คณะผู้จัดงาน (การประชุมวิชาการระดับชาติ - ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง)

การประชุมวิชาการระดับชาติ

ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง

11-12 กุมภาพันธ์ 2559
 หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร 

จัดโดย

โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) 
สถาบันไทยศึกษา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

กล่าวนำ (การประชุมวิชาการระดับชาติ - ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ เป็นภูมิภาคที่น่าสนใจศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจสมบัติทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนไท-ไทย ความเป็นชาติพันธุ์สามารถพิจารณาได้หลายมุมมอง แต่การศึกษาภูมิหลังของวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของกลุ่มคนชาติพันธุ์ต่างๆ นั้น จำเป็นต้องศึกษาความเชื่อและศาสนา ซึ่งชี้นำแนวทางในการดำรงชีวิตของผู้คนท้องถิ่น ตั้งแต่การนับถือผีบรรพบุรุษ ผีบ้าน ผีเมือง เทวดาอารักษ์ จนถึงการนับถือพุทธศาสนาแบบผสมกลมกลืนกับความเชื่อดั้งเดิม ซึ่งแสดงให้เห็นพลวัตทางวัฒนธรรม การยอมรับ ปรับเปลี่ยน และการผสานความเชื่อให้เข้ากับวิถีชีวิต สภาพภูมิศาสตร์ และเอกลักษณ์ของชุมชน โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงดำริจัดการประชุมวิชาการระดับชาติในหัวข้อ “ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง” เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเผยแพร่ความรู้และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณลุ่มน้ำโขง อันเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเข้าใจพลวัตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำโขง และเพื่อพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือวิชาการด้านไทยศึกษาไปยังนักวิชาการและนักวิจัยส่วนภูมิภาค

 

สถาบันไทยศึกษา ใคร่ขอขอบคุณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร ที่ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ อันจะทำให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการและจักช่วยส่งเสริมให้สังคมไทยได้รับรู้และตระหนักถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่น อันจะสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มคนและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขยั่งยืน

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร. สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา

 

ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กำหนดการ - 11 กุมภาพันธ์ 2559 (การประชุมวิชาการระดับชาติ - ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง)

08.30 – 09.30 

ลงทะเบียน

09.30 – 10.00

พิธีเปิดการประชุม 

10.00 – 12.00

ปาฐกถานำ

    
พลวัตเรื่องเล่าพื้นบ้าน เรื่องเล่าชาติพันธุ์ในสังคมร่วมสมัย    
     ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง 
     – คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คนอีสานคือใคร เรื่องที่นักวิจัยควรรู้    
     ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา 
     – คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

12.00 – 13.00

รับประทานอาหารกลางวัน

13.00 – 14.30

ศิลปะกับภาพแทนทางวัฒนธรรม

ความเชื่อ ศาสนา และพิธีกรรมในฮูปแต้มสินไชในภาคอีสาน
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์  
     – สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ฮูปแต้มฮิมโขง: การสร้างสรรค์และบริบททางวัฒนธรรม
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ กอบบุญ   
     – คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

14.30 – 15.00

รับประทานอาหารว่าง

15.00 – 16.30

สังคมวัฒนธรรมอีสานร่วมสมัย

ความเชื่อร่วมในความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างราชอาณาจักรในอนุภาคลุ่มน้ำโขงก่อนสมัยใหม่ 
     อาจารย์มิตต ทรัพย์ผุด
     – คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

การสร้างความเป็นชาติพันธุ์ด้วยพิธีกรรมและตำนานเพื่อการท่องเที่ยวโดยรัฐ
     อาจารย์ ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์
     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หน่วยเสียงควบกล้ำ ว ในภาษาผู้ไท บ้านโนนสำราญ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์
     อาจารย์ธวัชชัย ดุลยสุจริต
     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

กำหนดการ - 12 กุมภาพันธ์ 2559 (การประชุมวิชาการระดับชาติ - ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง)

08.00 – 09.00

ลงทะเบียน

09.00 – 12.30

สกลนครศึกษา

ศาสนาและชาติพันธุ์ของเมืองในแอ่งสกลนคร จากบันทึกของชาวตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 
     อาจารย์ภูริภูมิ ชมพูนุช 
     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

โหราศาสตร์ชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนคร 
     อาจารย์สถิตย์ ภาคมฤค 
     – คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

การศึกษาอุปลักษณ์ “ขวัญ” ในบทสูตรขวัญของกลุ่มชาติพันธุ์ไท–ญ้อจังหวัดสกลนคร 
     ประชารัตน์ เผ่าบุญเกิด 
     – นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การช่วงชิงพื้นที่หลังความตายกับพิธีกรรมบูชาผีบรรพบุรุษในวัดพระธาตุเชิงชุม
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปกกสิณ ชาทิพฮด 
     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

12.30 – 13.30

รับประทานอาหารกลางวัน

13.30 – 16.00

อำนาจที่มองไม่เห็นในเรื่องเล่าและพิธีกรรม

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มนุษย์ และสัตว์ในตำนานข้าวของชาวจ้วง สิบสองปันนา ประเทศจีน และชาวอีสาน ประเทศไทย
     อาจารย์ ดร.อุมารินทร์ ตุลารักษ์ 
     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

พิธีส่งเคราะห์บ้าน: กรณีศึกษาชาวไทลื้อบ้านแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชญานนท์ แสงศรีจันทร์ 
     – คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

พระโพธิสัตว์กับภาพตัวแทนคติความเชื่อและอำนาจดั้งเดิม: นาค แถน และ แดนผี
     สุทธินันท์ ศรีอ่อน 
     – นักศึกษาปริญญาเอก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

พลังอำนาจทางภาษาและการสร้างอุดมการณ์ในหนังสือธรรมะของพระสายปฏิบัติอีสาน    
     กุสุมา  สุ่มมาตร์
     – นักศึกษาปริญญาเอก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

พลวัตเรื่องเล่าพื้นบ้าน เรื่องเล่าชาติพันธุ์ในสังคมร่วมสมัย

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ศิราพร ณ ถลาง

 

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ในบริบทของสังคมประเพณี (traditional society) เรื่องเล่าพื้นบ้านมีหลากหลายบทบาทหน้าที่ ทั้งใช้เล่าเพื่อความสนุกสนานหรือใช้เทศน์เพื่อสั่งสอนศีลธรรม ใช้อธิบายภูมินาม ใช้อธิบายที่มาในการประกอบพิธีกรรม  ใช้ประกอบการแสดงพื้นบ้าน ในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย (contemporary society) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริบทสังคมโลก สังคมทุนนิยมวัตถุนิยมและการท่องเที่ยว รวมทั้งบริบทสังคมข้ามพรมแดน เรื่องเล่าพื้นบ้านมีบทบาทใหม่ที่เด่นชัดขึ้น เช่น ได้รับการนำมาใช้สร้างอัตลักษณ์จังหวัดและจัดการท่องเที่ยว นำมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นต้น ทำให้การรับรู้เรื่องเล่าพื้นบ้านขยายขอบเขตจากหมู่บ้านและชุมชนไปสู่แวดวงที่กว้างขึ้น

 

กลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเดิมทีอยู่ในสถานะของ “คนชายขอบ” และเรื่องเล่าของชาติพันธุ์ซึ่งมักอยู่ในรูปของตำนานอธิบายกำเนิดชาติพันธุ์ ตำนานอธิบายพิธีกรรม หรือถ้าอยู่ในเนื้อหานิทานมุขตลกของไทย กลุ่มชาติพันธุ์ก็มักตกเป็นตัวละครที่มีสถานภาพ “เป็นรอง” แต่ในสังคมไทยปัจจุบัน ด้วยบริบทโลกสมัยใหม่ ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีโอกาสใช้สื่อสมัยใหม่ไร้พรมแดน เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ได้อย่าง “เท่าเทียม” กับ “คนอื่น”  และใช้สื่อสมัยใหม่เป็นช่องทางในการสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ให้ “โลก” ได้รับรู้   ในขณะเดียวกัน ทุกวันนี้ “โลก” ก็หันมาสนใจเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มากขึ้นกว่าในอดีต 

ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่า ทั้งเรื่องเล่าพื้นบ้านและเรื่องเล่าของชาติพันธุ์มีพลวัต และได้ก้าวเข้ามาอยู่ใน “มิติใหม่” ที่ทำให้ความเป็นพื้นบ้านและความเป็นชาติพันธุ์เป็นที่รับรู้ได้อย่างกว้างขวางขึ้นในบริบทสังคมปัจจุบัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)

คนอีสานคือใคร เรื่องที่นักวิจัยควรรู้

ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา

 

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ภาคอีสานของประเทศไทยมีประวัติความเป็นมายาวนานมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์  ร่องรอยอารยธรรมเดิมอยู่บริเวณตอนล่างของภาค คือ บริเวณแอ่งโคราชซึ่งประชากรส่วนใหญ่คือชาวพื้นเมืองดั้งเดิม กลุ่มวัฒนธรรมมอญ-เขมร ที่เรียกว่า เขมร กูย (ข่า/ส่วย) จากพุทธศตวรรษ 19 เป็นต้นมากลุ่มวัฒนธรรมไท-ลาวได้เข้ามาอยู่ในบริเวณแอ่งสกลนคร  แถบจังหวัดหนองคายและอุดรธานี และขยายเข้ามาอยู่ในแอ่งโคราชในพุทธศตวรรษที่ 23 ที่เมืองอุบลราชธานีและยโสธร บางส่วนเข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณ ที่ราบเชิงเขาดงพระยากลางและเทือกเขาเพชรบูรณ์ 

 

การอพยพผู้คนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงเข้ามาอยู่ในภาคอีสานเพราะผลจากสงครามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา โดยเฉพาะหลังกบฏเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. 2370 ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่ของกลุ่มวัฒนธรรมไท-ลาว กระจายไปทั่วภูมิภาค  ชนพื้นเมืองดั้งเดิมซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีวัฒนธรรมตัวเขียนก็มีการกระจายตัวไปอยู่ในที่ต่างๆเช่นกัน  หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มวัฒนธรรมไทลาวก็เปลี่ยนไปรับวัฒนธรรมลาว  ทั้งศาสนาและภาษาพูด  กลุ่มที่อยู่ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมเขมรก็เปลี่ยนไปรับวัฒนธรรมเขมรทั้งศาสนาและภาษาเขมร  

 

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นว่านักคติชนที่ศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ต้องไม่ละเลยการอ่านงานประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะงานบันทึกทางประวัติศาสตร์สังคมในสมัยต่างๆ เช่น บันทึกการเดินทางของชาวต่างชาติ  วรรณกรรมนิราศ  ฯลฯ เพื่อจะได้ข้อมูลตามจริงกว่าภาพที่เห็นในปัจจุบันหรือจากการสัมภาษณ์บุคคลซึ่งมักจะตีความตามความเข้าใจของตนในปัจจุบัน  ในการอ่านเอกสารเหล่านี้นักคติชนต้องเข้าใจจุดยืนของผู้เขียนและอคติที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆด้วย

 

เอกสารที่ควรอ่าน ได้แก่ นิราศทัพเวียงจันทร์ (พ.ศ.2369) บันทึกภาพกลุ่มชนต่างๆตามรายทางไปทำศึกเวียงจันทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 3  นิราศหนองคาย (พ.ศ.2418) และนิราศทัพหลวงพระบาง (พ.ศ.2428) บันทึกภาพกลุ่มชาติพันธุ์ในหลวงพระบาง สมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนเล่มที่ควรอ่านอย่างยิ่ง คือ หนังสือชื่อ บันทึกการเดินทางในลาว ภาค 1 และ ภาค 2 (Voyage dans le Laos) ของเอเจียน แอมอนิเย ชาวฝรั่งเศสที่รัฐบาลฝรั่งเศสส่งเข้ามาสำรวจกัมพูชา ลาวและภาคอีสานในสมัยรัชกาลที่ 5

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)

ความเชื่อ ศาสนาและพิธีกรรมในฮูปแต้มสินไซในภาคอีสาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์

 

สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

การศึกษานี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบทางความเชื่อ ศาสนาและพิธีกรรมที่ปรากฏในฮูปแต้มเรื่องสินไซ และบริบทความสัมพันธ์ของฮูปแต้มสินไซกับชุมชนภาคอีสาน  โดยเป็นการศึกษาผ่านฮูปแต้มสินไซบนผนังสิม(โบสถ์)ของวัดต่างๆที่ปรากฏในเขตพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทย 

 

ผลจากการศึกษาพบว่า ฮูปแต้มเรื่องสินไซพบมากในเขตพื้นที่อีสานตอนกลาง คือ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มีวัดไชยศรี และสนวนวารีพัฒนารามเขียนเอาไว้ละเอียดที่สุด รูปแบบของแต่ละวัดมีการนำเสนออย่างอิสระภายใต้บริบททางสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละชุมชน   โดยสะท้อนรูปแบบความเชื่อ เรื่องโชคลาง กฎแห่งกรรม สิ่งเหนือธรรมชาติ รูปแบบพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับขนบประเพณีในวิถีชีวิตของชุมชนภาคอีสาน โดยสรุปภาพรวมของรูปแบบฮูปแต้มสินไซในภาคอีสานได้สะท้อนแก่นเนื้อหาที่สัมพันธ์กับคติทางพุทธศาสนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความศรัทธา โดยไม่ได้ยึดขนบ ด้านรูปแบบเป็นสำคัญ จึงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ฮูปแต้มอีสานมีอัตลักษณ์แตกต่างอย่างน่าสนใจ

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)

ฮูปแต้มฮิมโขง: การสร้างสรรค์และบริบททางวัฒนธรรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ กอบบุญ  

 

