คณะผู้จัดงาน (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า)

การประชุมวิชาการระดับชาติ

 

วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า

 

เนื่องในวาระครบ 99 ปีของอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย

 

14 ธันวาคม 2561

โรงแรมแคนทารี ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่

 

จัดโดย

 

โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS)

สถาบันไทยศึกษา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

คำกล่าวนำ (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า)

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย  นับเป็นบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งต่อการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น ในฐานะเป็นผู้บุกเบิกการค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมล้านนาในระยะเริ่มแรก มีผลงานวิชาการเป็นบทความและตำรา เช่น ฉันทลักษณ์กวีนิพนธ์ล้านนาไทย ตำราการเรียนอักษรล้านนา ปริทัศน์วรรณคดีล้านนา สุภาษิตล้านนา และได้ปริวรรตวรรณกรรมล้านนาจากต้นฉบับอักษรธรรมล้านนาเป็นอักษรไทยเป็นจำนวนมาก ผลงานที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือได้ร่วมมือกับมูลนิธิไทย-เยอรมันรวบรวมคัมภีร์ใบลานตามวัดต่างๆ ในภาคเหนือเพื่อนำมาถ่ายสำเนาด้วยไมโครฟิล์ม นับเป็นการเริ่มต้นอนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมล้านนา

เนื่องในวาระครบ 99 ปี อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ในปี พ.ศ. 2562  โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงมีดำริจัดประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง “วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า” เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการของอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ต่อวงวรรณกรรมล้านนา และเพื่อทบทวนการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นในอดีต สถานะในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต  อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ การสืบสาน การสร้างสรรค์และการใช้ประโยชน์จากวรรณกรรมท้องถิ่นในสังคมไทยสืบไป

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร. สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา 

 

ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กำหนดการ 14 ธันวาคม 2561 (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า)

08.00 – 08.45

 

ลงทะเบียน

 

08.45 – 09.00

 

พิธีเปิดการประชุม

 

09.00 – 10.00

 

ปาฐกถานำ: อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย: คุณูปการที่มีต่อการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น

     ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์

     – ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาวิชาวรรณกรรมพื้นเมือง

 

10.00 – 10.15

 

รับประทานอาหารว่าง

 

10.15 – 10.45

 

ชีวิตและผลงานของ อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย

     อุบลพรรณ วรรณสัย

     – นักวิชาการอิสระ

 

10.45 – 11.20

 

เมื่อข้าพเจ้าศึกษาวรรณกรรมล้านนากับอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย

     ศาสตราจารย์ ดร.ฮารัลด์ ฮุนดิอุส

     (Professor Dr. Harald Hundius)

     – นักวิชาการอิสระ

 

11.20 – 12.00 

 

วรรณกรรมล้านนาในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์

     ศาสตราจารย์ ดร.โฟล์กเกอร์ กราบอฟสกี้

     (Professor Dr. Volker Grabowsky)

     – หัวหน้าสาขาไทยศึกษา สถาบันเอเชียแอฟริกันศึกษา มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก

 

12.00 – 13.00

 

รับประทานอาหารกลางวัน

 

13.00 – 13.40

 

สามทศวรรษแห่งวรรณกรรมล้านนาศึกษา (พ.ศ. 2530 – 2560)

     รองศาสตราจารย์ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล

     – ศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

13.40 – 14.20

 

ถอดบทเรียนวรรณกรรมท้องถิ่นอีสานศึกษา:เส้นทางจากอดีตสู่อนาคต

     รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ

     – สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

14.20 – 15.00

 

สุนทรียะ ศรัทธา และปัญญาไทย: ฐานรากและจิตวิญญาณของวรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลาง

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล

     – คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล                                          

 

15.00 – 15.40

 

วรรณกรรมท้องถิ่น: มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ

     ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา

     – ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย                      

 

15.40 – 16.00

 

ปิดการประชุม

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย : คุณูปการต่อการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์

 

ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาวิชาวรรณกรรมพื้นเมือง

 

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย  เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของล้านนา ในฐานะผู้ที่ศึกษาและเผยแพร่ความรู้ด้านวรรณกรรมล้านนาในสมัยเริ่มมีความตื่นตัวในการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่น ได้สละเวลาให้ความรู้แก่นักวิชาการที่ประสงค์จะค้นคว้าวิจัยวรรณกรรมล้านนาหลายคน และเป็นอาจารย์สอนวิชาอักษรธรรมล้านนาและวรรณกรรมล้านนาแก่นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ นอกจากเขียนบทความและตำราเกี่ยวกับพิธีกรรมตัวอักษร และวรรณกรรมล้านนา ตลอดจนแต่งบททำขวัญ บทเวนทาน คำร่ำและนิราศคำกลอนไว้หลายเรื่องแล้ว ยังปริวรรตถ่ายถอดวรรณกรรมล้านนาเรื่องสำคัญๆจากอักษรธรรมล้านนาเป็นอักษรไทยไว้เป็นจำนวนมาก ผลงานปริวรรตมีทั้งกฎหมาย วรรณกรรมตำนาน วรรณกรรมประกอบพิธีกรรม วรรณกรรมคำสอน  วรรณกรรมชาดก ตลอดจนวรรณกรรมนิทานที่มีที่มาจากวรรณกรรมสันสกฤต   ผลงานแปลวรรณกรรมเรื่องตำนานพระเจ้าเลียบโลกเป็นภาษาไทยมีผู้นำมาพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับ ดร.ฮารัลด์ ฮุนดีอุส ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิเยอรมันเดินทางไปถ่ายสำเนาคัมภีร์ใบลานตามวัดต่างๆ ในภาคเหนือด้วยไมโครฟิล์ม เพื่ออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผลงานที่เกิดจากการทุ่มเทแรงกายแรงใจของอาจารย์สิงฆะ วรรณสัยกล่าวได้ว่ามีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นในสังคมไทยในสมัยต่อๆ มา

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า" วันที่ 14 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมแคนทารี่ ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

เมื่อข้าพเจ้าศึกษาวรรณกรรมล้านนากับอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย

My Studies of Northern Thai Literature with Ajarn Singkha Wannasai (1972-1978)

 

ศาสตราจารย์ ดร.ฮารัลด์ ฮุนดิอุส

Professor Dr. Harald Hundius

 

นักวิชาการอิสระ

 

 

After conclusion of my Ph.0D. thesis about Sunthorn Phu in 1971, I started to study the literary tradition of the North of Thailand. When asking Ajarn Prakong Nimmanahaeminda, the author of the first publication about Northern Thai literature, for a recommendation of a Northern Thai teacher, she recommended two persons, i.e. Singkha Wannasai (Lamphun) and Manee Phayomyong (Mae Rim).

 

So, I first travelled to Lamphun Province to visit Ajarn Singkha asking him whether he was willing to teach me about the language and literature of the North. Fortunately, he just had quit his engagement as a teacher to fully dedicate himself to the propagation of Northern Thai language and literature, and accepted my wish to be his student, teaching me five times a week for five hours each time.

 

After two or three months, Ajarn Singkha took me to Wat San Rim Ping to start with the research on Northern Thai manuscript tradition. I was perplexed to see the sheer amount of palm-leaf manuscripts held in this far-away and almost unknown Lamphun monastery.

