คณะผู้จัดงาน (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต)

การประชุมวิชาการระดับชาติ

 

วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต

 

9-10 กุมภาพันธ์ 2560
 ห้องประชุม GA 104 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

จัดโดย

 

โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) 
สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

หลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย 
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

กล่าวนำ (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต)

ภาคใต้ของไทยอุดมไปด้วยรูปแบบวรรณกรรมที่หลากหลาย ทั้งที่สืบทอดแบบมุขปาฐะและการสืบผ่านแบบลายลักษณ์ ภาษาที่ใช้ก็มีพัฒนาการก้าวไกล มีคลังคำที่สามารถเลือกใช้ได้มาก รวมทั้งรูปแบบการประกอบสร้างภาษาและวัฒนธรรมก็มีกลวิธีที่น่าสนใจ การศึกษารูปแบบของภาษาและวรรณกรรมในพื้นที่ภาคใต้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าใจสภาพสังคมวัฒนธรรม และการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของกลุ่มชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

 

โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาวิจัยภาษาและวรรณกรรมภาคใต้ จึงได้ร่วมมือกับ หลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง “วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต” เพื่อส่งเสริมการศึกษาและวิจัยวรรณกรรมภาคใต้ของไทยให้เข้มแข็งขึ้น รวมทั้งยังเป็นโอกาสให้เกิดการสร้างเครือข่ายวิจัย ตลอดจนการสร้างกลุ่มหัวข้อและระเบียบวิธีวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคต่อไป

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร. สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา

 

ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กำหนดการ - 9 กุมภาพันธ์ 2560 (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต)

08.30 – 09.00

 

ลงทะเบียน

 

09.00 – 09.30

 

พิธีเปิดการประชุม 

 

09.30 – 10.30

 

ปาฐกถานำ: ความสัมพันธ์ของภาษากับวรรณกรรมในวรรณกรรมทักษิณศึกษา
     ศาสตราจารย์ ดร.ดวงมน จิตร์จำนงค์
     – ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

10.30 – 12.00

 

ย้อนอดีต แลปัจจุบัน เห็นอนาคต วรรณกรรมทักษิณ

 

วรรณกรรมทักษิณ: วัฒนธรรมการสร้าง แนวคิด และผู้สร้างวรรณกรรม
     ศาสตราจารย์ชวน  เพชรแก้ว 
     – ภาคีสมาชิกประเภทวรรณศิลป์ สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา

 

ย้อนอดีต แลปัจจุบัน เห็นอนาคต วรรณกรรมทักษิณ
     รองศาสตราจารย์ประพนธ์ เรืองณรงค์ 
     – ประธานคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมถิ่นใต้ ราชบัณฑิตยสภา
    
แนวทางการเรียนการสอนวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรทิพย์ วนรัฐิกาล
     – คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

12.00 – 13.00

 

รับประทานอาหารกลางวัน

 

13.00 – 16.00

 

นำเสนองานวิจัยด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในวรรณกรรมทักษิณ

 

ผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อเสนอแนะ
     ศาสตราจารย์ชวน เพชรแก้ว
     รองศาสตราจารย์ประพนธ์ เรืองณรงค์
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรทิพย์ วนรัฐิกาล
    
ความหมายและภาพลักษณ์ของ“กินอ่หรา” ในมุมมองของคนใต้ 
     รองศาสตราจารย์ ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย
     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

คตินิยมและคติชนปักษ์ใต้ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้: กรณีศึกษาวันคารคำกาพย์
     อาจารย์ธวัลรัตน์ พรหมวิเศษ
     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

 

“อักษรเลข”: รหัสลับในการสื่อสารโบราณกับการนำมาใช้ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐา วิพลชัย
     – คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

 

จากบทเพลง “แต่ก่อน” ถึงวรรณกรรม “เรื่องจากคุณปู่” กลวิธีทางวรรณศิลป์กับการบอกเล่าเรื่องราวปักษ์ใต้
     อาจารย์วัศรนันทน์ ชูทัพ
     – คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

กำหนดการ - 10 กุมภาพันธ์ 2560 (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต)

08.30 – 09.00

 

ลงทะเบียน

 

09.00 – 10.00

 

พัฒนาการอักษรที่ใช้บันทึกวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้

     ชะเอม แก้วคล้าย

     – ผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณระดับ 9 กรมศิลปากร

 

10.00 – 11.00

 

สถานภาพและการอนุรักษ์วรรณกรรมทักษิณชั้นปฐมภูมิ

     จรัญ ทองวิไล

     – ผู้เชี่ยวชาญเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก กรมศิลปากร

 

11.00 – 12.00

 

นำเสนองานวิจัยวรรณกรรมทักษิณในรอบทศวรรษ

 

วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับละครชาวบ้านภาคใต้: สารัตถะและการสืบทอด

     อาจารย์วินัย สุกใส 

     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

พุทธทำนาย: สารัตถะและการสืบทอด

     คำนวณ นวลสนอง

     – ข้าราชการบำนาญสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

12.00 – 13.00

 

รับประทานอาหารกลางวัน

 

13.00 – 14.00

 

นำเสนองานวิจัยวรรณกรรมทักษิณในรอบทศวรรษ (ต่อ)

 

วรรณกรรมคำสอนภาคใต้ “ฉบับพิมพ์เล่มเล็ก”: การสืบทอดและสร้างสรรค์ด้านคำสอน

     ผู้ข่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชลินจ์ จีนนุ่น

     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

14.00 – 15.00

 

แนวคิดในการจัดการเรียนรู้วรรณคดีไทยระดับมัธยมศึกษา

     อาจารย์ชวิน พงษ์ผจญ

     – คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

15.00 – 15.30

 

พิธีปิด

ความสัมพันธ์ของภาษากับวรรณกรรมในวรรณกรรมทักษิณศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร.ดวงมน จิตร์จำนงค์

 

ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ภาษาเป็นสิ่งสำคัญในวัฒนธรรมทุกวัฒนธรรม ภาษาเป็นแหล่งสั่งสมการเลือกเฟ้นและกำหนดสายตาในการมองโลก ชีวิต และระบบความสัมพันธ์ต่างๆ พลวัตในด้านความหมายของภาษาดำเนินไปด้วยความสืบเนื่องของการพินิจพิจารณาของบุคคล ทั้งที่แยกส่วนและกระทำร่วมกันในสังคม วรรณกรรมในฐานะสิ่งสร้างสรรค์ทางปัญญาและอารมณ์ความรู้สึกของบุคคล กำเนิดขึ้นเพื่อส่ง-รับสารอันเห็นว่าสำคัญแก่ผู้อื่น โดยอาศัยความเข้าถึงพลวัตของภาษาและบริบททางวัฒนธรรม  ด้วยเหตุนี้วรรณกรรมเป็นส่วนหนึ่งของความเติบโตและ/หรือเสื่อมทรุดทางภูมิปัญญาของสังคม ทั้งด้านการอนุรักษ์ การสร้างใหม่ หรือแม้แต่ปฏิกิริยาต่อปัญหาและทางออก

 

ความใส่ใจต่อความสัมพันธ์ของภาษากับวรรณกรรมในบริบททางสังคมวัฒนธรรม เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในวรรณกรรมทักษิณศึกษาเพื่อคุณภาพในการเข้าถึงลักษณะเด่นในรากทางภูมิปัญญา และปฏิสัมพันธ์กับงานในภูมิภาคอื่นอันมีส่วนในการสร้างงาน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)

วรรณกรรมทักษิณ: วัฒนธรรมการสร้าง แนวคิด และผู้สร้างวรรณกรรม

ศาสตราจารย์ชวน  เพชรแก้ว

 

ภาคีสมาชิกประเภทวรรณศิลป์ สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา

 

 

วรรณกรรมทักษิณแต่เดิมบันทึกลงในวัสดุต่างๆ หลายชนิด แต่ผลงานบันทึกซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบันมากที่สุด คือ หนังสือบุด และใบลาน ปัจจุบันผลงานดังกล่าวที่มีสภาพสมบูรณ์เหลืออยู่ไม่ถึงร้อยละ 10 กิจกรรมการอ่านและสวดหนังสือในบริบทเดิม การคัดลอกสืบต่อกันมา การจดจำเรื่องราว การเก็บรวบรวมวรรณกรรมโดยส่วนบุคคลและสถาบันการศึกษา การจัดประชุมทางวิชาการ รวมถึงการศึกษาวิจัยที่ผ่านมา ล้วนเป็นกิจกรรมที่มุ่งมั่นเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามดังกล่าวทั้งสิ้น

 

การศึกษาวรรณกรรมที่ผ่านมาทำให้ทราบว่า เนื้อหาสาระของวรรณกรรมทักษิณครอบคลุมกว้างขวางเกี่ยวกับศิลาจารึกและจารึกอื่นๆ ประวัติศาสตร์ พงศาวดารและตำนาน บันทึกเหตุการณ์สำคัญในท้องถิ่น      ความเชื่อและคตินิยม หลักศาสนาและปรัชญา กฎหมาย ประเพณีและพิธีกรรม สุภาษิตคำสอน ตำราและคัมภีร์ การแพทย์ นิทานประโลมโลก นิราศ วรรณกรรมเฉพาะกิจ บุคคลและสถานที่ และปกิณกะ

 

ด้านวัฒนธรรมการสร้างวรรณกรรมมักปรากฏคำว่า “สร้าง” และ “ผู้สร้าง”ซึ่งหมายรวมถึงผู้แต่ง ผู้เขียน ผู้คัดลอก หรือผู้ใช้ทุนทรัพย์จัดให้มีการแต่งหรือคัดลอกวรรณกรรม ส่วนคตินิยมในการสร้างวรรณกรรมกระทำเพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชา ด้วยเชื่อว่ามีอานิสงส์เหนือกว่าการสร้างโลกียทรัพย์ เพราะเป็นทุนและทางให้เกิดปิติสุข

 

แนวความคิดที่ผู้แต่งสื่อผ่านวรรณกรรมมาจากหลายทาง ได้แก่ การผ่องถ่ายมาจากวัฒนธรรมอินเดีย อันเนื่องด้วยศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธมาจากแนวความคิดและคตินิยมที่ได้รับจากเมืองอันเป็นศูนย์กลางการปกครอง หรือราชธานี และแนวความคิดที่เกิดขึ้นและสั่งสมจากประสบการณ์และที่เกิดขึ้นภายในท้องถิ่นของผู้แต่ง

 

ในส่วนของผู้สร้างวรรณกรรม วรรณกรรมทักษิณรุ่นเก่าเกือบทั้งหมดมิได้ปรากฏว่าใครคือผู้แต่ง และแต่งในสมัยใด ดูเหมือนผู้แต่งจงใจไม่บอก แต่มักบอกชื่อผู้สร้างวรรณกรรมไว้ พร้อมกับถ้อยคำ “นิพพานํปจฺจโย โหมิ” อันบ่งบอกว่าหวังนิพพานหรือความสุขใจ ความสงบเย็นจากวิทยาทานที่สร้างขึ้น ส่วนวรรณกรรมทักษิณยุคการพิมพ์แพร่หลายมักบอกชื่อผู้แต่งไว้ชัดเจน ผู้แต่งบางคนยังคงสร้างหนังสือตามจุดประสงค์เดิม คือ เป็นวิทยาทาน แต่บางคนสร้างขึ้นเพื่อหารายได้และใช้เป็นทุนทรัพย์ในการพิมพ์วรรณกรรมเผยแพร่

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)

ย้อนอดีต แลปัจจุบัน เห็นอนาคต วรรณกรรมทักษิณ

รองศาสตราจารย์ประพนธ์ เรืองณรงค์

 

ประธานคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมถิ่นใต้ ราชบัณฑิตยสภา

 

 

วรรณกรรมทักษิณตั้งแต่อดีตที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมในท้องถิ่น เริ่มจากวรรณกรรมมุขปาฐะ โดยศิลปินพื้นบ้าน เช่น โนรา หนังตะลุง และเพลงบอก ต่อมาเมื่อมีผู้รู้หนังสือซึ่งส่วนมากเป็นพระภิกษุและผู้ลาสิกขาแล้วมีความสนใจและถนัดการประพันธ์ จึงสร้างสรรค์วรรณกรรมลายลักษณ์โดยการเขียนหรือคัดลอกลงหนังสือบุด รวมทั้งจารลงในใบลาน

 

ยุคนั้นมีผู้ไม่รู้หนังสือจำนวนมาก แต่สนใจเรื่องราวจากวรรณกรรม จึงมีการฟังการสวดอ่านตามวัดและตามบ้าน ซึ่งเป็นมหรสพอย่างหนึ่งของชาวใต้ โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราช มีการสวดอ่านตามด้านระเบียงวัด เรียกว่า “สวดด้าน”

 

ต่อมาเมื่อวรรณกรรมลายลักษณ์จากรูปแบบหนังสือบุดได้พัฒนาด้วยระบบการพิมพ์เป็นรูปเล่ม ขณะเดียวกันการศึกษาก้าวหน้าจากการเรียนในวัด มาเป็นการเรียนในระบบโรงเรียน ทำให้มีผู้รู้หนังสือมากขึ้น ชาวใต้เริ่มสนใจอ่านวรรณกรรมที่แพร่หลายมาจากกรุงเทพฯ โดยเฉพาะหนังสือเล่มเล็ก เล่มละสลึง                  จากโรงพิมพ์ย่านวัดเกาะ (เล่มสลึงพึงซื้อท่านผู้อ่าน หนังสือย่านวัดเกาะเพราะหนักหนาฯ) ประกอบกับการมีพื้นฐานความสนใจกาพย์กลอน นักประพันธ์ชาวใต้จึงแต่งและพิมพ์อย่างหนังสือเล่มเล็กดังกล่าว รวมทั้งมีโรงพิมพ์เกิดขึ้นในหลายจังหวัดภาคใต้

 

ตั้งแต่ พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา สถาบันอุดมศึกษา เช่น วิทยาลัยครูในท้องถิ่น ได้เปิดหลักสูตรวรรณกรรมท้องถิ่น จึงมีการรวบรวมและศึกษา โดยเก็บรวบรวมหนังสือบุดตามวัดและตามบ้านเรือน (หนังสือใบลานได้รับความสนใจน้อยมาก) การรวบรวมนั้น บางแห่งขาดระบบสารนิทัศน์ ไม่สะดวกต่อการค้นคว้า เนื่องจากบุคลากรผู้สนใจวรรณกรรมท้องถิ่นมีจำนวนน้อย ดังนั้นการปริวรรต การศึกษาวิเคราะห์และการเผยแพร่จึงได้ผลไม่มากนัก ที่ได้ผล เช่น “ภูมิปัญญาทักษิณจากวรรณกรรมและพฤติกรรม” มีศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์เป็นหัวหน้าโครงการ และ “วรรณกรรมทักษิณ วรรณกรรมคัดสรร” มีศาสตราจารย์ชวน เพชรแก้ว เป็นหัวหน้าโครงการ

 

อย่างไรก็ตาม งานรวบรวม ศึกษา และเผยแพร่วรรณกรรมทักษิณคงมิได้หยุดนิ่ง เพรายังมีผลงานของนักวิชาการให้เห็นอยู่บ้าง อนาคตคงเพิ่มปริมาณและคุณภาพของบุคลากรในการสร้างสรรค์ผลงานให้มีความก้าวหน้า และเป็นประโยชน์ต่อสังคมยิ่งขึ้น

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)

แนวทางการเรียนการสอนวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรทิพย์ วนรัฐิกาล

 

อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

 

บทความนี้นำเสนอเรื่องแนวทางการเรียนการสอนวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งการจัดการเรียนการสอนนั้นต้องมีความยืดหยุ่น หลากหลาย และตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นหลักสำคัญ การจัดการเรียนการสอนวรรณกรรมท้องถิ่น ภาคใต้ นั้น ควรคำนึงถึงหลักสำคัญ 3 ประการ คือ

 

1. การจัดการองค์ความรู้ให้เหมาะแก่วัย โดยจำแนกวรรณกรรมท้องถิ่นเพื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมแก่วัย เช่น ระดับอนุบาล จนถึงระดับมหาวิทยาลัย

 

2. การสร้างองค์ความรู้ให้เข้มแข็ง ด้วยวิธีการส่งเสริมให้มีผู้รู้จริง แล้วสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างเข้าใจและถูกต้อง องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมท้องถิ่นนั้น ย่อมสัมพันธ์กับวิถีชีวิต สภาพสังคม ประเพณี และวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นภาคใต้ หากเข้าใจอย่างถ่องแท้ย่อมทำให้องค์ความรู้นั้นยั่งยืน 

 

3. การเชื่อมโยงองค์ความรู้สู่ศาสตร์อื่นๆ เป็นการวิเคราะห์ สังเคราะห์ องค์ความรู้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งสอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 อันเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์ ซึ่งองค์ความรู้ด้านวรรณกรรมท้องถิ่นสามารถจะพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้รู้ที่เข้าใจคน เข้าใจสังคม และสามารถปรับตัวได้ในสังคมพหุวัฒนธรรมในศตวรรษที่ 21

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)

ความหมายและภาพลักษณ์ของ“กินอ่หรา”ในมุมมองของคนใต้

รองศาสตราจารย์ ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย

 

อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

 

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหมายและภาพลักษณ์ของ“กินอ่หรา”ในมุมมองของคนใต้การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์เรื่องเล่า เพลงกล่อมเด็กที่ยังมีผู้ร้องได้อยู่ในท้องถิ่น และวรรณกรรมทักษิณ : วรรณกรรมคัดสรรของมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี ผลการวิเคราะห์ พบว่า 1) คำที่ใช้เรียก“กินอ่หรา”มีหลายคำ คือ กินรีขี้หนอน ขี้หนอน พญาขี้หนอน นางขี้หนอน กีหนอน กินอน กินร กินหรา กินหรีกังหรี และกินอ่หรา ความหมายของคำเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในหลายบริบททั้งการเสี่ยงทายเพื่อดูโชคชะตาชีวิต เป็นพงศ์พันธุ์หนึ่งที่สะท้อนความลึกเร้นและยิ่งใหญ่ของป่าหิมพานต์และเขาวงกตเป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิฤทธิ์ของพิธีกรรมขับไล่เสนียดจัญไรหรือปัดรังควาน นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องเป็นคู่ครองอดีตชาติหนึ่งในห้าสิบเก้าชาติของพระพุทธเจ้า  2) ภาพลักษณ์ของ“ขี้หนอน”ในสายตาของคนใต้ มีหลายประการ คือ เป็นผู้หญิงที่มีความงดงามซึ่งคนใต้มักอ้างอิงถึงทั้งในเชิงเปรียบเทียบและผ่านบทรำโนรา เป็นผู้หญิงที่ได้รับการยกย่องว่ามีปัญญา เป็นผู้หญิงที่ครบสมบูรณ์และมีความดีงามเป็นคุณสมบัติประจำตัวที่ลูกหลานสายโนราได้ตั้งหิ้งบรรพบุรุษไว้บูชาสืบต่อกันมา และสะท้อนความเชื่อเกี่ยวกับการข้ามภพข้ามชาติของคนใต้ “กินอ่หรา” จึงยังคงมีบทบาทอยู่ในชีวิตประจำวันผ่านพิธีกรรมเกี่ยวกับหิ้งบรรพบุรุษ ผ่านความทรงจำจากเรื่องเล่า และเพลงกล่อมเด็ก

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)

คตินิยมและคติชนปักษ์ใต้ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้: กรณีศึกษาวันคารคำกาพย์

อาจารย์ธวัลรัตน์ พรหมวิเศษ

 

อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

 

 

บทความเรื่อง “คตินิยมและคติชนปักษ์ใต้ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้: กรณีศึกษาวันคารคำกาพย์” มุ่งนำเสนอคตินิยมเกี่ยวกับขนบการประพันธ์ และคติการปกครองที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง “วันคารคำกาพย์” ควบคู่ไปกับการนำเสนอคติชนประเภทต่างๆ ของชาวภาคใต้ที่ปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่อง การศึกษาครั้งนี้เป็นการรวบรวมเนื้อหาที่มีผู้กล่าวถึงเรื่อง“วันคารคำกาพย์”ในบริบทต่างๆ ประกอบกับการนำเสนอข้อค้นพบใหม่ โดยใช้แนวทางการวิเคราะห์ด้วยแนวคิดการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมและการศึกษาวรรณกรรมในแง่สหบท 

 

ผลการศึกษาพบว่าวรรณกรรมเรื่อง “วันคารคำกาพย์” มีคตินิยมในด้านขนบการประพันธ์ประกอบด้วย 1) การสร้างโครงเรื่องและอนุภาคที่สัมพันธ์กับวรรณกรรมท้องถิ่นอื่น และที่สัมพันธ์กับวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้อื่นๆ 2) การเปิดเรื่องด้วยการแนะนำตัวผู้เขียนและบทประณามพจน์ 3) การสืบขนบกลวิธีการดำเนินเรื่องด้วยบทเทพอุ้มสม บทอัศจรรย์หรือบทสมห้อง บทชมธรรมชาติ และบทชมความงามของสตรี 4) การใช้สำนวนโวหารและแนวคิดพ้องหรือล้อกับกับวรรณกรรมเรื่องอื่น 5) การใช้อารมณ์ขันสำแดงลักษณะเฉพาะของคนใต้ในด้านคตินิยมในด้านการปกครอง ได้แก่คติการปกครองแบบรัฐจักรวาลคติชนที่ปรากฏในเนื้อเรื่อง ประกอบด้วย คติชนประเภทภาษา คติชนประเภท คติความเชื่อ และคติชนประเภทอาหาร  คติชนประเภทภาษา ได้แก่ 1) การใช้ภาษาถิ่น 2) การใช้สำนวนโวหาร  คติชนประเภทคติความเชื่อ ได้แก่ 1) ความเชื่อด้านการเลือกคู่ และครองคู่ และ 2) ความเชื่อในเรื่องกรรม อุเบกขา และอำนาจวาสนา 3) ความเชื่อเรื่องวันและฤกษ์ยาม  และ 4) ความเชื่อเรื่องการทำนายฝัน คติชนประเภทอาหารได้แก่ 1) อาหารคาว 2) อาหารหวาน 3) อาหารจากธรรมชาติ และ 4) อาหารที่ผ่านการปรุงหรือถนอมอาหาร

 

คตินิยมและคติชนที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง “วันคารคำกาพย์” ได้ทำหน้าที่อธิบายสภาพสังคมและวัฒนธรรมของชาวภาคใต้ในยุคสมัยของผู้ประพันธ์ รวมทั้งได้อธิบายการดำรงอยู่ของวรรณกรรมท้องถิ่นที่มีส่วนสัมพันธ์กับวรรณกรรมท้องถิ่นอื่นอย่างเด่นชัด

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)

“อักษรเลข”: รหัสลับในการสื่อสารโบราณกับการนำมาใช้ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐา วิพลชัย

 

อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

 

 

วรรณกรรมเป็นผลงานสร้างสรรค์ของคนในสังคม เป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนให้เห็นภาพความรู้  ความคิด ค่านิยม และประสบการณ์ของมนุษย์ในสังคมแต่ละยุคสมัย เพราะผู้เขียนเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม ย่อมได้รับอิทธิพลของสังคมในการกำหนดแนวคิดและโลกทัศน์ ฉะนั้น วรรณกรรมจึงเป็นเสมือนหนึ่งจดหมายเหตุที่บันทึกเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของสังคมอีกด้วย

 

กลวิธีการบันทึกเรื่องราวในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ที่น่าสนใจรูปแบบหนึ่ง คือ การใช้อักษรเลขแทนอักษรในการบันทึกตำรายาแพทย์แผนไทย ตำราคำสอน และตำราพิธีกรรม ซึ่งผู้ที่สามารถอ่านแปลได้ จะต้องเป็นนักปราชญ์ ผู้รู้ หรือผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนเกี่ยวกับอักษรเลข การใช้อักษรเลขแทนอักษรย่อมสะท้อนความรู้สึกของผู้เป็นเจ้าของตำราได้ว่า ไม่ต้องการให้ตำราของตนเป็นสาธารณ์ แต่ให้ผู้รู้เท่านั้นอ่านเข้าใจ อักษรเลขจึงถือเป็นรหัสลับในการสื่อสารโบราณที่ใช้กันเฉพาะกลุ่มชนนักปราชญ์

 

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาของอักษรเลข และการบันทึกอักษรเลขในวรรณกรรม ท้องถิ่นภาคใต้ ผลการศึกษาพบว่า ตำราอักษรเลขในประเทศไทย เริ่มปรากฏครั้งแรกในคัมภีร์ภาษาบาลีชื่อ "วชิรสารัตถสังคหะ" เนื้อหากล่าวถึงกลุ่มอักษรที่ใช้แทนตัวเลข ๑ – ๙ เรียกว่า นวสังขยา กลุ่มอักษรที่ใช้แทนตัวเลข ๑ – ๕ เรียกว่า ปัญจสังขยา คัมภีร์วชิรสารัตถสังคหะ มิได้กล่าวถึงตัวเลขที่ใช้แทนอักษรประเภทสระและวรรณยุกต์ ซึ่งต่างจากหนังสือจินดามณีที่ได้อธิบายการใช้อักษรเลขว่า มี 2 ชนิด คือ อักษรเลขที่ใช้แทนสระในการเขียนทั่วไปกับอักษรเลขที่ใช้แทนสระและวรรณยุกต์ในการแต่งฉันทลักษณ์ ต่อมาหนังสือปฐมมาลาได้อธิบายการใช้อักษรเลขที่ใช้ทั่วไป แตกต่างจากหนังสือจินดามณีเพียงเล็กน้อย คือ เลข ๔ ที่ใช้แทนสระ อิ กับ สระ อะ หนังสือจินดามณีและปฐมมาลา เรียกกลวิธีนี้ว่า "ฤๅษีแปลงสาร" เพื่อมิให้ผู้ถือสาร หรือคนทั่วไปอ่านสารที่ถือเข้าใจได้โดยง่าย

 

ส่วนอักษรเลขที่ใช้ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ ได้รับอิทธิพลมาจากหนังสือปฐมมาลามากกว่าจินดามณี แต่นักปราชญ์ท้องถิ่นภาคใต้รับอักษรเลขมาใช้ด้วยการดัดแปลงกฎเกณฑ์ให้แตกต่างไปจากเดิม จึงทำให้การใช้อักษรเลขในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้แต่ละถิ่นไม่เป็นไปในระบบเดียวกัน เช่น วรรณกรรมท้องถิ่นจังหวัดพัทลุง ใช้อักษรเลขแทนทั้งสระและวรรณยุกต์ ซึ่งสร้างความสับสนมิใช่น้อย เนื่องจากอักษรเลขตัวเดียวกันใช้แทนวรรณยุกต์ได้หลายเสียง ต่างจากวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ใช้อักษรเลขแทนสระเท่านั้น ไม่มีอักษรเลขที่ใช้แทนวรรณยุกต์ ฉะนั้น การใช้อักษรเลขในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ แม้ได้รับอิทธิพลข้อมูลมาจากแหล่งเดียวกัน คือ จินดามณีและปฐมมาลา แต่ต่างกันตามกฎอัตโนมติของนักปราชญ์แต่ละถิ่นกำหนดขึ้นนั่นเอง

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)

จากบทเพลง “แต่ก่อน” ถึงวรรณกรรม “เรื่องจากคุณปู่” กลวิธีทางวรรณศิลป์กับการบอกเล่าเรื่องราวปักษ์ใต้

อาจารย์วัศรนันทน์ ชูทัพ

 

อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

 

 

บทความนี้มุ่งนำเสนอด้านวรรณศิลป์ในวรรณกรรม จากการศึกษาทำให้มองเห็นสายธารการสืบสานองค์ความรู้ของคนภาคใต้ซึ่งคนพื้นถิ่นได้บันทึกไว้ในวรรณกรรม โดยเมื่อมองย้อนกลับไปจะเห็นพัฒนาการของวรรณกรรมที่ผู้ประพันธ์ได้ใช้บันทึกเรื่องราวภาคใต้ เริ่มตั้งแต่วรรณกรรมมุขปาฐะที่สืบทอดด้วยการจดจำแล้วบอกเล่า วรรณกรรมลายลักษณ์ที่ผู้ประพันธ์ใช้ภาษาและหนังสือสื่อสารระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน และในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีการพิมพ์และการสื่อสารโทรคมนาคมเจริญรุ่งเรือง การบันทึกเรื่องราวภาคใต้ในวรรณกรรมปัจจุบันศิลปินจึงรังสรรค์รูปแบบการประพันธ์ในเชิงบูรณาการที่สอดรับไปกับการสื่อสารอย่างมีมิติ

 

บทเพลง “แต่ก่อน” และวรรณกรรม “เรื่องจากคุณปู่” คือ ผลิตผลของยุคสมัยซึ่งเมื่อนำองค์ประกอบของวรรณศิลป์มาวิเคราะห์วรรณกรรมทั้ง 2 ประเภท ทำให้มองเห็นลักษณะร่วมทางวรรณศิลป์ในวรรณกรรม ดังนี้ (1) ผู้ประพันธ์ทั้ง 2 คน ได้รังสรรค์ผลงานขึ้นจากอารมณ์สะเทือนใจอันเกิดจากความภาคภูมิใจที่ตนเองได้เกิดอยู่บนผืนแผ่นดินปักษ์ใต้  (2) ผู้ประพันธ์ทั้ง 2 คน ได้ใช้ “ภาษา” เป็นเครื่องมือในการบอกเล่าให้มองเห็นความเป็นปักษ์ใต้ชนิดกลั่นประสบการณ์ออกมาเล่า (3) ผู้ประพันธ์ทั้ง 2 คน ได้ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องเป็นแบบเรื่องเล่าผ่านตัวละครคุณปู่และคุณตา

 

ด้านอัตลักษณ์ของวรรณศิลป์ในวรรณกรรมมี ดังนี้ (1) ผู้ประพันธ์ทั้ง 2 คน นำเสนอความเป็นปักษ์ใต้ผ่านรูปแบบวรรณกรรมที่ตนเองถนัด กล่าวคือ ตุด นาคอน นำเสนอความเป็นปักษ์ใต้ผ่านบทเพลงเพื่อชีวิตทั้งนี้เพราะตนเองอยู่ในฐานะนักร้อง ส่วน อุดร บวรสุวรรณ นำเสนอความเป็นปักษ์ใต้ผ่านวรรณกรรมเยาวชนทั้งนี้เพราะตนเองอยู่ในฐานะนักเขียน (2) ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้ประพันธ์ทั้ง 2 คน มีความแตกต่างกัน คือ อุดร บวรสุวรรณ สร้างสรรค์วรรณกรรมขึ้นตามขนบการแต่งวรรณกรรมเยาวชน ส่วน ตุด นาคอน สร้างสรรค์บทเพลงขึ้นโดยนำศิลปะการ แสดงพื้นบ้านมโนราห์มาบูรณาการเข้ากับบทเพลงเพื่อชีวิตทำให้ได้บทเพลงที่เป็นนวัตกรรมใหม่แห่งยุค

 

ด้านการบอกเล่าความเป็นปักษ์ใต้วรรณกรรมทั้ง 2 ประเภทกล่าวถึงร่วมกันในประเด็นหัตถกรรมพื้นบ้านและประเพณีพื้นบ้าน ส่วนประเด็นที่นำเสนอแตกต่างกัน คือ วรรณกรรมเรื่องจากคุณปู่นำเสนอประเด็นอาหารพื้นบ้านและพันธุ์ไม้พื้นเมือง ส่วนบทเพลงแต่ก่อนนำเสนอประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชนภาคใต้อันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ แต่อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์สำคัญในการสร้างสรรค์วรรณกรรมของนักเขียนภาคใต้นี้ก็เพื่อใช้วรรณกรรมเป็นสื่อกลางในการบอกเล่าเรื่องราวปักษ์ใต้

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)

พัฒนาการอักษรที่ใช้บันทึกวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้

ชะเอม แก้วคล้าย

 

ผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณระดับ 9 กรมศิลปากร

 

 

พัฒนาการอักษรที่ใช้บันทึกวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของอักษรที่ใช้บันทึกวรรณกรรมในท้องถิ่นภาคใต้  เมื่อคำว่า วรรณกรรมหมายถึงงานประพันธ์ทุกชนิดจำเป็นต้องย้อนกลับไปดูวรรณกรรมเก่าแก่ที่สุดในภาคใต้ ได้แก่ ศิลาจารึกสมุดไทยใบลานและเอกสารเอกสารอื่น ๆ จึงจับประเด็นการเปลี่ยนแปลงอักษรที่ใช้บันทึกวรรณกรรมในภาคใต้ได้ดังนี้

 

อักษรปัลลวะเป็นอักษรที่บันทึกวรรณกรรมเก่าแก่ที่สุดในภาคใต้ มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 – 12 บันทึกด้วยภาษาสันสกฤต มีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธพบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดปัตตานีจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี อักษรปัลลวะที่บันทึกวรรณกรรมเป็นภาษาทมิฬพบที่จังหวัดพังงา ต่อมาอักษรปัลลวะได้กลายรูป เรียกว่า อักษรหลังปัลลวะ ปรากฏครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 1318 ที่วัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จนกระทั่ง พ.ศ.1726 ได้พบจารึกอักษรขอมโบราณที่ฐานพระพุทธรูปวัดหัวเวียง อำเภอไชยา เป็นอักษรที่พัฒนามาจากอักษรหลังปัลลวะจนถึง พ.ศ.1773 อักษรขอมโบราณได้พัฒนามาเป็นอักษรขอมแบบท้องถิ่นภาคใต้โดยเฉพาะ ซึ่งบันทึกในวรรณกรรมจารึกวัดหัวเวียงไชยา 1 และ 2 ต่อมาสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ท้องถิ่นภาคใต้ได้รับอิทธิพลการศึกษาจากภาคกลาง แต่สำนักการศึกษาส่วนมากอยู่ที่วัด ซึ่งใช้อักษรขอมเป็นสื่อการศึกษาทำให้วรรณกรรมภาคใต้ได้พัฒนามาบันทึกด้วยอักษรขอมแบบภาคกลางซึ่งมีทั้งอักษรขอมที่บันทึกด้วยภาษาบาลีและอักษรขอมที่บันทึกด้วยภาษาไทย

 

ส่วนอักษรไทย แม้พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อพ.ศ.1836 แต่ยังไม่แพร่หลาย อักษรไทยปรากฏในภาคใต้ครั้งแรกสมัยอยุธยา ที่ศิลาจารึกวัดแวงจังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะมีครั้งที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991 – 2031)ประสงค์จะรวมอำนาจการปกครอง จึงเลิกตั้งเจ้าประเทศราช แต่ส่งขุนนางจากส่วนกลางไปปกครองแทน และน่าจะเป็นขุนนางจากเมืองเหนือ จึงทำศิลาจารึกที่มีอักขรวิธีและภาษาเหนือปะปนอยู่หลายคำ ข้อความกล่าวถึงเจ้าเมืองทองทั้งองค์นางผู้เฒ่าแม่เจ้าคำศรี ได้อาราธนาพระพุทธรูปเข้าไปสถิตในคูหาแก้ว เสร็จแล้วก็จัดฉลองและได้ตั้งท่านผ้าขาวให้เป็นผู้ปฏิบัติพระสงฆ์ ต่อมาอักษรไทยสมัยอยุธยาได้แพร่หลายไปสู่ภาคใต้ จนได้บันทึกวรรณกรรมลงสมุดไทยและใบลาน ดังที่ปรากฏในเรื่องพญาพิมพิสาร ซึ่งบันทึกด้วยอักษรผดสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2357 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นเครื่องบ่งบอกว่า อักษรไทยสมัยอยุธยา ได้ใช้บันทึกวรรณกรรมภาคใต้มาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อการศึกษาภาษาไทยได้ขยายไปสู่ภาคใต้ทำให้มีผู้ประพันธ์หรือผู้คัดลอกวรรณกรรมจากภาคกลางมาสอดแทรกความเป็นถิ่นใต้ไว้ในวรรณกรรมด้วยการใช้ภาษาถิ่น เขียนตามสำเนียงภาษาถิ่น ใช้อักขรวิธีสะกดคำตามความพอใจ โดยไม่คำนึงรูปเขียนที่ถูกต้องของหลักภาษาไทย จึงเป็นพัฒนาการอักษรที่ใช้บันทึกวรรณกรรมภาคใต้อีกระดับหนึ่ง เมื่อการศึกษาภาษาไทยเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับอักษรและภาษาที่ใช้บันทึกวรรณกรรมถิ่นใต้จึงได้พัฒนามาใช้อักษรและภาษาไทยอย่างทุกวันนี้

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)

สถานภาพและการอนุรักษ์วรรณกรรมทักษิณชั้นปฐมภูมิ

จรัญ ทองวิไล

 

ผู้เชี่ยวชาญเอกสารโบราณ หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก กรมศิลปากร

 

 

องค์ความรู้และภูมิปัญญาที่หลากหลายอันเป็นบันทึกแห่งบรรพชนผ่านสื่อกระบวนการคิด การเขียน และการมุ่งผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมเพื่อหล่อหลอมและขับเคลื่อนสังคมท้องถิ่นให้ดำเนินไปตามแนวทางที่ถูกที่ควรและบรรลุถึงจุดมุ่งหมายร่วมกันถือเป็นกระบวนการจัดการความรู้ที่ทรงคุณค่ายิ่งของบรรพชนซึ่งปรากฏในรูปของงานวรรณกรรมท้องถิ่นประเภทต่าง ๆ คือ เอกสารตัวเขียน (หนังสือบุด) เอกสารตัวจาร (คัมภีร์ใบลาน) จารึก และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ องค์ความรู้และภูมิปัญญาของบรรพชนดังกล่าวนี้จัดเป็นองค์ความรู้ชั้นปฐมภูมิที่สามารถใช้เป็นกุญแจไขข้อกังขาสงสัยในเรื่องราวบางสิ่งบางประการให้กระจ่างแจ้งได้ ทั้งยังสามารถใช้เป็นเอกสารหลักฐานเพื่อการอ้างอิง ศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัยได้อย่างหลากหลายและกว้างขวาง

 

ด้วยเนื้อหาสาระของงานวรรณกรรมที่ครอบคลุมองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความหลากหลายในมิติแห่งศาสตร์แขนงต่าง ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ พุทธศาสตร์ ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และเวชศาสตร์ เป็นต้น ทั้งยังสะท้อนภาพลักษณ์ของสภาพสังคม ศิลปวัฒนธรรม ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ ออกมาได้อย่างชัดเจน ด้วยคุณลักษณะดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจว่า ในช่วงระยะเวลากว่า 30 ปีมานี้ วรรณกรรมท้องถิ่นเหล่านี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาศึกษาค้นคว้า กันอย่างกว้างขวางโดยนักวิชาการทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ตลอดถึงครู  อาจารย์ นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจทั่วไป

 

การศึกษาค้นคว้างานวรรณกรรมท้องถิ่นดังกล่าวนี้ในระยะแรก ๆ จะปรากฏในรูปของการศึกษาแบบปัจเจกชนเกือบทั้งสิ้น สาเหตุอาจสืบเนื่องมาจากการเข้าถึงแหล่งข้อมูลของงานวรรณกรรมเหล่านี้จะมีอยู่เฉพาะบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น ต่อมาเมื่อการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากบุคคล สถาบัน และองค์กรทั้งในและนอกวงการศึกษา การศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นจึงขยายขอบเขตออกไปสู่วงกว้างไม่จำกัดเพียงแต่นิสิต นักศึกษา ครูอาจารย์และนักวิชาการในสถาบันการศึกษาต่างๆ เท่านั้น สถาบัน องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ที่สำคัญของรัฐและเอกชนต่างก็พากันสนใจให้ความสำคัญและสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นอย่างจริงจัง มีการสนับสนุนเงินทุนในการศึกษาค้นคว้าโดยหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐบ้าง หน่วยงานของเอกชนบ้าง การศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมท้องถิ่นจึงค่อยขยายรูปแบบมาเป็นการศึกษาแบบคณะและกลุ่มบุคคลต่างๆ เช่น กลุ่มนักวิชาการในสถาบันการศึกษาต่างๆ และกลุ่มบุคคลผู้สนใจในการอนุรักษ์วรรณกรรมท้องถิ่นทั่วไป

 

แต่เนื่องด้วยว่า การบันทึกวรรณกรรมท้องถิ่นไว้เป็นลายลักษณ์นั้น จะบันทึกไว้ในสมุดรูปสี่เหลี่ยม ผืนผ้าขนาดย่อมซึ่งชาวใต้นิยมเรียกว่า บุด หรือ หนังสือบุด  หนังสือบุดเหล่านี้มีอายุและผ่านการใช้งานมาเป็นเวลายาวนานเฉลี่ยอายุตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่จึงมีสภาพชำรุดเสื่อมโทรมในลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ฉีกขาด เนื้อกระดาษขาดหาย เปื่อยยุ่ย กรอบ ปรุพรุน มีร่องรอยของแมลงและเชื้อรา ส่วนที่ยังมีสภาพดีอยู่ก็มีแนวโน้มว่า จะเสื่อมสภาพลงทุกขณะก่อนเวลาอันควร ถ้าไม่มีการจัดเก็บ จัดแสดง หรือให้บริการในลักษณะที่เหมาะสมถูกต้องตามหลักวิชาการ  ฉะนั้นการอนุรักษ์วรรณกรรมท้องถิ่นจึงเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพชนผู้ที่ได้สรรค์สร้างองค์ความรู้เหล่านี้ไว้เพื่อให้เป็นมรดกของสังคมท้องถิ่นและประเทศชาติ การอนุรักษ์วรรณกรรมท้องถิ่นจึงควรจะกระทำควบคู่กันไปกับการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง เพื่อให้มรดกของบรรพชนยังคงอยู่สืบไปตราบนานเท่านาน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)

วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับละครชาวบ้านภาคใต้: สารัตถะและการสืบทอด

อาจารย์วินัย สุกใส 

 

อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

 

งานวิจัยเรื่อง วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับละครชาวบ้านภาคใต้ : สารัตถะและการสืบทอด มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างวรรณกรรมพื้นบ้านกับละครภาคใต้ 3 ประเภท (2) ศึกษาลักษณะและสารัตถะของวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับละครชาวบ้านภาคใต้  (3) ศึกษาวิธีการสืบทอดวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับละครชาวบ้านภาคใต้ และ (4) ศึกษาการปรับเปลี่ยนบทบาทของวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับละครชาวบ้าน และแนวทางในการอนุรักษ์และส่งเสริม  โดยศึกษาจากตัวบทวรรณกรรมที่ใช้ในการแสดงละครชาวบ้านกลุ่มไทยพุทธ 3 ชนิด คือ หนังตะลุง  โนรา และลิเกป่า ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ และนำเสนอผลการศึกษาด้วยวิธีพรรณนาวิเคราะห์

 

ผลการวิจัยพบว่า ในด้านความเกี่ยวข้องระหว่างวรรณกรรมกับละครพื้นบ้าน ตัวบทวรรณกรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ละครใช้ในการแสดง  มีทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและมุขปาฐะที่เป็นตัวบทเก่าและสร้างสรรค์ขึ้นใหม่แนว   สัจนิยม เพื่อปรับใช้ในการแสดงประกอบพิธีกรรม การแสดงเพื่อความบันเทิง และใช้เป็นตำรากลอนของละครชาวบ้าน โดยการปรับใช้โครงเรื่อง การปรับใช้อนุภาคของเรื่องและการปรับใช้ตัวละคร  ตลอดจนการนำตัวบทเก่ามาใช้เฉพาะกรณี  ในประเด็นของสารัตถะของวรรณกรรม สารัตถะที่เด่นมาก คือ สารัตถะที่เกี่ยวกับโลกและจักรวาลที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการประสมประสานความคิดลัทธิฮินดู พุทธศาสนา และความเชื่อตั้งเดิม สารัตถะเกี่ยวกับระบบทางสังคม สารัตถะเกี่ยวกับระบบคุณธรรมและจริยธรรมซึ่งมีที่มาจากคำสอนทางพุทธศาสนา และสารัตถะเกี่ยวกับกลวิธีสร้างสุนทรียรส  ในด้านการสืบทอดวรรณกรรมละครของชาวบ้าน พบว่า วัฒนธรรมการเรียนรู้และการสืบทอดวรรณกรรมของศิลปินมี 3 แบบ คือ แนวจารีตที่ยึดถือปฏิบัติมาแต่อดีต แนวครูพักลักจำ และแนวสมัยนิยมอันได้แก่การเรียนรู้ในระบบการศึกษาสมัยใหม่ มีสืบทอดเนื้อหาของวรรณกรรมโดยการคงต้นแบบเดิม ปรับปรนตามเงื่อนไขการใช้ การสร้างใหม่โดยใช้เนื้อเรื่องหรืออนุภาคจากวรรณกรรมเก่า ตลอดจนการสร้างแนวคิดจินตนาการ  ในส่วนบทบาทและความเปลี่ยนแปลงของวรรณกรรมละครชาวบ้านและแนวทางในการอนุรักษ์และส่งเสริม พบว่าละครชาวบ้านมีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวใต้ในด้านของการแสดงเพื่อประกอบพิธีกรรม การแสดงเพื่อความบันเทิง การอบรมคุณธรรมจริยธรรม และการเผยแพร่ความรู้และข่าวสารต่าง ๆ โดยบทบาทเหล่านี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่บทบาทสำคัญที่ยังคงอยู่ตลอดมาคือ บทบาทในด้านของการแสดงประกอบพิธีกรรม ในส่วนของแนวทางในการอนุรักษ์และส่งเสริม มีทัศนะที่แตกต่างกันเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ กลุ่มที่มีทัศนะเชิงอนุรักษ์เห็นว่า ละครพื้นบ้านเป็นศิลปะการแสดงที่จะต้องมีการอนุรักษ์รูปแบบเก่าไว้ให้มากที่สุด กับกลุ่มที่มีทัศนะว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ก็ต้องรักษาอัตลักษณ์ของหนังตะลุง โนรา และลิเกป่า เอาไว้

 

*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับละครชาวบ้านภาคใต้: สารัตถะและการสืบทอด ในชุดโครงการวรรณกรรมทักษิณ: สารัตถะและการสืบทอด ภายใต้โครงการการพัฒนาทุนทางสังคมภาคใต้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้วิจัย: รองศาสตราจารย์อุดม หนูทอง  วินัย สุกใส  และ สมใจ สมคิด

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)

พุทธทำนาย: สารัตถะและการสืบทอด

คำนวณ นวลสนอง

 

ข้าราชการบำนาญสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

 

การวิจัยเรื่อง “พุทธทำนาย: สารัตถะและการสืบทอด” มุ่งศึกษาวรรณกรรมพุทธทำนายฉบับที่พบในภาคใต้ ประเด็นที่ศึกษาคือ หน้าที่และบทบาทสารัตถะที่ปรากฏในวรรณกรรม และการสืบทอดวรรณกรรมโดยใช้การวิเคราะห์เอกสารและสัมภาษณ์ผู้รู้เพิ่มเติม ข้อมูลจากการศึกษาวิเคราะห์นำเสนอด้วยวิธีการพรรณนาวิเคราะห์ วรรณกรรมที่นำมาศึกษา จำนวน 14 ฉบับ จำแนกเนื้อหาได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นพุทธทำนายที่มีสาระเกี่ยวกับความฝันของพระเจ้าเสนทิโกศล  กลุ่มสองเป็นพุทธทำนายที่แทรกอยู่ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ภาคใต้เรื่อง พระเจ้าห้าพระองค์ และกลุ่มสามเป็นพุทธทำนายที่ได้เค้าเรื่องจากศิลาจารึกในประเทศอินเดีย

 

ผลจากการศึกษาพบว่า พุทธทำนายมีหน้าที่และบทบาทในด้านการสั่งสอนให้คติชีวิตและปลูกฝังความศรัทธาในศาสนา ให้การศึกษา มีความสัมพันธ์กับงานศิลปะ และใช้เป็นเครื่องปลอบประโลมใจ ด้านสารัตถะสำคัญคือ ความเชื่อและความสำคัญในพุทธศาสนา การอยู่ร่วมกันต้องมีแบบแผนพฤติกรรมที่เป็นมาตรฐานในสังคม และในส่วนของการสืบทอดวรรณกรรมพุทธทำนาย พบว่ามีการสืบทอดด้วยการเก็บรักษาต้นฉบับวรรณกรรมเก่า การคัดลอกต้นฉบับต่อๆ กันมา การสวดหนังสือ การเล่าเรื่องและการเทศน์ เหล่านี้เป็นการสืบทอดที่มีมาแต่เดิม เป็นการกระทำเพื่อการเรียนรู้และถ่ายทอดเรื่องราวเพื่อสืบต่อ ส่วนการแต่งสร้างขึ้นใหม่ การพิมพ์เผยแพร่ และการถ่ายทอดผ่านงานศิลปะด้านจิตรกรรม มีการดำเนินงานอย่างกว้างขวาง สำหรับปัจจุบันการพิมพ์เผยแพร่มีบทบาทในการสืบทอดมากที่สุด

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)

วรรณกรรมคำสอนภาคใต้ “ฉบับพิมพ์เล่มเล็ก”: การสืบทอดและสร้างสรรค์ด้านคำสอน

ผู้ข่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชลินจ์ จีนนุ่น

 

อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

 

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสืบทอดและการสร้างสรรค์ของวรรณกรรมคำสอนภาคใต้ “ฉบับพิมพ์เล่มเล็ก”หรือวรรณกรรมที่มีรูปเล่มขนาดเล็กเหมือนหนังสือวัดเกาะของภาคกลาง จำนวน ๖๗ เรื่องผลการศึกษาพบว่าวรรณกรรมคำสอนกลุ่มนี้พบมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก แต่งโดยนักเขียนชาวใต้ที่มีทั้งพระสงฆ์ ข้าราชการท้องถิ่น และชาวบ้านทั่วไปในช่วงพ.ศ. 2470-2519 วรรณกรรมคำสอนกลุ่มนี้มีการสืบทอดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากวรรณคดีคำสอนโบราณซึ่งเป็นคำสอนคุณธรรมที่อิงหลักธรรมในพระพุทธศาสนา 

 

การสืบทอดมี 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือการนำคำสอนโบราณมาพิมพ์ใหม่ และลักษณะที่สองคือการนำคำสอนโบราณที่ผู้แต่งเห็นว่าสำคัญมาแต่งใหม่โดยให้มีความครอบคลุมและขยายวงกว้างขึ้นมีทั้งคำสอนสำหรับคนทั่วไปและคำสอนเฉพาะกลุ่ม คำสอนที่สืบทอดมานี้ใช้ได้ดีในสังคมสมัยใหม่ที่เน้นการปลูกฝังพลเมืองให้เป็นคนดีมีศีลธรรมและสอดรับกับค่านิยมของชาวใต้ที่เน้นย้ำเรื่องการวางตนให้เหมาะสมแก่เพศและวัย

 

ส่วนเนื้อหาคำสอนที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่มี 4 ประการสำคัญ ประการแรก คำสอนที่เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตตามวัยและฐานะทางสังคม ประกอบด้วยคำสอนการปฏิบัติตนของผู้สูงวัยที่ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้แก่บุตรหลานและคำสอนการปฏิบัติตนของคนจนที่ไม่ส่งผลกระทบทั้งต่อตนเองและการพัฒนาสังคม ประการที่สอง คำสอนที่เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตตามสถานภาพในครอบครัว ประกอบด้วยคำสอนการปฏิบัติตนของสามีต่อภรรยาเพื่อปรับปรุงพฤติกรรมของผู้ชายใต้ให้มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ทั้งเป็นการยกฐานะของผู้หญิงให้สูงขึ้นด้วยและคำสอนการปฏิบัติตนของบิดามารดาต่อบุตรที่ต้องดูแลเอาใจใส่บุตรให้มากขึ้น ประการที่สาม คำสอนที่เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกันในชุมชน เน้นสอนคนในชุมชนให้ร่วมใจกันพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ได้แก่ สอนให้พัฒนาการเกษตรเพื่อให้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งเป็นการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้ดีขึ้นด้วยและสอนให้สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวบ้านกับข้าราชการท้องถิ่น โดยสอนให้ชาวบ้านมองข้าราชการท้องถิ่นในแง่บวกและสอนให้ข้าราชการท้องถิ่นสนใจความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และประการที่สี่ คำสอนที่เน้นการปฏิบัติตนเพื่อเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติตามนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แก่ สอนการปฏิบัติตนของพลเมืองที่เป็นเด็กโดยให้ทำหน้าที่ของนักเรียนที่ดี สอนการปฏิบัติตนของพลเมืองที่เป็นผู้หญิงให้มีส่วนร่วมด้านเศรษฐกิจและการป้องกันประเทศ สอนให้พลเมืองโดยทั่วไปปฏิบัติตามนโยบายรัฐและร่วมกันสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล โดยคำสอนส่วนใหญ่อิงกับความเป็นจริงทางสังคมและนโยบายทางการเมืองทำให้เห็นว่าการสืบทอดและสร้างสรรค์ด้านเนื้อหาคำสอนเอื้อประโยชน์ต่อสังคมร่วมสมัยอย่างชัดเจน ไม่ขัดทั้งต่อค่านิยมของคนในท้องถิ่น นโยบายของรัฐบาลในเวลานั้น และวัฒนธรรมไทย

 

*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2555 เรื่องลักษณะเด่นและบทบาททางสังคมของวรรณกรรมคำสอนภาคใต้ “ฉบับพิมพ์เล็ก” โดยได้รับทุนสนับสนุน การวิจัยจากสำนักงาน คณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ปี 2551

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)

แนวคิดในการจัดการเรียนรู้วรรณคดีไทยระดับมัธยมศึกษา

อาจารย์ชวิน พงษ์ผจญ

 

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนภาษาไทย ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

การจัดการเรียนรู้วรรณคดีและวรรณกรรมไทยในระดับมัธยมศึกษาโดยทั่วไปมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจวรรณคดีใน 2 ลักษณะ คือ เข้าใจคุณค่าทางด้านวรรณศิลป์และเข้าใจคุณค่าทางด้านสังคมวัฒนธรรม การจัดการเรียนรู้ที่เน้นการท่องจำเป็นหลักย่อมทำให้ผู้เรียนไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ แนวคิดทฤษฎีที่น่าสนใจในการจัดการเรียนรู้วรรณคดีที่เหมาะสมกับระบบการศึกษาของไทย ได้แก่ 1) การเรียนรู้วรรณคดีไทยตามทฤษฎีการตอบสนองของผู้อ่าน (Reader Response Theory) ผ่านสื่อบันเทิงประเภทต่าง ๆ ซึ่งช่วยพัฒนาความเข้าใจในการอ่านวรรณคดีโดยใช้การแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกของตนต่อวรรณคดีผ่านกระบวนการเชื่อมโยงตัวบทวรรณคดีกับประสบการณ์ชีวิตและสื่อบันเทิง อาทิ เพลง ละคร และภาพยนตร์ และ 2) การจัดการเรียนรู้วรรณคดีไทยตามรูปแบบ PERMA Model (Positive Emotions, Engagement, Relation- ships, Meaning และ Accomplishment)

 

ภายใต้แนวคิดจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ซึ่งช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้เรียนผ่านการศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะเด่นและจุดแข็ง (Character strength) ของชีวิตตัวละครในวรรณคดีเป็นหลัก

 

การบรรยายในหัวข้อนี้จะช่วยแนะนำและนำเสนอตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนด้วยแนวคิดทั้งสองวิธีข้างต้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าวิธีการเหล่านี้ช่วยให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ในการเรียนวรรณคดีมากยิ่งขึ้น นำไปสู่ความเข้าใจวรรณคดีในฐานะบทเรียนและภาพสะท้อนประสบการณ์ชีวิตมนุษย์ อันเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญในการอ่านวรรณคดี อีกทั้งผู้เรียนยังได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างวรรณคดีกับชีวิตของตนเองและโลกปัจจุบัน ซึ่งช่วยให้การเรียนรู้วรรณคดีแต่ละเรื่องพัฒนาเป็นการเรียนรู้ที่มีค่าและความหมาย (Meaningful Learning) ต่อผู้เรียน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมทักษิณศึกษา: อดีต ปัจจุบัน อนาคต" ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2560 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)