืนของงานแต่ละวันจะมีการแสดงอภินิหารผ่านร่างทรงขององค์เจ้าแม่และองค์เจ้าพ่อ เช่น การตีกลอง การแสดงรำดาบ การเดินบันไดมีด การนั่งเก้าอี้ตะปู นอกจากนี้ ยังมีการแสดงมโนห์รา ดิเกร์ฮูลู และหนังตะลุง ทั้งยังมีโรงทานเลี้ยงตลอดงาน  

 

ช่วงค่ำวันที่ 3 จะมีพิธีอัญเชิญองค์เจ้าแม่มาผ่อรวมถึงองค์เทพเจ้าอื่น ๆที่ประดิษฐานอยู่ที่ศาลเจ้าลงเกี้ยว และในเช้าวันที่ 4 (วันแห่) จะมีการอัญเชิญเทพเจ้าทั้งหมดขึ้นเกี้ยวแห่เยี่ยมเยียนลูกหลานในหมู่บ้านแบหอ โดยแต่ละบ้านจะตั้งโต๊ะบูชาเครื่องเซ่นไหว้ที่หน้าบ้าน จุดประทัดต้อนรับ เมื่อเกี้ยวไปถึงหน้าบ้านใด องค์เทพเจ้าจะเข้าไปเยี่ยมผู้ล่วงลับในบ้านโดยการปักเกี้ยวบนป้ายชื่อบรรพบุรุษ นอกจากนี้ ยังมีพิธีสรงน้ำจากบ่อบาดาลที่จะต้องหามเกี้ยวองค์เทพเจ้าไปที่บ่อน้ำเก่าของหมู่บ้านเพื่อตักน้ำจากบ่อขึ้นมาชำระองค์ท่าน ในช่วงเวลากลางคืนของวันนี้จะมีพิธีลุยไฟ ซึ่งจะมีพิธีก่อกองไฟโดยใช้ทางมะพร้าวแห้งที่ผ่านพิธีกรรม แล้วจะเล่นประทัดในวันที่ 5 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานสมโภช ประมาณเที่ยงคืนจะมีพิธีส่งพระขึ้นสวรรค์ด้วยชุดฉลองพระองค์ (เสื้อพระ/เพ้า) พร้อมกระดาษเงินกระดาษทอง

 

พิธีแห่เกี้ยวหายา เป็นพิธีสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของศาลเจ้าแห่งนี้ เดิมทีเมื่อเจ็บไข้เล็ก ๆ น้อย ๆ ชาวบ้านแบหอจะไปไหว้องค์เจ้าแม่มาผ่อเพื่อขอน้ำชาที่โต๊ะบูชาผสมกับขี้เถ้าในกระถางธูปในศาลเจ้ามาดื่มเป็นยารักษา แต่หากมีอาการหนักจะต้องเดินทางเข้าไปในตัวเมืองยะลา ซึ่งในสมัยก่อน ต้องใช้เวลานานและเดินทางลำบากเนื่องจากหมู่บ้านอยู่ห่างไกล เหตุนี้ ชาวบ้านจึงได้ถามต่อองค์เจ้าแม่มาผ่อผ่านการปัวะปวย (โยนไม้เสี่ยงทาย) ว่าจะขออัญเชิญองค์เจ้าแม่ลงเกี้ยวเพื่อออกหายารักษาคนที่เจ็บไข้ได้หรือไม่ และได้คำตอบว่า “ได้” นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของพิธีแห่เกี้ยวหายาสมุนไพรที่สืบทอดจากอดีตตราบจนถึงปัจจุบัน 

 

ทุกวันนี้ ในแต่ละเดือนจะมีพิธีแห่เกี้ยวหายา 1 ครั้ง โดยเริ่มจากการจุดธูปก่อนทำพิธีเชิญองค์เทพเจ้าลงเกี้ยว แล้วให้คนแห่เกี้ยวเพื่อมาตรวจคนไข้ที่มาขอความช่วยเหลือ เมื่อตรวจคนไข้เสร็จ ก็ขึ้นแห่เกี้ยวไปตามป่าเขาบริเวณหมู่บ้านเพื่อค้นหาสมุนไพร เมื่อพบสมุนไพรที่ต้องการแล้ว องค์เทพเจ้าจะบันดาลให้เกี้ยวหนักและชี้ไปยังสมุนไพรนั้น เมื่อได้สมุนไพรครบตามตำรับยาจึงจะกลับศาลเจ้า โดยเกี้ยวจะชี้ให้ชาวบ้านแยกสมุนไพรที่ปะปนกันอยู่ออกเป็นกอง หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำสมุนไพรมาสับและทำความสะอาด ก่อนนำใส่ภาชนะเพื่อไปผ่านพิธีกรรมจุดธูปปลุกเสกยา ระหว่างที่แห่เกี้ยวหายานั้นก็จะมีชาวบ้านและคนไข้ที่รอยาสมุนไพรจะช่วยกันจัดหาอาหารเตรียมไว้ เพื่อเมื่อล้างทำความสะอาดสมุนไพรเสร็จแล้ว ทุกคนจะได้มาร่วมล้อมวงรับประทานอาหารและสนทนากัน เมื่อได้เวลาองค์เจ้าแม่และองค์เจ้าพ่อประทับทรงทำการตรวจคนไข้เพื่อแจกจ่ายยาสมุนไพร ท่านจะเขียนฮู้ (ยันต์จีน) ให้นำไปเผาพร้อมกับยาสมุนไพร โดยท่านจะแจ้งว่าแต่ละคนที่ได้ยากลับไปจะต้องทำอย่างไร มีทั้งนำไปต้มแล้วนำมาดื่ม นำไปประคบ หรือนำไปอาบแทนน้ำ สำหรับภาษาที่ท่านใช้ในการสื่อสารผ่านร่างทรงจะใช้ภาษาจีนแคะ จึงต้องหาผู้ที่สามารถสื่อสารภาษาจีนแคะได้มาช่วยเป็นล่ามแปลภาษาระหว่างคนและร่างทรงของเทพเจ้า 

 

พิธีปลุกเสกรูปจำลององค์เทพเจ้า ด้วยรูปจำลองเดิมขององค์เทพเจ้ามีสภาพชำรุดตามกาลเวลา จึงมีการสร้างรูปจำลองใหม่ที่ทำด้วยทองเหลืองให้แก่เจ้าแม่ท่ายมา เจ้าแม่มาผ่อ เจ้าแม่ซามมา เจ้าพ่อเปิ่นเถากง และเจ้าพ่อหลินท่าย ซือหย่า ต่อมาได้มีสร้างรูปจำลองของเจ้าพ่อแยะกวงและเจ้าพ่อท่ายซือกุงเพิ่มเติ่ม ทั้งนี้ รูปจำลององค์เทพเจ้าทุกองค์ในศาลเจ้าจะผ่านพิธีกรรมโดยร่างทรง

 

สมัยก่อน องค์เจ้าแม่และเจ้าพ่อต่าง ๆ จะประทับร่างทรงเพื่อทำพิธีเขียนฝู่หรือฮู้ด้วยพู่กันจีนกับจูซา (สมุนไพรสีแดงชาด) บนกระดาษสีเหลืองหรือบนผ้าแดง ต่อมาได้มีพิธีกรรมการปลุกเสกวัตถุมงคลครั้งใหญ่ 2 ครั้ง วัตถุมงคล เหล่านั้น ได้แก่ รูปจำลองเจ้าแม่มาผ่อองค์ใหญ่และองค์เล็ก กระจก และเกี้ยวจำลองขนาดเล็ก  

 

นอกจากพิธีกรรมหลักข้างต้น ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอยังมีพิธีกรรมอื่น ๆ ตามเทศกาลและวันสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ วันไหว้ขอบคุณพระ (เซียะซิ่ง) เทศกาลตรุษจีน เทศกาลเชงเม้ง เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง และเทศกาลสารทจีน โดยก่อนทำพิธีไหว้ตามเทศกาลเหล่านี้ ชาวบ้านในหมู่บ้านแบหอจะต้องมาไหว้พระที่ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอตามธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อมา

 

ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอแห่งนี้เป็นสถานที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นเสมือนศูนย์กลางที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของลูกหลานหมู่บ้านแบหอจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน เป็นศาลเจ้าที่ร่างทรงจะต้องชาวไทยเชื้อสายจีนที่เป็นลูกหลานของคนในหมู่บ้านแบหอเท่านั้นและเป็นผู้ที่เจ้าแม่เลือกให้เป็นร่างทรงด้วยตนเอง กล่าวได้ว่าเทพเจ้าในศาลเจ้าแห่งนี้มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านแบหอและผู้เลื่อมใสศรัทธา ผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนบุคคลหนึ่งลืมตาดูโลกจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต กล่าวคือ ผู้ที่ต้องการมีลูกก็มาขอพรกับเจ้าแม่ให้ประทานลูกให้ เมื่อตั้งครรภ์ผู้เป็นพ่อและแม่ก็จะมาขอพรให้ลูกที่อยู่ในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรง เมื่อคลอดลูกแล้วก็พาลูกมาให้เจ้าแม่ผูกข้อมือด้วยผ้าแดง เมื่อลูกไม่สบายหรือสุขภาพไม่แข็งแรงบางครอบครัวก็ยกลูกให้เป็นลูกเจ้าแม่ (ลูกยก) เพื่อให้เด็กหายจากการเจ็บไข้และมีร่างกายสมบูรณ์ เมื่อลูกเติบโตขึ้น เมื่อใดที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็จะมาให้เจ้าแม่ช่วยรักษาผ่านพิธีกรรมแห่เกี้ยวหายา รวมถึงพึ่งพาเจ้าแม่ทุกช่วงสำคัญของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพิธีแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ลงเสาเอก เปิดกิจการ และอื่น ๆ ตลอดจนขอให้เจ้าแม่คุ้มครองชีวิตตนให้รอดพ้นจากภยันตรายทั้งปวง ไม่ว่าภูติผีปีศาจหรือโจรผู้ร้าย ตราบจนวาระสุดท้ายที่มีการแห่เกี้ยวองค์เทพเจ้าไปร่วมงานศพและไถดินฝังศพลูกหลานหมู่บ้านแบหอผู้วายชนม์

 

ปัจจุบัน ชุมชนแบหอที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนบางส่วนได้อพยพย้ายถิ่นออกไปหางานทำ แต่ด้วยความเชื่อและความศรัทธาต่อเทพเจ้าในศาลเจ้าแห่งนี้ เมื่อใดที่ศาลเจ้ามีพิธีกรรมต่าง ๆ ลูกหลานของชุมชนแบหอไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ก็จะกลับมารวมตัวกัน ร่วมแรงร่วมใจจัดงานและพิธีกรรมเพื่อสืบทอดสู่ลูกหลานต่อไป ทั้งนี้ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ลูกหลานและผู้ที่มีจิตศรัทธาสามารถเข้าถึงศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอได้ง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อน โดยใช้ช่องทางสื่อสังคม (Social Media) อย่างไลน์ (Line) เฟซบุ๊ก (Facebook) เพื่อแจ้งข่าวสารและถ่ายทอดสดการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ รวมถึงเพื่อเผยแพร่ภาพความทรงจำและเรื่องราวอันทรงคุณค่าของศาลเจ้าแห่งนี้

 

ผู้ที่สนใจมาสักการะเจ้าแม่มาผ่อ และเทพเจ้าอื่น ๆ รวมถึงขอให้เจ้าแม่ช่วยรักษาโรคและอาการป่วยไข้ต่าง ๆ ให้ สามารถติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทางเฟซบุ๊กโดยกดเพิ่มเพื่อนที่บัญชีผู้ใช้ชื่อ ศาลเจ้าแม่มาผ่อ แบหอ

 

 

หมายเหตุ 

 

เรียบเรียงจากคำบอกเล่าของคณะกรรมการศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ ทั้งนี้ ได้รับการตรวจทานความถูกต้องจากผู้แทนศาลเจ้าแล้ว ผู้ที่สนใจใช้ข้อมูลนี้เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือการศึกษาวิจัย ขอความกรุณาอ้างอิงแหล่งข้อมูลนี้โดยระบุชื่อ ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ ในฐานะผู้เขียน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)