คณะผู้จัดงาน (การเสวนาวิชาการ - ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย (LGBTQ in Thai Literature))

การเสวนาวิชาการ

 

ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย

(LGBTQ in Thai Literature)

 

26 มกราคม 2563
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

จัดโดย

 

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

คำกล่าวนำ (การเสวนาวิชาการ - ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย (LGBTQ in Thai Literature))

“Spectrosynthesis II” จัดโดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิซันไพรด์ นำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศในรูปแบบนิทรรศการนำเสนอผลงานของศิลปินนานาชาติ ประกอบด้วยการเสวนาผ่านผลงานทัศนศิลป์ที่หลากหลาย อาทิ จิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม และภาพยนตร์

 

วรรณศิลป์เป็นศิลปะอีกแขนงที่แตกต่างจากงานทัศนศิลป์ เป็นศิลปะของการเรียงร้อยถ้อยคำและตัวอักษรจนเกิดเป็นงานวรรณคดีและวรรณกรรมที่นำเสนอ สะท้อน และตีแผ่อัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ และเปิดโอกาสให้ผู้อ่านสามารถศึกษาและตีความตัวบทได้อย่างกว้างขวาง

 

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิซันไพรด์ จึงมีดำริจัดเสวนาวิชาการด้านไทยศึกษา เรื่อง “ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และทัศนคติที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย และเปิดโลกทัศน์ให้สังคมเข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม

 

 

รองศาสตราจารย์ฤทธิรงค์ จิวากานนท์ 
 

ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กำหนดการ 26 มกราคม 2563 (การเสวนาวิชาการ - ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย (LGBTQ in Thai Literature))

13.00 – 13.15

 

พิธีเปิดงาน 

 

13.15 – 13.45

 

ทวาทศมาส: กวีนิพนธ์แห่งความหลงใหลสมัยอยุธยาตอนต้น
     ศาสตราจารย์คริส เบเคอร์

 

13.45 – 14.15

 

กลอนเพลงยาวของคุณสุวรรณ: ภาพสะท้อนรักร่วมเพศในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
     รองศาสตราจารย์อิงอร สุพันธุ์วณิช
     – คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

14.15 – 14.45

 

กับดักความเป็นชายและความพิการบนเรือเควียร์: อ่านในกับดักและกลางวงล้อมแบบเควียร์
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวณิต จุลวงศ์
     – คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

14.45 – 15.15

 

การสถาปนาบุรุษเสน่หา (Androphilia) ในนิยายวายเดือนเกี้ยวเดือน
     ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
     – ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

15.15 – 15.45

 

เครือข่ายเสน่หา: ปรากฏการณ์วายในปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับอุตสาหกรรม
     รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธนัย ประสานนาม
     – คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

15.45 – 16.15

 

ถาม-ตอบ เสวนากลุ่ม

กลอนเพลงยาวของคุณสุวรรณ : ภาพสะท้อนรักร่วมเพศสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

รองศาสตราจารย์อิงอร สุพันธุ์วณิช

 

– คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

คุณสุวรรณเป็นกวีหญิงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กลอนเพลงยาว 2 เรื่องของคุณสุวรรณคือกลอนเพลง 2 เรื่อง คือกลอนเพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์ และ กลอนเพลงยาวเรื่องอาการประชวนกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ มีลักษณะที่แปลกและแตกต่างจากกลอนเพลงยาวทั่วไป เพราะสะท้อนความเป็นไปของหญิงชาววัง และโดดเด่นด้วยการสะท้อนภาพรักร่วมเพศระหว่างหญิงกับหญิง

 

คำสำคัญ: กลอนเพลงยาว,คุณสุวรรณ,รักร่วมเพศ,รัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

 

(เสนอในการเสวนาวิชาการ "ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย (LGBTQ in Thai Literature)" วันที่ 26 มกราคม 2563 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร)

กับดักความเป็นชายและความพิการบนเรือเควียร์ : อ่านในกับดักและกลางวงล้อมแบบเควียร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เสาวณิต จุลวงศ์

 

– คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

บทความนี้เสนอการศึกษานวนิยายเรื่อง ในกับดักและกลางวงล้อม ของประชาคม ลุนาชัย ด้วยการอ่านแบบเควียร์และทฤษฎีความพิการ เพื่อเผยให้เห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างความพิการกับความเป็นเควียร์ จากการศึกษาพบว่า ร่างกายที่พิการของตัวละครไม่เพียงเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน แต่ยังส่งผลให้พวกเขาล้มเหลวในการสร้างความสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม ร่างกายที่พิการลดทอนความเป็นชายของตัวละครเหล่านั้น ทำให้เกิดภาวะความเป็นเควียร์ขึ้น นวนิยายสะท้อนถึงพลังของปิตาธิปไตยที่แผ่อำนาจกดทับและกดดันผู้ชายซึ่งมีเพศวิถีแบบรักต่างเพศ โดยเรียกร้องความเป็นชายที่สมบูรณ์ไม่ใช่เพียงเรื่องของรูปร่างหน้าตาและสมรรถภาพทางเพศ หากแต่หมายรวมถึงความสามารถและศักยภาพในการทำงาน ทำให้ผู้ชายที่ไม่สามารถทำงานได้ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตความเป็นชายและกลายสภาพไปเป็นเควียร์ ติดอยู่ในกับดักบรรทัดฐานความเป็น “ปกติธรรมดา” ของสังคมชายเป็นใหญ่

 

คำสำคัญ: นวนิยายไทย, เควียร์, ความพิการ, ความเป็นชาย

 

 

(เสนอในการเสวนาวิชาการ "ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย (LGBTQ in Thai Literature)" วันที่ 26 มกราคม 2563 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร)

การสถาปนาบุรุษเสน่หา (Androphilia) ในนิยายวายเดือนเกี้ยวเดือน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

 

– ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

 

 

นิยายเรื่องเดือนเกี้ยวเดือน เป็นนิยายแนว Boys Love หรือนิยายที่นำเสนอตัวละครหลักเป็นชายรักชายที่ถูกแต่งขึ้นโดยนักเขียนผู้หญิงที่ใช้นามปากกาว่า Chiffon_Cake ซึ่งเผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกในเว็บไซต์ thaiboyslove เมื่อปี 2557 ความยาวรวมทั้งหมด 54 ตอน ต่อมาได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เอเวอร์วายในปี 2559 โดยแบ่งออกเป็น 3 เล่ม และมีการนำไปสร้างเป็นซีรีส์ในปี 2560 และปี 2562 เนื้อหาหลักของนิยายเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวความรักและความสัมพันธ์ของนักศึกษาชายในมหาวิทยาลัย โดยมีคู่รักสำคัญ 3 คู่คือ พนากับวาโย มิ่งกับคิด และโฟร์ทกับบีม เรื่องราวความรักที่เกิดขึ้นบ่งบอกถึงความผูกพันและความใกล้ชิดระหว่างผู้ชายวัยรุ่นที่มีรูปร่างหน้าตาดีซึ่งมิได้นิยามตัวเองเป็น “เกย์” แต่เป็นการแสดงอารมณ์ความปรารถนาและความเสน่หาต่อคนเพศเดียวกัน การนำประเด็นนี้มาเขียนเป็นนิยายได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มผู้อ่านที่เรียกตัวเองว่า “สาววาย” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้หญิงที่ชื่นชอบและสนใจเรื่องความรักระหว่างผู้ชาย 

ประเด็นสำคัญในการวิเคราะห์เรื่องนี้คือนิยายเดือนเกี้ยวเดือนเป็นภาพตัวแทนของการสร้างความหมายใหม่ของอัตลักษณ์ “ชายรักชาย” ที่ละทิ้งภาพจำเก่าๆเกี่ยวกับการเป็น “เกย์” ซึ่งมักจะถูกตีตราว่า “ไม่ใช่ผู้ชาย” เพราะมีบุคลิกและอารมณ์นุ่มนวลอ่อนหวานเหมือนผู้หญิงผสมอยู่มาก แต่ตัวละครในนิยายเดือนเกี้ยวเดือนจะแสดงความเป็นชายที่แข็งแกร่งตามบรรทัดฐานที่สังคมคาดหวัง ผู้เขียนนิยายได้เพิ่มความรักและความเสน่หาต่อเพศเดียวกันเข้าไปในตัวละคร ซึ่งในที่นี้จะเรียกว่า “บุรุษเสน่หา” (Androphilia) คำนี้เป็นคำที่ Jack Donovan ใช้เป็นอธิบายในหนังสือเรื่อง Androphilia: A Manifesto ในปี 2006 โดยระบุว่าผู้ชายสามารถแสดงความรักและความเสน่หาทางเพศต่อกันได้โดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งความแข็งแกร่งของตัวเอง  นิยายเดือนเกี้ยวเดือนจึงตอกย้ำและสถาปนาบุรุษเสน่หา ซึ่งหมายถึงการทำให้ “ความเป็นชาย” มีคุณค่าในทางเพศและกามารมณ์ เป็นการผลิตซ้ำตัวแบบเพศภาวะของชายชาตรี (Masculine Gender) ตามอุดมคติที่จะต้องไม่เปราะบางและอ่อนแอแบบผู้หญิง 

 

ถึงแม้ว่านิยายวายเดือนเกี้ยวเดือนจะเปิดพื้นที่ทำให้สังคมมองเห็น “ความเป็นไปได้” ที่ผู้ชายจะแสดงความรัก ความปรารถนา และความเสน่หาต่อกัน  แต่นิยายเรื่องนี้เลือกที่จะพูดเฉพาะประสบการณ์ของผู้ชายวัยรุ่นที่มีรูปร่างหน้าตาดีและมีการศึกษาดีเท่านั้น ซึ่งมีนัยยะของการปิดกั้นและการเบียดขับผู้ชายที่มีรูปร่างหน้าตาไม่ดี มีฐานะไม่ดีและมีอายุมากออกไปอยู่ชายขอบ สิ่งนี้คือวิธีการสร้างและหล่อหลอมมายาคติใหม่ที่ทำให้สังคมเชื่อว่าผู้ชายหน้าตาดีเท่านั้นที่จะรักและเสน่หาต่อกันได้  

 

คำสำคัญ: บุรุษเสน่หา, นิยายวาย, เดือนเกี้ยวเดือน
 

 

(เสนอในการเสวนาวิชาการ "ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย (LGBTQ in Thai Literature)" วันที่ 26 มกราคม 2563 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร)

เครือข่ายเสน่หา : ปรากฏการณ์วายในปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับอุตสาหกรรม

รองศาสตราจารย์ ดร. นัทธนัย ประสานนาม

 

– คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

 

บทความนี้มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ยาโออิ (เรียกอย่างย่อว่า “วาย”) ในประเทศไทยนับตั้งแต่ พ.ศ.2557 เป็นต้นมา อันเป็นช่วงเวลาที่ภาคอุตสาหกรรมเข้าไปพัวพันกับวัฒนธรรมแฟนยาโออิอย่างใกล้ชิด การศึกษาครั้งนี้ใช้กรอบความคิดของพอล บูท (Paul Booth, 2015) เรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับอุตสาหกรรมเพื่อขยายการวิจัยวัฒนธรรมยาโออิในบริบทไทยให้กว้างขวางขึ้น จากแต่เดิมที่เน้นเชื่อมโยงกับต้นแบบในวัฒนธรรมญี่ปุ่น การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณา และแง่มุมการเมืองวัฒนธรรมเควียร์ กรณีศึกษาของบทความนี้คือบริษัท จีเอ็มเอ็มทีวี จำกัด องค์กรสำคัญที่ผลิตสื่อยาโออิในประเทศไทยและส่งออกไปสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย บทความต้องการเน้นให้เห็นว่าจีเอ็มเอ็มทีวีขยายเครือข่ายผ่านอุตสาหกรรมหนังสือร่วมกับส่วนงานที่รับผิดชอบการสร้างดาราและผลิตเพลงในเครืออย่างไร ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับอุตสาหกรรมที่เด่นชัดในการศึกษาครั้งนี้คือ การเลียนแบบวัฒนธรรมแฟนโดยจีเอ็มเอ็มทีวี ปฏิบัติการดังกล่าวประกอบด้วย “การชิป” (การจับคู่ศิลปินที่รับบทเป็นคู่วาย) ผ่านสื่อ OPV (ภาพเคลื่อนไหวประกอบเพลงที่อ้างอิงเรื่องราวจากสื่ออื่น) และรายการโทรทัศน์ นอกจากนั้น บทความยังมุ่งอธิบายวิธีการที่จีเอ็มเอ็มทีวีใช้การหวนไห้หาอดีตของแฟนในการสร้างกิจกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยความทรงจำ รวมทั้งกิจกรรมพบปะแฟนที่จัดขึ้นโดยบริษัท ที่แต่เดิมแฟนจะเป็นผู้จัด พื้นที่กิจกรรมดังกล่าวคือพื้นที่สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในลักษณะที่อุตสาหกรรมเป็นผู้นำและแฟนเป็นผู้บริโภค ทั้งที่กิจกรรมดังกล่าวมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมแฟน 

 

คำสำคัญ: วัฒนธรรมแฟน, ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟนกับอุตสาหกรรม, ยาโออิ, บอยส์เลิฟ, วัฒนธรรมประชานิยม

 

 

(เสนอในการเสวนาวิชาการ "ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย (LGBTQ in Thai Literature)" วันที่ 26 มกราคม 2563 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร)

Khun Suwan’s Klon Plaeng Yao : Reflection of Same Gender Love in the Early Rattanakosin Period

Associate Professor Ingorn Supanwanit

 

– Faculty of Arts, Chulalongkorn University

 

 

Khun Suwan is a female poet from the early Rattanakosin period. Two of her poems – Klon Plaeng Yao Mom Pet Sawan and Klon Plaeng Yao about the Sickness of Princess Apson Sudathep – have characteristics that are different from the typical klon plaeng yao in that these poetic works reflect the way of life of women in the palace, and notably, love stories between women. 

 

Keywords: Klon Plaeng Yao, Khun Suwan, Same gender love, Early Rattanakosin Period

 

 

(Presented in the Spectrosynthesis II : LGBTQ in Thai Literature (ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย), 26 January 2020, Bangkok Art & Culture Centre, Bangkok, organized by the Institute of Thai Studies, Chulalongkorn University and the Bangkok Art & Culture Centre)

Trapped in Masculinity and Disability on Queer Boat : Queer Reading of Nai Kap Dak Lae Klang Wong Lom

Assistant Professor Dr Saowanit Chunlawong

 

– Faculty of Liberal Arts, Thammasat University

 

This article aims to explore Nai Kap Dak Lae Klang Wong Lom (Trapped), a novel by Prachakom Lunachai, using queer reading and crip theory to reveal the relation between disability and queerness. The result shows that the characters’ disabled-bodies were not only the obstacles of working, but also of making relationship. These disabled-bodies reduced their masculinity and constructed queerness. The story unveils the power of Patriarchy which oppresses the heterosexual man, insists the normative man as the able-man, both of the abled-body and abling sex. Who was disabled is queer and trapped in the normative of patriarchal society.

 

Keywords: Thai novel, queer, disability, masculinity

 

 

(Presented in the Spectrosynthesis II : LGBTQ in Thai Literature (ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย), 26 January 2020, Bangkok Art & Culture Centre, Bangkok, organized by the Institute of Thai Studies, Chulalongkorn University and the Bangkok Art & Culture Centre)

The Foundation of Androphilia in the Boys’ Love Novel 2 Moons

Dr Narupon Duangwises

 

– Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre

 

 

2 Moons, a boys’ love story written by a female author under the pseudonym Chiffon_Cake in which the main protagonist is a man who loves another man – was first published online on the thaiboyslove website in 2014 covering 54 episodes. The story was later published by Ever Y Publishing in 2016, divided into three volumes, and produced as a digital TV series in 2017 and 2019. The main theme of this story is the relationships of male university students. There are three central couples: Phana and Wayo, Ming and Kit, and Forth and Beam. The love stories depict the bond and closeness between good looking young men who do not define themselves as “gay”, but rather show emotions, desires and affection towards people of the same gender. Boys’ love stories written as novels are very popular among female readers who call themselves “Sao Y”, women who are interested in love stories between men.

 

The key point of analysis is that 2 Moons represents the formation of a new meaning of “homosexual” identity that has abandoned the old image of being “gay”, which is often labeled and stigmatized as being “unmanly” with an effeminate personality and characteristics. The male characters in this novel show strong masculinity that reconciles with accepted social norms. The author of the novel has added love and affection for male same-gender eroticism to the main characters, called “Androphilia”. This is a concept that Jack Donovan describes in his book Androphilia: A Manifesto in 2006, which states that men are able to show love and sexual affection to other men without losing their macho and masculine strength. 2 Moons emphasizes and establishes a manly love that makes “masculinity” praised in terms of sexual desire and is a reproduction of the ideal masculine gender that must not be weak similar to a woman. 

 

Although the 2 Moons opens social space for Thai people to see the “possibility” for men to love, desire and admire each other, this novel speaks only of the experiences of well-educated and good-looking young men. This implies there is still a form of discrimination and marginalization of those men who are old, poor, not handsome and effeminate. This is a construction of an implicit prejudice that instructs society to believe that only good-looking young men can love one another.

 

Keywords: Androphilia, Boys’ love novel, 2 Moons

 

 

(Presented in the Spectrosynthesis II : LGBTQ in Thai Literature (ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย), 26 January 2020, Bangkok Art & Culture Centre, Bangkok, organized by the Institute of Thai Studies, Chulalongkorn University and the Bangkok Art & Culture Centre)

Networking Affection : The Yaoi Phenomenon within Fan/Industry Interaction

Associate Professor Dr Natthanai Prasannam

 

– Faculty of Humanities, Kasetsart University

 

 

This study aims to explore the yaoi (boys’ love stories, shortened to Y) phenomenon in Thailand, particularly since 2014 during the rapid expansion of the entertainment industry involvement with yaoi fandom. The research draws on Paul Booth’s (2015) study of fan/industry interactions to expand existing scholarship on the yaoi phenomenon in Thailand from just an emphasis on the reading of texts linked to its Japanese cultural origins, ethnographic research and the aspect of queer cultural politics. 

 

The research focuses on GMMTV Company Limited, a key player in expanding the yaoi industry in Thailand and growing the fandom of Thai yaoi stars in different countries in Asia and addresses the way GMMTV has expanded the yaoi industry through connections with the local book industry, as well as its own stars and music making divisions. The research pays close attention to fan/industry interactions rooted in the industry-led mimetic practices inspired by yaoi fan culture. These practices include the act of “shipping” (pairing yaoi couples) through what fans referred to as Official Promotional Videos (OPVs) and television shows. The study discusses the way GMMTV employs fan nostalgia to create memory-driven activities. The highly commercialized industry-led fan meetings also offer an interesting site to explore fan/industry interactions where fan-led practices are re-enacted by the industry, yet consumed by the fans.

 

Keywords: fandom; fan/industry interaction; yaoi; boys’ love (BL); Thai popular culture

 

 

(Presented in the Spectrosynthesis II : LGBTQ in Thai Literature (ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย), 26 January 2020, Bangkok Art & Culture Centre, Bangkok, organized by the Institute of Thai Studies, Chulalongkorn University and the Bangkok Art & Culture Centre)

[Photo Album] การเสวนาวิชาการ - ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย (LGBTQ in Thai Literature)

 

 

การเสวนาวิชาการ

 

ความหลากหลายทางเพศในวรรณกรรมไทย

(LGBTQ in Thai Literature)

 

26 มกราคม 2563
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

จัดโดย

 

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

 

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใคร่ขอขอบพระคุณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำหรับความร่วมมืออย่างดียิ่งในการจัดกิจกรรมวิชาการครั้งนี้

 

ทางคณะผู้จัดงานขอขอบพระคุณคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศาสตราจารย์คริส เบเคอร์ รองศาสตราจารย์อิงอร สุพันธุ์วณิช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวณิต จุลวงศ์ ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และรองศาสตราจารย์ ดร.นัทธนัย ประสานนาม ที่ให้เกียรติมาบรรยายความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง รวมถึงคณาจารย์ นิสิตนักศึกษา และผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านที่ให้ความสนใจงานเสวนาวิชาการครั้งนี้

 

ขอขอบพระคุณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครสำหรับภาพกิจกรรม