เล่าเรื่องชาวจีนโพ้นทะเลผ่านงานศิลปกรรมในศาลเจ้าโจวซือกง ตลาดน้อย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

 

ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

 

ชุมชนตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ เป็นพื้นหนึ่งที่มีชาวจีนโพ้นทะเลตั้ง ชุมชนอยู่ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ โดยรวมถึงชาวจีนฮกเกี้ยน ซึ่งอพยพมาจากทางตอนใต้ของมณฑลฝูเจี้ยนด้วย ชาวจีนฮกเกี้ยนกลุ่มนี้สร้างศาลเจ้าโจวซือกงในสมัยรัชกาลที่ 1 ศาลเจ้าแห่งนี้ยังเป็นศูนย์รวมศรัทธาแม้กระทั่งในสมัยปัจจุบัน โดยนอกจากชาวจีนฮกเกี้ยนแล้ว ยังมีชาวจีนกลุ่มภาษาอื่น ๆ รวมไปถึงคนไทยนิยมไปสักการะบูชาเทพเจ้าภายในศาลแห่งนี้

 

รูปแบบสถาปัตยกรรมและประติมากรรมเทพเจ้าภายในศาลเจ้าแห่งนี้สะท้อนความเป็นไปของชาวจีนฮกเกี้ยนในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยงานศิลปกรรมบางประการยังสะท้อนอัตลักษณ์ของชาวจีนฮกเกี้ยน อาทิ การก่อโครงสร้างไม้เหนือผนังด้านหน้าของอาคารทางเข้าเพื่อระบายลม และการใช้โครงสร้างรับน้ำหนักแบบชาเหลียง อีกทั้งยังสะท้อนผ่านการประดิษฐานเทพเจ้าชิงสุ่ยจู่ซือ (โจวซือกง) เป็นประธาน ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่นับถือเฉพาะกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยน นอกจากนี้ ยังปรากฏลักษณะบางประการที่สะท้อนการผสมผสานกับงานศิลปกรรมแหล่งอื่น เช่น การประดับภาพมังกรและเสือที่ผนังด้านข้างของศาลเจ้า การใช้หน้าบัน 5 ธาตุ ซึ่งนิยมในงานสถาปัตยกรรมจีนแต้จิ๋ว งานศิลปกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ชาวจีนฮกเกี้ยนในยุคต้นยังคงรักษาอัตลักษณ์ของตนเองทั้งในด้านความเชื่อและรูปแบบศิลปกรรม อย่างไรก็ดี หลังจากที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ แล้ว มีการเปิดรับรูปแบบศิลปกรรมของชาวจีนกลุ่มภาษาอื่น ๆ หรือของคนไทยมาใช้ในการสร้างศาสนสถานของตนด้วยเช่นกัน
 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)