 

So I asked the German Research Foundation to concentrate on the North and skip the Northeast and South of Thailand, and was granted the privilege to use the two and a half years to concentrate on the Northern tradition alone.

 

In almost three years, Ajarn Singkha and me visited some 90 monasteries throughout the eight Northern Thai provinces, some of which for the very first time, and I had microfilm recordings made of some 1,300 manuscripts, including a number of Shan, Tai Lue, and Lao holographies. In addition, some selected Northern Thai manuscripts were copied into notebooks by several ex-monks, comprising altogether some 21,000 pages.

 

All of the manuscripts and the handwritten copies have been digitised and are included in the www.lannamanuscripts.net.

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า" วันที่ 14 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมแคนทารี่ ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

วรรณกรรมล้านนาในฐานะเอกสารทางประวัติศาสตร์ : กรณีศึกษาเรื่องโคลงมังทรารบเชียงใหม่

Lan Na Literature as Historical Sources: The Case of Mangthra Rop Chiang Mai

 

ศาสตราจารย์ ดร.โฟล์กเกอร์ กราบอฟสกี้

Professor Dr. Volker Grabowsky

 

สถาบันเอเชียแอฟริกันศึกษา มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก

 

 

ผลงานศึกษาและปริวรรตของอาจารย์ สิงฆะ วรรณสัย ที่นับว่ามีความสำคัญมากคือโคลงเรื่อง “มังทรารบเชียงใหม่” วรรณกรรมอันน่าประทับใจเรื่องนี้มีลักษณะเป็นนิราศแห่งล้านนา  พรรณนาถึงการกวาดต้อนคนเชียงใหม่นับพันๆ คนไปสู่เมืองหงสาวดีในประเทศพม่าตอนล่างในช่วงกลาง พุทธศตวรรษที่ 22 หลังจากที่ “มังทรา” คือกษัตริย์พม่า ได้ยกกองทัพมาปราบปรามพวกกบฏที่กล้าท้าทายอำนาจของพม่า  โคลงเรื่อง “มังทรารบเชียงใหม่”นอกจากเป็นกวีนิพนธ์อันงดงามยิ่งแล้วยังเต็มไปด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพทางด้านการเมือง สังคม และเศรษกิจในแคว้นล้านนาสมัยพม่าปกครองอีกด้วย  ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมาก ถ้าอ่านคู่กับหลักฐานประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่หลงเหลืออยู่อย่างกระจัดกระจาย  การบรรยายนี้มีจุดประสงค์ที่จะวิเคราะห์วรรณกรรมล้านนาในฐานะเอกสารทางประวัติศาสตร์ โดยใช้โคลงเรื่อง “มังทรารบเชียงใหม่”เป็นกรณีศึกษา ซึ่งอาจารย์ สิงฆะ วรรณสัยเป็นนักวิชาการคนแรกที่เห็นความสำคัญเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนหน้านี้

 

One of the last publications of Achan Singkha Wannsai was his edition of the Northern Thai travel poem Mangthra Rop Chiang Mai (Mangthra’s War against Chiang Mai). This most impressive piece of classical Lan Na literature describes vividly the deportation of people from Chiang Mai to Hongsawadi (Pegu) in lower Burma during the first half of the seventeenth century, following the military suppression of a local uprising by the Burmese king. Besides its poetic qualities, Mangthra Rop Chiang Mai provides many valuable information on the political, social, and economic situation in Lan Na during the early period of Burmese rule when analyzed against the background of fragmented contemporary historical sources. This presentation aims at discussing the value of literary works as historical sources by revisiting a master piece of Lan Na literature which the late Lan Na scholar Singkha Wannasai had brought to our attention for the first time almost fourty years ago.

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า" วันที่ 14 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมแคนทารี่ ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

สามทศวรรษแห่งวรรณกรรมล้านนาศึกษา (พ.ศ. 2530 – 2560)

รองศาสตราจารย์ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล

 

ศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

การศึกษาวรรณกรรมล้านนาในสถาบันอุดมศึกษาของไทย เริ่มต้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2509 ผลงานศึกษาเชิงภาพรวมในยุคบุคเบิกคือการศึกษาของประคอง นิมมานเหมินท์ มณี พยอมยงค์ และ สิงฆะ วรรณสัย ในช่วงสองทศวรรษแรก(พ.ศ.2509 – 2529) เป็นงานเชิงสำรวจ รวบรวม ปริวรรต มีงานศึกษาวิเคราะห์วิจัยจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มากนัก ช่วงสามทศวรรษต่อมา (พ.ศ. 2530 – 2560) เมื่อภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวรรณกรรมล้านนาขึ้น (เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 จนปิดหลักสูตรปี พ.ศ. 2557) มีผู้สำเร็จการศึกษาจำนวน 62 คน มีวิทยานิพนธ์ที่เลือกศึกษาด้านวรรณกรรมล้านนาจำนวน 50 รายการ ส่วนที่เลือกศึกษาด้านภาษามีเพียง 12 รายการ นอกจากนี้ การเปิดหลักสูตรศิลป-ศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทยของมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ทำให้เกิดวิทยานิพนธ์ด้านวรรณกรรมล้านนาศึกษาเป็นจำนวนไม่น้อย ตลอดจนหลักสูตรบัณฑิตศึกษาสาขาวิชาภาษาไทยของสถาบันต่างๆ เช่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ก็ทำให้เกิดวิทยานิพนธ์ด้านวรรณกรรมล้านนาศึกษาจำนวนหนึ่ง งานศึกษาวิจัยวรรณกรรมล้านนาในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาดังกล่าวล้วนมีพัฒนาการที่น่าสนใจ ทั้งในด้านการค้นพบต้นฉบับวรรณกรรมใหม่ๆ การปริวรรต การชำระ การวิเคราะห์วิจารณ์ในเชิงวรรณกรรมศึกษา การแสวงหาแนวคิดทฤษฎีทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มาปรับใช้ในการตีความตัวบท การมุ่งค้นหาลักษณะเด่น ความหมาย ภูมิปัญญาและคุณค่าของวรรณกรรมล้านนา บทเรียนจากสามทศวรรษนี้จะเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นในอนาคตต่อไป

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า" วันที่ 14 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมแคนทารี่ ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ถอดบทเรียนวรรณกรรมอีสานศึกษา: มองเส้นทางจากอดีตสู่อนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ

 

