คณะผู้จัดงาน (การประชุมวิชาการระดับชาติ - บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้)

การประชุมวิชาการระดับชาติ

บุหงารำไป: 
ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้

8-9 พฤษภาคม 2557
โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

จัดโดย

โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS)  
สถาบันไทยศึกษา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

กล่าวนำ (การประชุมวิชาการระดับชาติ - บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้)

ภาคใต้ของประเทศไทยถือเป็นแหล่งศูนย์รวมของวัฒนธรรมที่หลากหลายมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และวัฒนธรรมที่สานสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงการประสานกลมกลืนกันของวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ อย่างลงตัว อย่างไรก็ตาม การศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมยังคงมีจำนวนน้อยและไม่ได้แพร่หลายต่อสาธารณชนมากเท่าที่ควร โดยยังคงจำกัดอยู่ในวงของนักวิชาการที่สนใจในประเด็นนี้เท่านั้น โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (Empowering Network for International Thai Studies: ENITS)  โดยสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยเชิงมิติวัฒนธรรมเพื่อทำความเข้าใจต่อพลวัตการประสานกลมกลืนกันของวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ จึงเห็นสมควรจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเผยแพร่องค์ความรู้และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคใต้ และเพื่อการพัฒนาและขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการไปยังนักวิชาการและนักวิจัยท้องถิ่น

 

สถาบันไทยศึกษา ใคร่ขอขอบคุณ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งในการกิจกรรมครั้งนี้ อันจะทำให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการและจักช่วยเสริมสร้างความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ของไทย การสร้างสรรค์สังคมหรือชุมชนที่อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ตลอดจนส่งเสริมความมั่นคงทางสังคมในภูมิภาคเพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร. สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา

 

ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กำหนดการ 8 พฤษภาคม 2557 (การประชุมวิชาการระดับชาติ - บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้)

08.30 – 09.30

ลงทะเบียน

09.30 – 09.45

พิธีเปิดการประชุม 

09.45 – 10.45

ปาฐกถานำ: บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของผู้คนและวัฒนธรรมในน่านทะเลใต้
     รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ 
     – สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

10.45 – 11.00

รับประทานอาหารว่าง

11.00 – 12.00

ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้
     บุญชวน บัวสว่าง
     – สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม

12.00 – 13.00

รับประทานอาหารกลางวัน

13.00 – 14.30

เสวนาวิชาการ: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของภาษาและวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้

ภาษาชนกลุ่มชาติพันธุ์ภาคใต้
     รองศาสตราจารย์ไพบูลย์  ดวงจันทร์    
     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

ภาษาไทยถิ่นใต้: ความหลากหลายและประสานกลมกลืน
     อาจารย์ ดร.ฉันทัส ทองช่วย
     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

ดำเนินการเสวนา 
     รองศาสตราจารย์อนันต์ อารีย์พงศ์  
     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ  

14.30 – 14.45

รับประทานอาหารว่าง

14.45 – 16.45

บุหงาส่าหรี: พัสตราภรณ์แห่งนครทักษิณ
     อาจารย์ธีรพันธุ์  จันทร์เจริญ
     – สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

กำหนดการ 9 พฤษภาคม 2557 (การประชุมวิชาการระดับชาติ - บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้)

08.30 – 09.15

ลงทะเบียน

09.15 – 10.00

พหุวัฒนธรรมภาคใต้ในมิติภูมิรัฐศาสตร์
     ศาสตราจารย์ ดร. ครองชัย หัตถา
     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

10.00 – 10.45

ปาตานี: ความสัมพันธ์กับโลกมลายู
     อาจารย์นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน
     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

10.45 – 11.00

รับประทานอาหารว่าง

11.00 – 12.00

รูปโฉมวรรณกรรมปันหยีมลายูในคลังวรรณกรรมไทย
     ศาสตราจารย์ ดร.รัตติยา  สาและ
     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ  

