เกี่ยวกับสารไทยศึกษา

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำจดหมายข่าว "สารไทยศึกษา" จำนวนปีละ 4 ฉบับ เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสาร และกิจกรรมต่างๆ ของสถาบัน ตลอดจนเกร็ดความรู้ทางด้านไทยศึกษา จึงได้ดำเนินการคัดสรรบทความที่น่าสนใจจาก 2 หัวเรื่อง ได้แก่ ถาม-ตอบปัญหาไทยศึกษา และ สาระน่ารู้ไทยศึกษา ซึ่งมีเนื้อหาที่ให้สาระความรู้เกี่ยวกับเรื่องไทย-ไท นำมาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสถาบันฯ เพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณะต่อไป

เครื่องใช้ในครัวไทยสมัยเก่า

 

 

สารไทยศึกษาเคยเป็นพื้นที่นำเสนอความรู้เกี่ยวกับอาหารไทยทั้งคาวและหวานไปหลายฉบับแล้ว ในครั้งนี้ขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับอาหารไทยในประเด็นที่แตกต่างไป คือเครื่องใช้ในครัวไทยสมัยเก่า เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้เรื่องวัฒนธรรมการประกอบอาหารของไทยอย่างรอบด้าน  เครื่องใช้ในครัวไทยมีหลายอย่างดังต่อไปนี้

 

เตา เป็นอุปกรณ์สำคัญในการประกอบอาหารทุกรายการ  เพราะถ้าปราศจากเตาก็ไม่สามารถทำให้อาหารสุกได้ เตาอย่างสามัญที่สุดคือเอาก้อนอิฐสามก้อนมาวางเป็นฐานให้วางหม้อดินได้  ระหว่างก้อนเส้าก็ก่อไฟเพื่อให้ความร้อน หากต้องการใช้เตาที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ก็ต้องใช้ “แม่เตาไฟ” ซึ่งเป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยมสูงประมาณ 6-7 นิ้ว ภายในกรอบอัดดินให้แน่นเพื่อไม่ให้ความร้อนถึงพื้น แม่เตาไฟนี้จะใช้วางก้อนเส้าหรือเตาวงก็ได้  เพราะเป็นเตาที่ใช้ฟืนเหมือนกัน

 

“เตาวง” เป็นเตาดินเผาทำเป็นรูปวงโค้ง มีช่องสำหรับใส่ฟืน ที่ขอบด้านบนมีปุ่มยื่นออกมา 3 ปุ่ม สำหรับรับหม้อหรือภาชนะที่ตั้ง เตาอีกประเภทหนึ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเตาวงคือ “เตาเชิงกราน” เป็นเตาดินเผาคล้ายเตาวง แต่เชิงกรานมีพื้นหรือชานติดกับตัวเตายื่นออกมาข้างนอกสำหรับวางฟืน  เตาแบบเชิงกรานไม่ต้องมีแม่เตาไฟ เพราะมีพื้นติดกับตัวเตา เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟติดพื้นและเคลื่อนย้ายได้สะดวก

 

เตาอีกประเภทหนึ่งที่อายุน้อยกว่าเตาที่กล่าวมาข้างต้น คนสมัยปัจจุบันยังพอจะคุ้นเคยอยู่บ้างคือ “เตาอั้งโล่” เป็นเตาดินเผาเหมือนกัน แต่ใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง เตาอั้งโล่เป็นของจีนแต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นของจีนแต้จิ๋วซึ่งเรียกเตาประเภทนี้ว่า “ฮวงโล้ว” อันหมายถึงเตาลม หรือจีนฮกเกี้ยนที่เรียกว่า “ฮังหลอ” อันหมายถึงเตาปิ้ง เตาย่าง อย่างไรก็ตามถ้าเทียบเคียงกับทางมลายูและอินโดนีเซียที่เรียกเตาชนิดนี้ว่า “อังโล” (Anglo) ว่าขอยืมมาจากภาษาฮกเกี้ยนคือ ฮังหลอ  ก็อาจจะสรุปได้ว่าเตาอั้งโล่น่าจะมาจากภาษาฮกเกี้ยน

 

หม้อ เป็นอุปกรณ์ใช้ร่วมกับเตา และทำจากดินเช่นเดียวกัน  ประเภทของหม้อนั้นแบ่งตามลักษณะการใช้ อาทิหม้อข้าว หม้อแกง หม้อยา  หม้อข้าวเป็นแบบก้นป่องตรงคอหม้อแคบ ปากหม้อเป็นปีกผายออกสำหรับเอามือจับยก ทรงสูงกว่าหม้อแกง ซึ่งเป็นแบบก้นป่องเหมือนกันแต่ทรงเตี้ย  ปากกว้าง มีหูสองหูสำหรับสำหรับจับยก หม้อแกงมักจะหนากว่าหม้อข้าว  หม้อทั้งสองชนิดมีฝาเรียกว่า “ฝาละมี” ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ใช้ฝนไพลหรือยาเม็ด  ใช้เป็นทีบดยาแทนหินหรือโกร่งบดยา

 

เสวียน ที่ใช้ในครัวสมัยก่อนมีสองอย่าง อย่างหนึ่งเป็นเสวียนขดกลมๆ สำหรับรองหม้อหรือภาชนะที่มีก้นกลมหรือมนเพื่อไม่ให้เอียงหรือไม่ให้กลิ้ง ทำจากเปลือกมะพร้าวอ่อนๆ หรือฟางข้าวมามัดขดเป็นวงกลมเหมือนห่วงยาง แล้วใช้ตอกมัดเป็นเปลาะๆ บางทีก็ใช้ขี้ตอกกำขดเป็นวง  เสวียนอีกอย่างหนึ่งมีหูใช้เวลาดง เสวียนชนิดนี้ไม่หนาเหมือนประเภทที่เอาไว้รองหม้อ ทำจากหวายผ่าซีก ส่วนหูก็ใช้หวายซีกถักเพื่อให้อ่อนตัว หรือจะใช้หวายทั้งต้นทำเป็นหูก็ได้ โดยหูจะสอดเข้าไปในตัวเสวียนที่ขดเพื่อให้มีกำลังเวลายกหม้อม

 

กระทะ ในครัวไทยโบราณเป็นกระทะขนาดใหญ่ ปากกว้างประมาณ 2 ศอก เรียกกันว่า “กระทะใบบัว” ทำจากเหล็ก ลักษณะของกระทะเหมือนใบบัว  กล่าวคือเหมือนใบบัวหลวงแก่ๆ ที่มักจะห่อตัวเป็นแอ่ง ขอบใบยกขึ้น กระทะใบบัวจะใช้เมื่อต้องการหุงข้าวเลี้ยงคนจำนวนมากๆ เป็นการหุงข้าวที่ผู้หุงต้องมีชำนาญมาก เพราะเป็นการหุงข้าวแบบไม่เช็ดน้ำ คนหุงต้องกะน้ำให้พอดี ถ้าใส่น้ำมากเกินไปก็ต้องตักออก เมื่อข้าวสุกก็ต้องคอยราไฟ   ผลพลอยได้ของการหุงข้าวด้วยกระทะใบบัวคือข้าวตังซึ่งเป็นข้าวที่จับติดกันเป็นแผ่นที่ก้นกระทะ

 

ครัวไทยสมัยโบราณไม่ได้มีกระทะเหล็กติดครัวทุกบ้าน ทั้งนี้เป็นเพราะสำรับอาหารไทยสมัยก่อนไม่ค่อยประกอบอาหารประเภทผัดหรือทอดเท่าใดนัก โดยมากจะเป็นผักต้มน้ำพริก หรือแกงมากกว่า กระทะอีกประเภทหนึ่งที่พบในครัวไทยสมัยก่อนคือกระทะทองเหลือง เรียกว่า “กระทะทอง” รูปร่างกลมป้อม ก้นลึกว่ากระทะเหล็ก มีหูสองข้าง กระทะทองเอาไว้ทำขนมโดยเฉพาะ บ้านคนมีสมัยก่อนมักจะมีกระทะทองเหลืองติดบ้านไว้ทำขนม

 

ตะหลิว คำว่า “ตะหลิว” เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว อ่านว่าเตียหลือ แต่เวลาพูดจะออกเสียงว่าเตียหลิว เป็นคำสองคำเอามารวมกันคือ มาจากคำว่า “เตี้ย” แปลว่ากระทะ “หลิว” แปลว่าแซะหรือตัก จากชื่อก็พอจะอนุมานได้ว่าไทยรับเครื่องใช้นี้มาจากจีน เพราะครัวไทยนั้นมีกระจ่าหรือจวักใช้อยู่แล้ว

 

กระจ่า จวัก หรือ ตะหวัก ทำจากกะลามะพร้าวแก่ๆ มาตัดให้เป็นรูปค่อนข้างกลม แล้วทำด้ามสำหรับถือยาวๆ เพื่อให้ใช้ตักแกงหรือตักข้าวได้ มีความเชื่อว่าห้ามใช้จวักชิมแกงเพราะจะเกิดอุบาทว์  จวักนี้เป็นของใช้ในหมู่ชาวบ้านเท่านั้น เพราะในรั้วในวังจะใช้ทัพพีที่ทำจากทองเหลืองซึ่งสวยงามกว่าแทน

 

กระต่ายขูดมะพร้าว เครื่องใช้สำหรับขูดมะพร้าว เรียกว่า “กระต่าย” หรือ “กระต่ายขูดมะพร้าว” ทั้งๆที่ส่วนมากก็ไม่ได้ทำเป็นรูปกระต่าย เป็นรูปสัตว์อื่นๆก็มี รวมทั้งคนด้วย บางทีก็เป็นแผ่นไม้ธรรมดาต่อขาสองขาพอให้สูงจากพื้นเล็กน้อย ก็เรียกกันว่ากระต่าย  ความจริงที่เรียกว่ากระต่ายไม่ได้อยู่ที่รูปร่างที่เป็นไม้ แต่อยู่ที่เหล็กแผ่นที่ทำเป็นฟันซี่เล็กๆ สำหรับขูดมะพร้าวมากกว่า ฟันเหล็กนี้เปรียบเหมือนฟันกระต่ายที่คมขูดมะพร้าวออกเป็นขุย จึงได้อุปมาฟันเหล็กนี้ว่าเหมือนฟันกระต่ายและใช้เรียกว่าเครื่องมือที่ใช้ขูดมะพร้าวว่ากระต่ายต่อมา

 

วิธีนั่งขูดมะพร้าวของไทยมีสองแบบ แบบหนึ่งนั่งชันเข่าบนตัวกระต่ายด้วยเท้าข้างหนึ่ง แล้วเข่าอีกข้างหนึ่งจดพื้น อีกแบบหนึ่งนั่งพับเพียบบนตัวกระต่ายหรือแบบสุภาพสตรีอังกฤษขี่ม้า ขาทั้งสองไขว้อยู่ข้างเดียวกัน  แต่ที่ถนัดน่าจะเป็นการนั่งแบบแรก ถึงจะเป็นผู้ชายก็ห้ามไม่ให้นั่งคร่อมกระต่าย

 

กระชอน เป็นเครื่องมือที่ใช้คู่กับกระต่ายขูดมะพร้าว คือเมื่อขูดมะพร้าวเสร็จก็ต้องคั้นกะทิ เมื่อคั้นกะทิได้แล้วก็ต้องกรองด้วยกระชอน  กระชอนในสมัยก่อนมีหลายชนิด ทำด้วยกะโหลกมะพร้าวก็มี คือหากะโหลกขนาดใหญ่มาเจาะรูเป็นรังผึ้ง อย่างนี้จะใช้ทนทานดี บางทีก็เอาแผ่นกระดานมาเจาะรู แต่ที่นิยมใช้กันมากก็เป็นพวกจักสารเพราะตาถี่ละเอียด กรองกากมะพร้าวได้ดี

 

เครื่องใช้ในครัวที่ได้นำมากล่าวข้างต้นนี้ หลายอย่างปรากฏเฉพาะในพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่ครัวเรือนของคนทั่วไป ทั้งนี้แป็นเพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้วิธีการประกอบและบริโภคอาหารเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน 

 

 

รายการอ้างอิง

 

ส. พลายน้อย [สมบัติ พลายน้อย]. 2558. ครัวไทย. กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊คส์

 

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 19 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม – กันยายน 2561)

 

หนังสือบทร้อยกรองเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดช

เมื่อวันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560 สถาบันไทยศึกษาได้ร่วมกับภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงาน “ร้อยมณีน้ำตา รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ โดยเสด็จพระราชกุศลในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร”  ในงานมีการแจกหนังสือรวมบทร้อยกรองแสดงความอาลัยและการเฉลิมพระเกียรติที่นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบันร่วมกันประพันธ์ถวาย ทำให้มีผู้สอบถามว่านอกเหนือจากหนังสือ “ร้อยมณีน้ำตา” แล้วมีหนังสือรวบรวมบทร้อยกรองเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดชเล่มใดอีกบ้าง
 
ในโอกาสนี้  คณะผู้จัดทำจึงขอนำเสนอรายนามหนังสือรวมบทร้อยกรองเฉลิมพระเกียรติฯ ที่รวบรวมขึ้นในวโรกาสต่าง ๆ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดช พร้อมทั้งยกตัวอย่างบทร้อยกรอง  เพื่อแสดงความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ผู้สถิตในดวงใจของชาวไทยนิรันดร์

หนังสือที่แต่งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดชมีจำนวนมากโดยเฉพาะวรรณกรรมที่แต่งขึ้นด้วยร้อยแก้ว  โดยมากมักเป็นหนังสือรวบรวมพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจโครงการพระราชดำริ โดยหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน  นอกจากนี้ยังปรากฏวรรณคดีร้อยแก้วเฉลิมพระเกียรติ เช่น  เรื่องสั้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดช ชุด แสงธรรมแห่งศรัทธา  

 

ส่วนหนังสือบทร้อยกรองเฉลิมพระเกียรตินั้น มีจำนวนไม่มาก อันสัมพันธ์กับขนบนิยมในการแต่งวรรณคดีเฉลิมพระเกียรติในสมัยปัจจุบันที่นิยมแต่งเป็นบทอาเศียรวาทขนาดสั้นลงในหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร วารสาร  หนังสือรวมบทร้อยกรองเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดช แบ่งได้ 2 กลุ่มดังนี้

 

1. บทร้อยกรองเฉลิมพระเกียรติที่แต่งขึ้นเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา มักจะแต่งในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ รอบ อาทิ ฉลองพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ 

 

     1.1 ลิลิตเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระภูมิพลมหาราช อาจารย์เฉลิมชัย ตาละลักษมณ์ อาจารย์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยประพันธ์ในนามของปวงชนชาวไทยมีผู้มีความจงรักภักดี เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทราภูมิพลอดุลยเดชเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530

 

     1.2  ลิลิตอัครศิลปิน “นวมินทร์มหาราชา” ถวัลย์ มาศจำรัส ประพันธ์ขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดชเจริญพระชนมพรรษา  รอบเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยเนื้อหาในบทร้อยกรองเน้นการสรรเสริญพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดชด้านศิลปะทั้งศิลปกรรม ดนตรี วรรณกรรม

 

2. บทร้อยกรองเฉลิมพระเกียรติที่แต่งขึ้นเนื่องในวโรกาสครบรอบการครองสิริราชสมบัติ ทั้งการฉลองครองสิริราชสมบัติ 50 ปี (กาญจนาภิเษก) ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และครองราชย์สมบัติ 70 ปี ปรากฏทั้งบทร้อยกรองที่แต่งด้วยกวีคนเดียว และการรวบรวมของบทร้อยกรองของกวีร่วมกันแต่งเพื่อเฉลิมพระเกียรติ อาทิ

 

     2.1 ร้อยกรองกาญจนาภิเษก : เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นหนังสือรวบรวมบทร้อยกรองขนาดยาวที่แต่งขึ้นเนื่องในวโรกาสกาญจนาภิเษก พ.ศ.2539 อาทิ มหาชนกคำฉันท์ ของนายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ลิลิต
อัครศิลปินของนางอรอนงค์ ตั้งก่อเกียรติ และโครงการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคำกลอน
 
     2.2 ลิลิตโครงการพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติพระภูมิพลมหาราช เสวยสิริราชสมบัติครบ 50 ปี นางสุนีย์ ปิยะเกตุประพันธ์ถวายในนามสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพระนครเหนือ โดยนำโครงการพระราชดำริต่าง ๆ เช่น โครงการฝนหลวง โครงการป่ารักน้ำ มาเป็นแก่นเรื่องหลักในการเฉลิมพระเกียรติ

 

     2.3 ประชุมคำกาพย์ พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช 2539 เป็นบทร้อยกรองบันทึกพระราชพิธีกาญจนาภิเษก  ปรากฏทั้งร้อยแก้วอธิบายความเป็นมา และองค์ประกอบในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก และกาพย์ห่อโคลง 5 บทคือ ชมกระบวนเรือ บุญกฐิน ชมเมือง เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และสรรเสริญพระบารมีจะเห็นได้ว่าใช้ลักษณะของกาพย์เห่เรือเพื่อสรรเสริญพระบารมี

 

     2.4  รวมบทอาศิรวาทในรอบครองราชย์ 60 ปี เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550 เป็นหนังสือที่บทร้อยกรองทั้งวโรกาสที่ทรงครองราชย์ครบ 60 ปีและเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา
 
     2.5 นบพระภูมิบาลบุญดิเรก:ลิลิตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นการรวบรวมร้อยกรองเฉลิมพระเกียรติจากกวีหลายคน เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ลักษณะคำประพันธ์เป็นลิลิตสุภาพ มีการเผยแพร่ทั้งรูปเล่มหนังสือและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ สามารถเข้าไปหาอ่านได้ที่http://www.finearts.go.th/songkhlaarchives.

 

     2.6 70 สัมพัจฉร์ฉลองรัชธรรมราชา เป็นหนังสือรวบรวมบทกวีนิพนธ์สรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจำนวน 70 บท โดยกวี 70 คน อาทิ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ประยอม ซอมทอง, จิระนันท์ พิตรปรีชา, กานติ ณ ศรัทธา, ไพวรินทร์ ขาวงาม, โชคชัย  บัณฑิต
 

 

รายการอ้างอิง

 

กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ, คุณหญิง [บรรณาธิการ]. 2549.นบพระภูมิบาลบุญดิเรก:ลิลิตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

 

เฉลิมชัย ตาละลักษมณ์. 2530. ลิลิตเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระภูมิพลมหาราช. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์วัฒนกิจพาณิชย์

 

ถวัลย์ มาศจำรัส. 2542. ลิลิตอัครศิลปิน “นวมินทร์มหาราชา”. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช

 

ผกาวรรณ เดชเทวพร(ผู้รวบรวม). 2539. ร้อยกรองกาญจนภิเษก: เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

 

ศิรธัช ศิริชุมแสง และ ระวี สัจจโสภณ [ผู้เรียบเรียง]. 2558. ประชุมคำกาพย์ พระราชพิธีกาญาจนาภิเษก พุทธศักราช 2539. คณะศิษย์พิมพ์เป็นที่ระลึกสนองอาจาริยคุณในโอกาส ฉลองอายุครบ 60 ทัศ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ , มปท.

 

สุนีย์ ปิยะเกตุ. 2539. ร้อยกรองกาญจนาภิเษก : เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. [ม.ป.ท.]

 

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2560. ร้อยมณีน้ำตารำลึกพระมหากรุณาธิคุณ โดยเสด็จพระราชกุศลในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 20 มกราคม พ.ศ.2560. [ม.ป.ท.]

 

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. 2550. รวมบทอาศิรวาทในรอบครองราชย์ 60 ปี เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550. กรุงเทพฯ:มูลนิธิศิลปินแห่งชาติ.

 

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 2559. 70 สัมพัจฉร์ ฉลองรัชธรรมราชา กวีนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

 

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 มกราคม – มีนาคม 2560)

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

ด้วยวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 กำหนดให้เป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรชาวไทย  ในการนี้ รัฐบาลได้สร้างพระเมรุมาศขึ้นที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีอย่างสมพระเกียรติ สารไทยศึกษาจึงขอใช้โอกาสนี้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระเมรุมาศ 

คติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ที่เปรียบพระมหากษัตริย์เป็นองค์นารายณ์อวตาร และคติพุทธศาสนาที่เปรียบพระมหากษัตริย์เป็น  พระโพธิสัตว์ที่จุติมาบนโลกเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ งานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์  จึงปรากฏการสร้างพระเมรุมาศเพื่อส่งพระองค์คืนสู่สวรรค์  ดังคำแสดงการเสียชีวิตของพระมหากษัตริย์ที่ใช้คำว่า “สวรรคต” ซึ่งหมายถึง “การไปสู่สวรรค์ (สฺวรฺค+คต)” (ราชบัณฑิตสถาน, 2556:1184)

ธรรมเนียมการสร้างพระเมรุมาศเพื่อใช้เป็นที่ถวายพระเพลิง พระบรมศพปรากฏมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง  อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมการสร้างพระเมรุมาศก็ได้ปรับเปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัยตามบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป  กล่าวคือ ในสมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนิยมการสร้างพระเมรุเอกเป็นเรือนยอดปรางค์ขนาดใหญ่สีทอง แวดล้อมด้วยพระเมรุทิศ  เมรุแทรก  เพื่อจำลองรูปลักษณ์ของเขาพระสุเมรุตามคติไตรภูมิที่ว่าสวรรค์นั้นอยู่บนเขาพระสุเมรุ  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ธรรมเนียมในการสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่ได้เปลี่ยนเป็นการสร้างพระเมรุมาศขนาดเล็กลง  ทั้งนี้เพื่อความประหยัดทั้งแรงงานและพระราชทรัพย์ เพราะในรัชสมัยของพระองค์ได้ยกเลิกการเกณฑ์แรงงานจากไพร่ และระบบทาสแล้ว  พระเมรุมาศของระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเป็นต้นแบบของพระเมรุมาศแบบใหม่ของสมัยรัตนโกสินทร์  คือพระเมรุมาศทรงบุษบกที่แวดล้อมด้วยพระเมรุราย 4 ทิศ
 

รูปแบบของพระเมรุมาศบุษบกซึ่งเป็นแบบพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ภายในมีแท่นพระจิตกาธานรองรับพระบรมโกศจันทน์ในวันถวายพระเพลิง โดยนำเฉพาะพระเมรุส่วนที่ใช้ถวายพระบรมศพมาขยายขนาดเป็นพระเมรุมาศแทนพระเมรุมาศปราสาทยอดปรางค์แบบเดิม
 

สำหรับการปลูกสร้างพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  คณะผู้จัดสร้างได้ทำอย่างพิถีพิถัน ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดวางผังพระเมรุมาศที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับศาสนสถานสำคัญในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์บริเวณรอบมณฑลพิธีท้องสนามหลวง  โดยตำแหน่งที่ตั้ง  พระเมรุมาศบุษบกประธาน  ที่ตั้งของพระจิตกาธานสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นจุดตัดของแนวแกนที่สำคัญ 2 แนวแกนที่ตัดกันได้แก่

– แนวเหนือ-ใต้ เป็นแนวแกนที่สัมพันธ์กับพระศรีรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อลากจากยอดพระศรีรัตนเจดีย์

-แนวตะวันออก-ตะวันตก เป็นแนวแกนที่สัมพันธ์กับพระอุโบสถและพระวิหาร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เมื่อลากจากเขตพุทธวาสวัด มหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

การกำหนดแนวแกนของพระเมรุราศดังกล่าวข้างต้น เป็นความตั้งใจของคณะสถาปนิกผู้ออกแบบที่มีความหมายเบื้องหลังว่า

“เราตีความว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ปรัชญาการวางผังตามคติความเชื่อแบบไทยประเพณี  ถ้าอะไรสำคัญมักจะมีแนวแกน เราอยากให้พระเมรุมาศสัมพันธ์กับสิ่งสำคัญที่มีอยู่  ซึ่งในวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่เราเลือก “พระศรีรัตนเจดีย์” เป็นเจดีย์สีทองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และ “พระวิหาร” ในวัดมหาธาตุ ซึ่งนอกจากจะเป็นวัดเก่าแก่ ยังขนาบข้างระหว่างวังหลวงกับวังหน้า และเป็นสถานที่สำคัญที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับพระไตรปิฎก

เราตีความว่าพระเจ้าอยู่หัวเหมือนพระโพธิสัตว์ลงมาช่วยเหลือมนุษย์ พระเมรุมาศของพระองค์ท่านจึงสัมพันธ์กับวัด วัง เป็นการสื่อถึงพระโพธิสัตว์ในทางศาสนา” 

หากมองพระเมรุมาศจากกึ่งกลางของทางเข้านอกรั้วราชวัติในทิศเหนือ (หันหน้าเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง) จะสามารถมองเห็นยอดพระศรีรัตนเจดีย์ซ้อนอยู่ในเมรุมาศบุษบกประธาน  เป็นความงดงามทางภูมิสถาปัตย์ที่มีความหมายพิเศษ  เป็นความตั้งใจของภูมิสถาปนิกกรมศิลปากร  ที่จัดวางผังเพื่อให้พระเมรุมาศ มีความหมาย งดงาม และยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
 

จากการกำหนดแนวแกนของพระเมรุมาศทำให้จัดสรรพื้นที่และจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ของพระเมรุมาศ ดังนี้

ส่วนผังพื้นลานพระราชพิธีรอบพระเมรุมาศออกแบบในการตีความเชิงสัญลักษณ์ตามผังภูมิจักรวาล คือคติเขาพระสุเมรุที่ลานรอบพระเมรุมาศมีป่าหิมพานต์ และสระน้ำรอบคือ “สระอโนดาต” การจัดวางผังพระสุเมรุมาศในครั้งนี้ได้สร้างสระน้ำขึ้นจริงๆ รอบพระเมรุมาศทั้ง 4 มุม  การใช้น้ำเป็นองค์ประกอบหลักในการออกแบบ ประกอบกับป่าหิมพานต์ที่ใช้ต้นไม้ ไม้ดัด โขดหิน และประติมากรรมสัตว์หิมพานต์  เพื่อสื่อถึงความผูกพันระหว่างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับ “น้ำ” เห็นได้ชัดจากโครงการพระราชดำริของพระองค์ที่ส่วนใหญ่เป็นโครงการเกี่ยวกับน้ำ
 

ส่วนลานบริเวณถัดออกมาออกแบบภูมิทัศน์เป็นสีทันดรมหาสมุทรและแสดงสัญลักษณ์ลายพื้นเป็น 4 จุด สื่อเป็นตัวแทนทวีปทั้งสี่  คือ ชมพูทวีป อุตตรกุรุทวีป อมรโคยานทวีป และบูรพวิเทหทวีป ซึ่งอยู่ล้อมเขาพระสุเมรุ ซึ่งอยู่ล้อมเขาพระสุเมรุที่อยู่ตรงกลาง เมื่อมองจากด้านบนจะเห็นได้ว่าการจัดวางผังพื้นที่เช่นนี้ขับเน้นบทบาทของพระเมรุมาศที่เป็นตัวแทนของเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นแกนกลางของโลกและเป็นที่ตั้งของสวรรค์
 

ภูมิทัศน์ด้านนอกนอกรั้วราชวัติทางทิศเหนือหรือด้านทางเข้าหลักของพระเมรุมาศ เน้นการจำลองบรรยากาศเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อสะท้อนถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพระราชดำริต่างๆ อาทิ บ่อแก้มลิง ติดตั้งกังหันชัยพัฒนา ฝายน้ำล้น นาข้าว พืชพันธุ์ที่ปลูกโดยรอบบริเวณ ได้แก่ หญ้าแฝก ต้นยางนา ต้นมะม่วงมหาชนก ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพ และการทรงงานอย่างหนักของพระองค์เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกรไทย  
 

ส่วนองค์พระเมรุมาศก็ออกแบบให้มีลักษณะพิเศษ  พระเมรุมาศรัชกาลที่ 9 เครื่องยอดของบุษบกประธานเป็นชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น (เชิงกลอน หมายถึง ชั้นซ้อนหลังคาเครื่องยอดของปราสาท) ชั้นเชิงกลอน 7 ชั้นจะเป็นเครื่องยอดของอาคารที่เป็นมหาปราสาทอันเชื่อมโยงกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

จำนวนบุษบก 9 ยอดยังมีนัยยะสัมพันธ์กับเลข 9 อันเป็นเลขประจำรัชกาล นอกจากนี้ยังมีนัยเชื่อมโยงกับพระโคตมพุทธเจ้า อันเป็นปางอวตารที่ 9 ของพระนารายณ์  คติความเชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระนารายณ์อวตารยังปรากฏที่ฉากบังเพลิงที่วาดภาพพระนารายณ์อวตาร 8 ปางกับภาพโครงการในพระราชดำริ เพื่อให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นนารายณ์อวตารมาปราบทุกข์เข็ญของประชาราษฏร์อย่างเป็นรูปธรรมด้วยโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ
 

นอกเหนือจากการออกแบบพระเมรุมาศให้สัมพันธ์กับคติเทวราชาของฮินดูแล้ว บุษบกประธานยังออกแบบให้สัมพันธ์กับคติพุทธศาสนาที่เชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือองค์พระโพธิสัตว์ที่จุติมาบนโลกเพื่อช่วยเหลือมนุษย์  ภายในชั้นเชิงกลอนแต่ละชั้นจะตกแต่งด้วยซุ้มบันแถลงใหญ่  ซุ้มบันแถลงน้อย  ซุ้มบันแถลงใหญ่ตรงกลางของชั้นที่ 7 ออกแบบให้มีประติกรรมรูปพระโพธิสัตว์

 

จากการประมวลแนวคิดในการออกแบบพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโดยสังเขปข้างต้น จะเห็นได้ว่าคณะผู้จัดสร้างพระเมรุมาศได้ทุ่มเทสติปัญญาและกำลังในการสร้าง พระเมรุมาศให้งดงาม ยิ่งใหญ่ และสื่อความหมายอันลึกซึ้ง สะท้อนให้เห็นความรัก ความจงรักภักดีที่จะส่งพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่ง เสด็จกลับสรวงสวรรค์อย่างสมพระเกียรติ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าธรรมเนียมปฏิบัตินี้ปรากฏอยู่ในสังคมไทยมาช้านานและจะคงอยู่สืบต่อไป เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อสังคมและวัฒนธรรมไทย

 

รายการอ้างอิง

ธัชชัย ยอดพิชัย,นนทพร อยู่มั่งมี, ยุวดี ศิริ และอพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ. สู่ฟ้าเสวยสวรรค์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2560.

 

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2556.

 

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. เสด็จสู่แดนสรวง ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ มิวเซียมสยาม, 2560.

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 ตุลาคม – ธันวาคม 2560)

ความสำคัญของศาลพระภูมิในสังคมและวัฒนธรรมไทย

คอลัมน์ถามตอบปัญหาไทยศึกษาประจำฉบับนี้ได้รับคำถามจากนักวิจัยแลกเปลี่ยนชาวแมกซิกัน 2 คน คืออาจารย์ Maricela Reyes จากมหาวิทยาลัย Universidad de Colima และอาจารย์ Maria de Las Nieves  Ivonne Delgado จากมหาวิทยาลัย Universidad Justa Sierra ได้ตั้งคำถามเรื่องศาลพระภูมิและความสำคัญของศาลพระภูมิในสังคมและวัฒนธรรมไทย  คณะผู้จัดทำจึงได้รวบรวมความรู้เรื่องศาลพระภูมิมาดังนี้

 

ความเชื่อเรื่องพระภูมิเจ้าที่มีรากฐานความเชื่อมาจากการนับถือผีบรรพบุรุษ  คือญาติผู้ใหญ่ ได้แก่ปู่ย่าตายายซึ่งตายไปแล้ว  และด้วยความอาลัยรักแม้บรรพบุรุษเหล่านี้จะตายไปแล้วลูกหลานก็ยังระลึกถึง  ท่านจึงอยู่เป็นผีประจำอยู่ในเรือน  คอยดูแลเอาใจใส่  การเลี้ยงผีบรรพบุรุษปรากฏอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมไทยทั่วทุกภาค เห็นได้ชัดจากเหนือเรียกผีปู่ย่า  ภาคอีสานเรียกผีปู่ตา  ภาคกลางเรียกผีปู่ย่าตายาย  ภาคใต้เรียกผีตายาย   ส่วนที่สถิตของวิญญาณผีปู่ย่านั้นก็มีคติของแต่ละภาคเช่นกัน  ภาคเหนือจะสร้าง “หิ้งผี” ไว้ที่หัวนอนเพื่อให้เป็นที่วางดอกไม้บูชาผีบรรพบุรุษ  ดอกไม้ที่วางทุกวันนี้เมื่อลูกหลานคนใดจะแยกเรือนออกไปก็จะ “แบ่งผี” คือเอาบางส่วนของดอกไม้นี้ไปกราบไหว้เหมือนได้นำผีบรรพบุรุษไปกราบไหว้ที่เรือนของตน

 

นอกจากผีปู่ย่าตายแล้ว  ก็ยังมีผีเรือนอยู่ด้วย  ผีปู่ย่าหรือผีเรือนจะเป็นผีอย่างเดียวกันหรือต่างกันก็แล้วแต่  นอกจากนี้ยังมีผีเจ้าที่ซึ่งในภาคกลางเรียกว่าพระภูมิ  พระภูมิคงเป็นคำเขมรโดยยืมคำบาลมาใช้อีกทอดหนึ่ง  เพราะทางอินเดียไม่ปรากฏว่ามีคำพระภูมิใช้เกี่ยวกับเรื่องพระภูมิ  สำหรับเรื่องสัณฐานของศาลพระภูมิที่มีเสาเดียวนั้น  สันนิษฐานว่ามาจากสัณฐานของศาลพระภูมินาหรือศาลเพียงตาที่มีเสาเดียว  เมื่อทำต่อมาในยุคหลังจึงทำตามๆกันเป็นเสาเดียวเหมือนต้นแบบ

 

ศาลพระภูมินั้นแต่เดิมทำด้วยไม้  มีพื้นลดหลั่นกันเป็นสองชั้น  ชั้นบนเป็นที่ตั้งรูปเจว็ดของท่าน (แผ่นไม้รูปคล้ายใบเสมา เขียนเป็นรูปพระภูมิชัยมงคลตั้งประจำศาลพระภูมิ – ราชบัณฑิตยสถาน, 2556:334) ชั้นล่างเป็นที่วางเครื่องสังเวย ซึ่งแต่เดิมเห็นจะเป็นที่วางเครื่องสังเวยสิ่งละอันพันละน้อย ภายหลังมีไก่ หัวหมู ปลาแป๊ะซะ และอะไรอีกมากมายตามความเจริญของเรื่องเหล่านั้น  โดยเฉพาะที่อยู่ในเมืองจึงต้องมีโต๊ะตั้งเป็นพิเศษ  วิวัฒนาการของศาลพระภูมิที่ภายหลังนิยมสร้างด้วยซีเมนต์เพราะศาลที่เป็นไม้มักจะโดนปลวกกัดกินเสียหาย  เมื่อเปลี่ยนวัสดุในการสร้างเป็นปูนซีเมนต์ ศาลพระภูมิในสมัยปัจจุบันจึงมีความสวยงาม ทำให้มีลักษณะเป็นยอดวิมานอย่างที่อยู่ของเทวดา  เมื่อที่สถิตมีการปรับรูปร่างก็เลยทำให้สถานภาพของพระภูมิเจ้าที่ยกระดับเป็นเทวดาหรือแม้กระทั่งหัวหน้าเทวดาไป

 

นอกจากพระภูมิเจ้าที่ยังมีผีอื่นๆที่สถิตตามที่ต่างๆ ทั้งผีดีและผีร้าย เป็นต้นว่าผีนางไม้ ผีนางตานี รุกขเทวดา ผีเสาเอก  โดยเอามีผ้าผูกให้รู้ว่าเป็นที่สถิตของผี บริเวณเหล่านี้ถ้าไม่จำเป็นมนุษย์ก็มักจะหลีกเลี่ยงไม่ไปเกี่ยวข้องด้วย  แต่ประสบคราวเคราะห์หรือจำเป็นต้องผ่านบริเวณนั้นก็มักจะไปกราบไหว้ขอให้คุ้มครอง ถ้าไม่ได้ทำก็จะรู้สึกไม่สบายใจ  

 

 

รายการอ้างอิง                                                                                                                    

 

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2556.

 

เสฐียรโกเศศ [พระยาอนุมานราชธน]. การศึกษาเรื่องประเพณีไทยและชีวิตชาวไทยสมัยก่อน. พระนคร: คลังวิทยา, 2515.

 

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 16 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม – กันยายน 2558)

บทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

 

 

เนื่องด้วยวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดชเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 พรรษาในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559  หน่วยงานภาครัฐได้นำบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมาแสดงเพื่อเทิดพระเกียรติ  สถาบันไทยศึกษาฯ จึงใช้โอกาสมหามงคลนี้นำความรู้เรื่องบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกมาเผยแพร่ต่อไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกโดยทรงนำเรื่องมาจากเมื่อ พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์(วิน ธมฺมสาโร มหาเถร) วัดราชผาติการาม  เรื่องพระมหาชนกเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยาน ในกรุงมิถิลา เรื่องมีใจความว่า ที่ทางเข้าสวนหลวงมีต้นมะม่วง 2 ต้น ต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล ทรงลิ้มรสมะม่วงอันโอชา  แล้วเสด็จเยี่ยมอุทยาน  เมื่อเสด็จกลับจากสวนหลวงทอดพระเนตรเห็นมะม่วงที่มีรสดี ถูกข้าราชบริพารดึงทึ้งจนโค่นลง  ส่วนต้นที่ไม่มีลูกก็ยังคงตั้งตระหง่าน …

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัย จึงทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ 4 ภาคที่ 2) และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษ  ตรงจากมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่องโดยทรงดัดแปลงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

เนื้อหาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ได้ทรงดัดแปลงจากมหาชนกชาดกนั้นมีหลายประการ เช่น การตัดทอนเรื่องให้กระชับ การเพิ่มเติมเนื้อความ การเปลี่ยนตอนจบของเรื่อง การเปลี่ยนคำบาลี-สันสกฤตให้เป็นคำไทยสามัญ การสร้างคำใหม่ทั้งคำไทยและคำต่างประเทศ และการคัดภาษาบาลี ลักษณะการดัดแปลงหลายประการนี้  อาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนตอนจบของเรื่องที่พระมหาชนกออกบวชในตอนท้ายเรื่องในมหาชนกชาดก  มาเป็นการตั้งปูทะเลย์มหาวิชชาลัยในพระราชนิพนธ์มหาชนกเป็นการดัดแปลงที่เด่นชัดประการหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อสื่อสาระธรรมให้เหมาะสมกับบริบทสังคมปัจจุบัน        

เมื่อพิจารณาระยะเวลาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มค้นคว้าจนกระทั่งทรงพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกสมบูรณ์ จะพบว่าเป็นระยะเวลายาวนานถึงเกือบยี่สิบปี ระยะเวลาที่ยาวนานในการพระราชนิพนธ์นั้นนอกจากจะมีเหตุมาจากการประกอบพระราชกรณียกิจอื่นๆหลายประการแล้ว  ยังมีเหตุมาจากความเอาพระทัยใส่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชนิพนธ์และทรงแก้ไขให้พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกมีความสมบูรณ์มากที่สุด  พระราชนิพนธ์เรื่องนี้จึงเป็น  

 

“หนังสือเรื่องนี้เป็นที่รักของข้าพเจ้า….หนังสือเล่มนี้ไม่มีที่เทียมและก็ท่านผู้เป็นศิลปิน ผู้ที่เป็นกรรมการ และผู้ที่สนับสนุน ย่อมจะทราบดีว่างานที่เราทำนั้นคุ้มค่าแค่ไหน” 

(พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  ในวโรกาสจัดแสดงนิทรรศการภาพเขียนเรื่องพระมหาชนก  ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา รโหฐาน พระราชวังดุสิต วันที่ 28  มีนาคม 2539 อ้างใน รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. จากเก่าสู่ใหม่ วรรณศิลป์ไทยไม่สิ้นสูญ .กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทร-วิโรฒ, 2552 หน้า 74.)

หลังจากการเผยแพร่พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ.  2539 เกิดการผลิตซ้ำเรื่องเล่าพระมหาชนกหลากหลายสำนวน หลากหลายรูปแบบ  อาจกล่าวได้ว่าพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีการผลิตซ้ำมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพระราชนิพนธ์เรื่องอื่นๆ ทั้งนี้อาจจะเป็นปัจจัยมาจากที่มาของบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกที่เป็นทศชาดกอันเป็นเรื่องเล่าทางพุทธศาสนาที่มีการรับรู้อย่างแพร่หลายในสังคมวัฒนธรรมไทย  การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนำมหาชนกชาดกมาดัดแปลงเป็นบทพระราชนิพนธ์จึงทำให้ชาดกเรื่องนี้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างยิ่งขึ้น

แม้จะไม่สามารถระบุจำนวนได้อย่างแน่ชัดว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา  มีเรื่องเล่าที่ผลิตซ้ำจากบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกทั้งสิ้นกี่สำนวน  แต่ก็อาจจะกล่าวได้ว่าเรื่องเล่าเกือบทุกเรื่องมีวัตถุประสงค์ในการผลิตซ้ำเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้มีพระอัจฉริยภาพด้านภาษา  และเพื่อเผยแพร่คำสอนเรื่อง“ความเพียรที่บริสุทธิ์”อันเป็นสาระธรรมที่ปรากฏอย่างเด่นชัดในพระราชนิพนธ์เรื่องนี้

 

รายการอ้างอิง

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. จากเก่าสู่ใหม่ วรรณศิลป์ไทยไม่สิ้นสูญ .กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2552.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  เรื่องพระมหาชนก. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2539.

 

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 17 ฉบับที่ 3 เมษายน-มิถุนายน 2559) 

“พระมหากษัตริย์” และ “พระพุทธศาสนา”

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จสวรรคต  ยังความโศกเศร้าแก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า  ในโอกาสแห่งความอาลัยนี้  คณะผู้จัดทำจึงขอนำบทสรุปความรู้เรื่อง “พระมหากษัตริย์” และ “พระพุทธศาสนา” อันเป็นส่วนหนึ่งของความเรียง พระมหากษัตริย์กับพระพุทธศาสนา ที่ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ได้เขียนไว้ในหนังสือ ศักดิ์ศรีวรรณกรรม มาเผยแพร่ เพื่อแสดงความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ผู้สถิตในดวงใจของชาวไทยนิรันดร์

อันตำแหน่งประมุขของแว่นแคว้นนั้น มีความหมายสองประการ กล่าวคือในยามปกติตำแหน่งนี้ก็เปรียบได้กับหัวหน้าครอบครัวใหญ่อันประกอบไปด้วยคนไทยหลายเผ่าหลายพวก ผู้เป็นประมุขจึงเป็นศูนย์กลางแห่งการปกครอง ต้องคอยดูแลทุกข์สุขและเอื้ออำนวยความไพบูลย์สวัสดีแก่ราษฎรของตน  หน้าที่นี้ก็เช่นเดียวกับพ่อที่ปกครองลูก ย่อมจักคอยอาทรเอื้อเฟื้อให้ลูกของตนประสบแต่ความสมบูรณ์พูนสุขอยู่เสมอ ยามที่เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ  หรือเป็นถ้อยเป็นความ  ก็ย่อมพิพากษาตัดสินหรือไกล่เกลี่ยให้ได้รับความยุติธรรมทุกฝ่าย  อีกประการหนึ่งก็คือ  ในยามที่เกิดศึกสงคราม  ประมุขของชาวไทยก็ต้องทำหน้าที่เป็นจอมทัพหรือแม่ทัพใหญ่นำทหารออกต่อต้านข้าศึก  ฉะนั้นตำแหน่งประมุขดังกล่าวมานี้จึงเป็นตำแหน่งหัวหน้าทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน

ตำแหน่งจอมทัพนั้น  ถ้าเรียกตามศัพท์อันมีมาในภาษาบาลี ก็เรียกว่า ขัตติยะ (ขตฺติย) และเรียกตามศัพท์สันสกฤตว่า กษัตริย์ (กฺษตฺริย) มีความหมายว่า “นักรบ” คำนี้เขาใช้เรียกหัวหน้าราษฏร  และยกให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก  จึงเป็นคำเต็มที่ว่า “พระมหากษัตริย์” เหตุที่เรียกหัวหน้าราษฎรว่าพระมหากษัตริย์  ก็เพราะว่าในสมัยโบราณ  ผู้เป็นประมุขของราษฎรต้องมีฝีมือเข้มแข็ง และต้องมีความองอาจกล้าหาญ สามารถนำกองทัพออกต่อสู้ศัตรูและรักษาบ้านเมืองของตน  ถ้าไม่มีฝีมือเข้มแข็ง  รบไม่เก่ง ก็ย่อมพ่ายแพ้เสียทีข้าศึก  ทำให้ประชาติสูญสิ้นเอกราชไปด้วย ฉะนี้จะแลเห็นได้ว่า  ตำแหน่งที่เรียกว่า “พระมหากษัตริย์” นี้มีความสำคัญมาก เกี่ยวกับความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศชาติ  จึงได้รับการยกย่องเทิดทูนอย่างสูง  เป็นประดุจมิ่งขวัญของราษฎร ทำให้ราษฎรได้รับความอบอุ่นใจ  นับว่าเป็นที่พึ่งอันสำคัญยิ่งของราษฎรในแว่นแคว้น  

คำว่า พระมหากษัตริย์ ซึ่งแต่เดิมเราหมายถึงนักรบหรือนายทัพนี้ในกาลต่อมา  แม้บ้านเมืองสงบราบคาบ  ไม่มีศึกสงครามมารุกราน  เราก็ยังนิยมเรียกประมุขของประเทศว่า พระมหากษัตริย์ อยู่นั้นเอง เราใช้คู่กับคำว่า “ราชา” หรือผู้ปกครองแว่นแคว้น ซึ่งเป็นอีกศัพท์หนึ่งที่เรานำมาจากภาษาบาลีและสันสกฤตใช้เรียกประมุขของเรา  แต่จะเป็นคำว่า ราชา หรือ มหากษัตริย์ ก็ตาม เราย่อมเข้าใจรวมกันไปว่าเป็นคำที่เรียกประมุขของชาติคนเดียวกัน มีความหมายอย่างเดียวกัน  และทำหน้าที่สองอย่าง คือเป็นหัวหน้าฝ่ายปกครองและทำนุบำรุงบ้านเมืองในยามปกติ  กับเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารในการออกสู้ศึกสงคราม  เพราะฉะนั้นตามความเข้าใจตรงกันว่า หมายถึงประมุขของชาตินั้นเอง  บางทียังเรียกรวมกันเสียด้วยว่า “พระราชามหากษัตริย์” อย่างที่มักจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆ

พระมหากษัตริย์ไทยหรือพระราชาธิบดีของไทยตั้งแต่สมัยโบราณกาลลงมา  ล้วนแต่เป็นผู้ที่ทำความดีความชอบต่อบ้านเมืองมาเป็นส่วนมาก สมกับตำแหน่งอันสูงเกียรตินี้เสมอมา  บางครั้งชาติไทยเราถูกชนชาติอื่นๆรุกรานเอาเป็นอย่างหนักจนทนอยู่ไม่ได้  จำต้องถอยร่นลงมาทางใต้และแตกหักเป็นก๊กเป็นเหล่า แต่ไทยเราก็กลับฟื้นคืนมาอีกหลายครั้งหลายหนพร้อมด้วยอำนาจอันแข็งแกร่งไม่ถึงแก่อับจน  หรือมลายหายสูญสิ้นชาติเชื้อไปเหมือนชาติโบราณอื่นๆ อีกหลายชาติ  ทั้งนี้ก็เพราะความสามารถของพระมหากษัตริย์ไทยนั่นเองที่ได้รวบรวมประเทศชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นปึกแผ่นมั่นคงดำรงเอกราชเรื่อยมาจนถึงบัดนี้  โดยเหตุนี้พระเจ้าแผ่นดินไทยนับตั้งแต่อดีตกาลช้านานกว่าสามพันปีเป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้จึงเป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชนชาวไทยเสมอมามิได้ขาด มีความสำคัญอย่างสูงสุดเปรียบประหนึ่งหัวใจของชาติ  หรือเป็นศูนย์กลางความรัก ความนับถือ  ตลอดจนถึงความไว้วางใจของราษฎรทุกคน  และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีพระมหากษัตริย์ จะขาดเสียมิได้

พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยโบราณนั้น  ได้รับความนิยมยกย่องจากราษฎรให้เป็นหัวหน้าของผู้ปกครองประเทศ  ย่อมมีพระราชอำนาจบริบูรณ์ทุกอย่างในอันที่จะทรงบริหารกิจการของชาติให้ลุล่วงไปตามพระราชอัธยาศัย  แต่ก็หาได้ปรากฏว่า พระองค์ทรงกระทำทุกสิ่งทุกอย่างไปตามอำเภอพระทัยไม่ พระมหากษัตริย์ย่อมทรงคำนึงถึงสิทธิ  เสรีภาพ  และผลประโยชน์ของราษฎรเป็นใหญ่เสมอ  การอันใดที่จะเป็นประโยชน์  เป็นสุขแก่ราษฎร  และจะเป็นเครื่องประสานสามัคคีระหว่างชนในชาติ  พระองค์ก็ทรงกระทำนั้นๆด้วยเต็มพระราชหฤทัยเสมอ  ทั้งนี้ก็เพราะทรงมีหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำพระทัย  และเป็นเครื่องเตือนพระสติอยู่เป็นนิจ  หลักธรรมดังกล่าวก็คือพระพุทธศาสนานั่นเอง

อนึ่ง พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่ส่งเสริมเสรีภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่  ซึ่งก็นับว่าถูกกับอัธยาศัยและนิสัยใจคอของคนไทยอันเป็นชนชาติที่รักเสรีภาพยิ่งนัก  พระพุทธศาสนาไม่ได้สนับสนุนให้คนเราแบ่งชั้นวรรณะกัน แต่มุ่งให้ทุกคนมีความเมตตากรุณาต่อกัน  และอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข  ไม่ให้ประทุษร้ายเบียดเบียนกัน  นี่ก็เป็นเครื่องทบทวีความเจริญแก่ชาติอีกโสดหนึ่ง เพราะอบรมนิสัยให้คนไทยเรามีใจกว้างขวางเผื่อแผ่  สามารถคบค้าสมาคมกับชาติอื่นด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง  ทำให้บังเกิดความนับถือ  ความสนิทสนม  และความไว้เนื้อเชื่อใจนานาประเทศทั่วไป  หลักธรรมดังกล่าวนี้นับว่าเป็นหลักสำคัญในการปกครองของไทย  เพราะทำให้ไทยเราเป็นชาติรักสงบ  มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเสมอ  ไม่เที่ยวรุกรานบ้านเมืองอื่นให้เขาเดือดร้อน  เรียกว่าไม่ก่อให้เกิดศัตรู  เราจึงอยู่กันมาด้วยความผาสุกยั่งยืนตราบเท่าทุกวันนี้

พระพุทธศาสนานั้นถึงแม้ว่าจะทรงความประเสริฐและศักดิ์สิทธิ์เพียงใดก็ตาม  จะดำรงคงอยู่เฉยๆ โดยไม่มีผู้อุปถัมภ์ย่อมไม่ได้  แท้จริงพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองและอยู่ยั่งยืนมั่นคงก็ด้วยอาศัยผู้นำประเทศ  คือพระมหากษัตริย์เป็นผู้สนับสนุนและทำนุบำรุง  เพราะพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเต็มที่ในอันที่จะทรงอำนวยความอุปถัมภ์และส่งเสริมได้มากกว่ายิ่งกว่าบุคคลใดๆ อาทิ การสร้างวัดวาอาราม  ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ปูชนียสถานต่างๆ ทางพุทธศาสนาตลอดจนถวายนิตยภัตเป็นเครื่องบำรุงเลี้ยงพระสงฆ์  เป็นต้น  พระมหากษัตริย์จึงทรงอยู่ในฐานะอันเลิศฝ่ายอุปถัมภ์พระศาสนาให้เจริญวัฒนาถาวรโดยลำดับมา เรียกว่าเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก เป็นหลัก เป็นประธานในการจรรโลงพระพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้

ในส่วนพระมหากษัตริย์ก็ทรงต้องพึ่งพาอาศัยพระพุทธศาสนาอย่างสำคัญ เพราะพระพุทธศาสนาเป็นหลักใจ  เป็นที่ยึดเหนี่ยว  และเป็นเครื่องส่องสติปัญญาให้พระมหากษัตริย์ทรงประพฤติ ปฏิบัติ และดำเนินไปในทางถูกต้อง นับว่าพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งอันทรงคุณประโยชน์ยิ่ง  ยกตัวอย่างเช่น  พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้เบียดเบียนกัน  พระมหากษัตริย์ไทยก็ทรงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  โดยนัยนี้นโยบายการปกครองของไทยก็เป็นไปในทางอะลุ้มอล่วย มีความเห็นอกเห็นใจกันเป็นใหญ่  พระมหากษัตริย์ทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวาง  ทรงให้เสรีภาพแก่ราษฎรอย่างเต็มที่ในอันที่จะมีความคิดเห็นแลแสดงความนับถือสิ่งต่างๆ ที่ตนปรารถนา ถ้าเป็นลัทธิอื่นศาสนาอื่นที่เข้มงวด จำกัดเสรีภาพในทางจิตใจของคน ประวัติศาสตร์ของชาติไทยก็จักเปลี่ยนไปในรูปอื่น  ไม่ประกอบไปด้วยความเผื่อแผ่เอื้อเฟื้อต่อคนทั้งหลายเหมอนดังที่เปิดโอกาสให้ราษฎรนับถือสิ่งต่างๆ ลัทธิต่างๆ ตามใจชอบแล้ว  ยังทรงเผื่อแผ่ความเมตตาปรานีไปยังประเทศอื่นๆด้วย กล่าวคือ ไม่ทรงเห็นว่าชาวต่างชาติที่นับถือศาสนาอื่นเป็นศัตรู  ทรงให้ความเป็นมิตรแก่ทุกๆ ชาติโดยสุจริตพระทัย  เหตุนี้ทำให้ไทยเราได้รับความนับถือยกย่องจากนานาชาติว่า เราเป็นชาติที่เจริญ  เป็นชาติที่รักสงบ  ไม่นิยมการทำสงครามรุกรานชาติอื่นให้เดือดร้อน  มีแต่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนต่างชาติต่างศาสนาด้วยไมตรีจิตเสมอมา
    

 

รายการอ้างอิง

ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา. ศักดิ์ศรีวรรณกรรม. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555. 

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 ตุลาคม-ธันวาคม 2559)

สำนวน "กรวดน้ำคว่ำกะลา" และ "ตรวจน้ำคว่ำกะลา"

เนื่องด้วยวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีตรงกับวันภาษาไทยแห่งชาติ  หน่วยงานต่างๆได้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียน การสอนรวมถึงการใช้ภาษาไทยในมิติต่างๆ คณะผู้จัดทำจึงใช้โอกาสนี้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสำนวนไทยบางสำนวน  ที่ปรากฏรูปเขียนหลายลักษณะจนทำให้เกิดความสับสนในการใช้ 

ในหนังสือสำนวนไทย ของขุมวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ปรากฏสำนวนที่มีความหมายว่า ตัดขาดไม่คบหาสมาคม อยู่สองสำนวนคือ "กรวดน้ำคว่ำกะลา" และ "ตรวจน้ำคว่ำกะลา" โดยได้ให้คำอธิบายความหมายของสำนวนทั้งสองไว้ว่า                                                          

“กรวดน้ำ” หรือ “ตรวจน้ำ” ตามที่ทำกันในปัจจุบันเป็นวิธีแผ่ส่วนกุศล  แต่ “กรวดน้ำ” ตามสำนวนนี้ไม่ใช่การแผ่ส่วนกุศล  เป็นวิธีปฏิบัติอย่างหนึ่งให้เห็นประจักษ์ว่าเป็นการทำด้วยน้ำใสใจจริง  อันได้ตั้งมั่นลงแน่นอนเด็ดขาดแล้ว  ใครกรวดน้ำอย่างนี้ก็แสดงว่าทำจริง เช่น พระเวสสันดรหลั่งน้ำประทานนางมัทรีให้กับพราหมณ์  หรือสมเด็จพระนเรศวรหลั่งน้ำประกาศอิสรภาพ

คำว่า “คว่ำกะลา” คำเดียวเป็นสำนวนมีความหมายอย่างเดียวกับ “คว่ำบาตร” คำ “คว่ำ” คำเดียวเป็นสำนวนใช้หมายถึง อาการที่แสดงออกมาด้วยความไม่พอใจ เช่น หน้าคว่ำ เป็นอย่างที่พูดกันว่าหน้าบอกบุญไม่รับ “คว่ำบาตร”แปลตามตัวว่าพระสงฆ์คว่ำบาตรของท่านเสีย ไม่รับของใส่บาตร เมื่อพระสงฆ์ไม่ได้ของจากใคร  ก็เท่ากับว่าผู้นั้นไม่ได้บุญ  เราก็เลยเอากิริยาที่พระสงฆ์ไม่รับบิณฑบาตมาใช้ในทางที่ว่า พระสงฆ์ท่านไม่ให้ผู้นั้นได้บุญร่วมด้วยกันเรียกว่า “คว่ำบาตร” คำนี้เลยกลายเป็นสำนวนใช้หมายถึงว่า ไม่คบหาสมาคมด้วย  คำว่า “คว่ำกะลา” มุ่งถึงกะลา อันเป็นภาชนะที่ใช้ใส่กรวดน้ำ ซึ่งเมื่อกรวดน้ำแล้วก็คว่ำกะลานั้นเสีย  เป็นการแสดงว่าเป็นเด็ดขาดจากกัน  ทำนองเดียวกับ “คว่ำบาตร” 

สำนวน “กรวดน้ำคว่ำกะลา” เป็นสำนวนที่ใช้กันทั่วไปทั้งนี้เพราะกะลาเป็นของต่ำ  เมื่อจะใช้เกี่ยวกับความไม่พอใจ จึงเอาคำ “กะลา” มาใช้ให้สม แต่การพูดการเขียนอาจจะเปลี่ยนเป็นภาชนะอื่นได้แล้วแต่จะเหมาะ เช่น กรวดน้ำคว่ำขัน กรวดน้ำคว่ำคะนน  หรืออะไรๆ อื่นซึ่งเป็นของโบราณๆ คำ “กรวดน้ำคว่ำกะลา” หรือคว่ำอะไรๆ เป็นสำนวนเต็ม  แต่ลางทีตัดพูดสั้นเพียง “กรวดน้ำ” ก็ใช้ได้เหมือนกัน

 

     ยังจะทำแสนงอนค้อนข้าฤา
ค้นมือจะใคร่ต่อยสักร้อยหน
กูจะตรวจน้ำคว่ำคะนน
ถึงยากจนขาดจากพี่น้องกัน

(สังข์ทอง  พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2)

 

     จึงว่าแก่สายทองจองจ้าน
ล้างตะพานบ้านเรือนเอาตีนสี
ได้ตรวจน้ำคว่ำกะลากันวนนี้
อันจะกลับคืนดีอย่าสงกา

(เสภาขุนช้างขุนแผน)                                   

 

ขุนวิจิตรมาตรายังได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการใช้คำว่ากรวดน้ำ หรือตรวจน้ำในสำนวนนี้ว่า “ในภาษาเขมร มีคำ “จรวจ” ตัว จ สะกด แปลว่า เทน้ำอย่างหนึ่ง แปลว่า พุ่ง เช่นที่เราเอาใช้เป็น “จรวด… แต่คำ “จรวจ” ของเขมรนี้ เราเอามาใช้เป็น “ตรวจ” เช่น ตรวจตราอีก ฉะนั้นเขียน “กรวดน้ำ” ก็ถูกอีก เป็นอันว่าเขียน “กรวดน้ำ” ก็ได้หรือ “ตรวจน้ำ” ก็ได้ทั้ง ๒ อย่าง โบราณจึงใช้ทั้งสองคำ

ปัจจุบันสังเกตได้ว่าการใช้คำว่า “ตรวจ” คู่กับคำว่าน้ำโดยนัยความหมายเดียวกับกรวดน้ำได้หายได้ไป  ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๕๔ ปรากฏคำว่า “กรวดน้ำ” ด้วยการสะกดเพียงลักษณะเดียว  แต่ยังคงความหมายของสำนวน “กรวดน้ำคว่ำกะลา” หรือ “กรวดน้ำคว่ำขัน” ว่า “ตัดขาดไม่ขอข้องเกี่ยวด้วยกัน”

 

รายการอ้างอิง

ขุนวิจิตรมาตรา[สง่า กาญจนาคพันธุ์]. สำนวนไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น), 2538. 

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระมหาพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554. กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถาน, 2556.

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 17 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม-กันยายน 2559)
 

กษัตริย์ร้าย: การตรวจสอบของระบบสังคมอุดมคติ

แปลและสรุปความจาก Betty Nguyen. “Bad Buddhist Kings: An Examination of the Ideal Social Order” in Rian Thai. Vol.4 /2011.pp 27-45.

 

 

ในวรรณกรรมพุทธทำนายของภาคเหนือซึ่งมีอายุในระหว่างศตวรรษที่ 19 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 แสดงให้เห็นด้านมืดของสังคมที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ภัยพิบัติต่างที่เกิดจากน้ำมือของผีร้าย มนุษย์ หรือแม้กระทั่งกษัตริย์ ภาพของไดแอสโทเปียหรือสังคมอันวุ่นวายซึ่งเป็นภาพตรงกันข้ามกับภาพของยูโทเปียหรือสังคมอุดมคติ  เป็นการฉายภาพที่ตรงกันข้ามกับสังคมยุคพระศรีอาริย์  ที่มนุษย์ได้รับการปกครองให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขโดยธรรมิกราชา

 

วรรณคดีพุทธศาสนาชี้ให้เห็นความสำคัญของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรมต่อความสุขและชะตาของชนชั้นใต้ปกครอง กษัตริย์ต้องดำรงตนอยู่ภายใต้ธรรมของกษัตริย์  อย่างไรก็ตามใน “พุทธทำนาย” ของภาคเหนือซึ่งมีแก่นเรื่องหลักแสดงการบอกเล่าชีวิตของพุทธศาสนาหลังการปรินิพพานของพระพุทธสมณโคดม จนกระทั่งสิ้นอายุขัยในอีก 5,000 ปี ได้กล่าวถึงกษัตริย์ที่เลวทราม และผลร้ายที่เกิดขึ้นแก่บ้านเมืองเพราะกษัตริย์เลวทราม เพื่ออธิบายมโนทัศน์ของกษัตริย์ในอุดมคติของศาสนาพุทธ

 

การใช้อำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมอุษาคเนย์  การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์มีความชอบธรรมในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการลงโทษทัณฑ์  การเรียกผลประโยชน์จากประชาชน การขยายดินแดน  โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าต่างด้าวท้าวต่างแดน ขุนนางเป็นเครื่องรองรับการใช้อำนาจทางการเมืองให้ลุล่วง ในสมัยก่อนกษัตริย์ในอุษาคเนย์ ดำรงเดชานุภาพในฐานะ “เจ้าชีวิต” สังเกตได้ว่าบทบาทของกษัตริย์สามารถจำแนกได้เป็น 2 บทบาทใหญ่ ได้แก่ บทบาท “ผู้ให้/ผู้หยิบยื่น” อันได้แก่ การหยิบยื่นโทษให้แก่ราษฎร  และบทบาทของ “ผู้รับหรือผู้สกัดเอา” อันได้แก่ ผู้รับประโยชน์ต่าง ๆ จากราษฎร  

 

ในพุทธทำนาย ได้กล่าวถึง การลงโทษสถานหนักของพระมหากษัตริย์ว่าเป็น 1 ใน 10 ทุกข์ภัยที่จะเกิดขึ้นแก่เมือง อันแสดงให้เห็นสัญญาณของความเสื่อมตามความเชื่อที่ว่าศาสนาพุทธจะสิ้นไป  
ทุกข์ภัย 10 ประการ ได้แก่

 

1. ทุกข์
2. เกิดกลียุคแก่มนุษย์และสัตว์
3. ภาวะอดอยาก
4. กษัตริย์ เจ้าผู้ครองนคร ชันชั้นสูงจะลงโทษหนัก
5. ถนนที่ทอดยาวจะถูกตัดในอนาคต
6. พ่อแม่ สามีภรรยา ลูก จะแยกขาดจากกันในอนาคต
7. บ้านจะถูกละทิ้ง
8. คนแก่จะหนุ่มสาวจะกลับสลับบทบาทกัน พวกเขาจะตายเพราะทุกข์ภัย 10 ประการ
9. ผู้ชายและผู้หญิงจะมีหัวใจของผีร้าย จะไม่ประพฤติตามธรรม และด้วยเหตุนี้พวกเขาจะอาเจียนเป็นเลือดและตายในที่สุด
10. คนผู้ไม่รู้จักธรรมะ จะไม่เคารพพ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้เฒ่าผู้แก่ สุดท้ายคนพวกนี้จะตกนรกอเวจี

 

จากภัยทั้ง 10 ประการจะเห็นได้ว่าการลงโทษอันรุนแรงของกษัตริย์เป็นอันตรายของประชาชน เทียบเคียงได้กับภัยอื่นๆ อีก 9 ประการที่ได้กล่าวไว้ โดยนัยนี้กษัตริย์เปรียบเหมือนวิญญาณร้ายที่ไม่มีใครคุมขังได้  ภาพของกษัตริย์ที่ลงโทษประชาชนอย่างโหดร้ายจึงตรงกันข้ามกับกษัตริย์ผู้เมตตาในพระพุทธศาสนาอย่างพระเจ้าอโศกมหาราชผู้เคยเป็นกษัตริย์อันโหดร้ายมาก่อน  แต่กลับกลายเป็นผู้มีเมตตาเมื่อนับถือพุทธศาสนา
    
ส่วนบทบาทของ “ผู้รับหรือผู้สกัดเอา” อันตรงกันข้ามกับบทบาทแรกนั้น  เห็นได้ชัดจากการเรียกร้องเอา แรงงาน ภาษี เด็ก ผู้หญิง ทรัพย์สินในรูปแบบของค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้รัฐ  การเรียกเก็บในที่นี้จึงมีความหมายอันพร่าเลือนกับการ “ขู่กรรโชก/ขโมย/ ปรับสินไหม” หรือจะใช้คำว่า “รีดเลือด” ก็ไม่ผิดนัก

 

ในตำนานพระเจ้าเลียบโลก และตำนานพระยาอินได้เปรียบเทียบการเก็บค่าปรับของกษัตริย์และชนชั้นสูงที่กระทำต่อราษฎรว่า “เสมือนหนึ่งเทน้ำใส่เหยือกที่เต็มไปด้วยน้ำแล้ว” เป็นชุดความเปรียบที่แสดงให้เห็นว่าทรัพย์ของราษฎร์ซึ่งก็คือน้ำ ถูกถ่ายเทหรืออีกนัยหนึ่งคือ “ถูกรีดเลือด” ให้แก่พระมหากษัตริย์ผู้มีทรัพย์เต็มเปี่ยมอันสื่อความแทนด้วยเหยือกอันมีน้ำเต็มแล้ว  อันแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะมีทรัพย์สินมากมายเพียงใด กษัตริย์ที่เลวทรามก็ยังคงต้องการทรัพย์จากราษฎรอยู่ดี

 

ในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ปรากฏบทลงโทษของกษัตริย์ที่เลวทรามด้วยการเกิดสงครามกลางเมือง  สถานภาพของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ คนหนุ่มสาว ภรรยา พระภิกษุเกิดความกำกวมสับสน อันมีนัยแสดงให้เห็นว่าสถานภาพของพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในโครงสร้างของสังคมย่อมเกิดความสับสนและหมดอำนาจไปโดยปริยายเช่นกัน

 

นอกเหนือจากโครงสร้างของสังคมมนุษย์แล้ว กษัตริย์ผู้เลวทรามยังทำให้เกิดผลร้ายแก่โครงสร้างของสามโลก คือสวรรค์- ดินแดนของเทวดาผู้ประกอบคุณความดี มนุษย์ และนรกอันเป็นที่อยู่ของเปรตผู้ทำความชั่ว  เมื่อพระมหากษัตริย์ประพฤติตัวเลวทราม เทวดาที่อยู่บนสวรรค์จะพิโรธและบันดาลให้ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล  พืชพันธุ์ธัญญาหารไม่ให้ดอกออกผล  

 

การกล่าวถึงกษัตริย์ผู้เลวทรามในวรรณคดีพุทธทำนายเพื่อขับเน้นให้เห็นความสำคัญของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม การพรรณนาภาพของสังคมที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์เลวทรามเป็นการขู่ให้พระมหากษัตริย์ เห็นโทษของการประพฤติผิดหลักธรรมของศาสนาอันเป็นกรอบควบคุมอำนาจของพระมหากษัตริย์

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 มกราคม – มีนาคม 2560)

พระมหากษัตริย์ ข้าราชการ และประชาชน: มุมมองผ่านการเสด็จประพาสต้นคราวแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

สรุปความจาก ปิยนาถ บุนนาค. “พระมหากษัตริย์ ข้าราชการและประชาชน: มุมมองผ่านการเสด็จประพาสต้นคราวแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” .วารสารไทยศึกษา. ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556- กรกฎาคม 2256., 1-40.

 

“การเสด็จประพาสต้น” หมายถึงการเสด็จเที่ยวเล่นอย่างสามัญชนธรรมดา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ ไปยังสถานที่ต่างๆ อย่างที่สามัญชนเดินทางและประสบกับสภาพอย่างที่สามัญชนประสบ พร้อมกันนั้นก็พยายามทำพระองค์ให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเพื่อไม่ให้ใครจำพระองค์ได้  โดยไม่โปรดให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองจัดที่ประทับแรมหรือเตรียมการรับเสด็จแต่อย่างใด ไม่มีผู้ใดล่วงรู้เวลาและสถานที่ที่จะเสด็จ
 
หลักฐานบันทึกการเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือจดหมายเหตุเรื่องประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 (เสด็จประพาสต้น ร.ศ.123) พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยผู้ได้ตามเสด็จอย่างใกล้ชิด  

 

เส้นทางเสด็จประพาสต้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2447 ระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม ถึงวันที่ 7 สิงหาคม เป็นเวลา 25 วันเป็นการเสด็จทางเรือจากบางปะอินล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านเมืองนนทบุรี เข้าคลองบางกอกใหญ่ คลองภาษีเจริญ ฝั่งธนบุรี แล้วเสด็จฯ เข้าคลองดำเนินสะดวกเมืองราชบุรี ผ่านแม่น้ำแม่กลองไปเมืองเพชรบุรี เสด็จประพาสทางทะเล แวะเมืองสมุทรสงคราม ไปเมืองสมุทรสาคร ไปเมืองสุพรรณบุรี  
 
จากการศึกษาจดหมายเหตุเรื่องประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 ทำให้เห็นมุมมองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ที่มีต่อ พระมหากษัตริย์ ข้าราชการ และประชาชน ดังต่อไปนี้

 

มุมมองของพระมหากษัตริย์ การเสด็จประพาสต้นคราวแรกได้ให้มุมมองเกี่ยวกับพระราชอุปนิสัยและพระราชจริยวัตรในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายประการ ได้แก่ ทรงต้องการ “รับรู้” ทุกข์สุขของประชาชนด้วยวิธีการปฏิบัติด้วยพระองค์ ซึ่งกระทำด้วยการ “พักแรม” “เดินตลาด” และ “ทำครัว” แบบสามัญชน สถานที่ทำครัวก็ได้แก่บริเวณหน้าวัดต่างๆ ที่เรือประภาสต้นไปจอด นอกจากนี้ยังทรงประทับรถไฟชั้นที่ 3 ปะปนไปกับราษฎร อีกทั้งทรงประสบรถไฟมีปัญหาวิ่งไม่ได้เพราะภัยธรรมชาติ  
 
นอกจากนี้ยังทรงหา “โอกาส” ที่จะสร้างความสุขให้แก่พระองค์เองและคนอื่นในท่ามกลางความทุกข์ยากลำบาก  เมื่อต้องประสบปัญหาในการเดินทาง ทั้งปัญหาจากยานพาหนะหรือปัญหาที่เกิดจากธรรมชาติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดให้ทำอาหารแจกจ่ายแก่คณะเดินทาง  นอกจากนี้การเสด็จประพาสต้นยังทำให้เห็นพระอารมณ์ขันในการเปรียบเทียบบุคคลกับสิ่งต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น การเรียกกำนันผู้หนึ่งว่า “กำนันเหม็น” เพราะเรือของกำนันผู้นั้นมีกลิ่นเหม็น  เหนือสิ่งอื่นใดการเสด็จประพาสต้นยังทำให้เห็นพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ทั้งพวกข้าราชการที่มาตามเสด็จ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่รับเสด็จ และถวายเลี้ยงพระยาหารโดยไม่รู้ว่าเป็นคณะเสด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

มุมมองของข้าราชการ ข้าราชการที่ตามเสด็จประพาสต้นเป็นข้าราชการที่ใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิ  สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสยามกุฎราชกุมาร) จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  พลเรือเอกสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครราชสีมา  และขุนนาง เช่น พระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) และหลวงศักดิ์นายเวร (อ้น นรพัลลภ) 

 

จะเห็นได้ว่าข้าราชการที่ตามเสด็จในการเสด็จประพาสต้นนี้ ต่างเป็นข้าราชการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองเฉพาะด้าน  เพื่อให้ได้ประสบการณ์จากการตามเสด็จไปทำประโยชน์แก่ประชาชนและบ้านเมืองต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวิชราวุธ สยามมกุฎราชกุมารที่นอกจากจะได้ใกล้ชิดกับข้าราชการสำคัญแล้ว  ยังทำให้รับรู้วิถีชีวิตของผู้คนในหัวเมืองเพื่อจะนำไปแนวทางการในปฏิรูปและปกครองประเทศต่อไปเมื่อดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์

 

มุมมองของประชาชน การเสด็จประพาสต้นทำให้เห็นมุมมองฝั่งประชาชนหลายประการ ทั้งการประกอบอาชีพที่มีหลากหลายทั้งการเพาะปลูก การประมงโดยวิถีธรรมชาติ การต่อเรือขายและรับจ้างขนส่งสินค้า นอกจากนี้ยังทำให้เห็นความเชื่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ไสยศาสตร์ และความผูกพันของชุนกับวัดซึ่งมักตั้งอยู่ริมน้ำ  

 

นอกจากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น การเสด็จประพาสต้นยังทำให้เห็นความมีอัธยาศัยเอื้อเฟื้อเต็มใจต้อนรับผู้มาเยือนเห็นได้ชัดจากผู้ที่ถวายเลี้ยงพระยาหารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งๆที่ไม่รู้ว่าเป็นพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นความจงรักภักดีของประชาชนต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

การเสด็จประพาสต้นนอกจากจะทำให้เห็นมุมมองของพระมหากษัตริย์  ข้าราชการ และประชาชนแล้ว  การเสด็จประพาสต้นยังก่อให้เกิดผลต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

1. ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหายประชวร เพราะจุดมุ่งหมายของการเสด็จประพาสต้นก็คือให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พักผ่อน 

 

2.เกิดธรรมเนียมเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 หลังจากการเสด็จประพาสต้นครั้งแรกแล้ว ก็เกิดการเสด็จประพาสต้นในทำนองเดียวกันอีกครั้งทั้งในกรุงเทพ และมณฑลหัวเมือง เช่น สระบุรี กำแพงเพชร นครสวรรค์ สุพรรณบุรี และปราจีนบุรี
 
3. การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างพระมหากษัตริย์กับข้าราชการ และประชาชน และระหว่างข้าราชการกับประชาชน การเสด็จประพาสต้นคราวแรกก่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเป็นการ “เข้าถึง” ประชาชนอย่างแท้จริงเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ประชนชนอย่างแท้จริง
 
4. การทำนุบำรุงเศรษฐกิจ เพราะการใช้จ่ายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการกระจายเงินไปสู่ชาวบ้าน

 

5. การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เห็นได้จากการพระราชทาน “เงินล้างวัด” ให้แก่ที่ได้เสด็จไป

 

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 มกราคม – มีนาคม 2560)

บทสังเคราะห์ของมโนทัศน์หลักและลักษณะเด่นของวรรณคดีไทยพุทธศาสนา

แปลและสรุปความจาก Pisit Kobbun, “ A Synthesis Major Concept and Characteristics of Thai Buddhist Literature”, Rain Thai: International conference of Thai Studies Vol.9/2016 p.97-121.

 

วรรณคดีไทยพุทธศาสนามีรากมาจากวัฒนธรรมอินเดีย  ด้วยการแปลวรรณคดีพุทธศาสนาภาษาบาลีของอินเดียซึ่งแพร่กระจายทั่วดินแดนที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทอย่างศรีลังกา พม่า ไทย และประเทศอื่นๆ ในอุษาคเนย์  วรรณคดีพุทธศาสนาคือวรรณคดีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคำสอน เหตุการณ์ หรือบุคคลในพุทธประวัติ  มีการผลิตซ้ำในหลายรูปแบบและเนื้อหา  การสังเคราะห์มโนทัศน์หลักและบทบาทของวรรณคดีไทยพุทธศาสนา นำไปสู่ความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานของพุทธศาสนาในสังคมไทย  

วรรณคดีไทยพุทธศาสนาที่แต่งขึ้นตั้งแต่ช่วงสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ปรากฏมโนทัศน์หลักและลักษณะเด่น 4 ประการดังต่อไปนี้

 

1. วรรณคดีไทยพุทธศาสนาสร้างสรรค์มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และปกรณ์วิเสส  

 

ปรากฏทั้งการสร้างสรรค์จากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาชั้นต้นอย่างพระไตรปิฎก  และอรรถกถาซึ่งเป็นวรรณคดีที่เขียนขึ้นเพื่ออธิบายพระไตรปิฎก  และวรรณคดีพุทธศาสนาที่แต่งขึ้นภายหลังอย่างฎีกาซึ่งแต่งขึ้นเพื่อขยายความอรรถกถาอีกชั้นหนึ่ง  รวมถึงปกรณ์วิเสส  การสร้างสรรค์วรรณคดีไทยพุทธศาสนาจากคัมภีร์พุทธศาสนาปรากฏทั้งลักษณะของการสร้างสรรค์โดยตรง และการสร้างสรรค์ทางอ้อม
 

การสร้างสรรค์วรรณคดีไทยพุทธศาสนาโดยตรงจากคัมภีร์พุทธศาสนา ได้แก่ การนำคำสอน เหตุการณ์ หรือข้อความจากคัมภีร์พุทธศาสนาโดยอ้างอิงกับพระไตรปิฎกและอรรถกถา ลักษณะการสร้างสรรค์อีกประการหนึ่งที่ปรากฏมากคือ  การนำเรื่องและเนื้อหาจากพระไตรปิฎกมาปรับให้เข้ากับสังคมและวัฒนธรรมไทยโดยมิได้เปลี่ยนแปลงคำสอนที่ปรากฏในเรื่อง ตัวอย่างของวรรณคดีไทยพุทธศาสนาที่สร้างสรรค์ขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดนี้ได้แก่ ปฐมสมโพธิกถา นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง  และการนำเรื่องจากปัญญาสชาดกมาปรับเป็นวรรณคดีท้องถิ่น
       

วรรณคดีไทยพุทธศาสนาที่สร้างสรรค์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากคัมภีร์พุทธศาสนา สามารถจัดประเภทได้เป็น 4 กลุ่มย่อยคือ

     (1) พระไตรปิฎกภาษาไทย เป็นแกนกลางของวรรณคดีทุกประเภท ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของตัวบทที่เป็นคัมภีร์ของศาสนา  การแปลพระไตรปิฎกจึงต้องแปลอย่างรัดกุม ตรงไปตรงมา ไม่ปรับเปลี่ยนเนื้อหาใดๆ ก็ตาม

     (2) วรรณคดีอรรถาธิบาย เขียนขึ้นเพื่อการขยายความและอธิบายองค์ความรู้ในพระไตรปิฎก อาทิ อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา  ตำราพุทธศาสนาก่อให้เกิดอิทธิพลในการสร้างสรรค์วรรณคดีไทยพุทธศาสนา  ไตรภูมิกถาก็จัดเป็นตำราทางพุทธศาสนา  เพราะเป็นตำราโลกศาสตร์ที่มาจากคัมภีร์ทางศาสนาแล้วสร้างเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาเฉพาะ

     (3) วรรณคดีประวัติ  เป็นวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับประวัติของบุคคล สถานที่  เหตุการณ์ และวัตถุศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ บางเล่มกล่าวความเจริญและความเสื่อมของศาสนา  ลักษณะของวรรณคดีกลุ่มนี้คือคัดเลือกเนื้อหาตอนใดตอนหนึ่งจากคัมภีร์ศาสนามาสร้างวรรณคดีเรื่องเดียว อาทิ ปฐมสมโพธิกถา มหาวงศ์ ชินกาลมาลีปกรณ์

     (4) วรรณคดีเชิงวรรณศิลป์ วรรณคดีประเภทนี้มีอยู่มากในวัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ของไทย  มีลักษณะเน้นอารมณ์สะเทือนใจ  อารมณ์ ความงามและอลังการทางรูปแบบ  เช่น สมบัติอัมรินทร์คำกลอน กากี

 

        

2. วรรณคดีไทยพุทธศาสนาเป็นวรรณคดีแห่งประสบการณ์

 

วรรณคดีไทยพุทธศาสนาสร้างสรรค์โดยผู้แต่งผู้มีประสบการณ์จากการเรียน การปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การบรรลุถึง (ปรัยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ) ผู้แต่งซึ่งส่วนมากจะเป็นพระภิกษุได้แปรรูปประสบการณ์และความรู้ทางธรรมของตนให้ออกมาในรูปของวรรณคดีที่ความประณีตงดงามทั้งความรู้และความงามทางวรรณศิลป์  เพื่อใช้วรรณคดีนี้เป็นเครื่องมือสอนประสบการณ์ทางธรรมแก่ผู้เสพ  

นอกเหนือจากผู้สร้างที่เป็นพระภิกษุหรือผู้เคยบวชเรียนในพุทธศาสนาแล้ว ลักษณะของวรรณคดีไทยพุทธศาสนาที่เป็นวรรณคดีแห่งประสบการณ์ยังเกี่ยวกับตัวบทและผู้เสพวรรณคดี  ในส่วนของตัวบทซึ่งเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดประสบการณ์ทางธรรม จะเห็นได้ว่าตัวบทของวรรณคดีไทยพุทธศาสนาต่างอ้างอิงกับพระไตรปิฎก  ในขณะเดียวกันผู้อ่านก็ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ทางธรรมเพื่อรับสารที่สื่อมาจากผู้เขียน
     

3.วรรณคดีไทยพุทธศาสนาประพันธ์ขึ้นด้วยกลวิธีทางวรรณศิลป์อันหลากหลาย

 

ถึงว่าแม้ว่าองค์ประกอบของวรรณคดีไทยพุทธศาสนาจะเป็นเนื้อหาทางศาสนา และมุ่งสอนศาสนา  แต่เมื่อนำเสนอในรูปแบบของวรรณคดีซึ่งเป็นศิลปะประเภทหนึ่งที่มุ่งเน้นความงาม อารมณ์สะเทือนใจ  ความงามทางพุทธศาสนาคือความงามของเนื้อหาที่เป็นธรรมะหรือเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า  การผสานองค์ประกอบทางวรรณศิลป์กับวัตถุประสงค์เพื่อการสอนธรรมะเพื่อให้เกิดการสื่อสารที่กระจ่างชัด  การแสดงออกด้วยกลวิธีทางวรรณศิลป์จึงเป็นมโนทัศน์สำคัญในวรรณคดีไทยพุทธศาสนา

ตัวอย่างของการใช้กลวิธีทางวรรณศิลป์เพื่อสื่อสาระธรรม เช่นการพรรณนาภาพสวรรค์อันอุดมด้วยความสุข  ซึ่งตัดกันกับการพรรณนาภาพความทุกข์ของสัตว์นรกในไตรภูมิกถา  การพรรณนาภาพที่ขัดแย้งกันนี้เพื่อชักจูงให้ผู้เสพวรรณคดีเห็นประโยชน์ของการประกอบกุศลกรรม และในขณะเดียวกันก็เกรงกลัวในการประกอบอกุศลกรรม

 

4.วรรณคดีไทยพุทธศาสนาเป็นวรรณคดีมุ่งประโยชน์

 

หัวใจสำคัญของพุทธศาสนาคือความรู้ที่นำไปสู่การประพฤติชอบ  อันก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งระดับสามัญและระดับสูง  ประโยชน์ทางสามัญคือความยินดีและความสุขสงบใจที่ได้รับสารทางพุทธศาสนา  ทำให้เกิดศรัทธาและความเชื่อ ดำเนินชีวิตตามครรลองธรรม  ประโยชน์ระดับสูงคือการเข้าใจหลักอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค 

 

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 ตุลาคม – ธันวาคม 2560)

พระบาทสมเด็จพระเจ้านั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการฟื้นฟูสถาบันสงฆ์

สรุปความจาก วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์. “พระบาทสมเด็จพระเจ้านั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการฟื้นฟูสถาบันสงฆ์” .วารสารไทยศึกษา. ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556- กรกฎาคม 2256., 41-60.

 

 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งนี้ เป็นเพราะทรงเลื่อมใสส่วนพระองค์ อีกเหตุผลหนึ่งคือสถาบันศาสนาเป็นเครื่องค้ำชูสถาบันพระมหากษัตริย์   กล่าวคือเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ค้ำจุนพระพุทธศาสนาโดยการสร้างปูชนียวัตถุ ปกครองและบำรุงคณะสงฆ์  ดูแลประชาชนให้อยู่ในศีลธรรม พระมหากษัตริย์จึงเปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์ที่นำมนุษย์ไปสู่สุคติ  เมื่อศาสนาได้รับการบำรุงเรืองแล้วสถานภาพของพระมหากษัตริย์ได้การค้ำจุนให้มั่นคงตามไปด้วย

พระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญเพื่อการฟื้นฟูสถาบันสงฆ์ในรัชสมัยของพระองค์ แบ่งได้ 4 ประการดังต่อไปนี้

 

การสังคายนาพระไตรปิฎกและการส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกต่อจากสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าโลก  นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระไตรปิฎกใหม่ ที่สำคัญคือ ฉบับรดน้ำเอก ฉบับรดน้ำโท ฉบับทองย้อย ฉบับชุมยอ ฉบับอักษรรามัญ ฉบับเทพชุมนุมสำหรับวัดพระเชตุพน  ฉบับลายกำมะลอสำหรับวัดราชโอรส   

 

นอกเหนือการสังคายนาพระไตรปิฎกแล้ว  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงกระตุ้นให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมมากขึ้น  ทรงมีพระราชประสงค์ให้วัดแต่ละวัดมีพระเปรียญอย่างน้อย 5-6 รูปต่อปี  และยังได้ขยายการศึกษาพระปริยัติธรรมออกเป็น 4 ขั้น คือ (1) ชั้นบาเรียนจัตวา (2) ชั้นบาเรียนตรี (3) ชั้นบาเรียนโท และ (4) ชั้นบาเรียนเอก

 

    

การสร้างวัดและการส่งเสริมการบวช  

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  นับเป็นสมัยที่มีการสร้าง สถาปนา และปฏิสังขรณ์วัดมากที่สุดทั้งในกรุงและนอกกรุง  วัดที่สร้างในสมัยนี้มี  5 วัด และปฏิสังขรณ์อีก 60 วัด สาเหตุของการสร้างวัดจำนวนมากก็เพื่อรองรับพระภิกษุสามเณรที่มีอยู่จำนวนมาก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระมหานิกาย 28,000 รูป และเป็นพระสามัญ 2,000 รูป ทั้งนี้เป็นการบวชการเป็นช่องทางเลื่อนสถานภาพทางสังคมช่องทางหนึ่ง โดยเฉพาะพวกไพร่และทาส  

 

การปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์  

ในการจัดการปกครองคณะสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ยังคงยึดตามแบบการปกครองในรัชกาลก่อน อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแบ่งคณะสงฆ์เป็น 4 คณะใหญ่ คือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง และคณะอรัญวาสี   ในรัชสมัยนี้ยังมีการตั้งเกณฑ์การตั้งและการเลื่อนสมณศักดิ์ เช่น เป็นผู้เล่าเรียนและแตกฉานในพระปริยัติธรรม เป็นผู้มีความรู้ความสามารถทางด้านบริหารคณะสงฆ์  เป็นผู้มั่นคงในพระธรรมวินัยหรือทรงคุณในทางวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ที่ได้รับสมณศักดิ์จะได้เครื่องประกอบสมฯศักดิ์รวมถึงนิตยภัตด้วย ลดหลั่นตามชั้นและตำแหน่ง

 

การทำนุบำรุงด้านอื่นๆ

ได้แก่ การพระราชทานนิตยภัตคือค่าอาหารที่ถวายพระภิกษุสามเณรเป็นประจำตามลำดับชั้นยศ เริ่มตั้งแต่พระราชาคณะผู้ใหญ่ ที่ได้รับค่านิตยภัตเดือนละ 20 บาท ลำดับสมณศักดิ์ลำดับสุดท้ายที่ได้รับค่านิตยภัตคือ เปรียญ 3 ประโยคและพระฐานุกรมสามัญ และพระสงฆ์อนุจรในพระอารามหลวง ได้รับค่านิตยภัตเดือนละ 50 สตางค์  การพระราชทานนิตยภัตนี้ก็เพื่อให้พระสงฆ์สามารถดำรงสมณเพศได้นานตามต้องการ

นอกเหนือจากการพระราชทานนิตยภัตแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างสม่ำเสมอ เสด็จทรงบาตรเป็นประจำทุกวันมิได้ขาด  และทรงนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาถวายพระธรรมเทศนาและบอกคัมภีร์ในพระบรมมหาราชวัง  

 

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 ตุลาคม-ธันวาคม 2559)
 

บทบาทของอาหารในพิธีกรรมเกี่ยวกับดนตรีของชาวล้านนาในภาคเหนือของประเทศไทย

แปลและสรุปความจาก Bussakorn Binson. “The Role of Food in the Musical Rites of the Lanna People of Northern Thailand” in Rian Thai. Vol.2 /2009.pp 45-70.

 

พิธีไหว้ครูดนตรีไทยแบ่งเป็น 3 พิธี ได้แก่ (1) พิธีไหว้ครูเมื่อนักเรียนดนตรีจะเริ่มต้นเรียนดนตรี เรียกว่า “ยกครู” เพื่อให้นักเรียนได้แสดงความเคารพต่อผู้สอน  (2) พิธีไหว้ครูเมื่อจะเริ่มการแสดง เพื่อเรียกให้เทพเจ้าดนตรีให้มาช่วยการแสดงสำเร็จ  (3) การไหว้ครูประจำปีช่วงสงกรานต์ (12-14 เมษายน) เรียกว่าเลี้ยงครู

ในพิธีไหว้ครูมีอาหารหลายชนิดเพื่อเตรียมไว้เลี้ยงวิญญาณครูในอีกโลกหนึ่ง โดยอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่า แม้ครูดนตรีจะจากไปแล้ว ทว่าความรู้ที่ครูดนตรีประสิทธิประสาทให้ไว้ก็ยังคงอยู่ ในพิธีไหว้ครูของล้านนาได้ใช้อาหารหลายชนิดที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ ได้แก่

มะพร้าว เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญงอกงาม และด้วยคุณลักษณะที่ต้นมะพร้าวเจริญเติบโตได้ง่าย  มะพร้าวในพิธีไหว้ครูจึงมีความหมายแทนการแพร่กระจายของความรู้                     

กล้วย เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาและความก้าวหน้าในความรู้เรื่องดนตรี  

ข้าวดิบทั้งเมล็ด ในพิธีกรรมอื่นๆของภาคเหนือ การหว่านข้าวในพิธีมีความหมายแทนการขับไล่สิ่งชั่วร้าย  นอกจากนี้ความอุดมสมบูรณ์ของข้าวยังเป็นสัญลักษณ์แทนการใช้ชีวิตอย่างสบาย  สื่อความหมายแทนการใช้ชีวิตที่มีอาหารเพียงพอ                                                                                                                                                             

หัวหมู จะใช้พิธีเลี้ยงครูช่วงสงกรานต์ได้รับอิทธิพลมาจากพิธีเลี้ยงครูของภาคกลาง หัวหมูในพิธีไหว้ครูเป็นสัญลักษณ์แทนความกินดีอยู่ดี  แต่บางชุมชนก็ไม่สามารถหาหัวหมูมาประกอบในพิธีได้

ไก่ เนื่องจากไก่เป็นสัตว์ที่โตเร็วและให้ลูกมาก ไก่จึงแทนความหมายของปัญญาที่สำเร็จและรุ่มรวย                                                                                                                                                          
เหล้า  ใช้เพื่อเชิญวิญญาณครูมาร่วมชมการแสดง และช่วยให้การแสดงดำเนินไปได้อย่างลุล่วง    

องค์ประกอบของเครื่องแกง อันได้แก่ ตะไคร้ ข่า หอมแดง กะปิ กระเทียม  เพื่อเป็นการเตรียมเสบียงให้แก่วิญญาณของครูเพลงที่เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ 

นอกจากอาหารแล้วในพิธีไหว้ครูยังปรากฏวัตถุพิธีอื่นๆ ที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์เช่นกัน เช่น 

น้ำส้มป่อย กิ่งส้มป่อยใช้เป็นที่ปะพรมน้ำส้มป่อยในพิธีไหว้ครู  ความหมายของน้ำส้มป่อยคือการรักษาความชำนาญและความรู้เกี่ยวกับดนตรีไม่ให้ถูกทำลาย  หลังพิธีไหว้ครูนักเรียนดนตรีส่วนมากจะอาบน้ำส้มป่อยที่ผ่านการประกอบพิธีแล้ว   โดยเชื่อว่าน้ำส้มป่อยจะสามารถช่วยป้องกันและขับไล่สิ่งชั่วร้าย                                                            
เบี้ย (เปลือกหอย) ในสังคมบรรพกาลใช้เบี้ยเป็นสื่อแลกเปลี่ยนแทนเงินตรา การใส่เบี้ยในขันตั้งพบในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้เบี้ยสื่อแทนการจ่ายค่าเรียนดนตรีให้ครู  ถึงแม้ปัจจุบันจะใช้เงินบาทแทนเบี้ยแล้วก็ตาม การใช้เบี้ยในพิธีไหว้ครูก็ยังปรากฏอยู่

ในพิธีกรรมทางดนตรีของล้านนา  การถวายอาหารที่นำมากล่าวข้างต้น มีความหมายเพื่อตอบแทนคุณความดี ความรู้ที่ครูได้ถ่ายทอดให้ลูกศิษย์  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ความชำนาญ  ปัญญาด้านดนตรีที่กว้างขวางแต่ทว่าลึกซึ้ง  การถวายอาหารในพิธีไหว้ครูยังเป็นเสมือนคำขออนุญาตของศิษย์จากครูดนตรีที่ล่วงลับไป ให้ศิษย์สามารถอำนวยการแสดงได้อย่างลุล่วง

นอกเหนือจากบทบาทของข้างต้น อาหารในพิธีไหว้ครูของล้านนา ยังเป็นแสดงให้เห็นการตอบแทนของศิษย์ที่ต้องการตอบแทนครูดนตรีให้ควรค่ากับความรู้ที่ครูดนตรีได้ประสิทธิ์ประสาทให้  ครูดนตรีไม่ได้เพียงแต่สอน ปกป้อง หากแต่ยังทำให้ศิษย์ที่ได้เรียนดนตรีได้กลายเป็นบุคคลที่ได้รับเกียรติ ได้รับความนับหน้าถือตาจากสังคม     

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 17 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม-กันยายน 2559)