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

บทความเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสังเคราะห์ผลงานวิจัยที่ทำการศึกษาค้นคว้าและตีความเกี่ยวกับวรรณกรรมท้องถิ่นอีสานในประเทศไทยที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นรวบรวมและสังเคราะห์จากผลงานวิจัยที่เป็นวิทยานิพนธ์เป็นหลัก ผลการศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนได้แบ่งเนื้อหาการนำเสนอออกเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ คือ ช่วงแรก: “วิถีวิจัยในรอยอดีต” พบว่าเป็นกลุ่มงานวิจัยทางด้านวรรณกรรมอีสานระหว่างปี พ.ศ.2520-2550 ซึ่งเป็นการศึกษาข้อมูลวรรณกรรมอีสานในช่วงต้นๆ ทั้งในเชิงวรรณกรรมศึกษาและในเชิงการปริวรรตตัวบท ส่วนช่วงที่สอง : “วิถีวิจัยในปัจจุบันกาล” เป็นกลุ่มงานวิจัยด้านวรรณกรรมอีสานระหว่างปี พ.ศ.2551-2560 เป็นกลุ่มงานวิจัยที่มีความต่อเนื่องและพัฒนาการจากช่วงแรก กล่าวคือ กลุ่มนี้เน้นการวิจัยด้วยการใช้แนวทางที่หลากหลายมากขึ้น ที่เห็นได้เด่นชัด นั่นคือ การพยายามที่นำเอาแนวคิดทฤษฎีเชิงบทบาทหน้าที่บ้าง รวมทั้งแนวคิดทางสังคมศาสตร์อื่นๆ มาใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ตีความข้อมูลวรรณกรรมอีสาน แต่ทว่าแนวทางการวิจัยตามแนวทางเดิมนั้นก็ยังคงได้รับความนิยมและดำเนินควบคู่ไปด้วยเช่นกัน และช่วงที่ 3: “วิถีวิจัยในอนาคตกาล” นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ผู้เขียนต้องการนำเสนอให้เห็นว่าเป็นทิศทางและแนวโน้มการวิจัยเกี่ยวกับวรรณกรรมอีสานที่คาดว่าจะมีการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงเวลานี้จะเป็นการวิจัยที่มุ่งเน้นนำเอาแนวคิดทฤษฎีหลังสมัยใหม่บ้าง รวมทั้งการศึกษาเชิงเปรียบเทียบทั้งแบบข้ามศาสตร์และข้ามชาติเข้ามาประยุกต์ใช้ ตลอดจนการศึกษาเพื่อมุ่งค้นหาความหมายและการประกอบสร้างสังคมผ่านข้อมูลวรรณกรรมอีสาน อนึ่ง ผู้เขียนยังต้องการนำเสนอให้เห็นวิถีการดำรงอยู่และกระบวนการสืบทอดอนุรักษ์วรรณกรรมอีสานในชุมชนท้องถิ่นแห่งนี้ว่ามีอย่างไร ทั้งในระดับปัจเจกและระดับสังคม โดยสรุปทิศทางและแนวโน้นการวิจัย รวมทั้งการดำรงอยู่และการสืบทอดเกี่ยวกับวรรณกรรมอีสานในท้องถิ่นแห่งนี้ได้แสดงให้เห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่องต่อการศึกษาค้นคว้าและความก้าวหน้าทางการวิจัยในวงการวรรณกรรมท้องถิ่นศึกษาโดยรวมได้อย่างน่าสนใจ

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า" วันที่ 14 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมแคนทารี่ ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

สุนทรียะ ศรัทธา และปัญญาไทย : รากฐานและจิตวิญญาณของวรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลาง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล

 

– คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

– มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

 

 

วรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลางเป็นเสมือนภาพแทนของผู้คนในท้องถิ่นภาคกลาง ได้ถ่ายทอดความรู้-ความรู้สึก-นึก-คิด ไว้ครอบคลุมในทุกด้านของการใช้ชีวิต เหตุนี้จึงมีเนื้อหาทั้งวรรณกรรมตำรา วรรณกรรมคำสอน วรรณกรรมศาสนา วรรณกรรมประกอบพิธีกรรม ฯลฯ เพื่อตอบสนองการใช้ประโยชน์ในทุกมิติ บทความนี้จะได้นำเสนอรากฐานของวรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลางที่สำคัญคือ สุนทรียะ (ความงาม) ศรัทธา (ความดี) และ “ปัญญา” (ความจริง) ที่ถือเป็นสิ่งที่มีอยู่ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ เป็นจิตวิญญาณที่สะท้อนอัตลักษณ์ของการ สุนทรียะคือความประณีตในการนำเสนอทั้งรูปแบบและภาษา ศรัทธาคือการมีพระพุทธศาสนาและความเชื่อเป็นกรอบความคิด ปัญญา คือสรรพศาสตร์ที่ใช้ในการถ่ายทอดทั้งทางตรง (เช่น วรรณกรรมตำรา วรรณกรรมประกอบพิธีกรรม) และทางอ้อม เช่น (เช่น วรรณกรรมนิทาน วรรณกรรมประกอบการแสดง) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานและจิตวิญญาณของบรรพชนภาคกลางที่ใช้ในการสร้างสรรค์วรรณกรรมท้องถิ่น จนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า" วันที่ 14 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมแคนทารี่ ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

วรรณกรรมท้องถิ่น: มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ

ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา

 

ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ( Intangible Cultural Heritage) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 หมายถึง ความรู้ การแสดงออก การประพฤติปฏิบัติ หรือทักษะทางวัฒนธรรมที่แสดงออกผ่านบุคคล กลุ่มบุคคล หรือชุมชน ยอมรับและรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน และมีการสืบทอดกันมาจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม 

 

วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยลักษณะหนึ่ง แบ่งเป็นหมวดใหญ่ได้ 2 ลักษณะ  วรรณกรรมพื้นบ้าน หมายถึงเรื่องราวที่ถ่ายทอดอยู่ในวิถีชีวิตชาวบ้าน ด้วยวิธีการบอกเล่า เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นภาพ ได้แก่ นิทานพื้นบ้าน ตำนานพื้นบ้าน บทร้องพื้นบ้าน บทสวดหรือบทกล่าวในพิธีกรรม สำนวน ภาษิต  คำพูดหรือคำกล่าวที่มีสัมผัสคล้องจองกัน ปริศนาคำทายและตำรา  หมวดภาษา  หมายถึง เครื่องมือที่ใช้สื่อสารในวิถีชีวิตของแต่ละกลุ่มชน ทั้งเสียงพูด ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์ ซึ่งสะท้อนโลกทัศน์ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาถิ่น ภาษาชาติพันธุ์ และภาษาสัญลักษณ์

 

คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มีหน้าที่พิจารณา  ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ตามรายการเบื้องต้นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในระดับจังหวัดที่เสนอขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการตระหนักถึงคุณค่า ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ  ส่งเสริมศักดิ์ศรีทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของกลุ่มชนที่มีอยู่ทั่ว เป็นหลักฐานสำคัญในการแสดงความเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่อยู่ในอาณาเขตประเทศไทย ก้าวให้ทันกระแสโลกที่มีความเคลื่อนไหว  และปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อันจะเป็นการปูทางไปสู่การอนุรักษ์ สร้างสรรค์ พัฒนา สืบทอดอย่างเป็นระบบและยั่งยืนต่อไป

 

ปัจจุบันมีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ประกาศขึ้นบัญชีระหว่าง 2552-ปัจจุบัน ทั้งหมด 336 รายการ เฉพาะหมวดวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา 86 รายการ เป็นนิทาน 16 เรื่อง  ตำนาน 17 เรื่อง บทร้อง 4 บท บทสวด 4 บท ตำรา 8 เรื่อง ภาษาและอักษร 24 ชนิด

 

การขึ้นบัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติมีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ที่ประกาศใช้ในราชกิจจา-นุเบกษา วันที่ 8 ตุลาคม 2561 สามยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า" วันที่ 14 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมแคนทารี่ ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ประวัติและผลงาน อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย

อุบลพรรณ วรรณสัย

 

นักวิชาการอิสระ

 

 

ประวัติ

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2463 (ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม) ณ บ้านสันมหาพน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน บิดาชื่อนายจันทร์ วรรณสัย มารดาชื่อนางจันทร์ทิพย์ วรรณสัย บิดามารดาประกอบอาชีพทำนา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา จำนวน 3 คน

 

เมื่ออายุได้ 12 ปี เด็กชายสิงฆะ วรรณสัย ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมหาวัน ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ต่อมาเมื่ออายุ 21 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดมหาวัน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2484 ได้รับนามฉายาว่า ทีปงฺกโร ต่อมาเมื่ออายุ 25 ปี ได้ลาสิกขา แล้วได้เข้ารับการบรรจุเป็นข้าราชการครูชั้นจัตวา ตำแหน่งครูโรงเรียนประชาบาล กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2490 ขณะที่อายุ 27 ปี อัตราเงินเดือน 10 บาท

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย สมรสกับนางสาวเรือนคำ (นามสกุลเดิม กองมณี) เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 มีบุตรธิดารวม 8 คน คือ เอมอร พรสิริ กนิษฐา บารเมศ เจตนา จาตุรนต์ และอุบลพรรณ

 

 

การศึกษา

 

พ.ศ. 2473 : สอบไล่ได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนประชาบาลตำบลในเมือง (ประตูลี้) อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2479 : สอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนปริยัติธรรมหริภุญชัย (พุทธวิทยาทาน) วัดพระธาตุหริภุญชัย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2481 : บาลีเปรียญธรรม 3 ประโยค สำนักเรียนวัดพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2483 : นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2484 : บาลีเปรียญธรรม 4 ประโยค  สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราช-รังสฤษฎิ์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

 

พ.ศ. 2485 : บาลีเปรียญธรรม 5 ประโยค สำนักเรียนวัดพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2492 : ประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษประถม (พ.ป.)

 

พ.ศ. 2504 : ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม (พ.ม.)

 

 

หน้าที่การงาน (ขณะเป็นสามเณรและภิกษุ)

 

พ.ศ. 2481 : ครูสอนภาษาไทย โรงเรียนวัดพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลําพูน

 

พ.ศ. 2483 : ครูสอนภาษาบาลี ชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยค สำนักเรียนวัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลําพูน และวัดป่าซางงาม อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2484 : ครูสอนนักธรรมขั้นเอก สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรฯ กรุงเทพมหานคร

 

 

หน้าที่การงาน (เมื่อเป็นฆราวาส)

 

พ.ศ. 2490 : ครูประชาบาล โรงเรียนประตูป่า (โพธิประชานุกูล) อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2491 : ครูใหญ่ โรงเรียนประตูป่า (โพธิประชานุกูล) อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2493 : ครูใหญ่โรงเรียนบ้านอุโมงค์ (คันธาราษฎร์วิทยาทาน) อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2484 : ผู้ตรวจการประถมศึกษาอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2487 : ผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอ ประจำกิ่งอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2499 : ครูใหญ่ โรงเรียนบ้านป่าแก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2502 : ครูใหญ่ โรงเรียนวัดเหมืองง่า (ญาณมงคลศึกษากร) อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2510 : ครูใหญ่ โรงเรียนริมปิง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

พ.ศ. 2518 : อาจารย์พิเศษ ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

ชีวิตของอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย

 

สมัยที่อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ยังครองเพศบรรชิตอยู่ ได้เริ่มศึกษาธรรมล้านนากับสามเณรเบี้ยว อินทปัญญา แล้วศึกษาเพิ่มเติมกับพระวินัยธรกี ญาณวิจาโร ที่วัดมหาวัน ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ภายหลังยังได้ศึกษาอักษรธรรมล้านนา วิธีการแต่งคำโอกาสเวนทาน โคลงล้านนา คร่าว และกาพย์ล้านนา กับพระครูศรีบุญสถิต (ครูบาปันแก้ว ปุณฺณวํโส) เจ้าอาวาสวัดศรีบุญยืน จังหวัดลำพูน และครูบาอินคำ วิสารโท วัดบุปผาราม (สบปะ) จังหวัดลำพูน ตลอดจนถึงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูบาอาจารย์ นักปราชญ์ราชบัณฑิต และผู้เฒ่าผู้แก่อีกหลายท่านในเขตภาคเหนือ ควบคู่กับการฝึกแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนแบบภาคกลางด้วยตนเอง นอกจากได้เรียนภาษาไทย และภาษาล้านนาแล้ว ยังได้เรียนภาษาอังกฤษกับครูซึ่งเป็นแขก ชื่อมานิคัม จนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้

 

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้ลาออกจากราชการ ขณะที่อายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ ตำแหน่งสุดท้าย คือเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดสันริมปิง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

 

เมื่อลาออกจากราชการแล้ว อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้ศึกษาค้นคว้าวิชาความรู้ด้านอักษร ภาษาและวรรณกรรม จากตำราที่เคยเก็บสะสมไว้ หรือศึกษาจากคัมภีร์ใบลานและพับสาตามวัดต่างๆ โดยปริวรรตเป็นอักษรไทย และแปลหรือเรียบเรียงเป็นภาษาไทยปัจจุบัน

 

ในฐานะที่เคยเป็นครูมาก่อน จึงได้รับเชิญให้เป็นพิธีกร หรือมัคนายก ในงานบุญประเพณีต่างๆ ในเขตจังหวัดลำพูนและจังหวัดเชียงใหม่ เป็นกรรมการและที่ปรึกษาชมรมหรือกลุ่มสมาคมท้องถิ่น เป็นอาจารย์พิเศษที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากร และที่ปรึกษาด้านวิชาการ กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ แก่คณาจารย์และนักศึกษาด้านล้านนาคดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

 

 

ผลงานที่สำคัญ

 

ในสมัยที่อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ประกอบอาชีพเป็นครูนั้น ได้แต่งตำราเรียนภาษาไทย และประมวลการสอนในระดับประถมศึกษาร่วมกับคณะครูอำเภอเมืองลำพูน

 

เนื่องจากเป็นผู้ที่สนใจศึกษาด้านภาษาและวรรณกรรมมาตั้งแต่สมัยที่บวชเรียน จึงมีผลงานทั้งด้านการแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์กลอน แบบภาคกลาง และโคลง ฉันท์ กาพย์ คร่าว คำร่ำ และคำเวนทานที่เป็นร่ายแบบล้านนา เช่น คำร่ำสลากย้อม (ประมาณ 50 สำนวน) คำเวนทานในโอกาสต่างๆ (มากกว่าร้อยสำนวน) รวมถึงนิราศต่างๆ เช่น นิราศบ้านโฮ่ง (กลอนแปด) นิราศเดือนเมืองเหนือ (กลอนแปด) นิราศเหมืองง่า (คร่าวและโคลง) นิราศรัก (กลอนแปด) นิราศเชียงราย (คร่าว) นิราศวังมุย (กลอนแปด) นิราศเมืองลี้ และนิราศเมืองคีล (เยอรมนี) เป็นต้น

 

เมื่อเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาิวทยาลัยเชียงใหม่ ได้เรียบเรียงตำราเรียนภาษาล้านนา หนังสือปริทัศน์วรรณกรรมล้านนา นอกจากนั้นยังได้เรียบเรียงตำราและฉันทลักษณ์ของบทกวีนิพนธ์ล้านนา โดยเฉพาะโคลงและคร่าวชนิดต่างๆ ปริวรรตหรือแปลวรรณกรรมล้านนา เช่น พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก (มีการนำมาจัดพิมพ์เผยแพร่ซ้ำอีกหลายครั้ง) ตำนานพญาเจือง ตำนานเจ้า 7 พระองค์ อุสสาบารส พรหมจักร หรมาน โลกนัยชาดก โคลงเจ้าวิทูรสอนหลาน โคลงมังทรารบเชียงใหม่ คร่าวสี่บท และคร่าวร่ำครูบาศรีวิชัย ผลงานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง คือการแต่งและเป็นผู้กล่าวคำโอกาสเวนทานในงานพระราชทานเพลิงศพครูบาศรีวิชัย เมื่อ พ.ศ. 2489 (ไม่สามารถหาต้นฉบับได้)

 

ด้านการเรียบเรียงและจัดพิมพ์คัมภีร์ธรรมเทศนานั้น อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้นำชาดกเรื่องอะลองพระเจ้าดินเหนียว และจักรพรรดิยาจก มาจัดพิมพ์ลงในใบลานด้วยอักษรไทย เรียบเรียงคัมภีร์ธรรมเทศนาเรื่องมณีจันทกุมาร วนาวนกุมาร วรนุชชาดก และชนสันธชาดก เผยแพร่โดยเขียนอักษรธรรมล้านนาไว้ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์อักษรไทยลงกระดาษไข แล้วโรเนียวลงในคัมภีร์ธรรมกระดาษ (ลานเทียม) ต่อมาได้และเรียบเรียงจามเทวีวงศ์ แล้วจัดพิมพ์เป็นธรรมกระดาษด้วยอักษรไทย เผยแพร่และจำหน่ายตามวัดต่างๆ ทั่วภาคเหนือ

ผลงานสำคัญส่วนหนึ่งของอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย

อุบลพรรณ วรรณสัย

 

นักวิชาการอิสระ

 

 

โคลงเจ้าวิทูรสอนหลาน 

 

ลำพูน: สภาเปรียญลำพูน และยุวพุทธิกสมาคมลำพูน, 2515

 

งานแสดงความชื่นชมและยินดีสำหรับพระภิกษุสามเณรในจังหวัดลำพูนที่สามารถสอบบาลีเปรียญธรรมได้ จำนวน 26 รูป คณะสงฆ์ สภาเปรียญ และยุวพุทธกสมาคมลำพูน จึงได้จัดพิมพ์วรรณกรรมคำสอนล้านนาที่อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้ปริวรรตจากต้นฉบับของพระยาราชกาวี (กวีชาวไทยอง) ที่พระตา คำพรหม วัดศรีเมืองยู้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ได้เก็บรักษาไว้ เพื่อเผยแพร่ในงานดังกล่าว

 

โคลงเจ้าวิทูรสอนหลาน แต่งด้วยโคลงแบบล้านนา ฉบับที่ปริวรรตนี้มี จำนวน 258 บท เป็นคำสอนเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และสิ่งที่คนในฐานะต่างๆ คือ สามัญชน ข้าทาส ขุนนาง ผู้ปกครอง ทั้งชายและหญิง ที่พึงกระทำและไม่พึงกระทำ โดยเปรียบเทียบกับสิ่งรอบตัวและตัวอย่างจากวรรณกรรม

 

 

ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัย จังหวัดลำพูน 

 

ลำพูน: ชมรมหนุ่มสาวชัยมงคล, 2516

 

 

ชมรมหนุ่มสาวชัยมงคล จัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มนี้เพื่อแจกในงานสมโภชสมณศักดิ์พระครูประสาทสุตาคม เจ้าคณะอำเภอเมืองลำพูน ที่เลื่อนเป็นพระครูรองเจ้าอาวาส พระอารามหลวงชั้นเอก คณะหลวง วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.ลำพูน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2516

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้แปลตำนานพระเจ้าหริภุญชัย จากคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมล้านนาและตำนานอื่นที่เกี่ยวข้อง มาเรียบเรียงเป็นภาษาไทยปัจจุบัน กล่าวถึงพุทธประวัติแบบย่อและการประดิษฐานพระเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุที่เจดีย์ใหญ่กลางเมืองหริภุญชัย การบูรณปฏิสังขรณ์ในยุคสมัยต่างๆ เช่น พระญามังราย พระญากือนา พระญาติโลกราช พระเมืองแก้ว และกษัตริย์เชียงใหม่พระองค์อื่นๆ ด้วย แล้วนำตำนานเทวดาเอาคนเข้าไปในถ้ำเมืองลำพูน มาแทรกไว้ ซึ่งตำนานดังกล่าวเล่าเรื่องการเข้าไปในถ้ำหรืออุโมงค์ใต้ฐานพระเจดีย์หริภุญชัยที่มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ และเต็มไปด้วยเงินทองของประดับต่างๆ จำนวนมาก ในตอนท้ายของเล่มได้นำนิราศหริภุญชัยบางตอนมาแทรกไว้ พร้อมแนะนำโบราณสถาน โบราณวัตถุ และประเพณีที่สำคัญของวัดพระธาตุหริภุญชัย

 

 

ตำราเรียนอักขระลานนาไทย

 

เชียงใหม่: ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2518

 

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้เรียบเรียงและปรับปรุงจากเอกสารประกอบการสอน รายวิชาลานนาศึกษา ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปีการศึกษา ๒๕๑๘ กล่าวถึงความเป็นมา ความสำคัญ และพัฒนาการของของอักษรธรรมล้านนา อักษรและอักขรวิธี และตัวอย่างการปริวรรต พร้อมทั้งแบบฝึกอ่านที่เป็นนิทานหรือวรรณกรรมล้านนา ตลอดจนอธิบายการแต่งคร่าวด้วย จำหน่ายราคาเล่มละ 35 บาท
ต่อมา “สภาเปรียญลำพูน” ได้นำหนังสือเล่มนี้มาจัดพิมพ์เผยแพร่อีกครั้ง เพื่อจำหน่ายให้กับพระภิกษุสามเณรและผู้สนใจทั่วไปในเขตภาคเหนือ

 

 

พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก

เชียงใหม่: ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2518

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้นำคัมภีร์ใบลานพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก จำนวน 11 ผูก ซึ่งจารด้วยอักษรธรรมล้านนาในใบลาน มาเรียบเรียงใหม่โดยแปลให้เป็นภาษาไทยกลาง พิมพ์ครั้งแรกด้วยเครื่องพิมพ์ดีดลงกระดาษไขแล้วอัดสำเนาเผยแพร่ ต่อมาได้มีการนำมาตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง

 

พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก เป็นตำนานที่กล่าวถึงเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดพุทธบริษัทในเขตอาณาจักรล้านนาและพื้นที่ใกล้เคียง การประทานพระเกศา การอธิบายที่มาของชื่อบ้านนามเมืองและสถานที่ต่างๆ พร้อมทั้งตรัสว่าเมื่อปรินิพพานแล้ว ขอให้พระสาวกได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานในบ้านเมืองเหล่านั้นด้วย 

 

อุสสาบารส วรรณกรรมลานนาไทยสมัยพระเจ้ากือนา

 

เชียงใหม่: ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2519

 

 

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้นำคัมภีร์ใบลานเรื่องอุสสาบารส ที่สร้างโดยครูบาศรีวิชัยมาปริวรรตเป็นอักษรไทย พร้อมคำอธิบายศัพท์ และนำโคลงดั้นเรื่องอุสสาบารส มาปริวรรตไว้ในส่วนท้ายเล่มด้วย แล้วโครงการลานนาคดีศึกษา ของภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำมาจัดพิมพ์เป็นเอกสารลำดับที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2519

อุสสาบารส ฉบับล้านนา พบทั้งที่เป็นร่ายและโคลง ถือเป็นวรรณกรรมเก่าแก่ ดังปรากฎการอ้างถึงในกฏหมายล้านนาสมัยพระญากือนา และโคลงนิราศหริภุญชัย ทั้งยังเป็นวรรณกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีสันสกฤต เนื้อเรื่องเป็นชาดก โดยพระโพธิสัตว์คือท้าวบารส มเหสีคือนางอุสสา แต่มีอุปสรรคต่างๆ ทำให้นางอุสสาต้องล้มป่วยและตรอมใจตาย เป็นชาดกที่จบด้วยโศกนาฏกรรมซึ่งแตกต่างจากชาดกเรื่องอื่นๆ

 

 

โคลงเรื่อง มังทรารบเชียงใหม่

 

เชียงใหม่: ศูนย์หนังสือเชียงใหม่, 2522

 

 

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้ปริวรรตคัมภีร์ใบลานเรื่องโคลงมังทรารบเชียงใหม่ ซึ่งจารด้วยอักษรไทนิเทศ (ขอมเมือง) โดยสอบทานกับอีก 3 ฉบับ โคลงแต่ละบทจะมีข้อความปริวรรตเป็นอักษรไทยพร้อมทั้งถอดความเป็นภาษาไทย และมีคำอธิบายศัพท์ท้ายเล่ม พิมพ์เผยแพร่ในงานฉลองอายุ 7 รอบ ของนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ (วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2522)

โคลงมังทรารบเชียงใหม่ กล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากที่พม่าได้มาตีเมืองเชียงใหม่แล้วกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยที่พม่า กวีได้พรรณนาเส้นทางและสิ่งที่พบเห็นด้วยโคลงสุภาพล้านนา จำนวน 303 บท
นอกจากนั้นอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ยังได้แต่งโคลงล้านนาสรุปเนื้อหาและเล่าเรื่องราวของการปริวรรตโคลงเรื่องนี้ จำนวน 20 บท
    

 

ชาดกนอกนิบาต พรหมจักร รามเกียรติ์ฉบับสำนวนและภาษาลานนาไทย (ปริวรรต)

 

เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2522

 

 

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้ปริวรรตคัมภีร์ใบลานเรื่องพรหมจักร จำนวน 10 ผูก ที่จารด้วยอักษรธรรมล้านนาเป็นอักษรไทย ต้นฉบับจากวัดขี้เหล็ก ต.ขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ลำพูน โดยใช้เวลาทำงานประมาณ 20 วัน ภาควิชาภาษาไทย ได้นำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือในโครงการตำรา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2522 ในเล่มประกอบด้วยคำนำ คำชี้แจงของผู้ปริวรรต เนื้อเรื่อง และคำอธิบายศัพท์ท้ายเรื่อง

พรหมจักร เป็นชื่อวรรณกรรมล้านนาที่มีเนื้อหาหรือเค้าเรื่องเดียวกับรามเกียรติ์ แต่ดำเนินเรื่องแบบชาดก คือกล่าวถึงมูลเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมชาดก เนื้อหาของเรื่อง และการสรุปว่าตัวละครในเรื่องได้มาเกิดเป็นใครในสมัยพุทธกาล ซึ่งครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพรหมจักรกุมาร แห่งเมืองพาราณสี ได้ไปศึกษาวิชาความรู้ที่เมืองตักกสิลา ภายหลังได้อภิเษกกับนางสีดา ต่อมาท้าววิโรหราชได้มาลักพานางสีดาไป ท้าวพรหมจักร รัมมจักร และหอรมาน ต้องเดินทางตามหาและต่อสู้กับอุปสรรคนานัปการจนเอาชนะท้าววิโรหราช และได้นางสีดากลับมาครองคู่อีกครั้ง

 

 

โลกนัยชาดก (ปริวรรต)

 

เชียงใหม่: หน่วยส่งเสริมศิลปศึกษาและวัฒนธรรมลานนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2522

 

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้ปริวรรตคัมภีร์ใบลานเรื่องโลกนัยชาดก จำนวน 10 ผูก ต้นฉบับจากวัดศรีพันต้น อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ที่จารโดยพระคัมภีรภิกขุ เจ้าอาวาส เจ้าภาพผู้สร้างคือพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน เมื่อ พ.ศ. 2403 จารด้วยอักษรธรรมล้านนาเป็นอักษรไทย

 

หน่วยส่งเสริมศิลปศึกษาและวัฒนธรรมลานนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำมาจัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2522 เนื้อหาในเล่มประกอบด้วย บทปริวรรตเรื่องโลกนัยชาดก และศัพทานุกรม

 

โลกนัยชาดก เป็นวรรณกรรมประเภทคำสอน กล่าวถึงครรลองในการปฏิบัติของคนในระดับต่างๆ เทียบกับคติธรรมในพุทธศาสนา โดยพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นบุตรเศรษฐีเมืองอินทปัตถนคร นามว่าธนัญชัยกุมาร เป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถตอบปัญหาและอธิบายเรื่องราวต่างๆ ได้เป็นอย่างดี 

 

 

สารประวัติครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย 

 

เชียงใหม่: สำนักพิมพ์ศูนย์หนังสือเชียงใหม่, 2522

 

 

 

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้เรียบเรียง “สารประวัติของครูบาศรีวิชัย” โดยอาศัยประสบการณ์ที่ได้สนทนากับครูบาศรีวิชัย และการสัมภาษณ์ญาติผู้ใกล้ชิด ที่ติดตามครูบาไปในสถานที่ต่างๆ 

 

ในงานพระราชทานเพลิงศพครูบาศรีวิชัย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ซึ่งตอนนั้นยังครองเพศเป็นภิกษุอยู่ ได้รับฉันทานุมัติให้เป็นผู้กล่าวคำโอกาสเวนทานในงานดังกล่าวด้วย

 

หนังสือสารประวัติครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย ประกอบด้วยประวัติครูบาศรีวิชัยที่เรียบเรียงเป็นร้อยแก้ว ฉันทลักษณ์และหลักเกณฑ์การแต่งคร่าว และการปริวรรต “คร่าวประวัติครูบาศรีวิชัย” สำนวนของพระภิกษุสุนทรพจนกิจ จากหนังสือที่พิมพ์ด้วยอักษรธรรมล้านนามาเป็นอักษรไทย โดยจัดวรรคตอนให้อ่านง่าย พร้อมทั้งคำอธิบายคำศัพท์ท้ายเล่ม

 

 

ปริทัศน์วรรณคดีลานนาไทย

 

เชียงใหม่: โครงการตำรา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2523

 

 

 

โครงการตำรา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเอกสารประกอบการสอนของอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ที่เผยแพร่เป็นเอกสารอัดสำเนา เมื่อ พ.ศ. 2522 มาจัดพิมพ์ใหม่ เป็นผลงานลำดับที่ 9 พิมพ์จำหน่าย เมื่อ พ.ศ.2523

หนังสือปริทัศน์วรรณคดีลานนาไทยเล่มนี้ ได้สรุปความเป็นมาของอาณาจักรล้านนา การแบ่งประเภทและยุคสมัยของวรรณกรรมล้านนา คัดเลือกวรรณกรรมที่สำคัญและน่าสนใจมาสรุปเป็นเรื่องย่อ และนำเนื้อความ หรือสำนวนบางตอนมานำเสนอให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย เช่น มหาเวสสันดรชาดกสำนวนต่างๆ สมาส โคลง และคร่าวล้านนา เพื่อให้เห็นภาพรวมของวรรณกรรมล้านนา

 

 

กฎหมายพระเจ้าน่าน

 

เขียงใหม่: ศูนย์ส่งเสริมและศึกษาวัฒนธรรมลานนาไทย วิทยาลัยครูเชียงใหม่, 2523

 

 

 

ศูนย์ส่งเสริมและศึกษาวัฒนธรรมลานนาไทย วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ได้นำผลงานการปริวรรตคัมภีร์ใบลาน เรื่อง “กฏหมายพระเจ้าน่าน” ของอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย มาจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นลำดับที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2523 

 

กฎหมายพระเจ้าน่าน คือกฎหมายโบราณที่ตราขึ้นเพื่อใช้ปกครองในเมืองน่าน แต่งเมื่อ พ.ศ 2383 ว่าด้วยการลักและการปรับไหมเกี่ยวกับวัวควาย การบูชาเทพดาอารักษ์ การตัดต้นไม้ การบุกเบิกที่นา การทะเลาะวิวาท การกู้ยืมเงิน การปลอมแปลงเงินตรา การซื้อขายข้าว การรักษาด่านประจำเมือง การสร้างเหมืองฝาย และการอุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนา

 

 

ประวัตพระนางจามเทวี และจังหวัดลำพูน

 

พิมพ์เป็นธรรมทานในการฉลองสมณศักดิ์ พระราชสุตาจารย์ บริหารจามเทวี ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี, 2514

 

 

 

ประวัตพระนางจามเทวี และจังหวัดลำพูนเป็นหนังสือที่รวบรวมข้อความจากตำนานเก่า ๆ มาไว้ในเล่มเดียวกันเพื่อสะดวกในการศึกษา ค้นคว้าและสันนิษฐาน โดยเฉพาะที่กล่าวโดยละเอียดคือ ประวัติพระนางจามเทวี หนังสือเล่มนี้มีขัอสันนิษฐานของผู้รวบรวมโดยอาศัยเหตุผล สิ่งแวดล้อม ภูมิศาสตร์ โบราณสถาน และนิทานที่เล่าสืบๆมาเป็นหลัก 

 

 

นิราศบ้านโฮ่ง

 

จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ แม่เรือนคำ วรรณสัย (7 สิงหาคม พ.ศ. 2552)

 

 

บทกวีนิพนธ์ที่แสดงถึงความรักและอาลัย เมื่อต้องจากบ้านและครอบครัวไปรับตำแหน่งผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอบ้านโฮ่ง เมื่อ พ.ศ. 2497 อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้ถ่ายทอดอารมณ์ และความรู้สึกของตนเป็นบทกลอน นอกจากจะมีความงามด้านภาษาแล้ว ยังมีคุณค่าในด้านการพรรณนาสถานการณ์และสภาพสังคมของชาวลำพูนในยุคสมัยนั้น

 

ความรักของอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ที่มีต่อแม่เรือนคำ ผู้เป็นภรรยาคู่ชีวิต ยังปรากฏในนิราศเรื่องอื่นๆ อีก เช่น  นิราศเมืองลี้ (แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ) และนิราศวังมุย (บทกลอน) นิราศเดือนเมืองเหนือ (กลอนแปด) นิราศเหมืองง่า (คร่าว และโคลงสี่สุภาพ) นิราศรัก (กลอนแปด) และ นิราศเชียงราย (คร่าว)

 

 

อะลองพระเจ้าดินเหนียว

 

เชียงใหม่: ธาราทองการเพิมพ์ เชียงใหม่, 2506

 

 

คัมภีร์ใบลานฉบับพิมพ์ อักษรไทย สำนวนภาษาล้านนา จำนวน 6 ผูก พิมพ์ที่โรงพิมพ์เลี่ยงเซียงจงเจริญ พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2506 การนำคัมภีร์ธรรมเทศนาหรือชาดกล้านนามาพิมพ์ลงใบลานด้วยอักษรไทยของอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการสร้างคัมภีร์ธรรม เพราะเดิมจะจารด้วยมือซึ่งยุ่งยากและใช้เวลานานมาเป็นการพิมพ์อักษรลงบนแผ่นใบลานที่ง่ายและสะดวกรวดเร็ว โดยยุคนั้นต้องสั่งพิมพ์ที่กรุงเทพฯ แล้วนำมาเผยแพร่และจำหน่ายในเขตภาคเหนือ 

สิงฆะ วรรณสัย ได้เรียบเรียงคัมภีร์ธรรมเทศนาที่เป็นชาดกเรื่องอะลองพระเจ้าดินเหนียว ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระโพธสัตว์ที่เสวยพระชาติเป็นชายหนุ่มยากจน ที่ได้ชักชวนภรรยาและแม่บุญธรรมปั้นพระพุทธรูปด้วยดินเหนียว โดยมีพระอินทร์และชายามาช่วย ซึ่งอานิสงส์ของการสร้างพระพุทธรูปดินเหนียวครั้งนั้นทำให้ได้ปกครองเมือง เสวยสุขสมบัติในชั้นฟ้า และได้กลับมาลงอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
 

 

จามเทวีวงศ์

 

เชียงใหม่: ธาราทองการพิมพ์ เชียงใหม่, มปป.

 

 

“จามเทวีวงศ์” เป็นคัมภีร์ธรรมเทศนาฉบับพิมพ์ลงบนกระดาษ (ลานเทียม) อักษรไทย ภาษาล้านนา เรียบเรียงเป็นสำนวนเทศนาแบบร้อยแก้วปนร่าย จำนวนทั้งสิ้น 15 ผูก พิมพ์ที่โรงพิมพ์ธาราทองการพิมพ์ เชียงใหม่ เป็นการนำคัมภีร์ธรรมเทศนาที่เคยจารลงในใบลานด้วยอักษรธรรมล้านนา มาปริวรรตแบบเทียบเสียงและพิมพ์ด้วยอักษรไทย เพื่อให้พระภิกษุสามเณร ได้ใช้เทศนาได้ง่ายและสะดวก ราคาผูกละ 6.50 บาท

 

จามเทวีวงศ์ กล่าวถึงตำนานเมืองลำพูนและพระธาตุเจ้าหริภุญชัย คือเริ่มตั้งพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าเสด็จมายังบริเวณเมืองหริภุญชัย ทรงประทานพระเกศา และพระบรมสารีริกธาตุ การสร้างเมืองหริภุญชัย เรื่องราวต่างๆ ในยุคสมัยของพระนางจามเทวี มาจนถึงรัชสมัยของพระญาอาทิตยราชที่พบและสร้างพระเจดีย์หริภุญชัย

 

จักรพรรดิยาจก

 

เชียงใหม่: ธาราทองการเพิมพ์ เชียงใหม่, 2507

 

 

คัมภีร์ใบลานฉบับพิมพ์ อักษรไทย ภาษาล้านนา จำนวน 8 ผูก พิมพ์ที่โรงพิมพ์เลี่ยงเซียงจงเจริญ พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2507

 

“จักพรรดิยาจก” หรือ “สิโสรชาดก” อยู่ในชุดปัญญาสชาดกล้านนา อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้เรียบเรียงและขัดเกลาสำนวนใหม่ เพื่อให้สะดวกต่อการนำมาเทศนา กล่าวถึงพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระญาสิโรราช  เมืองนันทนคร ซึ่งภายหลังต้องพลัดพรากจากบ้านเมือง ต้องตกระกำลำบากกลายเป็นยากจก แต่ภายหลังได้กลับมาครองเมืองตามเดิม
 

 

วนาวนชาดก 

 

2520 

 

 

วนาวนชาดก เป็นนิทานเรื่องหนึ่งในชุดปัญญาสชาดกที่แต่งโดยนักปราชญ์ชาวล้านนา อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้นำมาเรียบเรียงใหม่เป็นสำนวนเทศนา จำนวนทั้งสิ้น 13 ผูก ด้านหนึ่งเขียนอักษรล้านนาด้วยลายมือ และอีกด้านหนึ่งพิมพ์อักษรไทยด้วยเครื่องพิมพ์ดีดลงกระดาษไข แล้วโรเนียวลงบนกระดาษสีน้ำตาลอ่อน พับซ้อนกันให้มีลักษณะคล้ายคัมภีร์ใบลาน เรียกว่าธรรมกระดาษ หรือลานเทียม จัดทำเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2520 ราคาผูกละ 10 บาท

วนาวนชาดก กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ที่เสวยพระชาติเป็นวนาวนกุมาร โอรสของเจ้าเมืองโกฏินครกับอัครมเหสี เมื่อประสูติออกมาแล้วถูกมเหสีรองออกอุบายนำไปฝังไว้ที่โคนไม้จันทร์แล้วนำไม้จันทร์ห่อผ้าไว้แทน อัครมเหสีจึงถูกปลดให้เป็นคนรับใช้ วนาวนกุมารได้รับการดูแลและชุบเลี้ยงจนเติบใหญ่ ภายหลังได้ไปอาศัยอยู่ที่เมืองกาสี ถูกปุโรหิตถูกลอบทำร้ายแต่รอดชีวิตมาได้ ต่อมาเมื่อตามมาพระมารดาของตนพบและทราบเรื่องราวต่างๆ จึงยกทัพไปชิงเมืองโกฏินครคืน แล้วให้พระราชบิดาครองเมืองต่อ ส่วนตนกลับไปครองเมืองกาสี และดูแลบ้านเมืองให้สงบสุขร่วมเย็น พร้อมทั้งทำบุญให้ทานจนสิ้นอายุขัย
 

 

มหาชนสันธชาดก 

 

มปป.

 

 

มหาชนสันธชาดก เป็นนิทานเรื่องหนึ่งในชุดทวาทสนิบาต (นิบาตชาดกในพระไตรปิฎก) อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ได้นำมาเรียบเรียงใหม่เป็นสำนวนเทศนา จำนวน 13 ผูก ด้านหนึ่งเขียนอักษรล้านนาด้วยลายมือ และอีกด้านหนึ่งพิมพ์อักษรไทยด้วยเครื่องพิมพ์ดีดลงกระดาษไข แล้วโรเนียวลงบนแผนกระดาษสีน้ำตาลอ่อน พับซ้อนกันให้มีลักษณะคล้ายคัมภีร์ใบลาน เรียกว่าธรรมกระดาษ หรือลานเทียม ราคาผูกละ 10 บาท

 

มหาชนสันธชาดก ว่าด้วยเรื่องเหตุที่ทำให้จิตเดือดร้อน กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ที่เสวยพระชาติเป็นมหาชนสันธกุมาร โอรสของพระเจ้าพรหมทัต แห่งเมืองพาราณสี ขณะที่ประสูตินั้นพระบิดาได้สั่งให้ปล่อยนักโทษทั้งหลายออกจากคุก แล้วตั้งราชโอรสให้เป็นอุปราช เมื่อพระเจ้าพรหมทัตสวรรคตแล้วมหาชนสันธกุมารได้ครองเมืองแทน โดยทรงพระราชทานทรัพย์สินเงินทองให้เป็นทานแก่ชาวเมืองทั้งหลายเป็นประจำ พร้อมทั้งแสดงธรรมให้ชาวเมืองตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ให้ทาน รักษาศีลและบำเพ็ญภาวนา ให้แต่ละคนรู้จักและปฏิบัติตนให้เหมาะกับหน้าที่หรือฐานะของตน ทำให้บ้านเมืองสงบสุขร่วมเย็น มหาชนสันธราชาครองเมืองและทำบุญให้ทานอยู่เสมอจนสิ้นอายุขัย  

คณะกรรมการจัดงาน (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า)

ที่ปรึกษา 

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์
     ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทวิชาวรรณศิลป์
     สาขาวิชาวรรณกรรมพื้นเมือง    

 

 

ประธาน

 

รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา
     ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

กรรมการ

 

รองศาสตราจารย์ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล
     ประธานกรรมการศูนย์ล้านนาศึกษา 
     คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สรัสวดี อ๋องสกุล
     ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต 
     สาขาวิชาล้านนาศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ ทองทักษ์
     รองผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา ฝ่ายบริหาร
     สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

รองศาสตราจารย์ฤทธิรงค์ จิวากานนท์
     รองผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์
     สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เปรม สวนสมุทร
     รองผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา ฝ่ายวิจัย
     สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

[PHOTO ALBUM] การประชุมวิชาการระดับชาติ - วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า

การประชุมวิชาการระดับชาติ

 

วรรณกรรมท้องถิ่น : จากวันวานถึงวันหน้า

 

เนื่องในวาระครบ 99 ปี อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย

 

โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย : ENITS
สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ณ โรงแรมแคนทารี่ ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 14 ธันวาคม 2561

 

สถาบันไทยศึกษาขอขอบพระคุณวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่ให้เกียรติมาร่วมให้ความรู้ในการประชุมวิชาการครั้งนี้ รวมถึงท่านผู้เข้าร่วมการประชุมทุกท่านที่ให้ความสนใจกิจกรรมวิชาการของสถาบันไทยศึกษา