12.00 – 13.00

รับประทานอาหารกลางวัน 

13.00 – 13.45

นิทานปันหยี: สมบัติวรรณคดีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
     อาจารย์ ดร.ธานีรัตน์ จัตุทะศรี 
     – คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

13.45 – 14.30

จากธนบุรีถึงนครศรีธรรมราช: พุทธศาสนากับการสร้างตำนานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
     อาจารย์ ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล 
     – คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

14.30 – 14.45

พักรับประทานอาหารว่าง

14.45 – 15.00

พิธีปิดการประชุม

บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของผู้คนและวัฒนธรรมในน่านทะเลใต้

รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์

 

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

น่านทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นน่านน้ำที่เชื่อมความสัมพันธ์ของโลกตะวันออกและโลกตะวันตกสืบเนื่องเป็นเวลาช้านานจากอดีตถึงปัจจุบัน ในทางกายภาพน่านทะเลนี้อาจเพียงเป็นส่วนหนึ่งของผืนทักษิณสมุทร (Southern Ocean) อันถูกนับเนื่องเป็นหนึ่งในสี่ของมหาสมุทรที่ปกคลุมผืนโลก แต่ในมิติด้านการค้า คมนาคม และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหว น่านทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไร้พรมแดนที่ชัดเจนด้วยค่าที่เป็นน่านน้ำที่ติดต่อกับทะเลและมหาสมุทรที่มีมนุษย์ตั้งถิ่นฐานและอาศัยติดต่อสัมพันธ์ คลุมบริเวณจากผืนทวีปแอฟริกาตะวันออกถึงแผ่นดินจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีในซีกตะวันตกของมหาสมุทรแปซิกฟิก การจะเข้าใจภูมิหลังความเป็นมาของปัจจุบันแห่งความสัมพันธ์ระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตกจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจความสำคัญของน่านทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้คน และอารยธรรมที่ถือกำเนิดบนผืนน้ำแห่งนี้

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)

ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้

บุญชวน บัวสว่าง

 

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม

 

 

คำว่า “วัฒนธรรม” ได้มีผู้รู้ นักวิชาการ ตลอดจนองค์การยูเนสโกได้ให้ความหมายไว้หลากหลาย ยากต่อการทำความเข้าใจของบุคคลทั่วไป ในฐานะบุคคลที่ปฏิบัติงานด้านวัฒนธรรม จึงอยากจะให้ความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” แบบที่เข้าใจง่าย โดยขอยกคำจำกัดความของ นายแพทย์ประเวศ วะสี  ซึ่งได้ให้ความหมายไว้ คือ “วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมหนึ่ง ๆ” จากข้อความดังกล่าว จะเห็นได้ว่า คำว่า วัฒนธรรม มาจาก 2 คำ คือ วัฒนะ หมายถึง การเปลี่ยนแปลง (วิวัฒนาการ) และ ธรรมะ หมายถึง ธรรมชาติ จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมจะต้องเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของสภาพแวดล้อม

 

วิถีชีวิต ในความหมายของวัฒนธรรม หมายถึง การดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยมีความเกี่ยวเนื่องกับสิ่งต่างๆ ได้แก่ ปัจจัยสี่ ความเชื่อ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาและวรรณกรรม ดนตรีนาฏศิลป์ ตลอดจนศิลปะและภูมิปัญญา จากความแตกต่างในหลายมิติของมนุษย์ ไม่ว่า วิถีชีวิตและความเชื่อทำให้มนุษย์เรามีความแตกต่างในการดำรงชีวิตและความเชื่อ ทั้งนี้กลุ่มชนต่าง ๆ มีความจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน จึงมีการผสมผสานความแตกต่างทางวัฒนธรรมขึ้นในสังคม ซึ่งเรียกว่า ดำรงอยู่แบบสังคม “พหุวัฒนธรรม”

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)

ภาษาชนกลุ่มชาติพันธุ์ภาคใต้

รองศาสตราจารย์ไพบูลย์  ดวงจันทร์   

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ             

 

 

ภาคใต้ของประเทศไทยมีลักษณะพื้นที่เป็นคาบสมุทรทอดตัวยาวเหนือ–ใต้ครอบคลุม 14 จังหวัด มีเนื้อที่ประมาณ 71,195.91 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 13.66 ของพื้นที่ทั้งประเทศ มีภูมิอากาศร้อนชื้น มีมรสุมพัดผ่านตลอดปี บริเวณนี้จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีมนุษย์อยู่อาศัยมาแล้วตั้งแต่สมัยหิน จากที่ภาคใต้มีมหาสมุทรขนาบทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกทำให้ภาคใต้มีบทบาทสำคัญในการเป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเล ประกอบกับพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต ระนอง และพังงาอุดมไปด้วยแร่ดีบุก จึงมีชาวจีน อินเดีย สิงหล ทมิฬ อาหรับ มลายู เข้ามาติดต่อตั้งหลักแหล่งค้าขายตามท่าเรือชายฝั่งจนกระทั่งพัฒนาเป็นชุมชนใหญ่ ปัจจุบันในภาคใต้แม้ว่าจะมีเนื้อที่ไม่กว้างใหญ่ และแม้ว่ามีประชากรอาศัยอยู่เพียงประมาณเก้าล้านคน แต่ภาคใต้เป็นบริเวณสำคัญที่น่าสนใจและน่าศึกษาภาษาอย่างมากบริเวณหนึ่ง เนื่องจากประชากรเหล่านี้ต่างชาติพันธุ์ต่างภาษาอาศัยปะปนกันอยู่ และมีตระกูลภาษาที่สำคัญซึ่งอยู่ใกล้ชิดและต่างก็ถ่ายทอดให้แก่กันและกันอยู่ถึง 4 ตระกูล รวม 11 ภาษา และยังมีภาษาย่อยอีก 10 ภาษา ได้แก่

 

ภาษาตระกูลไท (Tai language family) มีผู้พูดถึงร้อยละ 96 ของประชากรในภาคใต้ ภาษาตระกูลไทมี 3 ภาษา คือ ภาษาไทยถิ่นใต้ ซึ่งจำแนกออกได้ 3 ภาษาย่อย คือ ภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มนครศรีธรรมราช ภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มไชยา และภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มตากใบ สำหรับภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มนครศรีธรรมราชและภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มไชยามีผู้พูดรวมกันถึงร้อยละ 93 ส่วนภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มตากใบมีผู้พูดเพียงร้อยละ 1 นอกจากนี้ก็มีภาษาไทยกลางมีผู้พูดเกือบร้อยละ 2 และภาษาไทยอีสานไม่ถึงร้อยละ 1

 

ภาษาตระกูลออสโตรเนเซียน (Austronesian language family) มีผู้พูดร้อยละ 3 มี 3 ภาษา ได้แก่ ภาษามลายู ซึ่งจำแนกออกได้ 3 ภาษาย่อย คือภาษามลายูถิ่นปัตตานีที่มีผู้พูดมากที่สุดและมีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การปกครอง ภาษามลายูถิ่นนครศรีธรรมราช และภาษามลายูถิ่นบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ซึ่งภาษามลายูถิ่นบ้านควนนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับภาษามลายูมาตรฐานมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีภาษาอูรักละโว้ยและภาษามอเกล็น/มอเก็นที่มีผู้พูดไม่ถึงร้อยละ 1 ซึ่งพบแถบจังหวัดภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ สตูล ตรัง  

 

ภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic language family) มีผู้พูดไม่ถึงร้อยละ 1  มี 3 ภาษา ได้แก่ ภาษากลุ่มอัสเลียนที่พบบริเวณเทือกเขาบรรทัดแถบจังหวัดสตูล พัทลุง ตรัง และเทือกเขาสันกาลาคีรีแถบจังหวัดยะลาและนราธิวาส ภาษากลุ่มอัสเลียน แบ่งออกได้ 4 ภาษาย่อย คือ ภาษาแต็นแอ็น ภาษาแตเดะ ภาษายะฮาย และภาษากันซิว นอกจากนี้ก็มีภาษามอญที่พบแถบจังหวัดชุมพรและจังหวัดสุราษฎร์ธานี และภาษาเขมรซึ่งเป็นภาษาพลัดถิ่นของแรงงานชาวเขมรจำนวนมากทั่วภาคใต้ 

 

ภาษาตระกูลจีน – ธิเบต (Sino – Tibetan language family) มีผู้พูดไม่ถึงร้อยละ 1 มี 2 ภาษา ได้แก่ ภาษาจีนซึ่งกระจายอยู่ทั่วภาคใต้ ที่มีจำนวนมาก เช่น จีนฮกเกี้ยน จีนแคะ จีนแต้จิ๋ว  จีนไหหลำ และเปอรานากันหรือจีนช่องแคบซึ่งพบมากที่จังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ก็มีภาษาพม่าซึ่งเป็นภาษาพลัดถิ่นของแรงงานชาวพม่าจำนวนไม่น้อย ไปกว่าแรงงานชาวเขมรที่เข้ามาทำงานทั่วภาคใต้เช่นเดียวกัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)

ภาษาไทยถิ่นใต้: ความหลากหลายและประสานกลมกลืน

อาจารย์ ดร.ฉันทัส ทองช่วย

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ       

 

 

บทความเรื่อง “ภาษาไทยถิ่นใต้: ความหลากหลายและประสานกลมกลืน” มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอขอบเขต แนวแบ่งเขต ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความหลากหลายของภาษาไทยถิ่นใต้ ลักษณะความหลากหลายและประสานกลมกลืน

 

ผลการศึกษาจากผลงานวิจัยที่ปรากฏทำให้สามารถกำหนดขอบเขตของภาษาไทยถิ่นใต้ได้ว่า หมายถึงภาษาไทยถิ่นที่ใช้พูดสื่อสารกันในเขตพื้นที่ตั้งแต่อำเภอทับสะแก และอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยตลอดลงไปจนถึงเขตพื้นที่รัฐตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย พบแนวแบ่งเขตภาษาไทยถิ่นใต้กับภาษาไทยถิ่นกลางอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอทับสะแก และอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความหลากหลายของภาษาไทยถิ่นใต้ที่สำคัญประกอบด้วย ปัจจัยด้านสภาพภูมิศาสตร์ ปัจจัยด้านกลุ่มผู้ใช้ภาษา และปัจจัยด้านการรับอิทธิพลจากภาษาต่างๆ ที่มีผู้พูดกันอยู่ในเขตพื้นที่ ส่วนลักษณะของความหลากหลายและประสานกลมกลืนมีทั้งด้านเสียง ศัพท์ การเรียงลำดับของคำ และวัฒนธรรมการใช้ภาษา

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)

บุหงาส่าหรี: พัสตราภรณ์แห่งนครทักษิณ

อาจารย์ธีรพันธุ์  จันทร์เจริญ

 

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

 

 

เครื่องนุ่งห่ม เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ นอกเหนือไปจาก อาหาร   ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย มนุษย์ในแต่ละยุคสมัย  ไม่เพียงแต่ใช้เครื่องนุ่งห่มสำหรับปกปิดร่างกายอันเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ได้ใช้เครื่องนุ่งห่มเพื่อตอบสนองความต้องการในการดำเนินชีวิตที่นอกเหนือไปจากความต้องการขั้นพื้นฐานในรูปแบบต่าง ๆ อีกหลายประการ     

 

ดังนั้น วัฒนธรรมการแต่งกายในแต่ละสังคม จึงเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยม ทัศนคติ ความเชื่อ สภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ระบอบการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมนั้นได้เป็นอย่างดี 

 