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

บทความวิจัยนี้ศึกษาจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏในวัดริมแม่น้ำโขง โดยมีสมมติฐานว่าจิตรกรรมริมโขงจะสะท้อนความสัมพันธ์เชิงความคิดและวัฒนธรรมระหว่างไทย ลาว และญวน วัตถุประสงค์ของการศึกษาคือการทำความเข้าใจสารัตถะ และบริบททางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการสร้างสรรค์  ผลการศึกษาพบว่าจิตรกรรมในพื้นที่ศึกษามีเนื้อหาทางพุทธศาสนาเป็นแกนหลักคือเรื่องพระเวสสันดร ลักษณะของภาพคือการสร้างความหมายที่สื่อสารได้ในระดับชาวบ้านและใกล้เคียงความเป็นจริง เข้าใจง่าย และเป็นอิสระ ทั้งนี้เนื้อหาแสดงออกถึงความคิดและวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น ทิวทัศน์ ประเพณี การประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตามทั้งยังมีสิ่งสำคัญที่ต้องอาศัยการตีความ เช่น ภาพ ตำแหน่งของภาพ องค์ประกอบของภาพ ที่จะต้องตีความเพื่อเข้าใจความคิด วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนริมโขง อันสะท้อนให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมบริเวณนี้

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)

ความเชื่อร่วมในความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างราชอาณาจักรในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก่อนสมัยใหม่

อาจารย์มิตต ทรัพย์ผุด

 

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก่อนการปรับรับวัฒนธรรมการเมืองตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้ดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทางด้านวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะตน ประเด็นปัญหาคือ การดำเนินนโยบายการต่างประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก่อนสมัยใหม่นั้นวางอยู่บนพื้นฐานความคิดอะไร และเกิดขึ้นจากแรงจูงใจใด และด้วยเหตุผลใดจึงเป็นแนวทางที่ยอมรับนับถือปฏิบัติอย่างกว้างขวาง บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเชื่อร่วมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมระหว่างราชอาณาจักรในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 9-19 โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์โลกทัศน์และความรู้สึกนึกคิด

 

ผลการวิจัยพบว่า ประการแรก ความเชื่อร่วมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมระหว่างราชอาณาจักรในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงก่อนสมัยใหม่สามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเภทคือ ความเชื่อร่วมเกี่ยวกับการสถาปนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในใจกลางศูนย์กลางอำนาจ ความเชื่อร่วมเกี่ยวกับมหาบุรุษและการสืบเชื้อสาย และความเชื่อร่วมเกี่ยวกับราชอาณาจักรและพระบรมโพธิสมภาร ประการที่สอง ความเชื่อร่วมทั้งสามประเภทนี้เกิดจากสาเหตุ (1) พื้นฐานความคิดความเชื่อจากพุทธศาสนา (2) ประเพณีนิยมที่ผ่านมาจากวรรณคดีอินเดียและจีน (3) ความเชื่อดั้งเดิมก่อนการรับวัฒนธรรมภายนอกภูมิภาค สรุปได้ว่าความเชื่อร่วมในระดับภูมิภาคเกิดขึ้นจากวรรณกรรมของกลุ่มนักปราชญ์ราชครูในราชสำนัก วัฒนธรรมแบบราชอาณาจักรเป็นตัวอย่างของความเชื่อร่วมที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมอินเดีย พื้นฐานภูมิปัญญาในการปรับรับวัฒนธรรมภายนอกเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิม

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)

การสร้างความเป็นชาติพันธุ์ด้วยพิธีกรรมและตำนานเพื่อการท่องเที่ยวโดยรัฐ

อาจารย์ ดร.แก้วตา จันทรานุสรณ์

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

กลุ่มชาติพันธุ์ในอีสานได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม  และการเมือง  ทั้งที่มาจากอำนาจรวมศูนย์ของรัฐและระบบทุนนิยมเสรี  โดยเฉพาะบริบทส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยรัฐได้ส่งผลกระทบให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ พยายามประกอบสร้างความเป็นชาติพันธุ์ของตนให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในฐานะทุนทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยว  โดยอาศัยพิธีกรรมและตำนานเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์และหลอมรวมสำนึกร่วมทางชาติพันธุ์

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)

หน่วยเสียงควบกล้ำ ว ในภาษาผู้ไท บ้านโนนสำราญ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์

อาจารย์ธวัชชัย ดุลยสุจริต

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

 

 

ภาษาผู้ไทเป็นภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาไท มีผู้พูดกระจายในหลายจังหวัดทางภาคอีสานตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดมุดาหาร สกลนคร นครพนม และกาฬสินธุ์ แม้ว่าภาษาผู้ไทจะมีคำศัพท์และเสียงส่วนใหญ่ร่วมกันกับภาษาไทถิ่นอื่น เช่นคำศัพท์พื้นฐานในชีวิตประจำวัน และลักษณะของเสียงสระพยัญชนะ แต่ก็มีลักษณะเฉพาะที่น่าสังเกตหลายประการ เช่น การใช้เสียงสระเออ เทียบกับเสียงสระเอือ สระไอ และสระเออ ในถิ่นอื่น การใช้เสียงสระเอ เทียบกับเสียงสระเอีย สระเอในถิ่นอื่น เป็นต้น รวมทั้งการใช้คำเรียกญาติที่แตกต่างกับภาษาไทถิ่นอื่นด้วย นอกจากนี้ยังมีหน่วยเสียงพยัญชนะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ นั่นคือเสียงพยัญชนะควบกล้ำ ว หรือเสียงปากกลม (palatalization)

 

จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีการศึกษาหน่วยเสียงพยัญชนะควบกล้ำ ว ผู้ไทหลายถิ่นในภาคอีสาน ได้แก่ โซพิสัย นครพนม กุฉินารายณ์ โพนนาแก้ว หนองสูง วาริชภูมิ และพรรณานิคม พบหน่วยเสียงต่างๆ ได้แก่ /kw/, /khw/, /cw/, /ŋw/, /hw/, /sw/ บางถิ่นมีเพียง 2 หน่วยเสียง (โซ่พิสัย) บางถิ่นมีมากถึง 6 หน่วยเสียง (พรรณานิคม) งานวิจัยครั้งนี้ผู้ผู้วิจัยได้ศึกษาลักษณะของหน่วยเสียงควบกล้ำ ว ในภาษาผู้ไท บ้านโนนสำราญ พบว่ามีเสียงควบกล้ำ ว มากถึง 7 หน่วยเสียง โดยเพิ่มหน่วยเสียง /yw/ อีก 1 หน่วยเสียง

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)

ศาสนาและกลุ่มชาติพันธุ์ของเมืองในแอ่งสกลนคร จากบันทึกของชาวตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19

อาจารย์ภูริภูมิ ชมพูนุช

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

 

 

บทความนี้ต้องการศึกษาเรื่องศาสนาและกลุ่มชาติพันธุ์ของเมืองในแอ่งสกลนคร โดยพิจารณาจากเอกสารบันทึกของชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามายังแอ่งสกลนครและพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นหลักฐานเอกสารร่วมสมัยที่สำคัญสำหรับการศึกษาเรื่องราวในอดีตของท้องถิ่น

 

จากการพิจารณาเอกสารดังกล่าว พบว่า เมืองในแอ่งสกลนคร ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายของผู้คนหลากหลายกลุ่มจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่ง ส่งผลให้ประชากรของเมืองเพิ่มจำนวนและมีเมืองเกิดใหม่มากขึ้นด้วย ในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีวัฒนธรรมความเชื่อ การนับถือของตัวเอง และนอกจากพุทธศาสนาแล้วในช่วงเวลานี้ยังมีการยอมรับนับถือคริสต์ศาสนาที่เผยแพร่เข้ามายังแอ่งสกลนครและบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงโดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศสด้วย

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)

โหราศาสตร์ชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนคร

อาจารย์สถิตย์ ภาคมฤค

 

คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

 

 

แอ่งสกลนครเป็นพื้นที่ฝั่งฟากหนึ่งของเทือกเขาภูพานโดยมีขอบด้านหนึ่งติดแม่น้ำโขงกางกั้นระหว่างเขตแดนประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภายในแอ่งกลนครประประกอบด้วย  กลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายที่เกิดการเคลื่อนย้ายไปมาหลายร้อยปีมาแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มีการเคารพนับถืออำนาจของดวงดาวว่าสามารถกำหนดวิธีชีวิตของตนเองได้จึงทำให้เกิดการเรียนรู้  ยอมรับ และพัฒนาเป็นโหราศาสตร์ชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนคร โดยผู้เขียนคัดเลือกกลุ่มชาติพันธุ์ในการศึกษาข้อมูลจำนวน 8 กลุ่ม   ชาติพันธุ์ คือ ไทยลาว ไทยโย้ย  ไทยย้อ ผู้ไทย ไทยแสก ไยวน กะเลิง และโซ่ มุ่งศึกษาลักษณะโหราศาสตร์ พบว่า โหราศาสตร์ชาติพันธุ์ในแอ่งสกลนครจำแนกได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มการคำนวณและฤกษ์ กลุ่มการพยากรณ์ และกลุ่มพิธีกรรม โหราศาสตร์เหล่านี้ โหราศาสตร์เหล่านี้ล้วนมีคุณค่าทางวัฒนธรรมโดยจำแนกเป็น 2 ลักษณะ คือ คุณค่าต่อเอกบุคคลและคุณค่าต่ออเนกบุคคล คุณค่าเหล่านี้ช่วยทำให้เห็นการเข้าไปมีส่วนในดำเนินชีวิตของผู้คนและสังคมจนกลายเป็นสิ่งที่กำหนดให้คนและสังคมต้องเข้าใจร่วมกันและถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ขับเคลื่อนวิถีชีวิตมนุษย์และวิถีทางสังคมให้สามารถก้าวไปได้อย่างมีแนวทางที่เกิดจากการแนะนำแนวทางจากโหราศาสตร์ชาติพันธุ์เพื่อความเจริญของบุคคลและสังคมสืบต่อกันเรื่อยไป

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)

การศึกษาอุปลักษณ์ “ขวัญ” ในบทสูตรขวัญของกลุ่มชาติพันธุ์ไท–ญ้อ จังหวัดสกลนคร

ประชารัตน์ เผ่าบุญเกิด

 

นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาภาษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์รูปภาษาที่เป็นอุปลักษณ์ “ขวัญ” ในบทสูตรขวัญของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ญ้อจังหวัดสกลนคร ตามแนวทางการศึกษาของทฤษฎีภาษาศาสตร์ปริชาน โดยการเก็บรวบรวมบทสูตรขวัญของกลุ่มชาติพันธุ์ไท- ญ้อ ในตําบลพังขว้าง อําเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ดังนี้ สูตรขวัญคนป่วย สูตรขวัญเล้า สูตรขวัญข้าว สูตรขวัญวัวควายสูตรขวัญนาค สูตรขวัญแต่งงาน ผลการวิจัยพบว่า รูปภาษาที่เป็นอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ “ขวัญ” ในบทสูตรขวัญของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ญ้อ มี 4 ประเภท ได้แก่ (1) อุปลักษณ์ที่แสดงประเภทของร่างกาย (2) อุปลักษณ์ที่แสดงประเภทของพืช ต้นไม้ (3) อุปลักษณ์ที่แสดงประเภทของสัตว์ (4) อุปลักษณ์ที่แสดงประเภทของบุคคลอันเป็นที่รัก ทําให้เห็นว่ามีอุปลักษณ์จากรูปภาษาและความเชื่อ

 

ประเพณีวัฒนธรรมที่สืบเนื่องมาอย่างมั่นคงของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ญ้อ รวมถึงการใช้ภาษาถิ่นในบทสูตรขวัญนั้น ทําให้เห็นว่ามีการปรากฏคําว่า “ขวัญ” มาใช้กับสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจําวัน นํามาถ่ายทอดเป็นรูปภาษาตามกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงดํารงไว้ทั้งเรื่องความเชื่อและวัฒนธรรมที่มีการสืบสานสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามจนกระทังถึงปัจจุบันนี้

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)

การช่วงชิงพื้นที่หลังความตายกับพิธีกรรมบูชาผีบรรพบุรุษในวัดพระธาตุเชิงชุม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปกกสิณ ชาทิพฮด

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

 

 

บทความนี้มุ่งศึกษาการช่วงชิงพื้นที่หลังความตายในพิธีกรรมบูชาผีบรรพบุรุษที่ปรากฏอยู่ในวัดพระธาตุเชิงชุม วัดพระธาตุเชิงชุมมีความสำคัญในฐานะที่เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสกลนครมาแต่โบราณตามที่ปรากฏในอุรังคนิทาน และเป็นศูนย์รวมของความมั่นคงทางใจของชาวสกลนคร โดยมีประเพณีนมัสการพระธาตุตรงกับขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือนยี่ของทุกปี ด้วยความที่วัดพระธาตุเชิงชุมเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาและเป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ จึงทำให้เป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรมหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะการบรรจุอัฐิไว้ภายในกำแพงวัด เพราะเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ทำหน้าที่รักษาพระธาตุ (ข้าพระธาตุ) การบูชาผีบรรพบุรุษมักจะปฏิบัติสอดคล้องตามบุญประเพณีของฮีตสิบสอง คือ บุญข้าวประดับดินและบุญข้าวสาก และประเพณีนมัสการพระธาตุประจำปี ซึ่งแนวปฏิบัติต่างๆ ในพิธีกรรมได้ฉายภาพของการช่วงชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรมและอำนาจทางสังคมและเศรษฐกิจของกลุ่มชนหลายกลุ่มที่ต้องการสร้างสำนึกร่วมโดยใช้ศาสน-สถานศักดิ์สิทธิ์เป็นพื้นที่ของการแสดง อีกทั้งเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มชนใหม่ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในสกลนคร

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มนุษย์ และสัตว์ในตำนานข้าวของชาวจ้วง สิบสองปันนา ประเทศจีน และชาวอีสาน ประเทศไทย

อาจารย์ ดร.อุมารินทร์ ตุลารักษ์

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

ตำนานเป็นเรื่องเล่าในอดีตที่สืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบันที่คนในสังคมเชื่อว่าเคยเกิดขึ้นหรือมีเค้าความจริง  ตำนานที่สำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ไทตำนานหนึ่งคือตำนานข้าว ทั้งนี้เนื่องจากวัฒนธรรมข้าวเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ไท ตำนานข้าวจึงแสดงให้เห็นวัฒนธรรมความเชื่อที่สืบเนื่องต่อมาอย่างยาวนาน บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มนุษย์ และสัตว์ที่ปรากฏในตำนานข้าวของชาวไทสองกลุ่มคือ ชาวจ้วงสิบสองปันนา ประเทศจีน และชาวอีสาน ประเทศไทย รวมทั้งวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์ไททั้งสองกลุ่มที่ได้รับการนำเสนอผ่านตำนาน

 

ผลการศึกษาพบว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏในตำนานข้าวของชาวจ้วง สิบสองปันนา ประเทศจีน คือ  ปู่โหลโถ หมี่โล่เจี่ย ผานกู่ เสินหนอง เทพเจ้า มังกร และข้าว เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากตำนานข้าวของชาวจ้วงมักเป็นส่วนหนึ่งของตำนานการเกิดโลกด้วย ในตำนานแสดงให้เห็นว่าเทพเจ้าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง ทั้งโลก มนุษย์ พืชพรรณธัญญาหาร รวมทั้งข้าว เมื่อมนุษย์มีปัญหาสิ่งใดก็มักขอร้องเทพเจ้าให้ช่วยเหลือ สัตว์ที่สำคัญในตำนานจ้วงคือหมาเก้าหางที่นำเม็ดข้าวเปลือกมาสู่โลก ส่วนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏในตำนานข้าวของชาวอีสานเป็นสิ่งที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อทางศาสนาและความเชื่อดั้งเดิม คือ เทพธิดาแห่งข้าว พระพุทธเจ้า พระนารายณ์ ฤาษี และแม่โพสพ เป็นต้น โดยตำนานมักแสดงให้เห็นว่าพระฤาษีเป็นผู้สร้างข้าวหรือแจกจ่ายข้าวให้มนุษย์ และแสดงให้เห็นความน้อยใจของแม่โพสพที่มีต่อมนุษย์ รวมทั้งคนเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้าวเม็ดเล็กลง ส่วนสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญคือหมาเก้าหางซึ่งเป็นสัตว์ที่นำข้าวมาสู่โลกเช่นเดียวกันกับตำนานชาวจ้วง ประเทศจีน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)

พิธีกรรมส่งเคราะห์บ้าน: กรณีศึกษาชาวไทลื้อบ้านแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชญานนท์ แสงศรีจันทร์  

 

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

ในรอบปีชาวไทลื้อมีการประกอบพิธีกรรมที่แสดงถึงความคิดและความเชื่อในการนับถือทั้งผีและพุทธศาสบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบ ความเชื่อ และบทบาทของพิธีกรรมส่งเคราะห์บ้าน โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยทางคติชนวิทยา

 

ผลการศึกษาพบว่า ด้านรูปแบบของพิธีกรรมมีการประกอบสร้างอย่างมีขั้นตอน ด้านความเชื่อมีความสัมพันธ์กันกับวัฒนธรรมดั้งเดิม และมีการปรับรับตามบริบทสังคมร่วมสมัย ด้านบทบาทของพิธีกรรมแสดงให้เห็นว่าเป็นเครื่องขจัดปัดเป่าสิ่งอัปมงคล และเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจของชาวไทลื้อ

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)

พระโพธิสัตว์กับภาพตัวแทนคติความเชื่อและอำนาจดั้งเดิม: นาค แถน และ แดนผี

สุทธินันท์ ศรีอ่อน

 

นักศึกษาปริญญาเอก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

วัตถุประสงค์ของบทความวิจัยนี้ คือ เพื่อศึกษาภาพตัวแทนของตัวละครพระโพธิสัตว์ในชาดกพื้นบ้านอีสานกับคติความเชื่อและอำนาจของคติความเชื่อดั้งเดิม 3 คติ คือ ความเชื่อเรื่องนาค พญาแถน และผีในชาดกพื้นบ้านอีสาน ข้อมูลที่ใช้ศึกษาคือชาดกพื้นบ้านอีสานสำนวนร้อยกรอง 32 เรื่อง

 

