คณะผู้จัดงาน (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วิถีแห่งความสุขชุมชน)

การประชุมวิชาการระดับชาติ

วิถีแห่งความสุขชุมชน

18-19 มิถุนายน 2558
โรงแรมอมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก

 

จัดโดย

 

โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS)  
สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

กล่าวนำ (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วิถีแห่งความสุขชุมชน)

โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับงานวิจัยและบริการวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มีดำริจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง วิถีแห่งความสุขชุมชน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางการวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน การส่งเสริมให้คนในชุมชนตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ อันจะทำให้เกิดการสืบสานและธำรงเอกลักษณ์ของการแสวงหาความสุขของชีวิตที่สอดคล้องกับสภาพสังคมในแต่ละชุมชน

 

สถาบันไทยศึกษา ใคร่ขอขอบคุณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งในการกิจกรรมครั้งนี้ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่ได้เอื้อเฟื้อวิทยากรนำเสนอบทความวิจัยในที่ประชุม ได้แก่ คณะอักษรศาสตร์ และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย และ วัดวังหิน อ.เมือง จ.พิษณุโลก ความร่วมมือในครั้งนี้จักเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านไทยศึกษาไปสู่สังคม และส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและกิจกรรมวิชาการร่วมกันในโอกาสต่อไป

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร. สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา

 

ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กำหนดการ 18 มิถุนายน 2558 (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วิถีแห่งความสุขชุมชน)

09.30 – 10.00

 

ลงทะเบียน

 

10.00 – 10.30

 

พิธีเปิดการประชุม 

 

10.30 – 11.15

 

ปาฐกถานำ : ประเพณีพิธีกรรมกับการเสริมสร้างความสุขชุมชน
     ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์
     – คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

11.15 – 12.00

 

พุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสาน : วิถีพุทธ วิถีสุข
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิสิษฐ์ กอบบุญ
     – คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

12.00 – 13.00

 

     รับประทานอาหารกลางวัน

 

13.00 – 13.45

 

“นิทานโชคดี” : การสร้างความสุขด้วยมงคลชีวิต
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัค มหาวรากร
     – คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

13.45 – 14.30

 

ชาวไทยมุสลิมกับความสุขใต้ร่มพระบารมี
     ดลยา เทียนทอง
     – สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

14.30 – 15.15

 

ภาพมหานครแห่งความสุขในเรื่องเล่าพระมหาชนก : วิถีแห่งความสุขใต้พระบรมโพธิสมภาร

     รัชนีกร รัชตกรตระกูล

     – สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กำหนดการ 19 มิถุนายน 2558 (การประชุมวิชาการระดับชาติ - วิถีแห่งความสุขชุมชน)

09.00 – 09.30

 

ลงทะเบียน

 

09.30 – 10.30

 

วิถีแห่งความสุขของชาวพุทธ

     อาจารย์สุภีร์  ทุมทอง

     – วิปัสสนาจารย์ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย

 

10.30 – 11.00

 

     รับประทานอาหารว่าง

 

11.00 – 12.00

 

วิถีแห่งความสุขของชาวพุทธ (ต่อ)

     อาจารย์สุภีร์  ทุมทอง

     – วิปัสสนาจารย์ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย

 

12.00 – 13.00

 

     รับประทานอาหารกลางวัน 

 

13.00 – 14.30

 

วิถีแห่งความสุขของนักวิจัย

     ศาสตราจารย์ ดร.บุษบา  กนกศิลปธรรม

     – คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

14.30 – 15.00

 

     พักรับประทานอาหารว่าง

 

15.00 – 16.30

 

วิถีแห่งความสุขของคนพิษณุโลก

     พระมหาวิเชียร  ชินว์โส

     – วัดวังหิน อ.เมือง จ.พิษณุโลก

 

16.30 – 16.40

 

ปิดการประชุม

ประเพณีพิธีกรรมกับการเสริมสร้างความสุขชุมชน

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์

 

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ชุมชนในสังคมไทยมีทั้งในชนบทและในเมือง และมีหลายแบบ มีทั้งชุมชนที่สมาชิกเป็นกลุ่มชาติพันธ์เดียวกัน มีความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมคล้ายคลึงกัน และชุมชนที่ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ หลากหลายความเชื่อ แต่ก็อยู่ร่วมกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ปัจจัยที่ยึดโยงผู้คนในแต่ละชุมชนให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และเป็นชุมชนเข้มแข็งมีหลายประการ ประเพณีพิธีกรรมบางอย่างน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีบทบาทในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ และความสงบสุขของผู้คนในชุมชนไม่มากก็น้อย