ภาคใต้ของพระราชอาณาจักรไทยในปัจจุบัน ประกอบด้วย 14 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง พังงา กระบี่ ภูเก็ต สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ล้วนมีพัฒนาการมาจากบ้านเมือง รัฐโบราณ ในคาบสมุทรภาคใต้ พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มานานนับหมื่นปี สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จวบจนกระทั่งเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ เครื่องนุ่งห่มและแบบแผนวัฒนธรรมการแต่งการก็มีวิวัฒนาการมาโดยลำดับ ตามเหตุ ปัจจัยกระทบต่าง ๆ ทางสังคม 

 

ผลจากการศึกษาวิเคราะห์ในเชิงลึก โดยมีมิติของเวลาเป็นเครื่องกำกับ กำหนดนับตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 หรือสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเรื่อยมากระทั่งราวพุทธศักราช 2475 อันเป็นช่วงระยะเวลาที่สยามผันเปลี่ยนเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย ทำให้ผู้เขียนสามารถกำหนดแบบแผนวัฒนธรรมการแต่งกายของผู้คนในภาคใต้ได้ 3 ลักษณะ โดยอิงกระแสวัฒนธรรมหลักในภูมิภาค ดังนี้

 

1.วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทยพุทธ ประชากรส่วนใหญ่ในภูมิภาค มีการยึดโยงอย่างเหนียวแน่นกับวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวสยามในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับผลกระทบโดยตรงจากแบบแผนการแต่งกายของราชสำนักและผู้คนในราชธานี

 

2.วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทยมุสลิม มีระเบียบแบบแผนสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลามและวัฒนธรรมมลายูถิ่นไทย มีความหนาแน่นอยู่ในบริเวณตอนล่างของภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

 

3.วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทยเชื้อสายจีน มีการนำคติความเชื่อ รูปแบบการแต่งกายแบบจีน มาผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมการแต่งกายของผู้คนในภูมิภาค มีการกระจายตัวแทรกอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค และแสดงเอกลักษณ์ชัดเจนแถบชายฝั่งทะเลตะวันตก บริเวณจังหวัดภูเก็ต พังงา และระนอง

 

บทความฉบับนี้ จะกล่าวเน้นหนักในส่วนของวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทยพุทธในภาคใต้ อันเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายกระแสหลักของภูมิภาค โดยมีวัฒนธรรมการแต่งกายอีกสองกลุ่มวัฒนธรรมร้อยรัดยึดโยงไว้ด้วยกัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)

พหุวัฒนธรรมภาคใต้ในมิติภูมิรัฐศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร. ครองชัย หัตถา

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

 

ภาคใต้ของประเทศไทยตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินซุนดา  พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์มานานกว่า 40,000 ปี มีประชากรดั้งเดิม 2 กุล่มชาติพันธุ์ตั้งถิ่นฐานมานาน ได้แก่ มองโกลอยด์ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของคนไทย ชวา มลายู ฯลฯ และออสตราลอยด์ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของคนพื้นเมืองเผ่าเซมัง และซาไก  ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ เครื่องเทศ แร่ธาตุ และสัตว์ป่าดึงดูดให้ผู้คนต่างภูมิภาคเข้ามาแสวงหาโภคทรัพย์ไม่น้อยกว่า 2,000 ปี ที่ผ่านมา  กอรปกับภาคใต้อยู่ในตำแหน่งเส้นทางการเดินเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ภาคใต้เป็นจุดแวะพักและเกิดเมืองท่าค้าขาย  บางเมืองที่มีทำเลเหมาะสม มีพัฒนาการต่อมาเป็นศูนย์กลางของรัฐและอาณาจักรโบราณ  พร้อมกับผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันเป็นสังคมชาวภาคใต้  ตัวตนและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนภาคใต้ในแต่ละกลุ่ม มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการของรัฐโบราณในอดีตที่เน้นการขยายอำนาจและแผ่อิทธิพลทั้งด้านการเมืองการปกครอง การค้าและเผยแผ่ศาสนา ต่อเนื่องมาถึงรัฐสมัยใหม่ที่เน้นการมีเขตแดนที่แน่นอนและจัดระเบียบการปกครองตามกฎเกณฑ์ของแต่ละรัฐ  ชุมชนและสังคมของคนภาคใต้จึงเป็นผลผลิตของพัฒนาการดังกล่าว การศึกษาวิจัยเพื่อเรียนรู้และเข้าใจความจริงดังกล่าวมีประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรมและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและส่งเสริมวัฒนธรรมที่เน้นตัวตนและอัตลักษณ์ของภาคใต้รวมทั้งการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)

ปาตานี: ความสัมพันธ์กับโลกมลายู

อาจารย์นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

 

ดินแดนปาตานีในอดีต ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดต่างๆในปัจจุบัน เช่น จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งสี่อำเภอในจังหวัดสงขลาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโลกวัฒนธรรมมลายู(Malay Cultural World) ดังนั้นการเคลื่อนไหลของผู้คนทั้งจากปาตานีไปยังส่วนอื่นๆของโลกมลายู หรือจากส่วนอื่นๆของโลกมลายูมายังดินแดนปาตานีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันถือเป็นเรื่องปกติ  แม้ว่าในปัจจุบันโลกวัฒนธรรมมลายูจะถูกแบ่งโดยภูมิรัฐศาสตร์ แต่ความสัมพันธ์ ความมีวัฒนธรรมร่วม ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

 

การเคลื่อนไหลของประชาชนในส่วนอื่นๆของโลกมลายูมายังปาตานี มีทั้งในรูปแบบการศึกษา สังคม การเมือง เช่น การเกิดขึ้นของกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นในปาตานีที่มีบรรพบุรุษมาจากเมืองจัมบี จังหวัดจัมบี กะสุมาตรา ประเทศอินโดนิเชีย  รวมทั้งนักการเมืองที่มีรากเหง้ามาจากชนเผ่ามันไดลิง หรือชนเผ่าบาตัก จากเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนิเชีย หรือกลุ่มนักการเมืองที่มีนามสกุลบ่งบอกถึงความเป็นบรรพบุรุษมาจาก “ชวา”  

 

การที่กลุ่มผู้ปกครองส่วนหนึ่งของเมืองต่างๆในบรรดาเจ็ดหัวเมืองมีบรรพบุรุษหรือมาจากภายนอกปาตานี เช่น ตระกูลผู้ปกครองเมืองสายบุรีที่มีการบันทึกว่ามาจากมีนังกาเบา  ตระกูลผู้ปกครองเมืองยะลาที่มาจากรัฐเคดะห์ มาเลเซีย

 

สำหรับการเคลื่อนไหลของคนปาตานีไปยังส่วนอื่นๆของโลกมลายูนั้น มีทั้งที่ไปเผยแพร่ศาสนาอิสลาม เศรษฐกิจ และการหนีสงคราม  จะเห็นได้ว่าบางส่วนของโลกวัฒนธรรมมลายู จะมีคนปาตานีอพยพไปตั้งถิ่นฐาน  ในบริเวณพื้นที่บริเวณใกล้เคียง เช่น รัฐกลันตัน รัฐตรังกานู รัฐเปรัค รัฐเคดะห์ และรัฐเปอร์ลิส จะมีประชาชนปาตานีส่วนหนึ่งอพยพไปตั้งถิ่นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดจากปัญหาสงคราม เศรษฐกิจ   แต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่อพยพไปยังพื้นที่ไกลกว่า เช่น การอพยพไปตั้งถิ่นฐานในเกาะสุลาเวซี เพื่อหนีสงครามระหว่างปาตานีกับสยาม  หรือการไปตั้งถิ่นฐาน และกลายเป็นผู้นำชุมชนชาวมลายูในกรุงจาการ์ตา  ส่วนการเดินทางไปเพื่อเผยแพร่ศาสนาอิสลามยังดินแดนต่างๆในโลกวัฒนธรรมมลายูนั้น มีหลักฐานว่ามีนักการศาสนาจากปาตานีเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาทั้งในประเทศมาเลเซีย ในเกาะสุมาตรา  เกาะกาลีมันตัน ประเทศอินโดนิเชีย

 

การเคลื่อนไหลของประชาชนทั้งจากนอกดินแดนปาตานีมายังดินแดนปาตานี และประชาชนจากดินแดนปาตานีไปยังส่วนต่างๆของโลกวัฒนธรรมมลายู  จนถึงปัจจุบันความสัมพันธ์เหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้นความรุนแรง ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเป็นความเจ็บปวดของผู้คนกลุ่มหนึ่งในโลกวัฒนธรรมมลายู

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)

รูปโฉมวรรณกรรมปันหยีมลายูในคลังวรรณกรรมไทย

ศาสตราจารย์ ดร.รัตติยา  สาและ

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ 

 

 

เรื่องปันหยีทุกสำนวนที่มีอยู่ในชวา มลายู ไทย เขมร พม่า ที่เป็นภาษาชวา มลายู บาหลี สาสัก และไทย  แม้นว่าเนื้อเรื่องในแต่ละสำนวนนั้นมีเกร็ดเพิ่มเติมที่แปลกและแตกต่างระหว่างกันบ้าง  ก็เป็นเพียงเรื่องความแตกต่างทางด้านสังคมและวัฒนธรรมบางมุมของผู้สืบทอดในบางท้องถิ่นที่ให้ชีวิตและอนาคตกับเรื่องปันหยีสำนวนนั้นเท่านั้น  แต่ส่วนที่เห็นว่าสำคัญที่สุดคือเรื่องปันหยีทุกสำนวนต้องมีองค์ประกอบเฉพาะที่สามารถแสดงให้เห็นคุณสมบัติของความเป็นเรื่องปันหยีได้  ซึ่งผู้ศึกษาสามารถพิจารณาองค์ประกอบดังกล่าวได้จากรูปแบบของโครงเรื่อง  ตัวละคร  ฉาก และภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในเรื่องเหล่านั้น ในทำนองเดียวกันหากผู้ศึกษาวรรณกรรมปันหยีประสงค์จะได้เห็นรูปโฉมวรรณกรรมปันหยีมลายูที่กลายภาพมาจากวรรณกรรมปันหยีชวาเป็นมลายู หรือว่าลักษณะของวรรณกรรมปันหยีมลายูภายหลังจากที่ได้รับการยอมรับจากสังคมไทยจนสามารถเข้าสู่คลังวรรณกรรมไทยมีการปรับตัวอย่างไร ก็ต้องย้อนไปพิจารณาจากองค์ประกอบดังกล่าวด้วย จึงจะเข้าใจ เหล่านี้เป็นแนวคิดเบื้องต้นอันเป็นที่มาของวัตถุประสงค์หลักของบทความเรื่องรูปโฉมวรรณกรรมปันหยีมลายูในคลังวรรณกรรมไทย  2 ข้อ คือ (1) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องวรรณกรรมปันหยีมลายู-ชวากับผู้สนใจทั่วไป  (2) เพื่อแสดงให้เห็นสภาพการดำรงอยู่ของวรรณกรรมปันหยีมลายูในสังคมมลายูและไทย  โดยใช้เทคนิคการนำเสนอบทความนี้ด้วยการบรรยายสาระเชิงเปรียบเทียบตามความเหมาะสมของเนื้อหา

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)

นิทานปันหยี: สมบัติวรรณคดีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อาจารย์ ดร.ธานีรัตน์ จัตุทะศรี

 

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

นิทานปันหยีเป็นนิทานวีรบุรุษเรื่องสำคัญของชวาที่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาช้านานนับหลายร้อยปี และก่อให้เกิดการสร้างสรรค์วรรณคดีอย่างแพร่หลายในดินแดนต่างๆ เช่น ชวา บาหลี มลายู ไทย เขมร พม่า ลาว และสิงคโปร์  บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์คุณค่าและความสำคัญของนิทานปันหยีในฐานะสมบัติวรรณคดีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ผลการศึกษาพบว่า วรรณคดีปันหยีของชาติต่างๆ แสดงให้เห็นความเป็น “สมบัติวรรณคดี” หรือความเจริญงอกงามทางวรรณคดีและวรรณศิลป์ 3 มิติสำคัญ ได้แก่ มิติความเป็นวรรณคดีข้ามศิลป์ ที่ใช้ถ่ายทอดผ่านศิลปะการขับร้องและการแสดงอย่างหลากหลาย รวมทั้งก่อเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ทัศนศิลป์  มิติความเป็นวรรณคดีมรดก ที่มีพลังทางวรรณศิลป์ แสดงวัฒนธรรมประจำชาติ และได้รับยกย่องสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน  และมิติความเป็นวรรณคดีแห่งรักและชีวิต ที่นำเสนอคติรักอันซาบซึ้งควบคู่กับการให้คติชีวิต อันสร้างความสำเริงอารมณ์และปัญญาแก่ผู้อ่านผู้ฟัง  วรรณคดีปันหยีนับเป็นสมบัติวรรณคดีอันล้ำค่าที่แสดงถึงพลังปัญญาของบรรพชนที่ได้สร้างสรรค์ สืบทอด และใช้ประโยชน์จากวรรณคดีเรื่องนี้อย่างหลากหลาย ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)

จากธนบุรีถึงนครศรีธรรมราช: พุทธศาสนากับการสร้างตำนานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

อาจารย์ ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล

 

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

บทความวิจัยนี้มุ่งศึกษาเรื่องเล่าหรือตำนานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเล่าเรื่องการสวรรคตที่ต่างไปจากความรับรู้ตามประวัติศาสตร์กระแสหลัก คือเล่าว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมิได้ถูกสำเร็จโทษที่กรุงธนบุรีก่อนการสถาปนาพระราชธานีใหม่ แต่ได้ทรงพระผนวชและเสด็จไปประทับบำเพ็ญสมาธิกรรมฐาน ณ ถ้ำแห่งหนึ่งในนครศรีธรรมราชตราบจนสวรรคตลงในภายหลัง ซึ่งมีทั้งเรื่องที่เล่าโดยบุคคลต่างๆ และเรื่องที่เล่าสืบทอดกันในท้องถิ่นนครศรีธรรมราช จากการศึกษาทำให้เห็นว่า พุทธศาสนามีบทบาทสำคัญในเรื่องเล่ากลุ่มนี้ กล่าวคือ เรื่องเล่ากลุ่มนี้จะเน้นว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเชี่ยวชำนาญและใฝ่พระทัยในการปฏิบัติสมาธิอย่างยิ่ง และเป็นไปมิได้ที่จะทรงพระสติวิปลาส ซึ่งแตกต่างไปจากคำกล่าวในเอกสารประวัติศาสตร์ที่มักระบุว่า ทรงบำเพ็ญสมาธิกรรมฐานจนเสียพระสติ นอกจากนี้ ผู้ที่เล่าเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตามแนวเรื่องนี้ มักเป็นพระภิกษุหรือผู้ทรงศีลที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ทรงคุณทางสมาธิและเป็นที่นับถือของพุทธศาสนิกชน ที่สำคัญ เรื่องเล่าหรือตำนานเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการสร้าง “ภาพ” ให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นพระโพธิสัตว์หรือพระอริยะพระองค์หนึ่ง และเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเสียสละเพื่อความอยู่รอดของชาติบ้านเมืองและความเจริญของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "บุหงารำไป: ความหลากหลายและประสานกลมกลืนของวัฒนธรรมภาคใต้" ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นทารา หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา กระทรวงวัฒนธรรม, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ)