คณะผู้จัดงาน (การประชุมวิชาการระดับชาติ - พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย)

การประชุมวิชาการระดับชาติ

 

พลวัตแห่งศรัทธา

ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย

 

22 – 24 มิถุนายน 2565
โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี

 

จัดโดย

 

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

โครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี

กล่าวนำ (การประชุมวิชาการระดับชาติ - พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย)

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจ-วัฒนธรรม : ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี มีดำริจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ “พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย” ระหว่างวันที่ 22 – 24 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี จังหวัดปัตตานี เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 

 

การประชุมวิชาการครั้งนี้มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านไทยศึกษาที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ ส่งเสริมการวิจัยเชิงพื้นที่ในด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ตลอดจนเปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมนำเสนอวิถีชีวิตและภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อันจะนำไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
อย่างยั่งยืนของชุมชน โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของการประชุมวิชาการนี้

 

คณะผู้จัดการประชุมได้รับความร่วมมือด้วยดีจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงผู้แทนชุมชนต่าง ๆ ที่ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อันมีค่า ขอขอบพระคุณอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้

 

 

รองศาสตราจารย์ฤทธิรงค์  จิวากานนท์ 

 

ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กำหนดการประชุม วันที่ 22 มิถุนายน 2565 (การประชุมวิชาการระดับชาติ - พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย)

วิชาการเลิศล้น

 

08.00 – 08.30

 

ลงทะเบียน

 

08.30 – 09.00

 

พิธีเปิดการประชุม

 

09.00 – 10.00

 

ศาลเจ้า รูปเคารพและเทพอารักษ์ : ร่องรอยความศรัทธาของชาวจีนในสังคมไทย
     รองศาสตราจารย์ ดร. สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์        
     – คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

10.00 – 10.30

 

รับประทานอาหารว่าง

 

10.30 – 11.15

 

เล่าเรื่องชาวจีนโพ้นทะเลผ่านงานศิลปกรรมในศาลเจ้าโจวซือกงตลาดน้อย
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช      
     – คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

11.15 – 12.00

 

เจ้าพ่อหมื่นราม : สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไทยสู่คติความเชื่อเทพเจ้าจีน
     อาจารย์ ดร. เจษฎา นิลสงวนเดชะ     
     – คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

12.00 – 13.30

 

รับประทานอาหารกลางวัน

 

13.30 – 14.15

 

ยี่จับสี่เห่า (นิทานจีนชุดยี่สิบสี่ยอดกตัญญู) : ความหลากหลายและบทบาทหน้าที่ของวรรณกรรมจีนในสังคมไทย
     อาจารย์ ดร. นรุตม์ คุปต์ธนโรจน์        
     – วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

14.15 – 15.00

 

คุณค่าและการดำรงอยู่ของศาลเจ้าจีนในบริบทสังคมเมืองกรุงเทพมหานคร
     ดร. ภัทรวรรณ พงศ์ศิลป์
     – กองโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

 

15.00 – 15.30

 

รับประทานอาหารว่าง

 

15.30 – 16.00

 

ความศรัทธาและพิธีกรรมเกี่ยวกับพระหมอ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง จังหวัดปัตตานี
     อาจารย์บัญชา เตส่วน
     – คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

16.00 – 16.30

 

ชุมชนจีนในวิถีพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี
     รองศาสตราจารย์อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ
     – รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

กำหนดการประชุม วันที่ 23 มิถุนายน 2565 (การประชุมวิชาการระดับชาติ - พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย)

ชุมชนเลิศล้ำ

 

 

08.00 – 08.30

 

ลงทะเบียน

 

08.30 – 09.15

 

ศาลเจ้าเล่งจูเกียงใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์ : เรื่องเล่าจากความทรงจำของข้าพเจ้า
     คุณพันธุ์ฤทธิ์ วัฒนายากร
     – ทายาทสายตระกูลพระจีนคณานุรักษ์ และอดีตประธานชุมชนหัวตลาด 

 

09.15 – 10.00

 

แนะนำศาลเจ้าแห่งที่ 1 “ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย บางตะโล๊ะ จังหวัดปัตตานี"
      คุณสมมาตย์ เทพพรหม
      – คณะกรรมการศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย บางตะโล๊ะ

 

10.00 – 10.30

 

รับประทานอาหารว่าง

 

10.30 – 11.15

 

แนะนำศาลเจ้าแห่งที่ 2 “ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ จังหวัดยะลา"
     คุณพิพัฒน์ ลาภาวัณย์
     – คณะกรรมการศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ

 

11.15 – 12.00

 

แนะนำศาลเจ้าแห่งที่ 3 “ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลา จังหวัดยะลา”
     คุณประดิษฐ์ รัตตัญญู
     – ประธานศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลา

 

12.00 – 13.30

 

รับประทานอาหารกลางวัน

 

13.30 – 14.15

 

แนะนำศาลเจ้าแห่งที่ 4 “ศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง จังหวัดนราธิวาส”
     คุณสุวรรณ หวังสันติ
     – ผู้ดูแลศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง

 

14.15 – 15.00

 

แนะนำศาลเจ้าแห่งที่ 5 “ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ จังหวัดนราธิวาส”
     คุณลิขสิทธิ์ จินตกานนท์
     – ประธานมูลนิธิศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ นราธิวาส
     คุณพีระ เบญจมานนท์
     – เลขานุการมูลนิธิศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ นราธิวาส

 

15.00 – 15.30

 

รับประทานอาหารว่าง

 

15.30 – 16.30

 

แนะนำเส้นทางการท่องเที่ยวศาลเจ้าจีนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้  “ท่องเที่ยวศาลเจ้าจีน เยือนถิ่นวัฒนธรรม ชื่นชมความงามชายแดนใต้”
     นายชูโชติ เลิศลาภลักขณา 
     – ร้านหย่งชางกิมซิ้น ปัตตานี
     อาจารย์ชวิน พงษ์ผจญ
     – คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

กำหนดการประชุม วันที่ 24 มิถุนายน 2565 (การประชุมวิชาการระดับชาติ - พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย)

วัฒนธรรมเลิศลักษณ์

 

 

07.30 – 08.00

 

ลงทะเบียน

 

08.00 – 08.15

 

เดินทางไปยังศาลเจ้าเล่งจูเกียง (ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) จังหวัดปัตตานี

 

08.15 – 09.00

 

สักการะพระหมอ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และเทพเจ้าอื่น ๆ  

 

09.00 – 10.00

 

เดินทางไปยังศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย บางตะโล๊ะ จังหวัดปัตตานี

 

10.00 – 10.45

 

สักการะตั่วเล่าเอี่ย และเทพเจ้าอื่น ๆ

 

10.45 – 11.45

 

เดินทางไปยังศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ จังหวัดนราธิวาส

 

11.45 – 12.15

 

สักการะพระยูไล และเทพเจ้าอื่น ๆ

 

12.15 – 13.30

 

รับประทานอาหารกลางวัน

 

13.30 – 14.30

 

เดินทางไปยังศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง จังหวัดนราธิวาส

 

14.30 – 15.00

 

สักการะไต่เสี่ยฮุกโจ้ว และเทพเจ้าอื่น ๆ

 

15.00 – 16.45

 

เดินทางไปยังศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ จังหวัดยะลา

 

16.45 – 17.15

 

สักการะเจ้าแม่มาผ่อ และเทพเจ้าอื่น ๆ

 

17.15 – 18.30

 

เดินทางกลับ
 

ศาลเจ้า รูปเคารพ และเทพอารักษ์ : ร่องรอยความศรัทธาของชาวจีนในสังคมไทย

รองศาสตราจารย์ ดร. สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์

 

สาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

ศาลเจ้าจีนในไทยเกิดขึ้นหลังจากที่ชาวจีนได้อพยพเข้ามาตั้งแหล่งอาศัยเป็นกลุ่มก้อนอย่างเหนียวแน่น จากหลักฐานเท่าที่มีอยู่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่าสมัยอยุธยา ดังปรากฏอยู่ทั้งในเอกสารของไทยและจีน ทั้งนี้โบราณวัตถุที่เก็บรักษาอยู่ในศาลเจ้ายังเป็นข้อยืนยันถึงความเก่าแก่ของศาลเจ้าได้ด้วย ลักษณะของศาสนสถานจีนในสังคมไทยยุคแรกอาจเป็นเพิงไม้ที่ไม่ได้ใหญ่โตนัก แต่การบูรณะส่งผลให้รูปแบบทางสถาปัตยกรรมถูกปรับเปลี่ยนไป แต่นั่นหมายความว่าศาสนสถานเหล่านี้ยังคงถูกใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนรูปเคารพขององค์เทพเจ้าที่ชาวจีนในไทยนับถือโดยมากแนบอิงกับแบบแผนและคติความเชื่อที่มีมาแต่ครั้งอาศัยบนแผ่นดินมาตุภูมิ อย่างไรก็ดี ภายใต้การ-ประนีประนอมและการผสมผสานทางคติความเชื่อนั้น เทพเจ้าที่ชาวจีนนับถือส่วนหนึ่งรับมาจากไทย อาทิ เจ้าพ่อเขาตก เทพเจ้าปุนเถ้ากง แต่มีการปรับเปลี่ยน ตีความ และสวมทับให้เข้ากับวิถีความศรัทธาดั้งเดิมที่ตนเองคุ้นเคย อย่างไรก็ตาม ความศรัทธาที่มีต่อเทพอารักษ์ประจำกลุ่มของชาวจีนก็มิได้เสื่อมคลาย ซึ่งศาลเจ้าในลักษณะดังกล่าวเป็นเสมือนศูนย์รวมใจของคนกลุ่มในวัฒนธรรม ยังใช้เป็นสมาคมของกลุ่มชาวจีนในวัฒนธรรมนั้น ๆ ด้วย เป็นต้นว่า ศาลเจ้าเจียวเองเบี้ยว บางรัก คือที่ตั้งของสมาคมจีนไหหลำ หากแต่การสำรวจยังทำให้น่าเชื่อได้ว่าบางศาลเจ้าที่เคยเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมกลุ่มก็มีการยอมรับเทพเจ้าของกลุ่มจีนอื่น ๆ ได้ด้วย อันเกี่ยวเนื่องมาจากความศักดิ์สิทธิ์ในองค์เทพเจ้าหรือการโยกย้ายถิ่นฐาน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)

เล่าเรื่องชาวจีนโพ้นทะเลผ่านงานศิลปกรรมในศาลเจ้าโจวซือกง ตลาดน้อย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

 

ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

 

ชุมชนตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ เป็นพื้นหนึ่งที่มีชาวจีนโพ้นทะเลตั้ง ชุมชนอยู่ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ โดยรวมถึงชาวจีนฮกเกี้ยน ซึ่งอพยพมาจากทางตอนใต้ของมณฑลฝูเจี้ยนด้วย ชาวจีนฮกเกี้ยนกลุ่มนี้สร้างศาลเจ้าโจวซือกงในสมัยรัชกาลที่ 1 ศาลเจ้าแห่งนี้ยังเป็นศูนย์รวมศรัทธาแม้กระทั่งในสมัยปัจจุบัน โดยนอกจากชาวจีนฮกเกี้ยนแล้ว ยังมีชาวจีนกลุ่มภาษาอื่น ๆ รวมไปถึงคนไทยนิยมไปสักการะบูชาเทพเจ้าภายในศาลแห่งนี้

 

รูปแบบสถาปัตยกรรมและประติมากรรมเทพเจ้าภายในศาลเจ้าแห่งนี้สะท้อนความเป็นไปของชาวจีนฮกเกี้ยนในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยงานศิลปกรรมบางประการยังสะท้อนอัตลักษณ์ของชาวจีนฮกเกี้ยน อาทิ การก่อโครงสร้างไม้เหนือผนังด้านหน้าของอาคารทางเข้าเพื่อระบายลม และการใช้โครงสร้างรับน้ำหนักแบบชาเหลียง อีกทั้งยังสะท้อนผ่านการประดิษฐานเทพเจ้าชิงสุ่ยจู่ซือ (โจวซือกง) เป็นประธาน ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่นับถือเฉพาะกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยน นอกจากนี้ ยังปรากฏลักษณะบางประการที่สะท้อนการผสมผสานกับงานศิลปกรรมแหล่งอื่น เช่น การประดับภาพมังกรและเสือที่ผนังด้านข้างของศาลเจ้า การใช้หน้าบัน 5 ธาตุ ซึ่งนิยมในงานสถาปัตยกรรมจีนแต้จิ๋ว งานศิลปกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ชาวจีนฮกเกี้ยนในยุคต้นยังคงรักษาอัตลักษณ์ของตนเองทั้งในด้านความเชื่อและรูปแบบศิลปกรรม อย่างไรก็ดี หลังจากที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ แล้ว มีการเปิดรับรูปแบบศิลปกรรมของชาวจีนกลุ่มภาษาอื่น ๆ หรือของคนไทยมาใช้ในการสร้างศาสนสถานของตนด้วยเช่นกัน
 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)

เจ้าพ่อหมื่นราม : สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไทยสู่คติความเชื่อเทพเจ้าจีน

อาจารย์ ดร. เจษฎา นิลสงวนเดชะ

 

สาขาวิชาภาษาจีน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

 

เจ้าพ่อหมื่นราม ตำแหน่งยศ “หมื่นราม” สังกัด “กองกระบือ” ซึ่งขึ้นตรงต่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติในสมัยรัชกาลที่ 4 หลังเสียชีวิตชาวบ้านในพื้นที่บ้านนาเริ่ง อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ยกย่องให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เปรียบเสมือนเทพารักษ์ไทยที่มีหน้าที่ดูแลรักษาท้องถิ่น ต่อมาเมื่อผู้ศรัทธาชาวจีนแต้จิ๋วที่มีความเคารพนับถือเจ้าพ่อเขาตกและเจ้าพ่อหมื่นรามได้มาอาศัยอยู่ที่จังหวัดตรัง ได้นำความเชื่อนี้มาเผยแพร่จนกลุ่มผู้ศรัทธาชาวจีนในจังหวัดตรังได้ร่วมใจกันสร้างศาลเจ้าพ่อหมื่นราม และมีการเรียกเจ้าพ่อหมื่นรามเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า “ซำฮวบซือ”(三法师) จากการศึกษาพบว่า “ซำฮวบซือ” เป็นชื่อเทพเจ้าที่ชาวจีนจังหวัดตรังให้การเคารพกราบไหว้บูชา ซึ่งความเชื่อเกี่ยวกับ “ซำฮวบซือ” เป็นความเชื่อของชาวจีนทั้งในพื้นที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และอำเภอเมือง จังหวัดตรัง ความเชื่อดังกล่าวมีที่มาจากตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับการร่วมสาบานเป็นพี่น้องของเจ้าพ่อ 3 องค์ คือ ตั่วฮวบซือ (大法师) หรือเจ้าพ่อเขาใหญ่ หย่ีฮวบซือ (二法师) หรือเจ้าพ่อเขาตก ซำฮวบซือ หรือเจ้าพ่อหมื่นราม อันมีมูลเหตุการณ์เชื่อมโยงมาจากประวัติต้นกำเนิดของเทพเจ้าซำซัวก๊กอ้วง (三山国王) ในพื้นที่อำเภอเจียซี (揭西县) มณฑลกวางตุ้ง (广东省) ประเทศจีน ทำให้เจ้าพ่อหมื่นรามได้รับการเคารพบูชาแบบไทยผสมจีนจากกลุ่มผู้ศรัทธาชาวจีนในสังคมไทยตราบจนทุกวันนี้