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีแห่งความสุขชุมชน" ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2558 ณ โรงแรมอมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร)

พุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสาน : วิถีพุทธ วิถีสุข

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิสิทธิ์  กอบบุญ

 

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

พุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสานเป็นศิลปะของคนพื้นถิ่นอีสานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องมือทางศิลปะอย่างหนึ่งที่สามารถทำให้เราเข้าใจความคิด ชีวิต และวิถีวัฒนธรรมของคนในอดีตได้ และวิถีวัฒนธรรมนั้นได้ส่งต่อความสำคัญและมีบทบาทมาจนถึงปัจจุบัน บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาพุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสาน ผลการศึกษาพบว่า พุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสานมีความสำคัญในวิถีวัฒนธรรมของชาวอีสานอย่างยิ่ง ในแง่หนึ่งพุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสานสะท้อนให้เห็นความคิด ชีวิต และวัฒนธรรมของคนอีสานในอดีต และอีกแง่หนึ่งพุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสานยังมีบทบาทในวิถีชีวิตของคนอีสานในปัจจุบันด้วยเช่นกัน พุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสานนำเสนอให้เห็นอัตลักษณ์ของคนอีสานที่มีวิถีชีวิตเรียบง่ายโดยมีพระพุทธศาสนาเป็นหลักยึด ในขณะเดียวกันการสร้างสรรค์พุทธศิลป์อย่างประณีตก็สะท้อนให้เห็นความสุขในวิถีพุทธธรรมที่ลึกซึ้ง พุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสานมิใช่เพียงการแสดงให้เห็นวิถีชีวิตที่มีความสุขสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงอุดมการณ์ ความเชื่อความศรัทธา และหลักพุทธธรรมที่ลึกซึ้งแยบคาย นอกจากนี้พุทธศิลป์ในอดีตสามารถเชื่อมโยง และสร้างความสุขให้กับคนอีสานในปัจจุบันได้เช่นเดียวกัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีแห่งความสุขชุมชน" ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2558 ณ โรงแรมอมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก  จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร)

“นิทานโชคดี” : การสร้างความสุขด้วยมงคลชีวิต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัค  มหาวรากร            

 

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ          

 

 

บทความวิจัยนี้มุ่งศึกษาการสร้างความสุขด้วยมงคลชีวิตในการ์ตูนชุดนิทานโชคดี ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาคือการ์ตูนชุดนิทานโชคดี ซึ่งแสดงหลักมงคลชีวิต 38 ประการจำนวน 4 เล่ม ผลงานของสายฝน ศิลปพรหม  ได้แก่ นิทานโชคดี เล่ม 1 “พึ่งพาตน” นิทานโชคดี เล่ม 2 “รู้จักให้” นิทานโชคดี เล่ม 3 “ฝึกตนดี” และนิทานโชคดี เล่ม 4 “ชนะใจได้” ผลการวิจัยพบว่านิทานโชคดี นำเสนอหลักธรรมเรื่อง “มงคลชีวิต” ให้โดดเด่นและเข้าใจง่ายผ่านพฤติกรรมของพระโพธิสัตว์ โดยยังคงลักษณะของนิทานชาดกที่แสดง “เหตุ” และ “ผล” ของการกระทำของมนุษย์ ลักษณะการสร้างสรรค์นิทานชาดกในการ์ตูนชุดนิทานโชคดี มี 3 ลักษณะ ได้แก่ การใช้ภาพการ์ตูนเพื่อแสดงบุคลิกลักษณะของตัวละคร เพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร เพื่อเล่าเรื่อง และเพื่อแสดงหลักธรรม การใช้ภาษาเล่าเรื่องโดยใช้บทสนทนาและการบรรยายที่สั้น กะทัดรัด และการสรุปนิทานเพื่อสื่อสาระธรรมซึ่งเป็นการเน้นย้ำหลัก “มงคลชีวิต” แก่ผู้อ่านอีกครั้ง การ์ตูนชุดนิทานโชคดี ซึ่งมีที่มาจากนิทานชาดกแสดงลักษณะการสร้างสรรค์นิทานชาดกในสังคมไทย ด้วยการใช้ภาพการ์ตูนประกอบตัวภาษาเพื่อให้ผู้อ่านคือเด็กเข้าใจได้ว่า ความโชคดีหรือความสุขในชีวิตเกิดขึ้นได้ด้วยตัวของเราเองโดยปฏิบัติตาม “มงคลชีวิต”

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีแห่งความสุขชุมชน" ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2558 ณ โรงแรมอมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก  จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร)

ชาวไทยมุสลิมกับความสุขใต้ร่มพระบารมี

ดลยา เทียนทอง

 

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย       

 

 

นับแต่ประวัติศาสตร์ มุสลิมหลากหลายชาติพันธุ์ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกและธรรมราชาผู้ปกครองอาณาประชาราษฏ์ทุกเชื้อชาติและศาสนา ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่างเสรี ปราศจากการถูกกีดกันหรือกดขี่ข่มเหงใดๆ ทั้งยังสามารถเผยแพร่ศาสนา และได้รับการส่งเสริมดูแลให้ประกอบสัมมาอาชีพสุจริตได้ตามความเหมาะสม ไม่เพียงเท่านั้น มุสลิมบางส่วนยังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ถวายงานใกล้ชิด หรือมีบทบาทหน้าที่ในกิจการงานสำคัญต่างๆ ของบ้านเมืองด้วย และจวบจนถึงปัจจุบัน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ยังทรงธำรงไว้ซึ่งการเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก และสถานะความเป็นธรรมราชาผู้ประเสริฐสุดอย่างสมบูรณ์แบบ โดยตลอดระยะเวลากว่า 65 ปีในใต้ร่มพระบารมี มุสลิมในแผ่นดินไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไทยมุสลิมต่าง มีความปิติภาคภูมิใจและน้อมสำนึกในพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมศาสนาอิสลามที่มีมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพระราชกรณียกิจนานัปการในการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยาก และอำนวยประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตด้านต่างๆ ของชาวไทยมุสลิมที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นห่างไกล พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ที่ปรากฏนี้ได้นำพาความสุขมาสู่ชาวไทยมุสลิมอย่างครอบคลุมทั้งทางกายและใจ ซึ่งนับเป็นความสุขที่สมบูรณ์โดยแท้

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีแห่งความสุขชุมชน" ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2558 ณ โรงแรมอมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก  จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร)

มหานครแห่งความสุขในเรื่องเล่าพระมหาชนก : วิถีแห่งความสุขใต้พระบรมโพธิสมภาร

รัชนีกร รัชตกรตระกูล

 

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

บทความนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการนำเสนอภาพนคร และศึกษาความหมายที่สื่อผ่านการนำเสนอภาพนคร ในเรื่องเล่าพระมหาชนก ที่ประกอบสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผลการศึกษาพบว่า การนำเสนอภาพมหานครในเรื่องเล่าพระมหาชนก ใช้กลวิธีที่หลากหลาย ทั้งการใช้น้ำเสียงของผู้เล่าเรื่อง การใช้บทพรรณนา การใช้ภาพจิตรกรรม กลวิธีเหล่านี้ทำให้การนำเสนอภาพมิถิลานคร มีลักษณะคล้ายบทชมเมืองในวรรณคดียอพระเกียรติ กล่าวคือมุ่งพรรณนาภาพความเจริญสวยงามของบ้านเมือง และความสุขของประชาชนที่อยู่ในมิถิลานคร ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นความสุขอย่างเป็นรูปธรรมของการปฏิบัติตาม “มรรคาแห่งความสุข” หรือคำสอนของพระมหาชนก อันเป็นตัวแทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยนัยนี้ภาพมหานครแห่งความสุขในเรื่องเล่าพระมหาชนก จึงเป็นภาพฉายความสุขของประชาชนชาวไทยที่อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีแห่งความสุขชุมชน" ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2558 ณ โรงแรมอมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก  จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร)

วิถีแห่งความสุขของชาวพุทธ

อาจารย์สุภีร์ ทุมทอง

 

วิปัสสนาจารย์ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย

 

 

"ความสุข” เป็นธรรมะ เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวใคร ไม่ใช่ของใคร เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งไร้เจ้าของ เป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปตามปรารถนาของใคร ไม่เอาใจใคร ไม่แกล้งใคร เป็นไปตามเงื่อนไขของมัน เป็นของมันอย่างนั้น ไม่เป็นอื่นไปจากนั้น ตามหลักแห่งธรรมทั้งปวงที่ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา

 

หากแบ่งย่อๆ ความสุขมี 3 ระดับ ได้แก่

 

(1) กามสุข ความสุขที่เกิดจากได้รับอารมณ์ที่น่าพอใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

 

(2) สมาธิสุข ความสุขที่เกิดจากการออกจากความวุ่นวายทางโลก มาฝึกจิตให้มีความสามารถที่จะอยู่ได้อย่างเป็นสุข บางครั้งเรียกเนกขัมมสุข หรือฌานสุข

 

(3) นิพพานสุข ความสุขที่เป็นความดับสนิทไปของทุกข์ เป็นภาวะที่ไร้ทุกข์

 

วิถีแห่งความสุขของชาวพุทธ พระพุทธเจ้าทรงสอนพุทธบริษัทใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตั้งแต่เริ่มต้น และพัฒนาความสุขขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่หยุดอยู่กับที่ จนเข้าถึงสุขขั้นสูงสุด ทำให้ไม่อาจกลับมาเป็นทุกข์ได้อีก ความสุขสูงสุดนั้นเข้าถึงได้ด้วยทางที่เต็มไปด้วยความสุข ทางนั้นคือ อริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นทางให้เข้าถึงภาวะไร้ทุกข์ มีสัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า

 

เริ่มจากให้มีความสุขในชีวิตธรรมดา เสวยกามสุข เช่น สุขจากการมีทรัพย์ สุขจากการใช้จ่ายทรัพย์ สุขจากการไม่เป็นหนี้ สุขจากการทำสิ่งที่ไม่เป็นโทษ โดยทรงแสดงเงื่อนไขต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความสุขเหล่านี้

 

ต่อจากนั้น ให้รู้จักข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นข้อจำกัดของกามสุขว่า เป็นสิ่งไม่แน่นอน ไม่อาจจะให้ความสุขที่สมบูรณ์เต็มอิ่ม ลำบากทั้งด้านการแสวงหา การเก็บรักษา และการแย่งชิงกัน ให้รู้จักสุขที่สูงกว่านั้น คือสุขที่เกิดจากความเบิกบานเอิบอิ่มทางใจ ด้วยการทำคุณความดี มีศีล พัฒนาคุณธรรมต่างๆ และการทำสมาธิ ฝึกจิตให้มีความสุขเกิดภายในจิต โดยไม่ต้องพึ่งพิงวัตถุภายนอก

 

ต่อจากนั้น ให้รู้จักข้อเท็จจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือ อริยสัจ 4 เมื่อรู้ข้อเท็จจริง ก็เลิกที่จะยึดถือเอาตามความอยากและตามความคิดของตน อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี เข้าถึงภาวะไร้ทุกข์ คือนิพพาน ไม่กลับมาทุกข์อีก ไม่มีสุขอะไรจะสูงไปกว่านี้ ดังบาลีว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง

 

วิธีปฏิบัติต่อทุกข์และสุขมีหลักดังนี้ (1) ไม่เอาทุกข์มาทับถมตนที่ไม่ได้เป็นทุกข์ (2) ไม่สละสุขที่ชอบธรรม (3) ไม่หมกมุ่นแม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้น (4) เพียรพยายามละเหตุแห่งทุกข์ให้หมดไป

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีแห่งความสุขชุมชน" ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2558 ณ โรงแรมอมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก  จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร)

วิถีแห่งความสุขของนักวิจัย

ศาสตราจารย์ ดร.บุษบา กนกศิลปธรรม

 

คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

 

การนิยาม “ความสุข” อาจแตกต่างกันไปตามบริบททั้งในทางธรรมและทางโลก ในทางโลกอาจสามารถนิยามความสุขอย่างง่ายๆ ว่าหมายถึงระดับความพึงพอใจในชีวิต ซึ่งได้รับมาจากครอบครัว เพื่อนฝูง สถานที่ทำงาน หรือเพื่อนบ้าน การบรรยายมุ่งนำเสนอประเด็นที่เป็นกระแสในแวดวงวิชาการ คือ “นักวิจัยที่มีความสุข” ซึ่งดูเหมือนเป็นแนวคิดยิ่งใหญ่ที่พยายามนำมาใช้บ่งบอกระดับความพึงพอใจของนักวิชาการในการทำงานวิจัย ประเด็นสำคัญของการบรรยายจะกล่าวถึงเคล็ดลับบางประการในการเป็น “นักวิจัยที่มีความสุข” โดยพินิจพิเคราะห์วิธีการที่สร้างขึ้นจากตัวอักษรที่เรียงร้อยเป็นคำว่าความสุขในภาษาอังกฤษ (H-A-P-P-Y) ซึ่งอาจพูดง่ายแต่ทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม หวังว่าการบรรยายนี้จะเป็นแรงบันดาลใจและช่วยกระตุ้นให้นักวิจัยสร้างวิถีชีวิตของนักวิจัยที่อยากจะเป็น

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีแห่งความสุขชุมชน" ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2558 ณ โรงแรมอมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก  จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร)