เจ้าพ่อหมื่นราม : สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไทยสู่คติความเชื่อเทพเจ้าจีน

อาจารย์ ดร. เจษฎา นิลสงวนเดชะ

 

สาขาวิชาภาษาจีน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

 

เจ้าพ่อหมื่นราม ตำแหน่งยศ “หมื่นราม” สังกัด “กองกระบือ” ซึ่งขึ้นตรงต่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติในสมัยรัชกาลที่ 4 หลังเสียชีวิตชาวบ้านในพื้นที่บ้านนาเริ่ง อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ยกย่องให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เปรียบเสมือนเทพารักษ์ไทยที่มีหน้าที่ดูแลรักษาท้องถิ่น ต่อมาเมื่อผู้ศรัทธาชาวจีนแต้จิ๋วที่มีความเคารพนับถือเจ้าพ่อเขาตกและเจ้าพ่อหมื่นรามได้มาอาศัยอยู่ที่จังหวัดตรัง ได้นำความเชื่อนี้มาเผยแพร่จนกลุ่มผู้ศรัทธาชาวจีนในจังหวัดตรังได้ร่วมใจกันสร้างศาลเจ้าพ่อหมื่นราม และมีการเรียกเจ้าพ่อหมื่นรามเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า “ซำฮวบซือ”(三法师) จากการศึกษาพบว่า “ซำฮวบซือ” เป็นชื่อเทพเจ้าที่ชาวจีนจังหวัดตรังให้การเคารพกราบไหว้บูชา ซึ่งความเชื่อเกี่ยวกับ “ซำฮวบซือ” เป็นความเชื่อของชาวจีนทั้งในพื้นที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และอำเภอเมือง จังหวัดตรัง ความเชื่อดังกล่าวมีที่มาจากตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับการร่วมสาบานเป็นพี่น้องของเจ้าพ่อ 3 องค์ คือ ตั่วฮวบซือ (大法师) หรือเจ้าพ่อเขาใหญ่ หย่ีฮวบซือ (二法师) หรือเจ้าพ่อเขาตก ซำฮวบซือ หรือเจ้าพ่อหมื่นราม อันมีมูลเหตุการณ์เชื่อมโยงมาจากประวัติต้นกำเนิดของเทพเจ้าซำซัวก๊กอ้วง (三山国王) ในพื้นที่อำเภอเจียซี (揭西县) มณฑลกวางตุ้ง (广东省) ประเทศจีน ทำให้เจ้าพ่อหมื่นรามได้รับการเคารพบูชาแบบไทยผสมจีนจากกลุ่มผู้ศรัทธาชาวจีนในสังคมไทยตราบจนทุกวันนี้

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)