ผลการศึกษามีดังนี้ (1) พฤติกรรมของตัวละครพระโพธิสัตว์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครภาพตัวแทนของนาค ผีฟ้า พญาแถน และผีเป็นไปในลักษณะของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เบียดขับ กดทับ และเหลื่อมซ้อนกัน (2) บทปฏิพากย์ระหว่างตัวละครพระโพธิสัตว์กับตัวละครภาพแทนความเชื่อดั้งเดิมในชาดกพื้นบ้านอีสานแสดงให้เห็นการต่อสู้และลดทอนอำนาจของคติความเชื่อดั้งเดิม รวมถึงการปรับตัวและการประนีประนอมเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ (3) ภาพตัวแทนของนาค แถน และผีแสดงให้เห็นอำนาจของความเชื่อดั้งเดิมเรื่องงูใหญ่ ชนพื้นเมือง ผู้ปกครองไร้คุณธรรม และอำนาจเจ้าต่างรัฐในชุมชนดั้งเดิม รวมถึงอำนาจผีผู้หญิงและผีผู้ชายในพื้นที่อีสานและลาวล้านช้าง

 

ภาพตัวแทนของคติความเชื่อทั้ง 3 ที่เกี่ยวข้องกับตัวละครพระโพธิสัตว์ในชาดกพื้นบ้านอีสานจึงน่าจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างคติความเชื่อดั้งเดิมที่มีอยู่และพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับ ชนชั้น โลกทัศน์ทางจิตวิญญาณ และคตินิยมความเชื่อในวรรณกรรมพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)

พลังอำนาจทางภาษาและการสร้างอุดมการณ์ในหนังสือธรรมะของพระสายปฏิบัติอีสาน

กุสุมา  สุ่มมาตร์

 

นักศึกษาปริญญาเอก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

บทความวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์กลวิธีทางภาษาพลังอำนาจและการสร้างอุดมการณ์ในหนังสือธรรมะของพระสายปฏิบัติอีสาน โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (purposive sampling) มี 6 กลุ่มตัวอย่าง ดังนี้  หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต  หลวงปู่ฝั้น อาจาโร  พระราชนิโรธรังสี (เทสก์ เทสรัสี)  พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)  จาม มหาปุญฺโญ  และพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน)  จากผลงานสื่อสิ่งพิมพ์ภาษาไทยประเภทหนังสือธรรมะของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวนั้นผู้วิจัยคัดเลือกหนังสือธรรมะของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5 เล่ม ต่อพระสายปฏิบัติ 1 รูปและหนังสือธรรมะที่ใช้เป็นตัวบทศึกษาครั้งนี้รวม 30 เล่ม

 

ผลการศึกษาพบว่า เมื่อศึกษาโครงสร้างตัวบทคำสอนของพระสายปฏิบัติอีสานตามกรอบแนวคิดวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (critical discourse analysis) ของแฟร์เคลาฟ์ (Fairclough) และแนวคิดอำนาจของอัลเลน (Allen, 2005) โดยอำนาจทางภาษาที่มีนัยความหมายเชิงบวกมี 2 ประเภท คือ  อำนาจทางภาษาเพิ่มศักยภาพให้ตนเอง  อำนาจทางภาษาเพิ่มศักยภาพให้ผู้อื่น  พบว่าตัวบทหนังสือธรรมะของพระสายปฏิบัติมีวิถีปฏิบัติการทางภาษา การประกอบสร้างความรู้ สัญญะ โดยการประกอบสร้างนั้นมีที่มาจากอำนาจที่มีนัยความหมายเชิงบวก  ซึ่งทำให้เห็นร่องรอยวิถีปฏิบัติการทางภาษา  และอำนาจที่สัมพันธ์กัน

 

จากการวิเคราะห์กลวิธีทางภาษาในหนังสือธรรมะของพระสายปฏิบัติอีสาน พบ 5 กลวิธี  ได้แก่  การใช้อุปลักษณ์สงคราม  การใช้ภาวะแย้ง  การใช้สัญญะ  การนำเสนอวิธีการปฏิบัติวิปัสสนาเป็นลำดับขั้นตอน  การนำเสนอเนื้อหาทางพุทธศาสนาผ่านสีสันเฉพาะถิ่น  ทั้งนี้ กลวิธีการสื่อสารเหล่านี้ทำให้ผู้รับสารเข้าใจสารัตถธรรมของพุทธศาสนาทั้งในด้านโลกียธรรมและโลกุตรธรรม   และกลวิธีทางภาษาดังกล่าวได้สื่อให้เห็นอุดมการณ์ของพระสายปฏิบัติอีสาน ดังนี้ อุดมการณ์ธรรมชาตินิยม  อุดมการณ์เหตุผลนิยม  อุดมการณ์ท้องถิ่นนิยม  อุดมการณ์การหลุดพ้น  และอุดมการณ์จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)