ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ จังหวัดนราธิวาส

ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ ตั้งอยู่เลขที่ 33 ถนนพิพิธคีรี ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส สันนิษฐานกันว่าเป็นศาลเจ้าแห่งแรกของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในตัวเมืองจังหวัดนราธิวาส จากคำบอกเล่าของหญิงชราชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเมือง (บางนรา) ทำให้ทราบว่าศาลเจ้าแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2458 มีลักษณะเป็นอาคารไม้เล็ก ๆ ต่อมามีชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนได้ช่วยกันบอกบุญรับบริจาคปัจจัยเพื่อก่อสร้างศาลเจ้าปูน ซึ่งใช้เวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 จนเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ.2495 โดยสร้างขึ้นบริเวณ “เขามงคลพิพิธ” เป็นเขาที่เกิดเองตามธรรมชาติ นับเป็นชัยภูมิที่เป็นมงคลถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย ด้วยเป็นส่วนหนึ่งของหัวมังกรที่หันหน้าออกสู่ทะเล 

 

ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ขึ้นทะเบียนเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2509 เป็นสถานที่แห่งความศรัทธาของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในรุ่นถัดมาที่อยู่อาศัยในจังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้ เชื่อกันว่าศาลเจ้าแห่งนี้มี “พ่อปู่มังกรดำ” เป็นเจ้าที่หรือเจ้าศาลซึ่งรูปเคารพของท่านนั้นมีลักษณะเป็นหัวมังกรคาบแก้ว ประดิษฐานอยู่ใต้เก๋งพระองค์ประธานของศาลเจ้า

 

ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งของศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ คือ ภาพปูนปั้นบนฝาผนังภายในศาลเจ้า ซึ่งปั้นเป็นเทพเจ้าต่าง ๆ ได้แก่ 18 อรหันต์ ท้าวจตุโลกบาล และ 4 ขุนพลสวรรค์ โดยภาพปูนปั้นเหล่านี้เป็นฝีมือปั้นของช่างชาวจีนซึ่งปั้นด้วยมือโดยไม่ใช้แม่พิมพ์ และเป็นการปั้นเทวลักษณะจากจินตนาการและความทรงจำ นอกจากภาพปูนปั้นภายในศาลเจ้าแล้ว ส่วนของผนังภายนอกด้านหน้าศาลเจ้ายังมีภาพปูนปั้นบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมจีนพร้อมคำกลอนจีนโบราณประกอบด้วย นับว่าเป็นศิลปะที่วิจิตรงดงามและหาชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน

 

ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่มีองค์พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์รวมทั้งหมด 43 องค์ โดยมีพระยูไลเป็นพระประธานศาลเจ้า รายละเอียดดังนี้

 

บริเวณอาคารหลังกลาง 26 องค์
– พระยูไลฮุกโจ้ว
– พระอรหันต์จี้กงองค์ใหญ่
– พระอรหันต์จี้กงองค์กลาง
– พระอรหันต์จี้กงองค์เล็ก
– พระโจวซือกงฮุกโจ้ว
– ตั่วเหล่าเอี๊ยปางบุ๋น (นั่ง)
– ตั่วเหล่าเอี๊ยปางบู๊ (ยืน)
– ไต่เสี่ยฮุกโจ้วปางบุ๋น (นั่ง)
– ไต่เสี่ยฮุกโจ้วปางบู๊ (ยืน)
– หลวงปู่ทวดวัดช้างให้องค์ใหญ่
– หลวงปู่ทวดวัดช้างให้องค์เล็ก
– พระสังกัจจายน์
– เทพเจ้ากวนอู    
– เตียวหุย (องครักษ์)
– กวนเพ่งไท้จือ (องครักษ์)
– ป้ายพระ 108
– ไฉซิ่งเอี๊ยะ
– เจ้าพ่อขุมทรัพย์
– เฉ่งจุ๋ยโจวซือ
– เล่าเอี๊ยะกง
– อั้งไฮ้ยี่
– นาจาซาไท้จื้อ
– ไท้ส่วยเอี๊ยะ
– ธรณีแป๊ะกงองค์ใหญ่
– ธรณีแป๊ะกงองค์เล็ก    
– พ่อปู่มังกรดำ

 

บริเวณอาคารด้านซ้าย (หันหน้าเข้าศาลเจ้า) 4 องค์
– เจ้าแม่กวนอิมพันมือ    
– ฟันปลาศักดิ์สิทธิ์ 3 องค์       

 

บริเวณอาคารด้านขวา (หันหน้าเข้าศาลเจ้า) 13 องค์
– เจ้าแม่กวนอิม 2 องค์     
– เจ้าแม่โต๊ะโมะ
– เจ้าแม่ทับทิม 3 องค์
– เจ้าแม่เก้าเทียน 2 องค์
– เจ้าแม่ลิ่มก่อเหนี่ยว 3 องค์    
– หูทิพย์ และตาทิพย์

 

นอกจากองค์พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันทรงคุณค่าแล้ว ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ยังเป็นศาลเจ้าหนึ่งใน 3 แห่ง ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ได้รับพระราชทานกระถางธูปสลักลายพระนาม จปร. หนึ่งในเครื่องสังเค็ดที่ใช้ประกอบพระราชพิธีออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นสำหรับใช้ในพระราชพิธีและพระราชทานแก่ศาสนสถานสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีนในแผ่นดินขณะนั้น เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบรมราชชนก กระถางธูปนี้จึงเป็นประจักษ์พยานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงชื่อเสียงและความสำคัญของศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ที่มีมาตั้งแต่อดีต แม้จะเคยผ่านช่วงเวลาที่เว้นว่างจากการดูแลกว่า 30 ปี เพราะไม่มีผู้รับผิดชอบโดยตรง

 

เมื่อ พ.ศ. 2554 ได้มีการอัญเชิญฟันปลาฉนากศักดิ์สิทธิ์จำนวน 3 องค์จากทางศาลเจ้าปุนเถ้ากง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มาสถิต ณ ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่เป็นสิริมงคลให้ลูกหลานที่มีจิตศรัทธาได้มาเคารพกราบไหว้ โดยจะมีพิธีบวงสรวงในวันที่ 30 พฤศจิกายน ของทุกปี 

 

ปัจจุบัน ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่มีร่างทรงประจำศาลเจ้า 5 ท่าน ทุกท่านล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่องค์เทพเลือกให้รับเป็นร่างทรง และจะทำการทรงที่ศาลเจ้าแห่งนี้เฉพาะช่วงเทศกาลงานสมโภชแห่พระลุยไฟ ซึ่งจัดในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี ร่างทรงเหล่านี้เป็นร่างทรงของพระอรหันต์จี้กง เทพเจ้ากวนอู ไต่เสี่ยฮุกโจ้ว เจ้าพ่อเสือ (ตั่วเหล่าเอี๊ย) และนาจาซาไท้จื้อ

 

ผู้ศรัทธาและสนใจมาไหว้องค์พระและเทพเจ้าเพื่อขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ สามารถติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ จังหวัดนราธิวาส

 

 

หมายเหตุ 

 

เรียบเรียงจากเอกสารที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ ซึ่งมีคุณลิขสิทธิ์ จินตกานนท์ เป็นประธาน และคำบอกเล่าของคณะกรรมการศาลเจ้า ทั้งนี้ ได้รับการตรวจทานความถูกต้องจากผู้แทนศาลเจ้าแล้ว ผู้ที่สนใจใช้ข้อมูลชุดนี้เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ขอความกรุณาอ้างอิงแหล่งข้อมูลนี้โดยระบุชื่อ ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ จังหวัดนราธิวาส ในฐานะผู้เขียน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)