คณะผู้จัดงาน (การประชุมวิชาการระดับชาติ - พลังและพลวัตวัฒนธรรมล้านนา)

การประชุมวิชาการระดับชาติ

พลังและพลวัตวัฒนธรรมล้านนา

 

30 มกราคม 2558
โรงแรมเวียงลคอร จังหวัดลำปาง 

 

จัดโดย

 

สถาบันไทยศึกษา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง

กล่าวนำ (การประชุมวิชาการระดับชาติ - พลังและพลวัตวัฒนธรรมล้านนา)

วัฒนธรรมภาคเหนือ หรือ วัฒนธรรมล้านนา ถือเป็นวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ประเพณีและศิลปะที่มีความอ่อนช้อยงดงาม วิถีชีวิตและภาษาของผู้คนที่มีเสน่ห์ ภาคเหนือของประเทศไทยยังประกอบด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ จึงเป็นแหล่งวัฒนธรรมประเพณีที่มีความหลากหลายและน่าสนใจ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของผู้คนท้องถิ่นต่างๆ จนเกิดการประสานกลมกลืนทางวัฒนธรรมและดำรงอยู่ร่วมกันมาจนถึงปัจจุบัน สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยเชิงมิติวัฒนธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจต่อพลวัตทางวัฒนธรรมที่มีการประสานกลมกลืนกันของวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น จึงเห็นสมควรจัดการประชุมวิชาการ เรื่อง พลังและพลวัตของวัฒนธรรมล้านนา เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเผยแพร่องค์ความรู้และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคเหนือ และเพื่อพัฒนาและขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการไปยังนักวิชาการและนักวิจัยในภูมิภาค

 

สถาบันไทยศึกษา ใคร่ขอขอบคุณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ อันจะทำให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการและจักช่วยส่งเสริมให้สังคมไทยได้รับรู้และตระหนักถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่น อันจะสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มคนและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร. สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา

 

ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กำหนดการ 30 มกราคม 2558 (การประชุมวิชาการระดับชาติ - พลังและพลวัตวัฒนธรรมล้านนา)

08.00 – 09.00

ลงทะเบียน

09.00 – 09.30

พิธีเปิดการประชุม 

 

การนำเสนอผลการวิจัย:

บทบาทของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์ในสังคมไทย-ไทในปัจจุบัน

09.30 – 10.00 

ภาพรวมโครงการวิจัย     
     ศาสตราจารย์ ดร.ศิราพร ณ ถลาง 
     – เมธีวิจัยอาวุโส สกว.

10.00 – 10.30

กรณีศึกษา – ความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์บ้านในชุมชนไทลื้อ บ้านไม้ลุงขน อ.แม่สาย จ.เชียงราย: การสืบทอดและพลวัตภายใต้บริบทใหม่ 
     อัมพิกา ยะคำป้อ
     – โรงเรียนดอยหลวง รัชมังคลาภิเษก

10.30 – 11.00

รับประทานอาหารว่าง

11.00 – 11.30

กรณีศึกษา – การดำรงอยู่ของพิธีบูชาเสาอินทขีล: การผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมและพุทธศาสนาในพิธีกรรมปัจจุบัน 
     พิมพ์นภัส จินดาวงค์
     – คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร    

11.30 – 12.00

บทสังเคราะห์ – อารักษ์บ้าน-อารักษ์เมืองในวัฒนธรรมชนชาติไท: พลัง และ พลวัต 
     ศาสตราจารย์ ดร.ศิราพร ณ ถลาง
     – เมธีวิจัยอาวุโส สกว.

12.00 – 13.00

รับประทานอาหารกลางวัน

13.00 – 13.45

“เมืองต้องคำสาป”: ความทรงจำร่วมของสังคมลำปาง
     ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น  
     – คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง

13.45 -14.30

ประเพณีเอามื้อนาจากวัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
     ภาณุวัฒน์ สกุลสืบ   
     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

14.30 – 14.50

รับประทานอาหารว่าง

14.50 – 15.30

พลวัตตัวตน “คน”  “เมือง”  เถิน
     ภูเดช แสนสา
     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

15.30 – 16.15

พลวัตในประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับพระอุปคุต
     วัชราภรณ์ ดิษฐป้าน
     – คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

16.15 – 16.30

ปิดการประชุม

ความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์บ้านในชุมชนไทลื้อ บ้านไม้ลุงขน อ.แม่สาย จ.เชียงราย: การสืบทอดและพลวัตภายใต้บริบทใหม่