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)

ยี่จับสี่เห่า (นิทานจีนชุดยี่สิบสี่ยอดกตัญญู) : ความหลากหลายและบทบาทหน้าที่ของวรรณกรรมจีนในสังคมไทย

อาจารย์ ดร. นรุตม์ คุปต์ธนโรจน์

 

ภาควิชาภาษาไทย วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

 

“ยี่จับสี่เห่า” (二十四孝 Èr Shí Sì Xiào) หรือ “นิทานจีนชุดยี่สิบสี่ยอดกตัญญู” เป็นนิทานจีนซึ่งปรากฏมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน เล่าเกี่ยวกับบุคคลที่มีความกตัญญูอย่างยิ่งยวดจำนวนทั้งสิ้น 24 คน ซึ่งตัวละครที่ปรากฏมีทั้งที่เป็นตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ พงศาวดาร หรือเป็นเรื่องเล่าเหนือจริงในลักษณะนิทาน ความน่าสนใจของนิทานชุดนี้คืออนุภาคความกตัญญูและการได้รับรางวัลจากความกตัญญูซึ่งมีความน่าสนใจและมีสีสัน เช่น การชิมอุจจาระของบุพการีเพื่อให้ทราบอาการป่วย การให้มารดาดื่มนมจากเต้า การนอนถอดเสื้อให้ยุงกัดตนแทนบุพการี การสู้กับเสือเพื่อปกป้องบิดา การนั่งร้องไห้คร่ำครวญจนหน่อไม้งอกใน ฤดูหนาวแล้วนำไปให้มารดารับประทาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นิทานชุดนี้มีหลายสำนวนเพราะเป็นวรรณกรรมที่ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน ทำให้มีผู้รวบรวมเรื่องใหม่แทนชุดนิทานเดิม การตัดบางเรื่องออก การแทรกเรื่องใหม่เข้ามาแทนที่ การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบางส่วนหรือแม้แต่การลดหรือเพิ่มจำนวนเรื่อง ยี่จับสี่เห่านอกจากจะแพร่หลายในประเทศจีนแล้วยังพบในหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมทั้งในไทยซึ่งปรากฏหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ รูปแบบวรรณกรรมพบการตีพิมพ์หลากหลายสำนวนทั้งในลักษณะหนังสือธรรมะ การตีพิมพ์เป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพหรือแม้แต่การ์ตูน รูปแบบศิลปกรรมพบในศาลเจ้า วัดจีน วัดไทย วัดญวณ สุสานจีน และมูลนิธิชาวไทยเชื้อสายจีน รูปแบบการแสดงพบในการแสดงงิ้วชุดเบิกโรง รูปแบบพิธีกรรมพบในบทร้องกงเต๊กของจีนแต้จิ๋วและใบเซียมซีในศาลเจ้า นอกจากความหลากหลายดังกล่าวแล้ว ยี่จับสี่เห่ายังมีบทบาทหน้าที่ 4 ประการ ได้แก่ บทบาทหน้าที่ด้านวรรณกรรมคำสอน บทบาทหน้าที่ในเชิงพิธีกรรม บทบาทหน้าที่ในการเป็นองค์ประกอบของศิลปะแบบจีน และบทบาทหน้าที่ด้านการนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นจีน จากบทบาทหน้าที่เหล่านี้ทำให้ยี่จับสี่เห่ายังคงปรากฏอย่างแพร่หลายในสังคมไทยปัจจุบัน
 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)

คุณค่าและการดำรงอยู่ของศาลเจ้าจีนในบริบทสังคมเมืองกรุงเทพมหานคร

ดร. ภัทรวรรณ พงศ์ศิลป์

 

กองโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

 

 

กรุงเทพมหานครเป็นชุมชนเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นเมืองท่าการค้าทางทะเลมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศไทย และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ทำให้มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อพยพเข้ามาอยู่อาศัยจำนวนมาก รวมถึงชุมชน ชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาของเมืองบางกอกและได้ขยายชุมชนออกไปทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้นำประเพณีความเชื่อในการนับถือเทพเจ้าจีนเข้ามาและได้มีการตั้งศาลเจ้าจีนขึ้นเป็นศาสนสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนชาวจีนแต่ละแห่ง ซึ่งสืบทอดต่อกันมาเป็นมรดกวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนในกรุงเทพมหานคร (อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช, 2561) ทว่าการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและกระแสการพัฒนาอย่างรวดเร็วในสังคมเมืองปัจจุบันได้ส่งผลกระทบที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนในกรุงเทพมหานคร (Sirisrisak, 2015) ซึ่งคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามความเข้าใจและความสัมพันธ์ของผู้คนแต่ละกลุ่มภายใต้บริบทสังคมเมือง (Smith, G. S., Messenger, P. M. and Soderland, H. A., 2009) 

 

การนำเสนอนี้อธิบายการให้ความหมายต่อคุณค่าและการดำรงอยู่ของศาลเจ้าจีนที่มีความเก่าแก่ในฐานะมรดกวัฒนธรรมของชุมชนไทยเชื้อสายจีนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งสะท้อนผ่านรูปแบบของการใช้ประโยชน์ มาตรฐานของการอนุรักษ์ และระบบการบริหารจัดการศาลเจ้า โดยการสังเกต สัมภาษณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารและสื่อต่าง ๆ ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบกรณีศึกษาระหว่างกลุ่มศาลเจ้าจีนที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานกับกลุ่มศาลเจ้าจีนที่ไม่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลวัตและช่วงชั้นทางวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกันระหว่างศาลเจ้าจีนแต่ละกลุ่มและความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้คนในสังคมเมืองในลักษณะที่แตกต่างกัน

 

เอกสารอ้างอิง

 

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช. 2561. ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ : ภาพสะท้อนจีนโพ้นทะเลผ่านสถาปัตยกรรมศาลเจ้าสมัยรัชกาลที่ 1-5. นนทบุรี : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด

 

Sirisrisak, T. 2015. “The Urban Development and Heritage Contestation of Bangkok’s China Town”. In van der Veer, P. ed. Handbook of Religion and the Asian City: Aspiration and Urbanizationin the Twenty-First Century. Berkeley: University of California Press. pp. 168-185 

 

Smith, G. S., Messenger, P. M. and Soderland, H. A. 2009. Heritage Values in Contemporary. New York: Routledge
 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)

ความศรัทธาและพิธีกรรมเกี่ยวกับพระหมอ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง จังหวัดปัตตานี

อาจารย์บัญชา เตส่วน

 

สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

 

การนำเสนอนี้มุ่งเน้นการอธิบายความศรัทธาและพิธีกรรมต่อพระหมอศาลเจ้าเล่งจูเกียง จังหวัดปัตตานี จากเรื่องเล่าการกำเนิดพระหมอ การอัญเชิญพระหมอสถิตที่ศาลเจ้าเล่งจูเกียง ความศรัทธาพุทธคุณของพระหมอ พิธีไหว้บูชาและบนบานที่ศาลเจ้า วิธีการศึกษาคือการลงพื้นที่ภาคสนามโดยใช้วิธีสัมภาษณ์แบบเจาะจงและสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม แนวคิดที่ใช้คือบทบาทหน้าที่ทางคติชนวิทยา ขอบเขตประชากรคือคนปัตตานีที่ศรัทธาและทำพิธีเกี่ยวกับพระหมอ ขอบเขตด้านเนื้อหาคือวิเคราะห์ความศรัทธาและพิธีต่อพระหมอ 

 

การนำเสนอนี้นำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับความศรัทธาและพิธีกรรมต่อพระหมอที่สื่อบทบาททางคติชน 3 ประการดังนี้

 

1) การสถิตเป็นองค์ประธานที่ศาลเจ้า ชี้ว่าพระหมอเป็นที่รวมใจและความศรัทธาของชาวปัตตานี ทั้งคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธและผู้ที่มีเชื้อสายจีน 

 

2) เรื่องเล่าการกำเนิดพระหมอที่กล่าวถึงการเป็นเทพและพระผู้ถือศีล แสดงให้เห็นว่าพระหมอมีบทบาทเป็นที่พึ่งทางใจแก่คนปัตตานี ที่ทำพิธีไหว้บูชาและพิธีบนบานที่ศาลเจ้าเพื่อขอพึ่งความศักดิ์สิทธิ์และพุทธคุณของพระหมอให้ช่วยรักษาให้หายป่วยไข้ 

 

3) การดำรงอยู่ของความศรัทธาและพิธีกรรมของพระหมอ คือ บทบาทที่สื่อบรรทัดฐานชุมชนรอบศาลเจ้า ที่คนต่างเชื้อสายอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบเพราะฝากตัวเป็นลูกหลานของพระหมอ
 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)
 

ชุมชนจีนในวิถีพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี

รองศาสตราจารย์ อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ

 

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

 

จังหวัดปัตตานีมีลักษณะสังคมพหุวัฒนธรรมที่โดดเด่น สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การศึกษาและการอนุรักษ์ เพื่อนำมาเป็นต้นทุนในการพลิกฟื้นเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในมิติต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ดำเนินการโครงการวิจัยมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ 3 ระยะ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมเชิงพื้นที่วงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี 2) ม.อ.ปัตตานีกับการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี และ 3) การจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม : การขยายพื้นที่และต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี ระหว่างปี 2561-2565 โดยมีขอบข่ายชุมชนและพื้นที่ศึกษาในย่านวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นเขตเมืองเก่าปัตตานีขนาดพื้นที่ 2.093 ตารางกิโลเมตร ตามประกาศคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 3 บริเวณซึ่งเชื่อมต่อกันโดยแม่น้ำปัตตานี ได้แก่ กลุ่มพื้นที่ทางทิศเหนือเป็นชุมชนจีนบริเวณถนนอาเนาะรูที่ตั้งศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว กลุ่มพื้นที่ตอนกลางบริเวณถนนฤาดีและถนนปัตตานี-ภิรมย์ซึ่งเป็นย่านการค้าและชุมชนโดยรอบ และกลุ่มพื้นที่ทางทิศใต้บริเวณเมืองเก่าจะบังติกอซึ่งเป็นที่ตั้งของวังเจ้าเมืองและย่านชุมชนโดยรอบ ครอบคลุมชุมชนไทย ชุมชนมลายู และชุมชนจีน โดยมีองค์ประกอบและทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมในพื้นที่ที่ศึกษา ประกอบด้วยมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิทัศน์วัฒนธรรม วิสาหกิจวัฒนธรรม องค์กรวัฒนธรรม มรดกทางธรรมชาติและเทศกาลวัฒนธรรม 

 

การนำเสนอ เรื่อง “ชุมชนจีนในวิถีพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี” ครั้งนี้เป็นการเพ่งมองเฉพาะมิติพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่ทางสังคม และพื้นที่ศรัทธาเฉพาะ “ชุมชนจีน” ในพื้นที่วงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี ถนนอาเนาะรู ถนนปัตตานีภิรมย์ และถนนฤาดีซึ่งเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจย่านตลาดจีนและที่อยู่อาศัยของชาวจีนกลุ่มแรก ๆ ที่เดินทางมายังปัตตานีและได้ก่อร่างสร้างถิ่นฐานทำมาค้าขายจนมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจในดินแดนที่แตกต่างจากวัฒนธรรมเดิม สามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้คน สามารถปรับตัวยอมรับลักษณะวัฒนธรรมที่เปิดกว้างแต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของตน มีการสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น ไหว้เทพเจ้า ไหว้พระจันทร์ ไหว้บรรพบุรุษ เฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน เทศกาลเช็งเม้ง เป็นต้น

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)

ศาลเจ้าเล่งจูเกียงใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์ : เรื่องเล่าจากความทรงจำของข้าพเจ้า

พันธุ์ฤทธิ์ วัฒนายากร

 

ทายาทสายตระกูลพระจีนคณานุรักษ์ และอดีตประธานชุมชนหัวตลาด

 

 

การบรรยายนี้เป็นการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ราชวงศ์จักรีนับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร เป็นพระบรมวง-ศานุวงศ์พระองค์สุดท้ายในรัชสมัยนั้นที่เสด็จฯ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง เรื่องราวเหล่านี้ประมวลมาจากความทรงจำของข้าพเจ้า “พันธุ์ฤทธิ์ วัฒนายากร” หรือ “พ่อป้อง” ที่ลูกหลานชุมชนหัวตลาดเรียกกันทั่วไป ทั้งที่ผ่านการบอกเล่ากันในครอบครัวที่สืบสายตระกูลมาจากพระจีนคณานุรักษ์ ผู้เป็นปูชนียบุคคลของศาลเจ้าเล่งจูเกียง 

 

การศึกษาหลักฐานประเภทเอกสารและภาพถ่ายต่าง ๆ ซึ่งเป็นสมบัติของครอบครัวที่คุณพ่อสมพร วัฒนายากร อดีตผู้จัดการศาลเจ้า เก็บรักษาไว้อย่างดีและส่งต่อมาถึงรุ่นปัจจุบัน ตลอดจนการมีประสบการณ์โดยตรงในฐานะอดีตประธานชุมชนหัวตลาดซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของศาลเจ้า และเป็นพื้นที่ที่กลุ่มคนชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนหนึ่งสามารถเป็นประจักษ์พยานสำคัญเกี่ยวกับการเสด็จฯ ศาลเจ้าเล่งจูเกียงของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ราชวงศ์จักรี ได้ด้วย

 

การบรรยายนี้เริ่มจากประวัติพระจีนคณานุรักษ์ที่เกี่ยวกับศาลเจ้าเล่งจูเกียง จากนั้นจะนำเสนอหลักฐานทางประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าเกี่ยวกับศาลเจ้าที่แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 และ 6 ทั้งต่อศาลเจ้าและชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดปัตตานี รวมถึงบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้เกี่ยวข้องกับการเสด็จฯ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รวมถึงพระบรม-วงศานุวงศ์ในรัชกาลของพระองค์ ดังนี้ 

 

– สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 
– สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร 
– สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
– สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัคราชกุมารี และ
– สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

 

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอภาพถ่ายพร้อมประวัติและความเป็นมาของกระถางธูปพระราชทานและกระถางธูปประทานแต่ละใบ นับตั้งแต่กระถางรูปสลักลายพระนาม จปร. ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดเครื่องสังเค็ดที่ใช้ประกอบพระราชพิธีออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างสำหรับใช้ในพระราชพิธีดังกล่าว แล้วจึงพระราชทานแก่ศาลเจ้าจีนต่างๆ ในประเทศ

 

การบรรยายนี้นับเป็นชุมทางสำคัญ ในฐานะพื้นที่ที่เก็บรวบรวมเรื่องราวของศาลเจ้าเล่งจูเกียงที่มีความสัมพันธ์สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย อันแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ในฐานะอัครศาสนูปถัมภก ผู้ทรงเข้าใจและเข้าถึงความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวิถีชีวิตของพสกนิกรทุกหมู่เหล่าบนแผ่นดินไทยที่อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ก่อให้เกิดพระราชกรณีย-กิจแห่งการพัฒนาที่ยังความเจริญก้าวหน้าของประเทศและความปลาบปลื้มใจของประชาชน โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดปัตตานี

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)

ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย บางตะโล๊ะ จังหวัดปัตตานี

ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย บางตะโล๊ะ ปัจจุบันตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลปะเสยะวอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นศาลเจ้าที่มีประวัติยาวนาน เชื่อว่ามีจุดเริ่มต้นประมาณ พ.ศ. 2381 เมื่อบิดาของนายคงซึ่งเป็นชาวไทย-พุทธเชื้อสายจีน ได้ไปขอปลาจากชาวมุสลิมที่กำลังออกหาปลาอยู่ ขณะนั้นมีท่อนไม้ท่อนหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยพวกหอยและเพรียงติดอวนขึ้นมาด้วย ชาวมุสลิมจึงโยนทิ้งลงไปในทะเลแต่ท่อนไม้ดังกล่าวกลับติดอวนขึ้นมาอีกครั้ง เป็นที่แปลกใจของผู้คนบนเรือนั้น เมื่อพิจารณท่อนไม้อย่างละเอียดและพบว่ามีลักษณะคล้ายองค์พระจีน ชาวมุสลิมจึงเรียกบิดาของนายคงผู้เป็นชาวไทย-พุทธคนเดียวในบริเวณนั้นมานำพระจีนออกจากอวน ทันทีที่บิดาของนายคงซึ่งป่วยเป็นโรคคุดทะราด (ลักษณะอาการคล้ายโรคเรื้อน) อุ้มพระจีนออกจากอวนก็รู้สึกมีกำลังแข็งแรงขึ้นมาและออกวิ่งด้วยเท้าเปล่าฝ่าดงหญ้าลูกลมที่แหลมคมจากบริเวณชายฝั่งทะเลลงคลองข้ามฝั่งไปยังบ้านบางตะโล๊ะ แล้วนำองค์พระไปวางไว้ในกอเตย ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ยในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน 

 

หลังจากนั้น บิดาของนายคงได้ไปบอกข่าวเรื่ององค์พระนี้แก่ “แป๊ะตัน” หัวหน้าหมู่บ้านซึ่งเป็นผู้มีฐานะดีและได้รับการเคารพนับถือจากชุมชน แป๊ะตันจึงเกณฑ์ชาวบ้านมาดูและช่วยกันแกะพวกหอยและเพรียงที่ติดอยู่ที่องค์พระออก ก่อนนำองค์พระมาวางบนโต๊ะและรมด้วยควันธูปและกำยานพร้อมทั้งตีล่อโก้ว (เครื่องดนตรีจีนที่ประกอบกันเป็นวงดนตรี) เพื่อให้เทพเจ้าได้มาสถิต ณ องค์พระ ในตอนนั้นเอง องค์พระได้แสดงปาฏิหาริย์โดยการทำให้โต๊ะที่ตั้งองค์พระสั่นไปมา แป๊ะตันและชาวบ้านจึงเกิดความศรัทธาและร่วมกันสร้างศาลเจ้าแบบชั่วคราวขึ้นเพื่อประดิษฐานองค์พระ โดยองค์พระนั้น คือ องค์ตี่ฮู่อ่องเอี่ย (池府王爺) หรือที่ชาวบ้านเรียกอย่างลำลองตามประสาลูกหลานผู้มีจิตศรัทธาว่า “ตั่วเล่าเอี่ย” หรือ “อากง” 

 

ด้วยบารมีของอากง ในเวลาต่อมาโรคคุดทะราดและบาดแผลที่เกิดจากการวิ่งฝ่าดงหญ้าลูกลมของบิดาของนายคงได้หายเป็นปลิดทิ้ง รวมถึงผู้ใดที่เจ็บไข้แล้วมาขอพรหรือบนบานต่อองค์พระมักจะหายจากอาการเจ็บไข้เหล่านั้นจนเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ เหตุนี้ ชื่อเสียงและความศักดิ์สิทธิ์ของอากงจึงเลื่องลือไปในบริเวณพื้นที่ที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะในกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน ที่ต่างเดินทางมาขอพรอากงให้สิ่งที่คิดสัมฤทธิ์ผลดังใจและแคล้วคลาดปลอดภัยจากเคราะห์และโรคร้ายทั้งปวง 

 

ความศักดิ์สิทธิ์ของอากง โดยเฉพาะด้านการคุ้มครองชาวประมงจากพายุคลื่นลม และการปัดเป่าโรคระบาด เช่น อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไม่ให้คร่าชีวิตของชาวบ้านบางตะโล๊ะท่ามกลางสถานการณ์ที่หมู่บ้านใกล้เคียงมีผู้คนล้มตายจากโรคระบาดเป็นจำนวนมาก ได้รับการบอกเล่าอย่างกว้างขวางจนทราบถึงเจ้าเมืองสายบุรี หรือ “พระยาแขก” ท่านจึงได้มาบนบานต่ออากงและมอบเหรียญทองคำลายดวงดาวพระจันทร์เสี้ยว ตามที่ท่านได้บนบานไว้ในเวลาต่อมา

 

ต่อมาเมื่อเถ้าแก่ “เองวัฒน์” ได้เข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบดูแลศาลเจ้า ท่านและแป๊ะตันได้ร่วมมือร่วมใจกับชาวบ้านสร้างศาลเจ้าแบบถาวรขึ้น และได้ให้ช่างฝีมือมาแกะสลักไม้เป็นรูปพระจีน 3 องค์ ได้แก่ ปุนเถ้าก๊อง ม่อจ้อโป่ และฮู่จ้อ (เจ้าแม่กวนอิม) เพื่อประดิษฐานร่วมกับอากงให้ชาวบ้านเคารพสักการะ แต่นั้นมา จึงจัดให้มีงานประจำปีขึ้นทุกปีซึ่งถือเป็นงานวันเกิดของอากง 

 

ปัจจุบันศาลเจ้าแห่งนี้ไม่มีร่างทรง เนื่องจากผู้ที่อากงจะรับเป็นร่างทรงจะต้องเป็นผู้ที่มีแซ่ (นามสกุล) เดียวกับท่าน ทำเนียบร่างทรงของศาลเจ้าแห่งนี้มีอยู่ 4 คนตามลำดับ คือ ตั่งกี่สู่ ตั่งกี่วัฒน์ ตั่งกี่แป๊ะจี่ และตั่งกี่จิ้วป่าน ทุกคนล้วนถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา อาจกล่าวได้ว่า พิธีกรรมบางส่วนที่ศาลเจ้าเคยปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตได้เลือนหายตามการจากไปของร่างทรงเหล่านี้

 

อย่างไรก็ตาม ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ยยังคงสืบทอดพิธีแห่หามพระในงานวันเกิดของอากงอยู่ทุกปี กำหนดระยะเวลาจัดงาน 5 วัน 5 คืน โดยเริ่มต้นวันแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 หรือ 4 ก่อนวันมาฆบูชา 1 วัน และมีพิธีไหว้พระจันทร์ตอนย่ำรุ่ง (ประมาณ 05.00 น.) ของวันขึ้น15 ค่ำ ตลอดจนฉลองวันเกิดของอากงในวันแรม 3 ค่ำ ซึ่งจะมีการเชิญองค์พระทุกองค์ขึ้นเกี้ยวและหามแห่ไปตามบ้านเรือนของลูกหลานในเขตตำบลตะลุบันที่เคารพนับถือองค์พระเหล่านี้ อำเภอสายบุรี ก่อนที่จะไปปักหลักคุ้มของเขตของท่าน (เต็งฮู่) ที่หน้าถ้ำหลังที่ทำการเทศบาลในปัจจุบัน แล้วจึงกลับศาลเจ้าและไปลงเล่นน้ำทะเลบริเวณที่เชื่อกันว่าพบองค์พระในอดีต จากนั้นเป็นการปักหลักเขตที่ชายทะเลและที่ทางเข้าหมู่บ้านบางตะโล๊ะ พิธีลุยไฟ และการเชิญพระกลับเข้าศาลเจ้าซึ่งเป็นพิธีสุดท้าย อนึ่ง จะ มีมหรสพต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาจัดงาน มหรสพที่ขาดไม่ได้คือการแสดงมโนห์รา

 

นอกจากงานวันเกิดของอากงแล้ว ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ยยังสืบต่อพิธีกรรมล่องเรือสำเภาลงทะเลเพื่อลอยเคราะห์และสิ่งอัปมงคลในบริเวณดังกล่าวออกจากชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธามาร่วมพิธีและพื้นที่ พิธีกรรมนี้เป็นการสืบทอดความเชื่อตามตำนานของตี่ฮู่อ่องเอี่ยที่ท่านและน้องทั้ง 6 คน ถูกพิษจนถึงแก่ชีวิต มีเพียงท่านและน้องอีก 2 คน ซึ่งต่อมาลูกหลานเรียกกันว่า “ยี่เล่าเอี่ย” และ “ซำเล่าเอี่ย” มาสถิตเป็นองค์เทพ ส่วนน้องอีก 4 คน ซึ่งมีนิสัยอันธพาลกลายเป็นดวงวิญญาณเร่ร่อน จึงจำเป็นต้องทำพิธีส่งดวงวิญญาณเหล่านี้และพรรคพวกลงเรือสำเภาออกสู่ทะเล เพื่อไม่ให้มารังควานชาวบ้าน พิธีนี้จัดขึ้นเดือนพฤษภาคมของทุกปีซึ่งเป็นช่วงที่มีลมบกพัดจัด โดยจะมีการทอดเบี้ยเสี่ยงทาย (ปะโป้ย) เพื่อถามกำหนดวันทำและล่องเรือสำเภา โดยภายในเรือนี้จะบรรทุกเสบียงอาหาร สิ่งของอัปมงคลที่พบโดยการชี้ของเกี้ยวพระขณะทำการหามแห่พระ ตลอดจนเส้นผมและเล็บของชาวบ้านที่ต้องการลอยเคราะห์ไปกับเรือสำเภานี้ เมื่อถึงวันลอยเรือสำเภาตามที่กำหนด ชาวบ้านจะใช้ขบวนเรือลากจูงเรือสำเภาไปกลางทะเลาแล้วทำพิธีเวียนรอบเรือสำเภา 3 รอบ ก่อนกลับขึ้นฝั่ง

 

นอกจากศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ยที่บ้านบางตะโล๊ะแล้ว ในอำเภอสายบุรียังมีศาลเจ้าเล่าเอี๊ยะกง ซึ่งประดิษฐานองค์ตี่ฮู่อ่องเอี่ยพร้อมน้องของท่านทั้ง 2 องค์ ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้เคารพสักการะด้วย

 

ผู้ศรัทธาและสนใจมากราบอากงที่ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย บ้านบางตะโล๊ะ นี้สามารถติดตามข่าวสารทางเพจเฟซบุ๊ก เจ้าพ่อตั่วเล่าเอี่ย ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย บางตะโล๊ะ และสามารถติดตามข่าวสารของศาลเจ้าเล่าเอี๊ยะกง อำเภอสายบุรี ที่เพจเฟซบุ๊ก ศาลเจ้าจ่ายเฮงเกียง เล่าเอี่ยก๊องตี่ฮู้อ่องเอี่ยเบ้ว

 

หมายเหตุ 

 

เรียบเรียงจากเอกสารต้นฉบับของนายฉ้วน เบ้งฮ้อ นายแจ้ง สกนธวุฒิ (ผู้เล่า) และนายกิตติ เบ้งฮ้อ (ผู้เรียบเรียง) และคำบอกเล่าของชาวบ้านบางตะโล๊ะ ทั้งนี้ ได้รับการตรวจทานความถูกต้องจากผู้แทนศาลเจ้าแล้ว ผู้ที่สนใจใช้ข้อมูลชุดนี้เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ขอความกรุณาอ้างอิงแหล่งข้อมูลนี้โดยระบุชื่อ ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย บางตะโล๊ะ ในฐานะผู้เขียน 

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)

ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ จังหวัดยะลา

ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ หรือที่มีชื่อภาษาจีนซึ่งปรากฏอยู่บนป้ายชื่อของทางศาลเจ้าว่า ศาลเจ้าหลงฝ่าจุง (龍華宮) ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านแบหอ ตำบลกาลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ห่างจากตัวเมืองยะลาไปทางทิศตะวันออกตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4067 ระยะประมาณ 22 กิโลเมตร และอยู่ติดกับอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาสด้วย ศาลเจ้าแม่มาผ่อแห่งนี้เป็นศาลเจ้าแห่งเดียวในอำเภอรามัน ขณะที่หมู่บ้านแบหอก็เป็นหนึ่งพื้นที่ในชายแดนใต้ที่ได้ฉายภาพสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างชัดเจนยิ่ง เพราะมีทั้งผู้อาศัยที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยมุสลิม ชาวไทยพุทธ และชาวไทยซิกซ์ ซึ่งอยู่ร่วมกันบนวิถีของการเคารพความแตกต่างกันมายาวนาน

 

ตามประวัติที่เล่าสืบกันมา เมื่อประมาณ พ.ศ. 2227 หมู่บ้านแบหอเป็นหมู่บ้านที่มีชาวจีนแผ่นดินใหญ่อพยพมาประกอบอาชีพทำเหมืองแร่ดีบุก และมีชาวจีนชื่อ “นายฉิ่นกิม” เป็นผู้อัญเชิญรูปจำลององค์เจ้าแม่มาผ่อมาด้วย เพื่อไว้กราบไหว้บูชาช่วงที่ตนเข้ามาทำเหมือง นายฉิ่นกิมได้สร้างศาลเจ้าให้เจ้าแม่มาผ่อ ตามคติความเชื่อของคนจีนที่จะไม่นำพระมาไว้ที่บ้านพักอาศัยของตนเอง แต่จะสร้างบ้านอีกหลังไว้ประดิษฐานพระเพื่อกราบไหว้โดยเฉพาะ กาลเวลาผ่านไปได้มีการยกเลิกการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ คนจีนบางส่วนจึงได้ย้ายถิ่นฐานออกไป ประกอบกับศาลเจ้ามีสภาพทรุดโทรมลง ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างศาลเจ้าแม่มาผ่อขึ้นใหม่บริเวณที่ตั้งปัจจุบัน โดยมีลักษณะเป็นบ้านไม้หลังเล็ก ๆ ซึ่งมีการบูรณะอย่างต่อเนื่องมาแล้ว 5 ครั้ง ทั้งนี้ บริเวณด้านเหนือของศาลเจ้ามีศาลเจ้าแป๊ะกงตั้งอยู่ด้วย ซึ่งสร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 2540

 

ปัจจุบัน ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอเป็นที่ประดิษฐานรูปจำลององค์เทพเจ้า  สำคัญจำนวน 7 องค์ แต่มีเทพเจ้าทั้งหมด 8 องค์ โดยเทพเจ้าแต่ละองค์ล้วนมีความผูกพันกับผู้คนในพื้นที่ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ และมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจจากคำบอกเล่าของชาวบ้านแบหอที่ใกล้ชิดกับศาลเจ้า ดังนี้

 

 

เจ้าแม่มาผ่อ (天后聖母) เจ้าแม่ท่ายมา (大天后聖母) และเจ้าแม่ซามมา (三天后聖母)

 

ก่อนที่จะได้รับการสถาปนาเป็นเทพ เจ้าแม่มาผ่ออาศัยอยู่ที่ประเทศจีน มีพี่น้องร่วมสาบาน 2 คน คือ “เจ้าแม่ท่ายมา” ผู้เป็นพี่ใหญ่ และ “เจ้าแม่ซามมา” ผู้เป็นน้องเล็ก ในยุคนั้นประเทศจีนประสบความยากลำบาก ผู้คนส่วนใหญ่ยากจน เจ้าแม่ทั้งสามมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือคนที่เจ็บไข้ไม่สบายแต่ไม่มีเงินรักษา หรือเดือดร้อน แต่ท่านไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้มากนักด้วยไม่มีความสามารถที่มากเพียงพอ เหตุนี้ ทั้ง 3 ท่านจึงออกเดินทางไปเรื่อย ๆ จนถึงทะเลและเห็นเส้นลวดที่ถูกขึงพาดยาวอยู่บนทะเลประมาณ 3 – 4 เส้น ทั้งยังได้พบชายผู้หนึ่ง ยืนอยู่อีกฝั่ง เขาได้กล่าวกับเจ้าแม่ทั้งสามว่า ในเมื่อพวกท่านเดินมาถึงที่แห่งนี้ หากท่านมีจิตเมตตาและมีใจตั้งมั่นอยากจะช่วยเหลือคนที่เจ็บไข้ไม่สบายและคนที่เดือดร้อน ให้พวกท่านเดินบนเส้นลวดเหล่านี้ข้ามทะเลไปให้ได้ ถ้าพวกท่านสามารถเดินไปจนสุดทางได้จะกลายเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่เปี่ยมบารมี มีทั้งความรู้และความสามารถที่จะศึกษาวิชาต่าง ๆ ที่สนใจเพื่อใช้ช่วยเหลือผู้คน

 

เมื่อได้ยินเช่นนั้น เจ้าแม่ท่ายมาจึงเดินบนเส้นลวดข้ามทะเลเป็นคนแรก ท่านค่อย ๆ เดินไปเรื่อย ๆ และหายไปในหมอกขาวท่ามกลางทะเลที่กว้างใหญ่ หลังจากนั้นเจ้าแม่มาผ่อและเจ้าแม่ซามมาต่างเดินบนเส้นลวดตามกันไปและหายไปในหมอกขาวเช่นกัน จากนั้น แต่ละท่านจึงไปศึกษาวิชาต่าง ๆ ตามที่สนใจ 

 

เจ้าแม่ท่ายมา เป็นผู้หญิงที่มีลักษณะนิสัยห้าวหาญและชอบเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ จึงศึกษาเกี่ยวกับวิชาการสู้รบและเพลงดาบ เจ้าแม่ท่ายมานี้คือ “เจ้าแม่โต๊ะโมะ” ที่สถิตที่ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ จังหวัดนราธิวาส

 

เจ้าแม่มาผ่อ เป็นผู้หญิงที่มีลักษณะนิสัยนุ่มนวล อ่อนโยน ชอบศึกษาค้นคว้าตำรายาสมุนไพร จึงเลือกศึกษาทางด้านนี้ด้วยตั้งใจช่วยรักษาโรคภัยต่าง ๆ 

 

เจ้าแม่ซามมา เป็นผู้หญิงที่มีลักษณะนิสัยอย่างสาววัยรุ่นและรักสนุก เนื่องจากเป็นน้องเล็ก ท่านชอบอ่านตำราต่าง ๆ และสนใจศึกษาศิลปะการต่อสู้ แต่จะถนัดด้านศิลปะการต่อสู้และวิชาการสู้รบเป็นพิเศษ 

 

หลังจากที่เจ้าแม่มาผ่อมาประดิษฐานอยู่ที่หมู่บ้านแบหอ ต่อมาเจ้าแม่ได้ประทับทรงและบอกกล่าวลูกหลานให้เชิญพี่น้องของท่าน คือ เจ้าแม่ท่ายมา ที่จังหวัดนราธิวาส และเจ้าแม่ซามมา มาสถิตอยู่ ณ ศาลเจ้ามาผ่อแบหอนี้ด้วยกัน

 

 

เจ้าพ่อหลินท่ายซือหย่า (林太师爺) 

 

เดิม เจ้าพ่อหลินท่ายซือหย่า ประทับอยู่เหมืองแร่ ได้รับการอัญเชิญมาจากเมืองจีนโดยตระกูลของนายรัตน์ เง่าสวัสดิ์ ในขณะนั้น เมื่อการทำเหมืองแร่ถูกยกเลิก ทางตระกูลจึงได้อัญเชิญรูปจำลององค์ท่านจากที่เหมืองมากราบไหว้บูชาที่บ้าน หลังจากนั้น เจ้าแม่มาผ่อจึงเชิญท่านมาอยู่ที่ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอนี้ 

 

 

เจ้าพ่อเปิ่นเถากง (本頭公公) 

 

คนจีนสมัยก่อนที่ทำเหมืองแร่ที่เขาโต๊ะมาหงัน (บริเวณหมู่บ้านแบหอ) ได้ร่วมกันสร้างศาลเจ้าเปิ่นเถากงขึ้นบริเวณนั้น ต่อมาศาลเจ้ามีสภาพทรุดโทรมลงเพราะไม่มีผู้ดูแลเป็นกิจจะลักษณะ เจ้าแม่มาผ่อจึงเชิญท่านมาอยู่ที่ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอนี้ 

 

 

เจ้าพ่อแยะกวง (月光) 

 

เจ้าพ่อแยะกวง เป็นสหายของเจ้าแม่ซามมา ปีหนึ่งท่านลงจากสวรรค์มาเที่ยวงานสมโภชประจำปีของศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ และเกิดความประทับใจจนไม่ปรารถนาที่จะกลับสวรรค์ จึงขอเจ้าแม่มาผ่อว่าท่านประสงค์ที่จะอยู่ที่ศาลเจ้าแห่งนี้ด้วย แต่เจ้าแม่ปฏิเสธ เพราะตามคติของคนจีน จำนวนพระในศาลเจ้าต้องเป็นเลขคี่ เจ้าพ่อแยะกวงจึงมาอาศัยอยู่เสากลางบ้านของครอบครัวนายลี้หมัน และนางโม่ย แซ่ลี้ เมื่อเจ้าพ่อแยะกวงมาสถิตที่หมู่บ้าน ช่วงนั้น คนจีนมาเลเซียเข้ามาขอให้เจ้าแม่มาผ่อช่วยรักษาอาการป่วยเป็นจำนวนมาก เจ้าพ่อแยะกวงจึงช่วยเจ้าแม่รักษาคนไข้ด้วย ทั้งนี้ เจ้าพ่อแยะกวงได้เข้ามาประทับในศาลเจ้าแห่งนี้พร้อมกับเจ้าพ่อท่ายซือกุง ในเวลาต่อมา

 

 

เจ้าพ่อท่ายซือกุง (太师公)  

 

เจ้าพ่อท่ายซือกุง เป็นเพื่อนของเจ้าแม่ท่ายมา ท่านได้ลงประทับมาพร้อมกับเกี้ยวพระ ลักษณะพิเศษของท่านที่ต่างจากเทพเจ้าองค์อื่น ๆ ในศาลเจ้าคือการใช้ภาษากวางตุ้งในการสื่อสารผ่านร่างทรง 

 

 

เจ้าพ่อท่ายซือหล่าวกงกงท่ายสิ่น (太师老公公太神)      

 

เจ้าพ่อท่ายซือหล่าวกงกงท่ายสิ่น ท่านเป็นอาจารย์ของเจ้าพ่อท่ายซือกุง  มีคุณลักษณะวิเศษคืออิ่มทิพย์ ท่านประทับอยู่ที่ขอนไม้ในศาลเจ้า ไม่มีรูปจำลอง และใช้ภาษาจีนกลางสื่อสารผ่านร่างทรง ท่านมีเทพหูทิพย์และเทพตาทิพย์ที่มีผู้ศรัทธานำมาถวายเจ้าแม่มาผ่อเป็นบริวาร 

 

ปัจจุบัน ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอมีร่างทรงจำนวน 4 ท่าน เป็นร่างทรงของเจ้าแม่มาผ่อ เจ้าพ่อหลินท่ายซือหย่า เจ้าพ่อเปิ่นเถากง และเจ้าพ่อแยะกวง

 

ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ เป็นอีกศาลเจ้าที่มีพิธีกรรมที่น่าสนใจหลายพิธี แต่ละพิธีล้วนสะท้อนอัตลักษณ์ที่ผสมผสานกับลักษณะภูมิศาสตร์เชิงพื้นที่และวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังนี้

 

งานสมโภช-แห่พระลุยไฟ ศาลเจ้าแม่มาผ่อ (แบหอ) ประจำปี ตรงกับวันที่ 12 เดือน 3 ตามปฏิทินจีน โดยจะจัดงาน 5 วัน ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของปี การจัดงานมีวัตถุประสงค์เพื่อบวงสรวงองค์เจ้าแม่ที่ประทับอยู่ในศาลเจ้าแห่งนี้ ตลอดจนเทพยดาฟ้าดินทั้งปวง งานนี้ถือเป็นการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีน และเป็นการสร้างความสมานสามัคคีและสันติในชุมชนชาวพหุวัฒนธรรมแห่งนี้  

 

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มงานประมาณ 1 อาทิตย์ จะมีการทำความสะอาดศาลเจ้า จัดเตรียมเครื่องบูชาต่าง ๆ ตอนเย็นก่อนเข้างานวันแรกจะมีพิธีปักธง 4 ทิศ วันแรกตอนเช้าจะมีพิธีไหว้บวงสรวงเชิญองค์พระและองค์เทพเจ้าต่าง ๆ มาร่วมในงานตามขนบธรรมเนียมประเพณี หลังจากนั้นจะเป็นพิธีเปิดโดยเรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในพิธี นอกจากนี้ ยังมีการเชิญคณะกรรมการศาลเจ้าต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ อบต.กาลอ และชุมชนมุสลิมในหมู่บ้านมาร่วมงานด้วย 

 

ช่วงเวลากลางคืนของงานแต่ละวันจะมีการแสดงอภินิหารผ่านร่างทรงขององค์เจ้าแม่และองค์เจ้าพ่อ เช่น การตีกลอง การแสดงรำดาบ การเดินบันไดมีด การนั่งเก้าอี้ตะปู นอกจากนี้ ยังมีการแสดงมโนห์รา ดิเกร์ฮูลู และหนังตะลุง ทั้งยังมีโรงทานเลี้ยงตลอดงาน  

 

ช่วงค่ำวันที่ 3 จะมีพิธีอัญเชิญองค์เจ้าแม่มาผ่อรวมถึงองค์เทพเจ้าอื่น ๆที่ประดิษฐานอยู่ที่ศาลเจ้าลงเกี้ยว และในเช้าวันที่ 4 (วันแห่) จะมีการอัญเชิญเทพเจ้าทั้งหมดขึ้นเกี้ยวแห่เยี่ยมเยียนลูกหลานในหมู่บ้านแบหอ โดยแต่ละบ้านจะตั้งโต๊ะบูชาเครื่องเซ่นไหว้ที่หน้าบ้าน จุดประทัดต้อนรับ เมื่อเกี้ยวไปถึงหน้าบ้านใด องค์เทพเจ้าจะเข้าไปเยี่ยมผู้ล่วงลับในบ้านโดยการปักเกี้ยวบนป้ายชื่อบรรพบุรุษ นอกจากนี้ ยังมีพิธีสรงน้ำจากบ่อบาดาลที่จะต้องหามเกี้ยวองค์เทพเจ้าไปที่บ่อน้ำเก่าของหมู่บ้านเพื่อตักน้ำจากบ่อขึ้นมาชำระองค์ท่าน ในช่วงเวลากลางคืนของวันนี้จะมีพิธีลุยไฟ ซึ่งจะมีพิธีก่อกองไฟโดยใช้ทางมะพร้าวแห้งที่ผ่านพิธีกรรม แล้วจะเล่นประทัดในวันที่ 5 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานสมโภช ประมาณเที่ยงคืนจะมีพิธีส่งพระขึ้นสวรรค์ด้วยชุดฉลองพระองค์ (เสื้อพระ/เพ้า) พร้อมกระดาษเงินกระดาษทอง

 

พิธีแห่เกี้ยวหายา เป็นพิธีสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของศาลเจ้าแห่งนี้ เดิมทีเมื่อเจ็บไข้เล็ก ๆ น้อย ๆ ชาวบ้านแบหอจะไปไหว้องค์เจ้าแม่มาผ่อเพื่อขอน้ำชาที่โต๊ะบูชาผสมกับขี้เถ้าในกระถางธูปในศาลเจ้ามาดื่มเป็นยารักษา แต่หากมีอาการหนักจะต้องเดินทางเข้าไปในตัวเมืองยะลา ซึ่งในสมัยก่อน ต้องใช้เวลานานและเดินทางลำบากเนื่องจากหมู่บ้านอยู่ห่างไกล เหตุนี้ ชาวบ้านจึงได้ถามต่อองค์เจ้าแม่มาผ่อผ่านการปัวะปวย (โยนไม้เสี่ยงทาย) ว่าจะขออัญเชิญองค์เจ้าแม่ลงเกี้ยวเพื่อออกหายารักษาคนที่เจ็บไข้ได้หรือไม่ และได้คำตอบว่า “ได้” นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของพิธีแห่เกี้ยวหายาสมุนไพรที่สืบทอดจากอดีตตราบจนถึงปัจจุบัน 

 

ทุกวันนี้ ในแต่ละเดือนจะมีพิธีแห่เกี้ยวหายา 1 ครั้ง โดยเริ่มจากการจุดธูปก่อนทำพิธีเชิญองค์เทพเจ้าลงเกี้ยว แล้วให้คนแห่เกี้ยวเพื่อมาตรวจคนไข้ที่มาขอความช่วยเหลือ เมื่อตรวจคนไข้เสร็จ ก็ขึ้นแห่เกี้ยวไปตามป่าเขาบริเวณหมู่บ้านเพื่อค้นหาสมุนไพร เมื่อพบสมุนไพรที่ต้องการแล้ว องค์เทพเจ้าจะบันดาลให้เกี้ยวหนักและชี้ไปยังสมุนไพรนั้น เมื่อได้สมุนไพรครบตามตำรับยาจึงจะกลับศาลเจ้า โดยเกี้ยวจะชี้ให้ชาวบ้านแยกสมุนไพรที่ปะปนกันอยู่ออกเป็นกอง หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำสมุนไพรมาสับและทำความสะอาด ก่อนนำใส่ภาชนะเพื่อไปผ่านพิธีกรรมจุดธูปปลุกเสกยา ระหว่างที่แห่เกี้ยวหายานั้นก็จะมีชาวบ้านและคนไข้ที่รอยาสมุนไพรจะช่วยกันจัดหาอาหารเตรียมไว้ เพื่อเมื่อล้างทำความสะอาดสมุนไพรเสร็จแล้ว ทุกคนจะได้มาร่วมล้อมวงรับประทานอาหารและสนทนากัน เมื่อได้เวลาองค์เจ้าแม่และองค์เจ้าพ่อประทับทรงทำการตรวจคนไข้เพื่อแจกจ่ายยาสมุนไพร ท่านจะเขียนฮู้ (ยันต์จีน) ให้นำไปเผาพร้อมกับยาสมุนไพร โดยท่านจะแจ้งว่าแต่ละคนที่ได้ยากลับไปจะต้องทำอย่างไร มีทั้งนำไปต้มแล้วนำมาดื่ม นำไปประคบ หรือนำไปอาบแทนน้ำ สำหรับภาษาที่ท่านใช้ในการสื่อสารผ่านร่างทรงจะใช้ภาษาจีนแคะ จึงต้องหาผู้ที่สามารถสื่อสารภาษาจีนแคะได้มาช่วยเป็นล่ามแปลภาษาระหว่างคนและร่างทรงของเทพเจ้า 

 

พิธีปลุกเสกรูปจำลององค์เทพเจ้า ด้วยรูปจำลองเดิมขององค์เทพเจ้ามีสภาพชำรุดตามกาลเวลา จึงมีการสร้างรูปจำลองใหม่ที่ทำด้วยทองเหลืองให้แก่เจ้าแม่ท่ายมา เจ้าแม่มาผ่อ เจ้าแม่ซามมา เจ้าพ่อเปิ่นเถากง และเจ้าพ่อหลินท่าย ซือหย่า ต่อมาได้มีสร้างรูปจำลองของเจ้าพ่อแยะกวงและเจ้าพ่อท่ายซือกุงเพิ่มเติ่ม ทั้งนี้ รูปจำลององค์เทพเจ้าทุกองค์ในศาลเจ้าจะผ่านพิธีกรรมโดยร่างทรง

 

สมัยก่อน องค์เจ้าแม่และเจ้าพ่อต่าง ๆ จะประทับร่างทรงเพื่อทำพิธีเขียนฝู่หรือฮู้ด้วยพู่กันจีนกับจูซา (สมุนไพรสีแดงชาด) บนกระดาษสีเหลืองหรือบนผ้าแดง ต่อมาได้มีพิธีกรรมการปลุกเสกวัตถุมงคลครั้งใหญ่ 2 ครั้ง วัตถุมงคล เหล่านั้น ได้แก่ รูปจำลองเจ้าแม่มาผ่อองค์ใหญ่และองค์เล็ก กระจก และเกี้ยวจำลองขนาดเล็ก  

 

นอกจากพิธีกรรมหลักข้างต้น ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอยังมีพิธีกรรมอื่น ๆ ตามเทศกาลและวันสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ วันไหว้ขอบคุณพระ (เซียะซิ่ง) เทศกาลตรุษจีน เทศกาลเชงเม้ง เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง และเทศกาลสารทจีน โดยก่อนทำพิธีไหว้ตามเทศกาลเหล่านี้ ชาวบ้านในหมู่บ้านแบหอจะต้องมาไหว้พระที่ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอตามธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อมา

 

ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอแห่งนี้เป็นสถานที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นเสมือนศูนย์กลางที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของลูกหลานหมู่บ้านแบหอจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน เป็นศาลเจ้าที่ร่างทรงจะต้องชาวไทยเชื้อสายจีนที่เป็นลูกหลานของคนในหมู่บ้านแบหอเท่านั้นและเป็นผู้ที่เจ้าแม่เลือกให้เป็นร่างทรงด้วยตนเอง กล่าวได้ว่าเทพเจ้าในศาลเจ้าแห่งนี้มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านแบหอและผู้เลื่อมใสศรัทธา ผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนบุคคลหนึ่งลืมตาดูโลกจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต กล่าวคือ ผู้ที่ต้องการมีลูกก็มาขอพรกับเจ้าแม่ให้ประทานลูกให้ เมื่อตั้งครรภ์ผู้เป็นพ่อและแม่ก็จะมาขอพรให้ลูกที่อยู่ในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรง เมื่อคลอดลูกแล้วก็พาลูกมาให้เจ้าแม่ผูกข้อมือด้วยผ้าแดง เมื่อลูกไม่สบายหรือสุขภาพไม่แข็งแรงบางครอบครัวก็ยกลูกให้เป็นลูกเจ้าแม่ (ลูกยก) เพื่อให้เด็กหายจากการเจ็บไข้และมีร่างกายสมบูรณ์ เมื่อลูกเติบโตขึ้น เมื่อใดที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็จะมาให้เจ้าแม่ช่วยรักษาผ่านพิธีกรรมแห่เกี้ยวหายา รวมถึงพึ่งพาเจ้าแม่ทุกช่วงสำคัญของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพิธีแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ลงเสาเอก เปิดกิจการ และอื่น ๆ ตลอดจนขอให้เจ้าแม่คุ้มครองชีวิตตนให้รอดพ้นจากภยันตรายทั้งปวง ไม่ว่าภูติผีปีศาจหรือโจรผู้ร้าย ตราบจนวาระสุดท้ายที่มีการแห่เกี้ยวองค์เทพเจ้าไปร่วมงานศพและไถดินฝังศพลูกหลานหมู่บ้านแบหอผู้วายชนม์

 

ปัจจุบัน ชุมชนแบหอที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนบางส่วนได้อพยพย้ายถิ่นออกไปหางานทำ แต่ด้วยความเชื่อและความศรัทธาต่อเทพเจ้าในศาลเจ้าแห่งนี้ เมื่อใดที่ศาลเจ้ามีพิธีกรรมต่าง ๆ ลูกหลานของชุมชนแบหอไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ก็จะกลับมารวมตัวกัน ร่วมแรงร่วมใจจัดงานและพิธีกรรมเพื่อสืบทอดสู่ลูกหลานต่อไป ทั้งนี้ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ลูกหลานและผู้ที่มีจิตศรัทธาสามารถเข้าถึงศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอได้ง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อน โดยใช้ช่องทางสื่อสังคม (Social Media) อย่างไลน์ (Line) เฟซบุ๊ก (Facebook) เพื่อแจ้งข่าวสารและถ่ายทอดสดการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ รวมถึงเพื่อเผยแพร่ภาพความทรงจำและเรื่องราวอันทรงคุณค่าของศาลเจ้าแห่งนี้

 

ผู้ที่สนใจมาสักการะเจ้าแม่มาผ่อ และเทพเจ้าอื่น ๆ รวมถึงขอให้เจ้าแม่ช่วยรักษาโรคและอาการป่วยไข้ต่าง ๆ ให้ สามารถติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทางเฟซบุ๊กโดยกดเพิ่มเพื่อนที่บัญชีผู้ใช้ชื่อ ศาลเจ้าแม่มาผ่อ แบหอ

 

 

หมายเหตุ 

 

เรียบเรียงจากคำบอกเล่าของคณะกรรมการศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ ทั้งนี้ ได้รับการตรวจทานความถูกต้องจากผู้แทนศาลเจ้าแล้ว ผู้ที่สนใจใช้ข้อมูลนี้เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือการศึกษาวิจัย ขอความกรุณาอ้างอิงแหล่งข้อมูลนี้โดยระบุชื่อ ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ ในฐานะผู้เขียน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)

ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลา จังหวัดยะลา

ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลา (也拉慶佛寺 ) หรือที่รู้จักกันในนาม “วัดเห้งเจีย”  ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 30/10 หมู่ 4 ถนนเทศบาล 4 ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นศาลเจ้าอีกแห่งในพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีโครงสร้างใหญ่โตโอ่อ่าและประดิษฐานองค์พระและเทพเจ้ากว่าร้อยองค์ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้มากราบไหว้เป็นสิริมงคล
ศาลเจ้าแห่งนี้มีประวัติยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ โดยมีจุดเริ่มต้นจากครอบครัวของคุณองอาจ รัตตัญญู ครอบครัวชาวจีนเล็ก ๆ ครอบครัวหนึ่งซึ่งได้ประกอบอาชีพค้าขายร่วมกันกับพี่ ๆ น้อง ๆ ในตระกูลในจังหวัดยะลา กล่าวคือคุณแม่ของคุณองอาจเกิดล้มป่วยด้วยโรคที่การแพทย์สมัยนั้นไม่สามารถระบุสาเหตุและรักษาได้ จนกระทั่งองค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้ว (大聖佛祖) ลงมาประทับทรงผ่านร่างของคุณองอาจเพื่อช่วยเหลือคุณแม่จนอาการป่วยของท่านหายเป็นปกติ  ข่าวการประทับทรงรักษาโรคนี้ได้บอกเล่ากันกันปากต่อปาก ทำให้ผู้ที่มีปัญหาหรือเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจต่างพากันมาขอความช่วยเหลือจากการประทับทรงขององค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้วนี้ ในช่วงเวลานั้นการประทับทรงจะใช้พื้นที่ของบ้านพักซึ่งเป็นอาคารห้องแถว โดยปกติจะรับประทับทรงเดือนละ 1 – 2 ครั้ง หรือตามแต่เหตุจำเป็นขององค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้วและตามความเดือดร้อนของผู้ที่มาหา ซึ่งคุณองอาจไม่ เรียกร้องสิ่งตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้นตามคำสั่งขององค์เทพที่ประสงค์ช่วยเหลือผู้คน  

 

เวลาผ่านไปหลายปี จำนวนผู้คนที่มาพึ่งความช่วยเหลือจากร่างทรงขององค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้วมีมากยิ่งขึ้น ทำให้สถานที่ค่อนข้างคับแคบ วันหนึ่ง องค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้วลงประทับทรงและกล่าวกับลูกหลานว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องสร้างศาลเจ้าขึ้น เพื่อประดิษฐานองค์พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ รวมถึงเพื่อที่จะได้ช่วยเหลือผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากได้มากและสะดวกยิ่งขึ้นด้วย จากนั้นจึงมีการเสาะหาสถานที่ที่จะก่อสร้างศาลเจ้าขึ้น โดยมีผู้เสนอสถานที่อยู่หลายแห่งให้องค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้วเป็นผู้เลือก ท่านจึงได้เลือกพื้นที่ที่บริเวณตำบลสะเตงนอก ซึ่งในช่วงเวลานั้นค่อนข้างอยู่ห่างไกลจากย่านชุมชนเมืองยะลาและมีเส้นทางการเดินทางที่ลำบากด้วยมีสภาพข้างทางเป็นป่ายางและมีทางเข้าเป็นถนนดินลูกรัง ผู้ที่จะเดินทางมาจะต้องผ่านคลองเล็ก ๆ ซึ่งมีสะพานไม้เก่าพาดให้รถยนต์ผ่านได้ทีละคันเท่านั้น เมื่อผลการเลือกสถานที่เป็นเช่นนี้ จึงมีผู้ทักท้วงว่าเป็นสถานที่ที่กันดาร ห่างไกลจากชุมชน และการสัญจรลำบาก แต่องค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้วได้ชี้ทางสว่างแก่ลูกศิษย์ว่า ในอนาคต สถานที่บริเวณนี้จะเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งตามลำดับ คณะกรรมการจึงตกลงสร้างศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลาขึ้น ณ ที่นี้ โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2510 และด้วยเหตุที่องค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้ว หรือ “เจ้าพ่อเห้งเจีย” เป็นองค์เทพผู้ดำริให้ก่อสร้างศาลเจ้าขึ้น ผู้คนจึงต่างพากันเรียกศาลเจ้าแห่งนี้อย่างลำลองว่า “วัดเห้งเจีย”

 

ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่นี้ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปีจึงแล้วเสร็จ และได้จัดงานเฉลิมฉลองสมโภชศาลเจ้าครั้งแรกในวันที่ 3 – 7 พฤษภาคม 2512 โดยเบื้องต้นมีองค์พระที่ประดิษฐานเพียง 11 องค์ โดยมีองค์ประธานเป็นองค์หยู่ไหล่ฮุกโจ้ว หรือ พระพุทธ และเฉพาะองค์พระหยู่ไหล่ฮุกโจ้วนี้เองที่จัดสร้างขึ้นตามพุทธลักษณะแบบไทย (ปางมารวิชัย) ส่วนองค์อื่น ๆ จะมีเทวลักษณะตามแบบจีนทั้งนี้เพราะคุณสุทธิชัย รัตตัญญู ประธานคนแรกของศาลเจ้า พี่ชายของคุณองอาจพร้อมทั้งคณะผู้สร้างเห็นพ้องกันว่า เป็นการให้เกียรติและสำนึกถึงบุญคุณของแผ่นดินไทยที่ให้คนจีนและลูกหลานที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนได้มาอยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุข องค์พระทั้ง 11 องค์นี้ มีลักษณะเป็นงานปูนปั้นลงรักปิดทองและมีขนาดใหญ่เท่าตัวคนจริง ในงานสมโภชศาลเจ้าครั้งแรกนี้ คณะกรรมการศาลเจ้าได้เรียนเชิญร่างทรงจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมาช่วยลงทรงเทพเจ้าต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเป็นร่างทรงในงานสมโภชศาลเจ้าในยุคแรกของศาลเจ้า

 

ในปี พ.ศ. 2513 ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลาได้จัดงานสมโภชศาลเจ้าและอัญเชิญองค์พระจำลองของศาลเจ้าออกแห่รอบเมืองยะลา พร้อมจัดให้มีพิธีลุยไฟเป็นปีแรกและจัดให้มีพิธีปลุกเสกพระผงเนื้อว่านร้อยแปด รุ่นแรกของศาลเจ้านี้รวม 11 องค์ คือ องค์พระทั้งหมดของศาลเจ้าในขณะนั้น ทั้งยังมีพิธีเคี่ยวน้ำมันว่านร้อยแปดแจกจ่ายให้ประชาชนนำไปสักการะบูชาและรักษาโรคภัยต่าง ๆ สำหรับการจัดงานสมโภชแห่พระลุยไฟประจำปีของศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลานั้น ได้จัดต่อเนื่องกันมาทุกปี โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 เดือน 3 ของจีน หรือช่วงประมาณเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคม

 

ด้วยบารมีขององค์พระและเทพเจ้า รวมถึงความศรัทธาของลูกหลานเวลาต่อมาจึงได้มีการจัดสร้างองค์พระต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ ตามคำบอกกล่าวขององค์ไต่เสี่ยฮุกโจ้วและผู้ที่มีจิตศรัทธาต่อศาลเจ้าแห่งนี้ ทั้งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2535 ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ได้จัดสร้าง “โรงเจเทียนอ่วงเก็ง”(天皇宮) บริเวณด้านหลังของศาลเจ้าเพื่อใช้เป็นสถานปฏิบัติธรรม ถือศีลกินเจ และประดิษฐานองค์พระและองค์เทพต่าง ๆ เพิ่มเติมจำนวนมาก โดยมีองค์เง็กอ้วงเซี่ยงตี่ (玉皇上帝) หรือองค์เง็กเซียนฮ่องเต้เป็นองค์ประธาน ซึ่งทำพิธีเบิกเนตรองค์พระและองค์เทพเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2541 และเชิญประดิษฐานบนแท่นบูชาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2541 ก่อนจะมีการทำพิธีเปิดป้ายอาคารโรงเจแห่งนี้และจัดงานสมโภชอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2543

 

ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลาเป็นศาลเจ้าหนึ่งในภาคใต้ที่มีองค์พระและองค์เทพประทับเกี้ยวออกแห่มากที่สุด โดยศาลเจ้าแห่งนี้มีองค์พระและองค์เทพรวมทั้งสิ้น 109 องค์ ประดิษฐานที่อาคารศาลเจ้า 49 องค์ และที่โรงเจเทียนอ่วงเก็ง 60 องค์รายละเอียดโดยรวมดังนี้

 

– หยู่ไหล่ฮุกโจ้ว (พระยูไล)

– โผวเอี้ยงผ่อสัก (พระสมันตภัทรโพธิสัตว์) 
– บุ่งซู้ผ่อสัก (พระมัญชุศรีโพธิสัตว์)

– ฉื่อปุยเนี่ยเนี้ย (พระแม่กวนอิม)    
– ปุกกุยฮุกโจ้ว (พระสังฆจาย)

– เฮี่ยงเต็งฮุกโจ้ว (พระทีปังกรพุทธเจ้า)
– หลิ่วลี้ฮุกโจ้ว (พระพิฆเนศวร์)         

– กวงเทียนฮุกโจ้ว
– เฮี่ยงบู่ซัวฮุกโจ้ว หรือ เฮี่ยงเทียนไต่ตี่     

– ถั่งเจ็งฮุกโจ้ว (พระถังซำจั๋ง)    
– ไต่เสี่ยฮุกโจ้ว (พระเห้งเจีย)

– จี้กงฮุกโจ้ว (พระจี้กง)         
– ไต่เสี่ยฮุกโจ้วปางบู้

– ไต่เสี่ยฮุกโจ้วปางสำเร็จ
– เทียนเผิงง่วนซ่วย (เทพตือโป้ยก่าย)

– อึ่งไบ้ฮุกโจ้ว 
– หน่าจาชายซ่วย            

– จงตั๋งง่วยซ่วย    
– กิมจาไท้จื้อ

– บักจาไท้จื้อ        
– อั่งไฮ่ยี้ชายซ่วย 

– บู้ไฉ่ซิ้ง (เทพเจ้าโชคลาภปางบู้)    
– ตี่บ้อเนี้ย (พระแม่ธรณี)

– จุ้ยบ้อเนี่ยเนี้ย (พระแม่คงคา)    
– โหงวก๊กบ้อเนี่ยเนี้ย (พระแม่โพสพ) 

– จูแซเนี้ย (เจ้าแม่กำเนิด)    
– ไหล่ซัวเหล่าบ้อ

– ทีโหวเซี๊ยะบ้อ         
– เทพหูทิพย์  

– เทพตาทิพย์            
– ตั๊กม้อโจ้วซือ  

– กิวเทียนเฮี่ยงนึ่ง (เจ้าแม่เก้าสวรรค์)    
– ไท้เสียงเล่ากุง

– ไท้ส่วยเอี้ย            
– ไท้แปะกิมแช

– ฮั่วท้อเซียงซือ         
– เซียนลี้เท็กก้วย

– เซียนฮั่งเจ็งลี้
– เซียนลื่อตงปิง  

– เซียนเตียก๋วยเล่า        
– เซียนหน่าไฉ่ฮั้ว  

– เซียนฮ้อเซียนโกว        
– เซียนฮั่งเซียนจื้อ 

– เซียนเชาก๊กกู๋        
– หน่ำเทียนมึ้งแปะกง  

– ฮกเต็กแปะกง        
– เองบ่วนตั๊กง่วนซ่วย 

– ซำฮวบโจวซือ (เจ้าพ่อหมื่นราม)    
– เสี่ยอ่วงกง (เจ้าพ่อหลักเมือง) 

– ซำท่งเอี้ย            
– เง็กอ้วงเซี่ยงตี่ (เง็กเซียนฮ่องเต้)

– กิมบ้อเนี่ยเนี้ย        
– อ่วงบ้อเนี่ยเนี้ย 

– สี่ไต่เทียนอ้วง (ท้าวจตุโลกบาล)    
– หยี่นึ่งเสี่ยกุง (เทพสามตา)

– ตี่ฉั่งอ้วงผ่อสัก (พระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์)
– ไต่ฮงโจวซือ (พระไต่ฮงกง)

– ไฉ่เส่งเอี้ย (เทพเจ้าโชคลาภ)    
– ชิงจุ้ยโจวซือ 

– กวงซีอิมผ่อสัก        
– กิมท้งเอี้ย

– เง็กนึ่ง        
– ไชชิ้วไชงั่งกวงซีอิมผ่อสัก  

– ลิ่มฮู้โกวเนี้ย (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว)    
– เต๋าบ้อเนี่ยเนี้ย 

– กิวอ้วงฮุกโจ้ว        
– หน่ำเซ่งแชกุง

– บักเต้าแชกุง        
– เตียเทียนโจวซือ

– ซำเกียกโจวซือ        
– อุ่ยท้อผ่อสัก (พระเวทโพธิสัตว์)

– กวงเสี่ยตี่กุง (เทพเจ้ากวนอู)    
– จิวฉองง่วงกุง

– กวนเพ้งไท้จื้อ        
– ไฮ่เหล่งอ้วง (4 มังกรเจ้าสมุทร) 

– เหงี่ยมหล่ออ้วง (พญายมราช)    
– แฉ่โผ่วกัว (สุวรรณเลขา)

– เตียเสี่ยตี่กุง (ฮวบจู้กง)        
– อั่งเสี่ยตี่กุง

– แชเสี่ยตี่กุง            
– โหงวโถ้วซิ้ง  (เทพ 5 ธาตุ) 

– เทพจงขุย        

 

ในแต่ละปี ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่จัดกิจกรรมและพิธีกรรมเนื่องในวันสำคัญทางศาสนาของชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนมาก ดังนี้

 

– งานพิธีเสริมดวงชะตา (จ้อเก่ง) และพิธีแก้ชง (วันที่ 6 เดือน 1 ของจีน)

– งานสมโภชแห่พระลุยไฟประจำปี (วันที่ 16 – 20 เดือน 3 ของจีน)

– งานทิ้งกระจาดประจำปี (ซิโกว) (เดือน 7 ของจีน)
– งานเทศกาลไหว้พระจันทร์ (วันที่ 15 เดือน 8 ของจีน จัดที่มูลนิธิแม่กอเหนี่ยว ฉื่อเซี่ยงตึ้งยะลา ร่วมกับ 3 องค์กรชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัด)
– งานเทศกาลกินเจประจำปี (วันที่ 1 – 9 เดือน 9 ของจีน)
– งานแก้บนประจำปี (เสี่ยซิ้ง) ( วันที่ 5 เดือน 12 ของจีน)

 

นอกจากกิจกรรมข้างต้นแล้ว ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลายังมีกิจกรรมย่อย เพื่อการสักการะบูชาองค์พระและองค์เทพต่าง ๆ พร้อมทั้งมีการทำพิธีปั้งแซ (ปล่อยชีวิตสัตว์) ในวันเทวสมภพขององค์พระและองค์เทพที่ประดิษฐานในศาลเจ้าแห่งนี้และในโรงเจเทียนอ่วงเก็ง นอกจากนี้ ยังมีการประทับทรงเพื่อช่วยรักษาและปัดเป่าเคราะห์หรือแก้คุณไสย ตามที่มีผู้เดือดร้อนมาขอความช่วยเหลือ โดยไม่ได้เรียกร้องสิ่งตอบแทนใดทั้งสิ้น

 

ผู้ที่มีจิตศรัทธาและประสงค์ที่จะมาสักการะขอพรองค์พระและเทพเจ้าต่าง ๆ รวมถึงร่วมกิจกรรมและพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ ณ ศาลเจ้าเฮ่งคุดจี่ยะลา สามารถติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลทางเพจเฟซบุ๊ก ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลา

 

 

หมายเหตุ 

 

เรียบเรียงจากเอกสารที่เขียนโดยคุณประดิษฐ์ รัตตัญญู ประธานศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลา รุ่นที่ 2 และคำบอกเล่าของท่าน ทั้งนี้ ได้รับการตรวจทานความถูกต้องจากผู้ให้ข้อมูลแล้ว ผู้ที่สนใจใช้ข้อมูลนี้เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ขอความกรุณาอ้างอิงแหล่งข้อมูลนี้โดยระบุชื่อ ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลา ในฐานะผู้เขียน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)

ศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง จังหวัดนราธิวาส

ศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 7 หมู่ 7 ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส แม้อายุศาลเจ้าแห่งนี้จะยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับศาลเจ้าอื่น ๆ คือประมาณ 36 ปีนับตั้งแต่ พ.ศ. 2529 แต่ก็เป็นศาลเจ้าแห่งหนึ่งที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ศรัทธาของผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่จนไปถึงทางฝั่งมาเลเซีย 

 

ย้อนกลับไปก่อนจะมาเป็นศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ยซึ่งตั้งอยู่บริเวณโครงการอ่างเก็บน้ำพิกุลทองในปัจจุบัน ศาสนสถานแห่งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากกิมซิ้นหรือองค์พระไต่เสี่ยฮุกโจ้ว ที่มารดาของคุณสุวรรณ หวังสันติ ได้รับสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษที่เมืองจีน และได้ตั้งบูชากันภายในครอบครัว แต่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ทำให้มีเพื่อนบ้านที่กำลังตกทุกข์ได้ยากแวะเวียนมาสักการะบูชาเป็นครั้งคราว จนเมื่อคุณสุวรรณอายุได้ 12 ปี เกิดเจ็บป่วยด้วยโรคดีซ่านอยู่เป็นเวลานานจนครอบครัวทำใจเตรียมโลงศพไว้ เคราะห์ดีที่วันหนึ่งมารดาของคุณสุวรรณได้พาเขาไปพบร่างทรงที่ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะที่อำเภอสุไหงโกลก จึงทราบว่าอาการป่วยเป็นสัญญาณว่าองค์เทพ “ไต่เสี่ยฮุกโจ้ว” หรือ “เห้งเจีย” ต้องการให้คุณสุวรรณเป็นร่างทรงของท่านเพื่อช่วยเหลือผู้คน เมื่อทราบเช่นนั้นและได้มอบตัวเป็นลูกศิษย์ขององค์เห้งเจีย อาการเจ็บป่วยของคุณสุวรรณก็ดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ยังเป็นเด็กและไม่ต้องการให้เพื่อนวัยเดียวกันล้อเลียนว่าตนเป็นบ้า คุณสุวรรณพยายามทุกวิถีทางที่จะหนีจากการเป็นร่างทรง แต่เมื่ออายุได้ 18 ปี ก็ไม่อาจที่จะหนีจากภารกิจที่องค์เห้งเจียมอบหมายให้ได้อีกต่อไป จึงได้ตัดสินใจดำเนินชีวิตตามลิขิตสวรรค์และเริ่มต้นศึกษาทางด้านนี้อย่างจริงจัง

 

คุณสุวรรณได้ร่ำเรียนวิชาและทำพิธีเบิกเนตรเบิกโอษฐ์จากอาจารย์บุญ บุญรักษ์ ร่างทรงประจำศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะในขณะนั้น และได้รับใช้อาจารย์อยู่หลายปี ก่อนตัดสินใจกลับมาช่วยกิจการของครอบครัวที่บ้านกำแพงตามคำขอของบิดา เมื่อกลับมาอยู่ที่บ้านแล้ว วันหนึ่งในช่วงปลาย พ.ศ. 2529 องค์เห้งเจียได้เข้าประทับทรงและสั่งให้อัญเชิญองค์พระของท่านขึ้นประทับเกี้ยว ออกหามไปหาที่ประดิษฐานจนมาเลือกบริเวณอ่างเก็บน้ำพิกุลทอง ซึ่งด้านหน้าของที่ดินเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ด้านหลังเป็นป่าสวนยาง และด้านข้างเป็นทิวเขาทอดยาว เมื่อเลือกสถานที่แล้ว องค์เห้งเจียได้บอกลูกหลานผ่านร่างทรงด้วยภาษาแบบชาวบ้านว่า “อีก 3 ปี กูจะมีบ้านใหม่” จากนั้น มารดาของคุณสุวรรณจึงได้บริจาคที่ดินผืนนั้นให้สำหรับสร้างศาลเจ้าซึ่งในช่วงต้นเป็นเพียงเพิงไม้หลังคามุงใบจาก ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ขององค์เห้งเจีย 3 ปีต่อมาได้มีพ่อค้าหนุ่มผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจตามที่ได้บนบานต่อองค์เห้งเจียไว้ได้นำปัจจัยมาถวายเพื่อสร้างศาลเจ้าจนแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2532 ตามที่ท่านประกาศไว้ทุกประการ

 

นับแต่นั้น ชื่อเสียงของศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง และคุณสุวรรณหรือที่ขณะนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า “อาจารย์แอ๊ะ” ก็เป็นที่นับถือลือเลื่องไปทั่วโดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่ปรารถนาโชคลาภจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์และผู้ที่ถูกมนตร์ดำคุณไสย ไม่เพียงแต่บารมีขององค์เห้งเจียเท่านั้น ผู้คนที่หลั่งไหลมาที่ศาลเจ้าแห่งนี้ยังมีโอกาสกราบสักการะเทพเจ้าอื่น ๆ ด้วย เช่น เจ้าแม่กวนอิม พระหมอทรงม้า เป็นต้น โดยเทพเจ้าเหล่านี้ล้วนแล้วแต่อัญเชิญมาประดิษฐานที่ศาลเจ้าตามคำสั่งขององค์เห้งเจียที่บอกผ่านร่างทรง 

 

ลักษณะที่น่าสนใจประการหนึ่งของศาลเจ้าแห่งนี้ คือ เทวลักษณะขององค์พระเห้งเจีย องค์แรกเป็นปางนั่งบัลลังก์ มือซ้ายถือคทา มือขวาทำมุทรา องค์พระนี้เป็นองค์พระดั้งเดิมคือเป็นปางเดียวกับองค์พระแรกเริ่มของครอบครัว แม้จะมีการทำพิธีเผาองค์พระเดิมแล้วนำมวลสารมาใส่องค์พระใหม่เพื่อสืบทอดความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระเดิมที่เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา สำหรับองค์ที่สอง มีลักษณะเป็นปางยืนขี่เมฆ มือขวาป้องตาเพื่อใช้ตาทิพย์ทั้งมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตช่วยเหลือผู้คน มือขวาถือไม้กระบองวิเศษ องค์สุดท้ายนั้นเป็นองค์ที่มีขนาดเท่าคนจริงและประทับนั่งบัลลังก์เป็นประธาน อยู่ตรงกลางระหว่างสององค์แรก โดยมือซ้ายของท่านถือคทาหรูอี้ มือขวาถือไม้กระบองวิเศษ กล่าวกันว่าเทวลักษณะขององค์พระเห้งเจียในศาลเจ้าแห่งนี้เป็นไปตามคำสั่งของท่านที่ประสงค์ให้มีทั้งปางนั่ง (ปางบุ๊น) และปางยืน (ปางบู๊) เพื่อที่จะช่วยเหลือเหล่าลูกหลานที่มากราบสักการะได้อย่างรอบด้าน 

 

งานสมโภชของศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง จัดขึ้นช่วงวันเทวสมภพขององค์เห้งเจีย ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ในงานจะมีการแห่พระลุยไฟ ที่พิเศษ คือ การประมูลองค์พระเห้งเจียและแม่เต่าเงินและแม่เต่าทองคำ โดยผู้ที่ชนะการประมูลจะได้นำวัตถุมงคลนี้ไปบูชาส่วนตัวเป็นเวลา 1 ปี และนำกลับมาคืนศาลเจ้าก่อนงานสมโภชปีถัดไป ด้วยศรัทธาของลูกหลานที่มีต่อองค์เห้งเจีย องค์พระที่เปิดให้ประมูลนี้จึงมีได้รับอัญเชิญไปสถิตเป็นมิ่งขวัญทั้งในประเทศ และต่างประเทศตามบุญสัมพันธ์ที่ท่านมีต่อลูกหลานแต่ละคนแต่ละปีสำหรับลูกหลานที่ศรัทธาองค์เห้งเจีย โดยเฉพาะผู้ที่เกิดปีนักษัตรวอก (ปีลิง) นั้นในปีที่ตรงกับปีนักษัตรวอกจะมีการเชิญพระเห้งเจียองค์ใหญ่ซึ่งเป็นองค์ประธานของศาลเจ้าแห่งนี้ ประทับเกี้ยวออกแห่ในงานสมโภชเป็นสิริมงคลแก่ลูกหลานด้วย 

 

ท่ามกลางกระแสศรัทธาที่น้อมนำลูกหลานผู้มีจิตศรัทธาให้หลั่งไหลมากราบไหว้องค์เห้งเจียจนสามารถจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงงานสมโภช เช่น เมื่อ พ.ศ. 2538 มีการจัดหนังกลางแปลงและมโนห์รา รวมถึงมีการจุดประทัดถวายถึงแสนนัด ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของศาลเจ้าแห่งนี้อย่างประมาณมิได้ กล่าวคือ ด้วยที่ตั้งของศาลเจ้าที่อยู่นอกตัวเมืองและอยู่ในพื้นที่ที่ล้อมด้วยป่าและภูเขา ผู้คน ทั้งที่อยู่ในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้กังวลด้านความปลอดภัยและไม่กล้าเดินทางมากราบสักการะ ส่งผลต่อเนื่องถึงปัจจุบันที่บางเดือนไม่มีผู้มากราบสักการะเลยทำให้ศาลเจ้าขาดปัจจัยในการจัดการและบูรณะ ศาลเจ้าในปัจจุบันจึงอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก เปรียบเสมือนมังกรหลับใหลหรือไม่ก็วานรจำศีล ที่รอเวลาตื่นหรือออกจากการปฏิบัติเพื่อเผยแผ่บารมีอย่างเต็มกำลังอีกครั้งหนึ่ง

 

ผู้ที่ศรัทธาองค์เห้งเจียและสนใจเดินทางไปกราบไหว้ท่านที่ศาลเจ้าแห่งนี้ สามารถติดตามข่าวสาร สอบถามข้อมูล และร่วมบุญบริจาคปัจจัยเพื่อบำรุงศาลเจ้าได้ทางเพจเฟซบุ๊ก ศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง นราธิวาส 陶公府甘烹村大聖宮 

 

 

หมายเหตุ 

 

เรียบเรียงจากบทความในนิตยสารมหาสิทธิโชค ฉบับที่ 46 พ.ศ. 2533 และนิตยสารลานโพธิ์ ฉบับที่ 172 พ.ศ. 2539 รวมถึงคำบอกเล่าของคุณสุวรรณ หวังสันติ ทั้งนี้ ได้รับการตรวจทานความถูกต้องจากทางผู้แทนศาลเจ้าแล้ว ผู้ที่สนใจใช้ข้อมูลชุดนี้เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ขอความกรุณาอ้างอิงแหล่งข้อมูลนี้โดยระบุชื่อ ศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง ในฐานะผู้เขียน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)

ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ จังหวัดนราธิวาส

ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ ตั้งอยู่เลขที่ 33 ถนนพิพิธคีรี ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส สันนิษฐานกันว่าเป็นศาลเจ้าแห่งแรกของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในตัวเมืองจังหวัดนราธิวาส จากคำบอกเล่าของหญิงชราชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเมือง (บางนรา) ทำให้ทราบว่าศาลเจ้าแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2458 มีลักษณะเป็นอาคารไม้เล็ก ๆ ต่อมามีชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนได้ช่วยกันบอกบุญรับบริจาคปัจจัยเพื่อก่อสร้างศาลเจ้าปูน ซึ่งใช้เวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 จนเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ.2495 โดยสร้างขึ้นบริเวณ “เขามงคลพิพิธ” เป็นเขาที่เกิดเองตามธรรมชาติ นับเป็นชัยภูมิที่เป็นมงคลถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย ด้วยเป็นส่วนหนึ่งของหัวมังกรที่หันหน้าออกสู่ทะเล 

 

ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ขึ้นทะเบียนเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2509 เป็นสถานที่แห่งความศรัทธาของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในรุ่นถัดมาที่อยู่อาศัยในจังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้ เชื่อกันว่าศาลเจ้าแห่งนี้มี “พ่อปู่มังกรดำ” เป็นเจ้าที่หรือเจ้าศาลซึ่งรูปเคารพของท่านนั้นมีลักษณะเป็นหัวมังกรคาบแก้ว ประดิษฐานอยู่ใต้เก๋งพระองค์ประธานของศาลเจ้า

 

ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งของศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ คือ ภาพปูนปั้นบนฝาผนังภายในศาลเจ้า ซึ่งปั้นเป็นเทพเจ้าต่าง ๆ ได้แก่ 18 อรหันต์ ท้าวจตุโลกบาล และ 4 ขุนพลสวรรค์ โดยภาพปูนปั้นเหล่านี้เป็นฝีมือปั้นของช่างชาวจีนซึ่งปั้นด้วยมือโดยไม่ใช้แม่พิมพ์ และเป็นการปั้นเทวลักษณะจากจินตนาการและความทรงจำ นอกจากภาพปูนปั้นภายในศาลเจ้าแล้ว ส่วนของผนังภายนอกด้านหน้าศาลเจ้ายังมีภาพปูนปั้นบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมจีนพร้อมคำกลอนจีนโบราณประกอบด้วย นับว่าเป็นศิลปะที่วิจิตรงดงามและหาชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน

 

ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่มีองค์พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์รวมทั้งหมด 43 องค์ โดยมีพระยูไลเป็นพระประธานศาลเจ้า รายละเอียดดังนี้

 

บริเวณอาคารหลังกลาง 26 องค์
– พระยูไลฮุกโจ้ว
– พระอรหันต์จี้กงองค์ใหญ่
– พระอรหันต์จี้กงองค์กลาง
– พระอรหันต์จี้กงองค์เล็ก
– พระโจวซือกงฮุกโจ้ว
– ตั่วเหล่าเอี๊ยปางบุ๋น (นั่ง)
– ตั่วเหล่าเอี๊ยปางบู๊ (ยืน)
– ไต่เสี่ยฮุกโจ้วปางบุ๋น (นั่ง)
– ไต่เสี่ยฮุกโจ้วปางบู๊ (ยืน)
– หลวงปู่ทวดวัดช้างให้องค์ใหญ่
– หลวงปู่ทวดวัดช้างให้องค์เล็ก
– พระสังกัจจายน์
– เทพเจ้ากวนอู    
– เตียวหุย (องครักษ์)
– กวนเพ่งไท้จือ (องครักษ์)
– ป้ายพระ 108
– ไฉซิ่งเอี๊ยะ
– เจ้าพ่อขุมทรัพย์
– เฉ่งจุ๋ยโจวซือ
– เล่าเอี๊ยะกง
– อั้งไฮ้ยี่
– นาจาซาไท้จื้อ
– ไท้ส่วยเอี๊ยะ
– ธรณีแป๊ะกงองค์ใหญ่
– ธรณีแป๊ะกงองค์เล็ก    
– พ่อปู่มังกรดำ

 

บริเวณอาคารด้านซ้าย (หันหน้าเข้าศาลเจ้า) 4 องค์
– เจ้าแม่กวนอิมพันมือ    
– ฟันปลาศักดิ์สิทธิ์ 3 องค์       

 

บริเวณอาคารด้านขวา (หันหน้าเข้าศาลเจ้า) 13 องค์
– เจ้าแม่กวนอิม 2 องค์     
– เจ้าแม่โต๊ะโมะ
– เจ้าแม่ทับทิม 3 องค์
– เจ้าแม่เก้าเทียน 2 องค์
– เจ้าแม่ลิ่มก่อเหนี่ยว 3 องค์    
– หูทิพย์ และตาทิพย์

 

นอกจากองค์พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันทรงคุณค่าแล้ว ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ยังเป็นศาลเจ้าหนึ่งใน 3 แห่ง ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ได้รับพระราชทานกระถางธูปสลักลายพระนาม จปร. หนึ่งในเครื่องสังเค็ดที่ใช้ประกอบพระราชพิธีออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นสำหรับใช้ในพระราชพิธีและพระราชทานแก่ศาสนสถานสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีนในแผ่นดินขณะนั้น เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบรมราชชนก กระถางธูปนี้จึงเป็นประจักษ์พยานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงชื่อเสียงและความสำคัญของศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ที่มีมาตั้งแต่อดีต แม้จะเคยผ่านช่วงเวลาที่เว้นว่างจากการดูแลกว่า 30 ปี เพราะไม่มีผู้รับผิดชอบโดยตรง

 

เมื่อ พ.ศ. 2554 ได้มีการอัญเชิญฟันปลาฉนากศักดิ์สิทธิ์จำนวน 3 องค์จากทางศาลเจ้าปุนเถ้ากง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มาสถิต ณ ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่เป็นสิริมงคลให้ลูกหลานที่มีจิตศรัทธาได้มาเคารพกราบไหว้ โดยจะมีพิธีบวงสรวงในวันที่ 30 พฤศจิกายน ของทุกปี 

 

ปัจจุบัน ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่มีร่างทรงประจำศาลเจ้า 5 ท่าน ทุกท่านล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่องค์เทพเลือกให้รับเป็นร่างทรง และจะทำการทรงที่ศาลเจ้าแห่งนี้เฉพาะช่วงเทศกาลงานสมโภชแห่พระลุยไฟ ซึ่งจัดในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี ร่างทรงเหล่านี้เป็นร่างทรงของพระอรหันต์จี้กง เทพเจ้ากวนอู ไต่เสี่ยฮุกโจ้ว เจ้าพ่อเสือ (ตั่วเหล่าเอี๊ย) และนาจาซาไท้จื้อ

 

ผู้ศรัทธาและสนใจมาไหว้องค์พระและเทพเจ้าเพื่อขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ สามารถติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ จังหวัดนราธิวาส

 

 

หมายเหตุ 

 

เรียบเรียงจากเอกสารที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ ซึ่งมีคุณลิขสิทธิ์ จินตกานนท์ เป็นประธาน และคำบอกเล่าของคณะกรรมการศาลเจ้า ทั้งนี้ ได้รับการตรวจทานความถูกต้องจากผู้แทนศาลเจ้าแล้ว ผู้ที่สนใจใช้ข้อมูลชุดนี้เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ขอความกรุณาอ้างอิงแหล่งข้อมูลนี้โดยระบุชื่อ ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ จังหวัดนราธิวาส ในฐานะผู้เขียน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)

ท่องเที่ยวศาลเจ้าจีน เยือนถิ่นวัฒนธรรม ชื่นชมความงามชายแดนใต้

นายชูโชติ เลิศลาภลักขณา

 

ร้านหย่งชางกิมซิ้น ปัตตานี

 

อาจารย์ชวิน พงษ์ผจญ

 

สาขาวิชาการสอนภาษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

การบรรยายนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างคนในและคนนอกเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้ชีวิตบนวิถีแห่งศรัทธาต่อศาลเจ้า เทพเจ้า และวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 2 ส่วน

 

ส่วนแรกเป็นการบอกเล่าเส้นทางชีวิตของ “ชูโชติ เลิศลาภลักขณา” หรือ “เฮียโก้” ช่างซ่อมองค์พระและองค์เทพเจ้าจีน เจ้าของร้านหย่งชางกิมซิ้น ที่เติบโตมาบนความผูกพันที่มีต่อศาลเจ้าเล่งจูเกียง และศาลเจ้าอื่น ๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเริ่มต้นจากคำสอนของพ่อที่พร่ำบอกเสมอว่าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนี้ศักดิ์สิทธิ์ นับเป็นจุดเริ่มต้นให้สืบทอดเรื่องวิถีการถือธงนำหน้าเกี้ยวแห่องค์พระมาจนถึงการหามเกี้ยวองค์พระในศาลเจ้าผ่านพิธีลุยน้ำ – ลุยไฟ 

 

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอประสบการณ์และมุมมองส่วนตัวที่มีต่อศาลเจ้าแต่ละแห่งที่เข้าร่วมงานประชุมวิชาการครั้งนี้ เริ่มจากความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อตั่วเล่าเอี่ยะ ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย บางตะโล๊ะ ที่ได้ดลให้ถูกสลากกินแบ่งกว่า 4 แสนบาทเพื่อนำเงินมาพัฒนาร้านซ่อมองค์พระ ไปจนถึงการเดินทางตามองค์พระทั้งที่รับซ่อมและมีผู้ศรัทธาบูชาไปไว้ที่ศาลเจ้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ ศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง และศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ รวมถึงการไป สักการะบูชาศาลเจ้าที่ไม่เคยได้ไปมาก่อนอย่างศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลา

 

ส่วนต่อมา เป็นการสะท้อนคิดจากประสบการณ์การวิจัยภาคสนามของ“อาจารย์ชวิน พงษ์ผจญ” นักวิชาการด้านการศึกษา ตั้งแต่เริ่มรู้จักพื้นที่พิเศษนี้เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว สืบเนื่องมาจนปัจจุบันที่เข้ามาเป็นคนนอกในพื้นที่ ผู้ตระเวนไปตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่สามัญ และสถาบันการศึกษาปอเนาะ เพื่อที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษา ความขัดแย้ง และสันติภาพ อันเป็นฐานของการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่พหุวัฒนธรรมในฐานะปัจจัยหลักในการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์และสังคม อย่างยั่งยืนแท้จริง

 

ในฐานะลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนจากกรุงเทพฯ ผู้ศรัทธาการไหว้เจ้าและมีงานอดิเรกเป็นการท่องเที่ยวและเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับศาลเจ้า เทพเจ้าและวัฒนธรรมต่าง ๆ ศาลเจ้าในพื้นที่ชายแดนใต้จึงเป็นทั้งที่ท่องเที่ยวยามว่างและที่ปลอดภัยทางใจยามว่างเว้นจากการลงพื้นที่ภาคสนาม ซึ่งทำให้ตระหนักว่าตามความเข้าใจของคนนอกพื้นที่ เมื่อพูดถึงพื้นที่ชายแดนใต้ หลายคนอาจนึกถึงคำว่า “พหุวัฒนธรรม” และความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยภาพจำและภาพแทนของความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธ (ไทย-พุทธ) และมุสลิม (ไทย-มุสลิม/มลายู-มุสลิม) ทั้งที่แท้จริงแล้วพื้นที่นี้เต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งเชิงชาติพันธุ์ ศาสนาและประเพณีวิถีชีวิต ยังไม่นับรวมสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม ซึ่งองค์อัลเลาะห์เมตตา เหล่าเอี๊ยะประทาน และสวรรค์จัดสรรให้อย่างสมบูรณ์ การจะมองภาพพื้นที่นี้อย่างเข้าใจและเข้าถึง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงมาสัมผัสด้วยตนเอง ซึ่งอาจจะต้องใช้ความกล้าในระยะแรกในการลบภาพจำจากสื่อต่าง ๆเพื่อเข้าใจว่าพื้นที่นี้มิได้น่ากลัวอย่างที่คิด

 

ความเข้าใจข้างต้นจะช่วยขับเน้นภาพของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่แห่งนี้ซึ่งถูกทำให้เลือนลางด้วยพลังและอำนาจของสื่อกระแสหลัก และชวนให้ซาบซึ้งถึงพลวัตแห่งศรัทธาของชุมชนเหล่านี้ที่ก่อรากและฝากรอยไว้ในพื้นที่มาหลายช่วงอายุคนจนเกิดเป็นวิถีวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงแผ่นดินเดิมซึ่งบรรพบุรุษได้จากมาเข้ากับแผ่นดินใหม่ที่ลงหลักปักฐานเป็นเรือนเกิด เรือนใจ และเรือนตายของลูกหลานรุ่นต่อมาเข้าไว้ด้วยกัน ปฏิเสธมิได้ว่าพลวัตแห่งศรัทธานี้คือส่วนหนึ่งของความรุ่งโรจน์ของดินแดนแถบนี้ และแม้จะข้ามฝ่าการเปลี่ยนแปลงมาหลายยุคสมัย แต่ก็ยังสามารถปรับรูปรอยเพื่อดำรงอยู่อย่างสง่างามท่ามกลางความไม่ปกติของพื้นที่พิเศษ

 

การบรรยายทั้ง 2 ส่วน นำไปสู่ข้อสรุปสำคัญ 3 ข้อ กล่าวคือ หลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อ พ.ศ. 2547 นอกจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เองแล้ว สื่อกระแสหลักมีส่วนสำคัญในการซ้ำเติมความรุนแรงแก่ผู้คนในพื้นที่ ซึ่งชาวไทยเชื้อสายจีนรวมถึงกลุ่มคนอื่น ๆ ที่มีลักษณะเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ เพราะมิอาจยึดโยงเข้ากับคู่ตรงข้ามใดของภาพความขัดแย้งอย่างสมบูรณ์ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างมาก แม้ว่าพลวัตของความรุนแรงจะเปลี่ยนไปแล้ว แต่ทั้งภาพจำและภาพแทนที่คนนอกมีต่อคนในพื้นที่กลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงตาม ศาลเจ้าจึงเป็นภาพที่ชัดเจนของกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนที่ได้รับผลกระทบส่วนนี้ 

 

ข้อสรุปข้างต้นนำไปสู่ข้อสรุปต่อมาที่ว่า ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตที่เกิดขึ้นทำให้พิธีกรรมต่าง ๆ มีความสำคัญยิ่งในฐานะเครื่องมือและกระบวนการดำรงอัตลักษณ์ของชาวไทยเชื้อสายจีนให้คงอยู่ ความศรัทธาที่ส่งต่อผ่านเรื่องเล่าและพิธีกรรมมีส่วนสำคัญในการพาลูกหลานที่โยกย้ายออกจากพื้นที่กลับมาบ้านเพื่อแสดงถึงการมีอยู่ของอัตลักษณ์อันเป็น “ตัวตน” ทั้งเชิงนามธรรมและรูปธรรมที่ถูกรุกคืบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมในหลายมิติ (และแน่นอนว่า ศาสนาไม่ใช่ปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้เกิดจากเปลี่ยนแปลงนี้อย่างที่สื่อกระแสหลักนิยมนำเสนอ) 

 

ข้อสรุปสุดท้ายเป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมว่า นโยบายที่มุ่งเสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ดำเนินสืบต่อมาหลายทศวรรษ เป็นการส่งเสริมพหุวัฒนธรรมในฐานะที่ยอมรับและส่งเสริมความหลากหลายบนพื้นฐานความเคารพกันอย่างเท่าเทียมและยุติธรรมมากน้อยเพียงใด หรือเป็นเพียง “คำวิเศษ” ที่สามารถดลบันดาลให้เกิดโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมประจำปีงบประมาณ แต่ปราศจากพลังที่จะสร้างเปลี่ยนแปลงสังคมสู่สันติดังที่ปรารถนา

 

การศึกษาและการส่งเสริมชุมชนบนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจด้านพหุวัฒนธรรม จึงมิใช่หน้าที่และภาระหลักที่ประชาชนในพื้นที่ต้องจำยอมแบกรับแต่เพียงลำพัง แต่เป็นหน้าที่ของคนนอกพื้นที่และทุกภาคส่วนในสังคมไทยที่ต้องร่วมรับผิดชอบ โดยเฉพาะภาครัฐ ในฐานะต้นธารแห่งนโยบาย งบประมาณ และการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในพื้นที่

 

ดังนั้น การเปิดพื้นที่กลางให้คนในและคนนอกได้ ท่องเที่ยวศาลเจ้าจีน เยือนถิ่นวัฒนธรรม ชื่นชมความงามชายแดนใต้ จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนความหมายและคุณค่าของสังคมพหุวัฒนธรรมแห่งสันติสุขบนแผ่นดินปลายด้ามขวาน เพื่อที่จะฉายภาพความเป็นจริงในพื้นที่ให้ชัดเจน และชวนหลงรักกว่าที่เคยรู้จักแต่ไม่เข้าใจ

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" วันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี)

คณะกรรมการจัดงาน (การประชุมวิชาการระดับชาติ - พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย)

คณะที่ปรึกษา

 

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

รองศาสตราจารย์ฤทธิรงค์ จิวากานนท์
     ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อาทิตย์ ทองทักษ์
     รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหาร 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เปรม สวนสมุทร
     รองผู้อำนวยการ ฝ่ายงานวิจัย 

 

อาจารย์ ดร. สืบพงศ์ ช้างบุญชู
     รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เชิดชัย อุดมพันธ์ 
     คณบดี 

 

อาจารย์ ดร. รัญชิดา สังขดวง
     รองคณบดีฝ่ายวิชาการและนวัตกรรมการเรียนรู้

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชาคร ประพรหม
     รองคณบดีฝ่ายวิจัยและยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศ

 

อาจารย์ บัญชา เตส่วน
     รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์

 

อาจารย์ ดร. ธันย์ชนก พรมบุตร
     ผู้ช่วยคณบดีงานวิรัชกิจและสื่อสารองค์กร     

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิมลมาศ ปฤชากุล
     ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยสงขลานครินทร์

 

นายเรวัต รัตนกาญจน์
     หัวหน้าสำนักงานบริหารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

 

โครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม : ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี

 

รองศาสตราจารย์อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ
     หัวหน้าโครงการ

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว
     นักวิจัยประจำโครงการ

 

ผู้แทนชุมชน

 

นายพันธุ์ฤทธิ์ วัฒนายากร
     ทายาทสายตระกูลพระจีนคณานุรักษ์

 

นายแพทย์ปานเทพ คณานุรักษ์
     ทายาทสายตระกูลพระจีนคณานุรักษ์

 

นายธีรภัทร พรมนุชาธิป         
     ประธานชุมชนหัวตลาด                  

 

นายวิชาญ พรวิริยะมงคล
     นักสะสมวัตถุมงคลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

 

นายชูโชติ เลิศลาภลักขณา        
     ร้านหย่งชางกิมซิ้น ปัตตานี        

 

 

คณะทำงาน

 

รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริมา ปุรินทราภิบาล

 

รองศาสตราจารย์ ดร. อัลญาณ์ สมุห์เสนีโต

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชาคร ประพรหม 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อารีย์ ธรรมโคร่ง

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อดิศา เบญจรัตนานนท์

 

อาจารย์ ดร. เจษฎา ไหลภาภรณ์

 

อาจารย์ ดร. วนภัทร์ แสงแก้ว

 

อาจารย์ ดร. ธันย์ชนก พรมบุตร    

 

อาจารย์ ดร. สุพรรณี ทักษิณสัมพันธ์

 

อาจารย์นันทพร แสงมณี

 

อาจารย์นัสรินทร์ แซสะ

 

อาจารย์บัญชา เตส่วน

 

อาจารย์วัชรีย์ เพชรรัตน์

 

อาจารย์สุวรา แก้วนุ้ย

 

อาจารย์วาสนา คงขันธ์     

 

นางจันทิพย์ จำปาทิพย์งาม

 

ดร.จิณวัฒน์ แก่นเมือง

 

นางสาวฐิติมา พงษ์นวเลิศปัญญา

 

นายณัฐดนัย เอี่ยมวัฒนเสรี     

 

นางณัฐพร อิ่มอุไร

 

นายณัฐิวุฒิ แสงทัศน์ 

 

นายธีรพัฒน์ อมรสกุล

 

นายธนาพงศ์ ไชยรีย์     

 

นายปัญญา เลิศสุขประเสริฐ

 

นางสาวปรียพัชรา ชัยวัฒน์ สุวัตถี 

 

นายพันธ์ชัย ใจเย็น

 

นางสาวพัชรา ยิ่งดำนุ่น     

 

นางสาวพิกุล แซ่เจน 

 

นายมูไฮมิน สุหลง     

 

ดร.รัชนีกร รัชตกรตระกูล

 

นางวาสนา ขันชนะ     

 

นางสาวสุดา สันติเสวีกุล

 

นายวิญญู โอชโร         

 

นางสายใจ คล้ายพุฒ 

 

นายสุรเดช ทองบุญชู    

 

นางสาวอัยพิจยา ศวัสร์กุลกร

 

นายอัฐฐวัต เรืองรัตน์รุ่ง     

 

 

บรรณาธิการ

 

อาจารย์ชวิน พงษ์ผจญ
     จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

พิสูจน์อักษร

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชาคร ประพรหม  

     คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

อาจารย์ ดร. เจษฎา ไหลภาภรณ์
     คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

หนังสือรวมบทคัดย่อ (การประชุมวิชาการระดับชาติ - พลวัตแห่งศรัทธา ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย)

หนังสือรวมบทคัดย่อ

 

การประชุมวิชาการระดับชาติ

 

พลวัตแห่งศรัทธา

ศาลเจ้า  เทพเจ้า  และวิถีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย

 

 

22 – 24 มิถุนายน 2565
โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี

 

 

จัดโดย

 

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

โครงการการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี

 

 

 

 

Download

 

 

[PHOTO BOOK] การประชุมวิชาการระดับชาติ - พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชน ชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย

ภาพบรรยากาศงานประชุมวิชาการระดับชาติ "พลวัตแห่งศรัทธา : ศาลเจ้า เทพเจ้า และวิถีชุมชน ชาวไทยเชื้อสายจีนท่ามกลางกระแสสังคมร่วมสมัย" ภาคการบรรยายวิชาการ วันที่ 22-23 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี 

 

คณะผู้จัดงานขอขอบพระคุณ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ให้เกียรติมาเยี่ยมชมนิทรรศการและร่วมถ่ายภาพกับคณะทำงานและวิทยากร พลโทเกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ 

 

คณะผู้จัดงานยังใคร่ขอขอบพระคุณวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่กรุณาร่วมบรรยายความรู้ที่เป็นประโยชน์ ผู้แทนศาลเจ้าในพื้นที่ชายแดนสามจังหวัดภาคใต้ที่กรุณาให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการ และขอขอบพระคุณผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านที่ให้ความสนใจกิจกรรมครั้งนี้

 

กิจกรรมนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และโครงการจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม:ต่อยอดและพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมในวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี รวมทั้งได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากศาลเจ้าและชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ได้แก่ ศาลเจ้าเล่งจูเกียงใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์ จังหวัดปัตตานี ศาลเจ้าตี่ฮู่อ่องเอี่ย บางตะโล๊ะ จังหวัดปัตตานี ศาลเจ้าแม่มาผ่อแบหอ จังหวัดยะลา ศาลเจ้าเค่งฮุดจี่ยะลา จังหวัดยะลา ศาลเจ้าพ่อไต่เสี่ย บ้านกำแพง จังหวัดนราธิวาส ศาลเจ้าโก้วเล้งจี่ จังหวัดนราธิวาส