ศาลเจ้า รูปเคารพ และเทพอารักษ์ : ร่องรอยความศรัทธาของชาวจีนในสังคมไทย

รองศาสตราจารย์ ดร. สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์

 

สาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

ศาลเจ้าจีนในไทยเกิดขึ้นหลังจากที่ชาวจีนได้อพยพเข้ามาตั้งแหล่งอาศัยเป็นกลุ่มก้อนอย่างเหนียวแน่น จากหลักฐานเท่าที่มีอยู่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่าสมัยอยุธยา ดังปรากฏอยู่ทั้งในเอกสารของไทยและจีน ทั้งนี้โบราณวัตถุที่เก็บรักษาอยู่ในศาลเจ้ายังเป็นข้อยืนยันถึงความเก่าแก่ของศาลเจ้าได้ด้วย ลักษณะของศาสนสถานจีนในสังคมไทยยุคแรกอาจเป็นเพิงไม้ที่ไม่ได้ใหญ่โตนัก แต่การบูรณะส่งผลให้รูปแบบทางสถาปัตยกรรมถูกปรับเปลี่ยนไป แต่นั่นหมายความว่าศาสนสถานเหล่านี้ยังคงถูกใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนรูปเคารพขององค์เทพเจ้าที่ชาวจีนในไทยนับถือโดยมากแนบอิงกับแบบแผนและคติความเชื่อที่มีมาแต่ครั้งอาศัยบนแผ่นดินมาตุภูมิ อย่างไรก็ดี ภายใต้การ-ประนีประนอมและการผสมผสานทางคติความเชื่อนั้น เทพเจ้าที่ชาวจีนนับถือส่วนหนึ่งรับมาจากไทย อาทิ เจ้าพ่อเขาตก เทพเจ้าปุนเถ้ากง แต่มีการปรับเปลี่ยน ตีความ และสวมทับให้เข้ากับวิถีความศรัทธาดั้งเดิมที่ตนเองคุ้นเคย อย่างไรก็ตาม ความศรัทธาที่มีต่อเทพอารักษ์ประจำกลุ่มของชาวจีนก็มิได้เสื่อมคลาย ซึ่งศาลเจ้าในลักษณะดังกล่าวเป็นเสมือนศูนย์รวมใจของคนกลุ่มในวัฒนธรรม ยังใช้เป็นสมาคมของกลุ่มชาวจีนในวัฒนธรรมนั้น ๆ ด้วย เป็นต้นว่า ศาลเจ้าเจียวเองเบี้ยว บางรัก คือที่ตั้งของสมาคมจีนไหหลำ หากแต่การสำรวจยังทำให้น่าเชื่อได้ว่าบางศาลเจ้าที่เคยเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมกลุ่มก็มีการยอมรับเทพเจ้าของกลุ่มจีนอื่น ๆ ได้ด้วย อันเกี่ยวเนื่องมาจากความศักดิ์สิทธิ์ในองค์เทพเจ้าหรือการโยกย้ายถิ่นฐาน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)