อัมพิกา ยะคำป้อ

 

โรงเรียนดอยหลวง รัชมังคลาภิเษก

 

 

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพลวัตและบทบาทของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์บ้านที่บ้านไม้ลุงขน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ผลการศึกษาพบว่า พิธีสำคัญที่เกี่ยวกับผีอารักษ์บ้านในชุมชนไทลื้อมี 3 พิธี คือ พิธีเลี้ยงเจหรืองานประจำปีศาลเจ้าพ่อคำแดง พิธีสงเคราะห์บ้านและสืบชะตาบ้าน และพิธีเลี้ยงเมือง พิธีกรรมทั้ง 3 พิธีนี้แสดงให้เห็นถึงการสืบทอดความเชื่อเรื่องผีอารักษ์ของชาวไทลื้อ ขณะเดียวกันความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับอารักษ์บ้านก็มีพลวัต คือ การย้ายศาลอารักษ์บ้านตามธรรมเนียมการตั้งศาลแต่เดิมที่เอาไว้ท้ายหมู่บ้านมาตั้งใหม่ใจกลางหมู่บ้านเพื่อให้อยู่ในที่ที่สะดวกต่อการเซ่นสรวงบูชา การยอมรับเอาชื่อผีอารักษ์เมืองเชียงใหม่และผีอารักษ์เมืองจากสิบสองปันนาเป็นผีอารักษ์บ้าน การเซ่นสรวงบูชาอารักษ์บ้านด้วยอาหารมังสวิรัติ และธรรมเนียมการปฏิบัติตนของผู้เข้าร่วมพิธีกรรม ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นพลวัตของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์บ้านของชาวไทลื้อ เมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริบทใหม่ คือที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย ก็มีการยอมรับและปรับวัฒนธรรมของชาวไทยวนเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไทลื้อ

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลังและพลวัตวัฒนธรรมล้านนา" วันที่ 30 มกราคม 2558 ณ โรงแรมเวียงลคอร จังหวัดลำปาง จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง)

การดำรงอยู่ของพิธีบูชาเสาอินทขีล: การผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมและพุทธศาสนาในพิธีกรรมปัจจุบัน

พิมพ์นภัส จินดาวงค์

 

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

 

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาวิเคราะห์ลักษณะการดำรงอยู่ของพิธีบูชาเสาอินทขีลในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบูชาอารักษ์เมืองเชียงใหม่ที่สืบทอดมาแต่อดีต เพื่อชี้ให้เห็นถึงลักษณะการผสมผสานของความเชื่อดั้งเดิมกับพุทธศาสนาที่ปรากฏในพิธีกรรมทั้งในระดับรูปธรรม คือส่วนที่สามารถมองเห็นได้ เช่น พื้นที่ เครื่องสักการะ การแสดงในพิธี ฯลฯ และในระดับนามธรรม คือ ความเชื่อ การให้คุณค่า ความหมาย ผลการศึกษาวิเคราะห์พบว่า ทั้งในระดับรูปธรรมและนามธรรม พุทธศาสนาได้เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ในลักษณะของการแทรกซึมรวมเข้าไปกับความเชื่อดั้งเดิม จนทำให้การแสดงออกในพิธีบูชาเสาอินทขีลมีลักษณะของพิธีกรรมทางพุทธศาสนามากกว่า ส่วนความเชื่อดั้งเดิมซึ่งถือว่าเป็นรากเหง้าของพิธีนั้น บางส่วนได้ถูกพุทธศาสนาเข้าไปสวมทับในเชิงความหมาย แต่บางส่วนยังคงมีความสำคัญและได้รับการสืบทอดมาในสังคมปัจจุบัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลังและพลวัตวัฒนธรรมล้านนา" วันที่ 30 มกราคม 2558 ณ โรงแรมเวียงลคอร จังหวัดลำปาง จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง)

อารักษ์บ้าน-อารักษ์เมืองในวัฒนธรรมชนชาติไท: พลัง และ พลวัต

ศาสตราจารย์ ดร.ศิราพร ณ ถลาง

 

เมธีวิจัยอาวุโส สกว.

 

 

ความเชื่อเกี่ยวกับผีอารักษ์เป็นความเชื่อดั้งเดิมของชนชาติไทและชาติพันธุ์ต่างๆ ในอุษาคเนย์   บทความนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ ประการแรก เพื่อนำเสนอบทสังเคราะห์ลักษณะการดำรงอยู่และบทบาทของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์ในสังคมไทยปัจจุบันจากกรณีศึกษา 2 กรณี คือ กรณีศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์บ้านของชาวไทลื้อที่บ้านไม้ลุงขน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และ กรณีศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับอารักษ์เมืองเชียงใหม่  ผลจากการสังเคราะห์ข้อค้นพบที่สอดคล้องกันจากทั้งสองกรณีศึกษาเป็นประเด็นเรื่องพลวัตและการผสมผสานทางความเชื่อและพิธีกรรมระหว่างความเชื่อเรื่องผีอารักษ์ของชาวไทลื้อกับชาวไทยวนล้านนา และระหว่างความเชื่อเรื่องผีอารักษ์กับพุทธศาสนา    นอกจากนั้น ทั้งสองกรณีศึกษายืนยันว่าความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอารักษ์ยังคงมีบทบาททางจิตใจและบทบาททางสังคม  และประการที่ 2   บทความนี้นำเสนอบทอภิปรายเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีอารักษ์ของชนชาติไทกลุ่มต่างๆ ในฐานะความเชื่อดั้งเดิม ปรากฏการณ์ทางความเชื่อเรื่องผีอารักษ์ที่มีการผนวกรวมกับความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษและผีวีรบุรุษ และการใช้ผีอารักษ์ในฐานะเป็นสื่อแสดงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ในบริบททางสังคมไทยในปัจจุบัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลังและพลวัตวัฒนธรรมล้านนา" วันที่ 30 มกราคม 2558 ณ โรงแรมเวียงลคอร จังหวัดลำปาง จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง)

“เมืองต้องคำสาป”: ความทรงจำร่วมของสังคมลำปาง

ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น

 

คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง

 

 

การสร้างตำนานพระแก้วดอนเต้าโดยมีการผูกเรื่องราวเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของพระแก้วดอนเต้าซึ่งมีนางสุชาดาเป็นตัวเอกของเรื่องและเขียนขึ้นเพื่อรองรับความชอบธรรมให้แก่การเกิดขึ้นของพระแก้วดอนเต้าให้มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของเมืองลำปางมากขึ้น จากเรื่องราวในตำนานได้มีการบอกเล่าสืบต่อกันมาหลายรุ่นและขยายต่อบูรณภาพทางความคิดของคนในสังคมลำปางจนกลายมาเป็นความทรงจำร่วมเรื่อง “เมืองต้องคำสาป” ซึ่งพบว่าอยู่ในความรู้สึกลึกๆ ของคนลำปางส่วนหนึ่ง   

 

โดยเฉพาะเมื่อเห็นว่ามีเหตุการณ์ที่ส่งผลร้ายต่อบ้านเมือง และเมืองลำปางไม่ค่อยได้รับการพัฒนาทางเศรษฐกิจเท่าที่ควรจะเป็นหรือถูกแย่งชิงความเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือตอนบนไปสู่เมืองใหญ่แห่งอื่น ความรู้สึกคับข้องใจจากสภาพที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ความทรงจำร่วมเรื่อง “เมืองต้องคำสาป” ถูกหยิบยกนำมาเป็นคำอธิบายให้แก่สภาพการณ์เหล่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นได้มีปฏิบัติการลบล้างคำสาปเกิดขึ้นก็ยิ่งเป็นการรื้อฟื้นและตอกย้ำให้ผู้คนเห็นถึงความมีอยู่จริงของความทรงจำร่วมดังกล่าว

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลังและพลวัตวัฒนธรรมล้านนา" วันที่ 30 มกราคม 2558 ณ โรงแรมเวียงลคอร จังหวัดลำปาง จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง)

ประเพณีเอามื้อนาจากวัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง

ภาณุวัฒน์ สกุลสืบ 

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง   

 

 

บทบาทของประเพณีเอามื้อนาจากวัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปางที่มีต่อการทำนุบำรุงพุทธศาสนา การสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการสร้างสำนึกด้านความกตัญญูของชาวลำปางหลวงที่มีต่อบรรพบุรุษ นอกจากนี้คือการใช้ความเชื่อเกี่ยวกับรัศมีขององค์พระธาตุลำปางหลวงเป็นเครื่องกำหนดพื้นที่และความรับผิดชอบต่อการธำรงรักษาประเพณีเอามื้อนาของชาวลำปางหลวงให้คงอยู่ต่อไป

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลังและพลวัตวัฒนธรรมล้านนา" วันที่ 30 มกราคม 2558 ณ โรงแรมเวียงลคอร จังหวัดลำปาง จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง)

พลวัตตัวตน  “คน”  “เมือง”  เถิน

ภูเดช แสนสา

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่              

 

 

เมืองเถินสร้างบ้านแปลงเมืองอย่างช้าประมาณพุทธศตวรรษที่ 16–17 เกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ (1) มีทรัพยากรสำคัญโดยเฉพาะแก้ว (แก้วโป่งข่าม) และแร่ธาตุอื่นๆ และ (2) ตั้งอยู่บนชุมทางการคมนาคมสำคัญทั้งทางบกและทางน้ำ ด้วยเมืองเถินอยู่พรมแดนระหว่างอาณาจักรหริภุญไชย (ต่อมาคือล้านนา) กับอาณาจักรสุโขทัย (ต่อมาคืออยุธยา) และอาณาจักรมอญพม่า จึงเกิดการประทะสังสรรค์กันหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการศึกสงคราม การอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คน ศิลปวัฒนธรรม และการเศรษฐกิจ ที่ในแต่ละช่วงสมัยตัวตนของผู้คนและตัวตนของเมืองก็มีพลวัตความผันแปรและมีความเป็นลักษณะเฉพาะ ซึ่งแบ่งได้ออกเป็น 5 ช่วง คือ (1) เมืองเถินก่อนยุคล้านนา (ก่อน พ.ศ.1839) เป็นเมืองหน้าด่านอาณาจักรหริภุญไชย ผสมกลมกลืนไทกับลัวะ (2) เมืองเถินในยุคล้านนาเป็นอาณาจักรเอกราช (พ.ศ.1839–2101) เป็นเมืองหน้าด่าน ชุมทางการคมนาคม และแหล่งซ่องสุมกำลังไพร่พล (3) เมืองเถินยุคล้านนาเป็นประเทศราชของพม่า (พ.ศ.2101-2317) ช่วงแรกพม่าให้อิสระกลุ่มผู้ปกครองสืบเชื้อสาย ช่วงที่ 2 ควบคุมอย่างใกล้ชิด (4) เมืองเถินยุคสกุลวงศ์เจ้าชุมพูและกึ่งหัวเมืองประเทศราชของสยาม (พ.ศ.2333-2442) เจ้าเมืองมีอิสระปกครองบ้านเมืองสูง ภายใต้ระบบเมืองสองฝ่ายฟ้า และ (5) เมืองเถินยุคสยามทำการปฏิรูปการปกครองถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2442-2558) ดึงเข้าสู่ความเป็นคนไทยและใช้ระบบราชการ

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลังและพลวัตวัฒนธรรมล้านนา" วันที่ 30 มกราคม 2558 ณ โรงแรมเวียงลคอร จังหวัดลำปาง จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง)

พลวัตในประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับพระอุปคุต

วัชราภรณ์ ดิษฐป้าน

 

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

ความเชื่อเกี่ยวกับพระอุปคุตดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของคนล้านนาอย่างแนบแน่นจนถึงปัจจุบัน ดังที่ปรากฏการสืบทอดประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับพระอุปคุตอย่างต่อเนื่อง ประเพณีและพิธีกรรมที่สำคัญคือ พิธีอาราธนาพระอุปคุตมาคุ้มครองงานบุญทางพระพุทธศาสนา และประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ด โดยพิธีอาราธนาพระอุปคุตมาคุ้มครองงานบุญทางพระพุทธศาสนายังคงได้รับการสืบทอดในบริบทเดิม และยังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่วนประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ดกลายเป็นประเพณีที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ และยังเป็นประเพณีบุญของล้านนาที่มีเอกลักษณ์จนสามารถส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว นอกจากนี้ประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับพระอุปคุตยังถูกหยิบยืมมาผลิตซ้ำในพื้นที่ภาคกลางด้วย ประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับพระอุปคุตจึงดำรงอยู่อย่างมีพลวัต และแสดงให้เห็นพลังของพระพุทธศาสนาที่ยังคงมีบทบาทสำคัญในสังคมและวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลังและพลวัตวัฒนธรรมล้านนา" วันที่ 30 มกราคม 2558 ณ โรงแรมเวียงลคอร จังหวัดลำปาง จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง)