คณะผู้จัดงาน (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง)

การประชุมวิชาการระดับชาติ

 

วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง

 

15 มีนาคม 2560
โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ เพลินจิต สุขุมวิท

 

จัดโดย

 

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กล่าวนำ (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง)

ปัจจุบัน เวลาว่างมีความสำคัญต่อชีวิตของคนทุกช่วงวัย เยาวชนในระบบการศึกษาสมัยใหม่อยู่ภายใต้ความกดดันจากการแข่งขันที่สูงขึ้น กิจกรรมที่สร้างสรรค์นอกเวลาเรียนจึงสำคัญต่อการบรรเทาความเครียดและช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ คนวัยทำงานต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ล้วนต้องการเวลาว่างเพื่อสร้างเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต อันเป็นผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพของงาน ส่วนผู้สูงอายุวัยเกษียณที่มีเวลาว่างมากจนอาจรู้สึกเหงา การรู้จักบริหารจัดการเวลาว่างจึงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

 

เวลาว่างจึงสัมพันธ์กับความเจริญงอกงามของสังคม การรู้จักใช้เวลาว่างมิใช่เป็นประโยชน์แก่ปัจเจกบุคคลในแง่ของการสร้างสมดุลชีวิตเท่านั้น หากแต่การใช้เวลาว่างที่สร้างสรรค์ของบุคคลแต่ละช่วงวัยยังก่อให้เกิดกิจกรรมและผลผลิตที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

 

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีดำริจัดประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง “วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง” เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เวลาว่างที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมไทย รวมถึงสนับสนุนและสร้างเครือข่ายการศึกษาและการวิจัยด้านไทยศึกษาในลักษณะสหสาขาที่หัวข้อเกี่ยวกับการใช้เวลาว่างในสังคมไทย อันจักอำนวยประโยชน์อย่างกว้างขวางสืบไป

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร. สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา

 

ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กำหนดการ - 15 มีนาคม 2561 (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง)

08.30 – 09.30

 

ลงทะเบียน

 

09.30 – 09.35

 

พิธีเปิดการประชุม 

 

09.35 – 10.35

 

ปาฐกถานำ: โคลงเล่นซ่อนหาที่เกาะสีชัง: การเล่นกับภาษาในวันว่าง
     ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา
     – ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

10.35 – 10.50

 

     รับประทานอาหารว่าง

 

10.50 – 12.00

 

เวลาว่างในวิถีวัฒนธรรมไทยในสมัยต่างๆ 

 

การละเล่นในฮูปแต้มอีสาน
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิสิทธิ์ กอบบุญ 
     – คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

การใช้เวลาว่างของชนชั้นนำในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6
     อาจารย์พรรณราย ชาญหิรัญ
     – คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

12.00 – 13.00

 

     รับประทานอาหารกลางวัน

 

13.00 – 14.30

เวลาว่างกับความสุขของคนหลากวัย

 

การเล่นกับการส่งเสริมสุขภาวะของเยาวชน 
     นายแพทย์ ดร.ไพโรจน์ เสาน่วม
     – ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ 
       สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

การใช้เวลาว่างของวัยทำงานในกรุงเทพมหานคร
     นายอานนท์ จันทวิช
     – ผู้อำนวยการสำนักสถิติเศรษฐกิจและสังคม 
       สำนักงานสถิติแห่งชาติ

 

การสร้างความสุขในผู้สูงอายุ: การใช้เวลาว่างของผู้สูงอายุ
     รองศาสตราจารย์ ดร.พรทิพย์ เกยุรานนท์
     – บรรณาธิการวารสารสุขภาพกับการจัดการสุขภาพ 

       วิทยาลัยเซ็นหลุยส์

 

14.30 – 14.45

 

     รับประทานอาหารว่าง
    
14.45 – 16.15

 

เวลาว่างในหลากอาชีพ 

 

เวลาว่างในประสบการณ์ของผู้มีอาชีพสายวิทยาศาสตร์
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ถนอม มานะประเสริฐ
     – คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

เวลาว่างในวิถีนักอนุรักษ์: จากท้องทะเลสู่วิถีเกษตรพอเพียง 
     นายวัชรพล แดงสุภา
     – ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ
       กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

เวลาว่างในวิถีของอาจารย์มหาวิทยาลัย 
     อาจารย์ ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล
     – คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 

 

16.15 – 16.20

 

ปิดการประชุม

โคลงเล่นซ่อนหาที่เกาะสีชัง : การเล่นกับภาษาในวันว่าง

ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา  

 

ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอการใช้เวลาว่างในการเล่นกับภาษาซึ่งเป็นศิลปะที่ ไม่จำกัดเพศและชนชั้น คนไทยทุกกลุ่มสามารถเล่นและนำไปปรับประยุกต์ใช้กับบริบทการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้ ผู้เขียนจึงใคร่นำเสนอ “โคลงเล่นซ่อนหา” ซึ่งเป็นการเล่นซ่อนหาเชิงกวีนิพนธ์ ประกอบด้วยโคลง 21 บท ผู้เล่นเป็นเจ้านายสมัยรัชกาลที่ 5 จำนวน 6 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนาถ และพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา สถานที่เล่นอยู่ในบริเวณพระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เนื่องจากบทประพันธ์นี้หายากและคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก ในโอกาสที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบรอบ 100 ปีแห่งการสถาปนา และเป็นผู้ดูแลพระจุฑาธุชราชฐาน ผู้เขียนจึงใคร่เผยแพร่บทประพันธ์นี้

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง" วันที่ 15 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ เพลินจิต สุขุมวิท กรุงเทพฯ จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

การละเล่นในฮูปแต้มอีสาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิสิทธิ์ กอบบุญ  

 

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

บทความนี้ มุ่งศึกษาการใช้เวลาว่างและการละเล่นในฮูปแต้มอีสาน การศึกษาพบว่าฮูปแต้มอีสานไม่เพียงแต่นำเสนอเนื้อหาหลักคือเรื่องทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น ลักษณะเด่นประการสำคัญของฮูปแต้มอีสานยังมุ่งนำเสนอวิถีชีวิตและวิถีชุมชนของสังคมอย่างกลมกลืนกับเรื่องทางพระพุทธศาสนา การใช้เวลาว่างและการละเล่นเป็นหนึ่งในเนื้อหาที่สะท้อนผ่าน ฮูปแต้ม การละเล่นของท้องถิ่นอีสานนำเสนอรูปแบบการละเล่น อีกทั้งการละเล่นนั้นยังสัมพันธ์กับความคิด ความเชื่อ พิธีกรรม และแนวทางการดำเนินชีวิตในท้องถิ่นอีกด้วย

 

* บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง จิตรกรรมอีสาน: พุทธศิลป์เพื่อการศึกษาเรียนรู้พุทธธรรม คุณธรรมจริยธรรม และวิถีชุมชน ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง" วันที่ 15 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ เพลินจิต สุขุมวิท กรุงเทพฯ จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

การใช้เวลาว่างของชนชั้นนำในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6

อาจารย์พรรณราย ชาญหิรัญ

 

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

 

จากพระราชนิพนธ์ เสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระราชนิพนธ์ จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พบว่ามีการบันทึกกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจของชนชั้นนำสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 โดยเป็นการพักผ่อนหย่อนใจแบบตะวันตกที่ชนชั้นนำสยามรับเข้ามาเพื่อแสดงถึงความศิวิไลซ์ ยกตัวอย่างกิจกรรมที่พบ ได้แก่ การถ่ายรูป การปรุงและรับประทานอาหาร การท่องเที่ยวสำรวจตามสถานที่ต่างๆ การชมสิ่งของ บุคคล หรือกิจกรรมที่มีลักษณะพิเศษ การชมหรือเปิดการแสดงละครนอกวัง การปฏิสันถารกับราษฎร รวมทั้งการปลอมพระองค์  การใช้เวลาว่างของชนชั้นนำในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 จึงเป็นการเปิดโลกทัศน์การใช้เวลาว่างแบบใหม่คือการนำการพักผ่อนหย่อนใจแบบตะวันตกเข้ามาปรับใช้กับชนชั้นนำ อันแสดงถึงสถานภาพที่แตกต่างจากกลุ่มคนอื่นในสังคม

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง" วันที่ 15 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ เพลินจิต สุขุมวิท กรุงเทพฯ จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

การใช้เวลาว่างของวัยทำงานในกรุงเทพมหานคร

อานนท์ จันทวิช

 

ผู้อำนวยการสำนักสถิติเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติ

 

 

จากการประชุมว่าด้วยเรื่องสตรีระดับโลก ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้น ณ  กรุงปักกิ่ง เมื่อ พ.ศ. 2538ได้มีการกำหนดแผนปฏิบัติการที่เน้นให้เห็นถึงความจำเป็นที่แต่ละประเทศจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการทำงานของประชากรให้ชัดเจนขึ้น การเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับการใช้เวลา เริ่มจากความสนใจสภาพความเป็นอยู่ของประชากรตลอดจนสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในประเทศที่พัฒนาแล้วได้จัดทำการสำรวจการใช้เวลามาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 โดยทำการสำรวจเกี่ยวกับสภาพการดำรงชีวิตของประชากรในกลุ่มผู้ทำงาน และศึกษาเกี่ยวกับเวลาว่างที่ทำให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การสำรวจเช่นนั้นจึงได้มุ่งไปในเรื่องการจัดสรรเวลาของประชากรที่เกี่ยวกับการทำงานที่มีรายได้ การทำงานบ้านและงานที่เกี่ยวกับการดูแลสมาชิกในครัวเรือน รวมทั้งมุ่งประเด็นไปที่บทบาทของผู้หญิงที่ทำงานในครัวเรือน ประเทศที่กำลังพัฒนาการศึกษาเกี่ยวกับการใช้เวลาได้มีการศึกษาเพียงบางเรื่องและเฉพาะพื้นที่ โดยไม่ได้ครอบคลุมการใช้เวลาตลอด 24 ชั่วโมง และวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ของการจัดทำเพื่อปรับปรุงการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการใช้เวลาทำงานที่ไม่มีรายได้ เนื่องจากเล็งเห็นว่าการสำรวจนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำมาใช้ในการปรับปรุงการคำนวณและการหาค่าของงานที่มีรายได้และไม่มีรายได้ นอกจากนี้ยังทำให้มองเห็นบทบาทของผู้หญิงที่ทำงานในบ้านและนอกบ้านด้วย

 

สำหรับประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2544 โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติมาให้คำแนะนำในการออกแบบข้อถาม และระเบียบวิธีการเลือกตัวอย่างเบื้องต้น พร้อมทั้งแนะนำการจำแนกกิจกรรมการใช้เวลาของประเทศไทย และสอดคล้องกับการจำแนกรหัสขององค์การสหประชาชาติ (UN)  การสำรวจครั้งที่ 2 ได้ดำเนินการในเดือนสิงหาคม 2547 การสำรวจครั้งที่ 3 ได้ดำเนินการในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2552 และการสำรวจครั้งที่ 4 ได้ดำเนินการเดือนกรกฎาคม 2557 – มิถุนายน 2558

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง" วันที่ 15 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ เพลินจิต สุขุมวิท กรุงเทพฯ จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

การสร้างความสุขในผู้สูงอายุ : การใช้เวลาว่างของผู้สูงอายุ

รองศาสตราจารย์ ดร.พรทิพย์ เกยุรานนท์

 

บรรณาธิการวารสารสุขภาพกับการจัดการสุขภาพ วิทยาลัยเซ็นหลุยส์

 

 

การใช้ชีวิตเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ เป็นสิ่งที่คนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ต้องคำนึงว่า “จะทำอย่างไรให้ชีวิตที่เหลืออยู่มีความสุข มีคุณค่า และมีประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ความสุขเป็นปัจจัยที่เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดของการมีชีวิตอยู่ของผู้สูงอายุในยามที่ทุกอย่างเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ผู้สูงอายุจะต้องพิจารณาและใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตที่เหลืออยู่ของตนเองว่า ต้องการทำอะไร อย่างไร ให้ชีวิตตนเองมีความสุข ความสุขที่แท้จริงที่ต้องการนั้นคืออะไร สภาพของตนเองขณะนี้เป็นอย่างไร ต้องทำใจให้ยอมรับกับสภาพการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไปของตนเอง ไม่ว่าสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยและปัญหาโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น จิตใจ  อารมณ์  บทบาทหน้าที่ในครอบครัวและสังคม ฐานะทางสังคมและทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำให้ผู้สูงอายุหลายคนเกิดปัญหานานาประการในการดำรงชีวิต จึงต้องปรับวิกฤตให้เป็นโอกาสแก่ตนเอง เอาสิ่งที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น เพื่อสร้างความสุขในการดำรงชีวิตของตนและการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม

 

การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เป็นวิธีการหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขในชีวิตของตนเองได้ ด้วยการบริหารเวลาในชีวิตของตนที่เหลืออยู่โดยการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้เกิดความสนุก เพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ลดความเครียดและความวิตกกังวล ไม่หดหู่ ไม่เหงา ไม่เศร้าซึม รู้สึกตนเองมีประโยชน์และมีคุณค่า มีกำลังใจในการดำเนินชีวิต สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ของตนและครอบครัว สุขภาพดีขึ้น สามารถดูแลตนเองได้ และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพของตน กิจกรรมการใช้เวลาว่างในวัยนี้ ได้แก่ 1) การทำงานอดิเรกต่างๆ ที่ตนเองชื่นชอบและเหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายของตนเอง  เช่น กิจกรรมการเกษตร กิจกรรมบันเทิงต่างๆ การออกกำลังกาย การทำศิลปหัตถกรรมต่างๆ เป็นต้น 2) การทำกิจกรรมทางศาสนา เช่น การสวดมนต์ การไปปฏิบัติธรรมตามความเชื่อทางศาสนา ฯลฯ 3) การทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ 4) กิจกรรมทัศนศึกษา 5) กิจกรรมเพิ่มพูนความรู้และทักษะตามความสนใจ  6) การช่วยทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ตามสมรรถภาพที่เป็นอยู่ 7) การประกอบอาชีพเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่ทำได้  หรือการไปช่วยทำงานในหน่วยงานต่างๆ บางเวลาตามความรู้ความเชี่ยวชาญของตน   กิจกรรมที่กล่าวมามีทั้งความเพลิดเพลิน คลายเหงา ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ ได้รายได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความพึงพอใจ และมีความสุขในที่สุด แถมยังเกิดประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคมอีกด้วย

 

นอกจากการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้ว ผู้สูงอายุยังต้องการปรับตัวในด้านต่างๆ ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ดูแลสุขภาพ และสร้างอารมณ์ขันให้กับตนเอง แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว ทั้งนี้ ครอบครัวและสังคมต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนในการดูแลผู้สูงอายุให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ก็จะทำให้ครอบครัวอบอุ่นและสังคมไทยน่าอยู่ตามแบบวิถีไทย

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง" วันที่ 15 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ เพลินจิต สุขุมวิท กรุงเทพฯ จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

เวลาว่างในประสบการณ์ของผู้มีอาชีพสายวิทยาศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ถนอม มานะประเสริฐ

 

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ด้วยเหตุที่วิชาแพทย์เป็นวิชาสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นแขนงหลักร่วมกับสายศิลปะ-สังคม เป็นการศึกษาหลักของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน ผู้เรียนที่เลือกเรียนสายใดสายใด มักจะหันหัวเรือออกจากอีกสาขาหนึ่งตลอดทั้งชีวิต เพราะจะไม่มีพื้นฐานความรู้ของอีกแขนงหนึ่ง แต่ด้วยสาเหตุที่ข้าพเจ้าสนใจศึกษางานศิลปะเป็นการส่วนตัว จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ ศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู เมื่อ 23 ปีก่อน อาจารย์ปัญญาได้ชักนำให้รู้จักช่างหล่อพระพุทธรูปผู้อาวุโสแห่งชุมชนบ้านช่างหล่อ คือ คุณลุงบุญเรือน หงส์มณี ตั้งแต่แรกเป็นส่วนตัว เนื่องจากไปเยี่ยมเยือน รับประทานอาหารค่ำ น้ำพริกปลาทู ที่บ้านคุณลุงบุญเรือนเป็นประจำ จนกระทั่งเมื่อราว 3 – 4 ปีก่อน คุณลุงบุญเรือนปรารภว่า อายุมากแล้ว (80 กว่าปี)  เป็นโรคเบาหวาน เจ็บออดแอดๆ มายาวนาน ก่อนที่จะจากไป อยากให้ข้าพเจ้าช่วยบันทึกประวัติศาสตร์ช่างหล่อพระพุทธรูปแห่งบ้านช่างหล่อไว้ให้ เพราะเกรงว่าจะไม่มีผู้รู้ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยรุ่งเรืองของบ้านช่างหล่อในช่วง พ.ศ. 2500 อีกแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ไปปรึกษานักวิชาการประวัติศาสตร์ให้มาช่วยบันทึก แต่จากการหารือพบว่า นักวิชาการส่วนใหญ่จะมองเป็นประเด็นวิจัยเฉพาะจุดไป ไม่ใช่การบูรณาการรวบรวมข้อมูลเพื่อบันทึกภาพรวมแบบการบันทึกพงศาวดารอีก เพราะไม่ใช่ประเด็นวิจัยและจะไม่ได้รับทุนวิจัยสนับสนุน ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจบันทึกเองโดยใช้หลักการและเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์

 

เมื่อได้ฟังข้อมูลจากคุณลุงบุญเรือน ข้าพเจ้าก็ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมจากตลาดพระใหญ่ทุกแห่ง ทั้ง ตลาดท่าพระจันทร์ ตลาดพันทิพย์-งามวงศ์วาน พบว่า พระพุทธรูปที่บ้านช่างหล่อสร้างในอดีตงดงามเทียบได้กับช่างหลวงโบราณสมคำร่ำลือว่างามสุดในแผ่นดินเป็นความจริง ในช่วงตั้งแต่รัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลที่ 9 อีกทั้งมีราคาแพงเป็นที่แสวงหากันในตลาดพระ แต่ไม่ว่าจะตรวจสอบอย่างไร ก็ไม่พบผลงานพระพุทธรูปของบ้านช่างหล่อ ในช่วงรัชกาลที่ 1 – 5 เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก เมื่อสอบถามจากคุณป้าน้อยซึ่งเป็นประธานชุมชนของบ้านช่างหล่อ เล่าว่าจากประวัติศาสตร์บอกเล่า บ้านช่างหล่อสืบทอดฝีมือช่างจากช่างหล่ออยุธยาที่อพยพมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสิน ข้าพเจ้าจึงเกิดความสงสัยมากมาย เพราะ ถ้าหากสืบทอดต่อเนื่องจริงก็เป็นไปไม่ได้ที่ไม่ปรากฏผลงานจากบ้านช่างหล่อเลยในรัชกาลที่ 1 – 5  จำนวนและปริมาณพระพุทธรูปที่บ้านช่างหล่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลที่ 9 ที่มีจำนวนมากมายทั่วประเทศเกิดขึ้นได้อย่างไร ความรู้ภูมิปัญญาการหล่อโลหะแบบโบราณ เป็นวิชาที่ยากที่สุดในอดีต ต้องสืบทอดจากการสอนเท่านั้น ใครเป็นคนถ่ายทอดวิชานี้ คุณลุงบุญเรือนเล่าว่า ครูช่างแห่งบ้านช่างหล่อที่ถ่ายทอดวิชาหลักมี 3 ท่าน คือ นายเจริญ พัฒนางกรู นางวัน สุทัศน์ ณ อยุธยา และนายชิต ชื่นประสิทธิ์ โดยส่วนใหญ่จะศึกษาจาก นายเจริญ พัฒนางกรู ( เกิด พ.ศ. 2403 – ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2474) แห่งโรงหล่อพัฒนช่าง บ้านช่างหล่อ ได้รับการเคารพเป็นปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ยิ่งทำให้ข้าพเจ้ายิ่งเกิดความสงสัยเพิ่มขึ้นอีกว่า ครูช่าง 3 ท่านนี้ มีฝีมือเก่งกาจเทียบเท่าช่างหลวงได้อย่างไร ท่านเป็นใคร มาจากไหน มีฝีมือสูงส่งขนาดนี้ทำไมไม่ปรากฏผลงานเลยในสมัยรัชกาลที่ 5 คุณลุงบุญเรือนเองก็ไม่ทราบ แต่ให้ไปค้นที่หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ข้าพเจ้าจึงตามไปค้นคว้าว่า เกิดอะไรขึ้นกับช่างหล่อพระพุทธรูปของสยามในสมัย รัชกาลที่ 1 – 6 ตามไปดูป้ายสุสานของช่างหล่อที่ถึงแก่กรรมไปแล้วตามวัดต่างๆในบ้านช่างหล่อ ตามไปที่ทายาทโรงหล่อของช่างทั้ง 3 ท่าน และก็มาขอความช่วยเหลือจาก สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงปัจจุบัน การบันทึกยังไม่แล้วเสร็จ แต่ทำให้เกิดความเข้าใจประวัติศาสตร์เพิ่มมากขึ้น  ความสงสัยของข้าพเจ้าเกิดขึ้นย้อนกลับไปสู่อยุธยาจนถึงก่อนการตั้งถิ่นฐานของรัฐสยาม และมุ่งมาข้างหน้าว่ากระบวนการการผ่องถ่ายการสืบทอดวิชาช่างหลวงโบราณจากกรมช่างสิบหมู่สู่กำเนิดโรงเรียนเพาะช่าง ที่เกิดขึ้นอย่างอย่างลำบาก ด้วยความพยายามถึง 2 ครั้ง เกิดขึ้นอย่างไร จึงค้นพบว่า การจัดตั้งการศึกษาช่าง เป็นเพราะทรงพระปรีชาสามารถและทรงรับเป็นพระราชธุระอย่างมากในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระผู้ทรงพระราชทานกำเนิดการศึกษาช่างสำเร็จได้ ก่อนเสด็จสวรรคตเพียง 2 เดือน ซึ่งยังไม่มีผู้ใดทราบมาก่อน

 

สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ประวัติศาสตร์คือการดำรงชีวิตในอดีต ไม่ได้เกิดขึ้นจากความตั้งใจ ไม่ใช่ละครที่เขียนบทล่วงหน้า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต ล้วนเกิดเพราะต้องการมีชีวิตรอด เรื่องราวต่างๆเป็นผลตามมา ที่เกิดจากเหตุการณ์นำ ที่มักจะมาจากศูนย์กลาง คือ ราชสำนัก และ พระมหากษัตริย์ เอกลักษณ์แห่งชนชาติ วัฒนธรรมประเพณีแห่งชนชาติ เกิดขึ้นเพราะราชสำนัก และ พระมหากษัตริย์ ดังนั้นถ้าจะดำรงความเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ก็จำเป็นที่ต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของชนชาติ ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะถูกกลืนไปเป็นคนในวัฒนธรรมอื่นตลอดกาล

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง" วันที่ 15 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ เพลินจิต สุขุมวิท กรุงเทพฯ จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

เวลาว่างในวิถีนักอนุรักษ์ : จากท้องทะเลสู่วิถีเกษตรพอเพียง

วัชรพล แดงสุภา

 

ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

นอกเหนือไปจากความสนใจของบุคคล สภาพแวดล้อมรอบตัวถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการใช้เวลาว่าง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสภาพแวดล้อมรอบตัวจะเป็นอย่างไรเราก็ยังคงสามารถออกแบบการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นได้ วัชรพลก็เป็นหนึ่งในคนที่พยายามใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมตามโอกาสที่มี การใช้ชีวิตบนเกาะได้ทำให้เขาได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนในท้องที่ในวันหยุด โครงการนี้ได้เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติรอบตัวซึ่งจะนำไปสู่จิตสำนึกอนุรักษ์ หลังจากนั้นเขาได้ผันตัวไปทำเกษตรเพื่อตอบข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใดเกษตรกรจึงมีฐานะยากจน และเกษตรพอเพียงเป็นเรื่องที่ทำได้จริงหรือไม่ เมื่อได้คำตอบแล้วเขาจึงสื่อสารบทเรียนของเขาออกไปในรูปแบบที่สร้างสรรค์จนคนไม่น้อยต้องหันมารับฟัง

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง" วันที่ 15 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ เพลินจิต สุขุมวิท กรุงเทพฯ จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

เวลาว่างในวิถีของอาจารย์มหาวิทยาลัย

อาจารย์ ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล

 

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

อาจารย์มหาวิทยาลัย หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เรื่อง มาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2558 กำหนดให้อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องมีมาตรฐานภาระงาน 5 ด้าน ได้แก่ ภาระงานสอน งานวิจัยและงานวิชาการอื่น งานบริการวิชาการ งานทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรม และงานอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษา รวมกันแล้วไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง เวลาว่าง (Leisure) ของอาจารย์มหาวิทยาลัย จึงหมายถึงเวลาอิสระและว่างเว้นจากการทำงานทั้ง 5 ด้านดังกล่าว จากการศึกษาด้วยแบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่า กิจกรรมที่อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยแต่ละเพศและวัยเลือกทำในเวลาว่างนั้นไม่แตกต่างจากคนในสังคมที่ประกอบอาชีพอื่นๆ มากนัก เช่น ใช้เวลากับครอบครัวหรือคนรัก พบปะสังสรรค์ รับประทานอาหาร พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน (โลกออนไลน์-โลกจริง) จับจ่ายซื้อของ เล่นกีฬา ท่องเที่ยวเดินทาง ทำกิจกรรมกลางแจ้ง ฟังเพลง ดูละคร-ภาพยนตร์-คลิปวิดีโอที่สนใจ ทำขนม อาหาร งานฝีมือ ศิลปะ ปฏิบัติธรรม ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ อ่าน-เขียนหนังสือ เล่นเกม เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปผ่านสื่อต่างๆ (เป็นผู้ดูแล Facebook Fan Page และทำสถานีในเว็บไซต์ YouTube) อย่างไรก็ดีจากการสัมภาษณ์พบว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยบางส่วนมองว่าภาระงานแต่ละด้านของอาจารย์ บางครั้งไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่ใช้ปฏิบัติงานให้แน่นอนลงไปได้ ทำให้ต้องใช้เวลาว่างไปกับการทำงาน จนดูเหมือนไม่มีเวลาว่างและไม่อาจสร้างสมดุลในชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) ได้ อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยจึงเลือกระบายออกด้วยการรวมกลุ่มกันในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เพจอาจารย์ไหวมั้ย เพจเพราะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจึงเจ็บปวด เป็นต้น นอกจากนี้ เนื่องจากในสังคมไทยมักคาดหวังให้อาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้มีความรู้ มีความรับผิดชอบ เป็นผู้เสียสละ และเป็นแบบอย่างความประพฤติอยู่ตลอดเวลา ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีความคาดหวังต่อตนเองค่อนข้างสูง จนบางครั้งกลายเป็นความรู้สึกเปรียบเทียบ แข่งขัน และอาจถึงขั้น  “รู้สึกผิด” เมื่อใช้เวลาว่างที่มีให้ผ่านไปอย่าง “ไร้สาระ” และไม่มีผลิตภาพ (productivity) อย่างที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกันก็มีอาจารย์บางส่วนที่ยอมรับว่ามักเลือกนำเสนอเฉพาะวิถีการใช้เวลาว่างที่สอดคล้องกับความคาดหวังของคนในสังคมทั่วไปผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกและหลีกเลี่ยงคำวิจารณ์ว่าปฏิบัติตน “ไม่สมกับเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย”

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง" วันที่ 15 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ เพลินจิต สุขุมวิท กรุงเทพฯ จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)