บทบรรณาธิการ - วารสารไทยศึกษา ปีที่ 13 ฉบับที่ 2

 

 

ในปีที่ 13 ที่วารสารไทยศึกษาได้ดำเนินบทบาทในการเป็นพื้นที่เผยแพร่องค์ความรู้ และงานวิจัยเกี่ยวกับไท-ไทยศึกษา วารสารได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา ให้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “โคลงเล่นซ่อนหาที่เกาะสีชัง: การเล่นกับภาษาในวันว่าง” ซึ่งนำเสนอใน การประชุมวิชาการระดับชาติเรื่อง “วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง” ที่สถาบันไทยศึกษาจัดขึ้น เมื่อวันพุธที่ 16 มีนาคม 2560 เพื่อเผยแพร่ความรู้จากการประชุมวิชาการออกสู่วงกว้าง

 

นอกเหนือจากบทความพิเศษแล้ว วารสารไทยศึกษาฉบับนี้ ประกอบด้วยบทความวิจัยทั้งสิ้น 6 บทความ เริ่มด้วยบทความเกี่ยวกับการศึกษาคือ บทความเรื่อง “เกมกลอน: กิจกรรมการเรียนรู้ร้อยกรองที่มากกว่าความสนุก” ของ อาจารย์ชวิน พงศ์ผจญ และบทความเรื่อง “หนังสืออ่านประกอบบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” สำหรับนักศึกษาชาวจีน” ของ SHI LEI ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุภัค มหาวรากร และ รองศาสตราจารย์ผกาศรี เย็นบุตร โดยบทความทั้งสองเรื่อง ต่างนำเสนอผลวิจัยเกี่ยวกับการสอนภาษาไทย และวรรณคดีไทยได้อย่างน่าสนใจ

 

บันทึกทางประวัติศาสตร์ และวรรณคดีพุทธศาสนา ยังคงมีแง่มุมให้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง และหลากหลาย ดังเช่นบทความเรื่อง “ราชธรรมในจามเทวีวงศ์: ความสัมพันธ์กับการสร้างบารมีเพื่อเป็นพระอินทร์” ของ อาจารย์ธีรวัฒน์ พูลทอง และบทความเรื่อง “พระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก”: การสืบทอดและการสร้างสรรค์วรรณคดีชาดกในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย” ของ อาจารย์ ดร. ณัฐกาญจน์ นาคนวล บทความทั้งสองเรื่อง ต่างแสดงให้เห็นความสำคัญของพุทธศาสนา ที่เป็นแกนกลางของสังคมไทย

 

บทความสองเรื่องสุดท้าย เป็นบทความที่เกี่ยวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่บทความเรื่อง “ครุพัน: สหัสวัตถุศักดิ์สิทธิ์กับบทบาทหน้าที่ในวัฒนธรรมอีสาน” ของ อาจารย์ ดร. สุทธินันท์ ศรีอ่อน และบทความเรื่อง “ประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ: บทบาทประเพณีที่มีต่อชาวสุรินทร์ในปัจจุบัน” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สารภี ขาวดี บทความทั้งสองเรื่อง แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมอีสานได้อย่างเด่นชัด ทั้งยังแสดงให้เห็นความสำคัญของประเพณี และวัฒนธรรมที่มีต่อกลุ่มคนเจ้าของวัฒนธรรม

 

วารสารไทยศึกษาขอขอบพระคุณผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ที่ร่วมกันชี้แนะ และให้ข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ ที่ทำให้ผู้เขียนทุกท่านได้นำมาปรับปรุง จนบทความมีความสมบูรณ์มากขึ้น รวมทั้งขอขอบพระคุณผู้อ่านทุกท่าน ที่สนใจติดตามวารสารมาอย่างต่อเนื่อง หวังว่าจะได้รับความกรุณาจากทุกฝ่ายต่อไปในอนาคต

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร. สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา

 

ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โคลงเล่นซ่อนหาที่เกาะสีชัง : การเล่นกับภาษาในวันว่าง

สุกัญญา สุจฉายา (ศาสตราจารย์ ประจำหภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

 

โคลงเล่นซ่อนหาที่เกาะสีชัง : การเล่นกับภาษาในวันว่าง

 

 

     

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอการใช้เวลาว่างของคนไทยในอดีตกาล ซึ่งสะท้อนผ่านการเล่นกับสำนวนภาษาที่นับเป็นศิลปะโดดเด่นของคนไทย เป็นกิจกรรมยามว่างที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ ไม่จำกัดเพศและชนชั้น สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้กับบริบทการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้ ผู้เขียนจึงใคร่นำเสนอ “โคลงเล่นซ่อนหา” สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เป็นการเล่นรวมกันในหมู่เจ้านายที่ได้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักเกาะสีชัง การเล่นซ่อนหาในคราวนั้นเป็นการเล่นซ่อนหาเชิงกวีนิพนธ์มิใช่การเล่นซ่อนหากันจริงๆ เพียงแต่โคลงบทนั้นๆ จะบอกให้รู้ว่าผู้เล่นกำลังจะพาโคลงไปซ่อนที่สถานที่ใด ดังนั้น ผู้เล่นต้องรู้จักภูมิประเทศและสถานที่ต่างๆ อย่างดี ในการเล่นโคลงซ่อนหาซึ่งมีความยาว 21 บท จะมีผู้เล่น 6 พระองค์คือ 1) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2) พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี 3) พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ (กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) 4) พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย (กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์) หรือที่เรียกว่าทูลกระหม่อมน้อย 5) พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา หรือต่อมาคือ เสด็จอธิบดี 6) พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนาถ (กรมหลวงพิศณุโลกประชานาถ) หรือทูลกระหม่อมเล็ก

 

คำสำคัญ: โคลงเล่นซ่อนหา, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, เกาะสีชัง

 

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 13 ฉบับที่ 2)

เกมกลอน : กิจกรรมการเรียนรู้ร้อยกรองที่มากกว่าความสนุก

ชวิน พงษ์ผจญ (อาจารย์ ประจำสาขาวิชาการสอนภาษาไทย ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

 

เกมกลอน : กิจกรรมการเรียนรู้ร้อยกรอง

 

บทความนี้ มุ่งศึกษาเกมกลอนที่ยังคงเล่นกันอยู่ในวงการแข่งขันร้อยกรอง และนำเสนอแนวทางในการประยุกต์ใช้เกมกลอนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร้อยกรอง จากผลการศึกษาพบว่า เกมกลอนที่นักกลอนยังคงนิยมเล่นกันอยู่นั้นมี 3 ประเภท คือ 1) ปริศนาผะหมี 2) กลอนมืด และ 3) กลอนจอหงวน โดยเกมกลอนเหล่านี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร้อยกรองตามแนวทาง 7 ขั้นตอน ได้แก่ ศึกษาฉันทลักษณ์ รู้จักเกมกลอน เลือกก่อนรังสรรค์ ประพันธ์ผลงาน วิจารณ์ปรับแก้ สนุกแท้เล่นกัน และแบ่งปันประสบการณ์ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางข้างต้นนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้สอน และผู้เรียน กล่าวคือ ผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อตัวชี้วัดและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ทั้งยังตอบสนองต่อการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการภายในกลุ่มสาระ ขณะที่ผู้เรียนมีโอกาสแสดงความคิด และมีตัวเลือกที่หลากหลายในการเรียนรู้ และการสร้างงาน ตลอดจนได้พัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ และทักษะการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ไปพร้อมกัน

 

คำสำคัญ: เกมกลอน; ผะหมี; กลอนมืด; กลอนจอหงวน; การแต่งคำประพันธ์; การจัดการเรียนรู้ภาษาไทย
(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 13 ฉบับที่ 2)

หนังสืออ่านประกอบบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” สำหรับนักศึกษาชาวจีน

SHI LEI (นิสิต หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)

 

สุภัค มหาวรากร (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)

 

ผกาศรี เย็นบุตร (รองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)

 

หนังสืออ่านประกอบบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” สำหรับนักศึกษาชาวจีน

 

 

การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงทดลอง มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างหนังสืออ่านประกอบบทละครนอก เรื่องสังข์ทอง สำหรับนักศึกษาชาวจีน วิธีการดำเนินการทดลองคือ นำหนังสืออ่านประกอบบทละครนอกเรื่องสังข์ทองที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ไปให้ผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่านตรวจสอบความถูกต้องด้านเนื้อหา รูปแบบ และภาษา แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข หลังจากนั้นนำเครื่องมือไปทดลองกับนักศึกษาชาวจีน 2 ครั้ง เพื่อหาคุณภาพของหนังสืออ่านประกอบ แล้วนำเครื่องมือที่ปรับปรุงแก้ไขไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นนักศึกษาชาวจีนจำนวน 15 คน เพื่อประเมินประสิทธิภาพของหนังสืออ่านประกอบ

ผลการวิจัยพบว่า หนังสืออ่านประกอบบทละครนอก เรื่องสังข์ทอง สำหรับนักศึกษาชาวจีน 8 บท ได้แก่ บทที่ 1 เรื่องย่อสังข์ทอง บทที่ 2 กลอนบทละคร บทที่ 3 คำราชาศัพท์ บทที่ 4 คำไวพจน์ บทที่ 5 ภาพพจน์ บทที่ 6 สำนวนไทย บทที่ 7 ความเชื่อของคนไทย และบทที่ 8 เกร็ดความรู้ มีประสิทธิภาพ 88.40/86.10 ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด และมีค่าดัชนีประสิทธิผล 0.75 แสดงให้เห็นว่า หนังสืออ่านประกอบบทละครนอก เรื่องสังข์ทอง มีประสิทธิภาพและได้เสริมความรู้ ความเข้าใจ สติปัญญา ขยายประสบการณ์ด้วยเนื้อหาที่เข้าใจง่าย นักศึกษาชาวจีนสามารถเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ส่วนแบบประเมินความพึงพอใจสำหรับนักศึกษา ในการใช้หนังสืออ่านประกอบ มีคะแนนเฉลี่ย 4.38 แสดงว่านักศึกษาพอใจหนังสืออ่านประกอบบทละครนอก เรื่องสังข์ทอง สำหรับนักศึกษาชาวจีน

 

หนังสืออ่านประกอบบทละครนอก เรื่องสังข์ทอง สำหรับนักศึกษาชาวจีนที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น สามารถเสริมความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม คติสอนใจ วิถีชีวิต ความเชื่อของคนไทย อีกทั้งฝึกนิสัยรักการอ่าน และการค้นคว้าด้วยตนเอง รวมทั้งเป็นแนวทางให้ครูชาวจีนสามารถนำไปใช้ในการสอนวรรณคดีไทยเรื่องอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างหนังสืออ่านประกอบบทละครนอก เรื่องสังข์ทอง ในครั้งนี้นับเป็นการเผยแพร่วรรณคดีไทยให้ชาวจีนได้รู้จักมากขึ้นอีกด้วย

 

คำสำคัญ: สังข์ทอง, หนังสืออ่านประกอบ,นักศึกษาจีน

 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของปริญญานิพนธ์เรื่อง หนังสืออ่านประกอบบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” สำหรับนักศึกษาชาวจีน. ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. ปริญญานิพนธ์นี้ได้รับทุนสนับสนุนจากบัณฑิตวิทยาลัย ประจำปี 2559

 

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 13 ฉบับที่ 2)

พระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” : การสืบทอดและการสร้างสรรค์วรรณคดีชาดกในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย

ณัฐกาญจน์ นาคนวล (อาจารย์ ดร. ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)

 

พระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” : การสืบทอดและการสร้างสรรค์วรรณคดีชาดก ในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย

 

 

บทความนี้ศึกษา พระมหาชนก พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะเรื่องเล่าทศชาติชาดกในสังคมไทยร่วมสมัย โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาการสืบทอด และการสร้างสรรค์ ทั้งด้านเนื้อหา แนวคิด กลวิธีการเล่าเรื่อง และรูปแบบการนำเสนอ ผลการศึกษาพบว่า พระราชนิพนธ์พระมหาชนก แสดงให้เห็นการสืบทอดเนื้อหา และแนวคิดทั้งจากวรรณคดีชาดก วรรณคดีพระพุทธศาสนา และวรรณคดีคำสอน โดยนำขนบวรรณคดีมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทสังคม และผู้เสพ มีการสร้างสรรค์กลวิธีการเล่าเรื่องด้วยการดัดแปลง และเปลี่ยนเนื้อหาตอนจบ โดยใช้รูปแบบหนังสือภาพประกอบเรื่องในการนำเสนอ กล่าวได้ว่า พระราชนิพนธ์พระมหาชนกแสดงให้เห็นกระบวนการการสืบทอด และสร้างสรรค์ในวัฒนธรรมทศชาติชาดก เป็นชาดกประจำรัชสมัยในรัชกาลที่ 9 และเป็นวรรณคดีชาดกสมัยใหม่ อันยืนยันการดำรงอยู่ของเรื่องเล่าทศชาติชาดกได้อย่างชัดเจน

 

คำสำคัญ: พระมหาชนก, วรรณคดีชาดก, วรรณคดีชาดสมัยใหม่

 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตเรื่อง “เรื่องเล่า
ทศชาติชาดก: การสืบทอดในสังคมไทยร่วมสมัย” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และ อาจารย์ ดร. น้ำผึ้ง ปัทมะลางคุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม ผู้วิจัยขอกราบขอบพระคุณสำหรับคำแนะนำอันมีค่ายิ่งไว้ ณ โอกาสนี้

 

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 13 ฉบับที่ 2)

ราชธรรมในจามเทวีวงศ์ : ความสัมพันธ์กับการสร้างบารมีเพื่อเป็นพระอินทร์

ธีรพัฒน์ พูลทอง (อาจารย์ ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก)

 

ราชธรรมในจามเทวีวงศ์ : ความสัมพันธ์กับการสร้างบารมีเพื่อเป็นพระอินทร์

 

 

บทความนี้มุ่งศึกษา จามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริปุญไชย ในสองประเด็นสำคัญคือ หลักราชธรรม และคติการสร้างบารมีธรรมเพื่อเป็นพระอินทร์ ผลการศึกษาพบว่า ราชธรรมที่เป็นสาระสำคัญในพงศาวดารฉบับนี้มีสามประการได้แก่ การบำรุงเลี้ยงดูบิดา-มารดา การใช้ธรรมะในการปกครองบ้านเมือง และการเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก นอกจากนี้ยังพบว่า หลักธรรมที่ปรากฏในเรื่องโดยมาก มีความสอดคล้องกับวัตรบทเจ็ดประการ อันเป็นหลักธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะได้ไปจุติเป็นพระอินทร์ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งทำให้เห็นความสัมพันธ์ของหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา กับคติการปกครองแห่งราชวงศ์จามเทวี

 

คำสำคัญ: ราชธรรม, จามเทวีวงศ์, พระอินทร์

 

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 13 ฉบับที่ 2)

ครุพัน : สหัสวัตถุศักดิ์สิทธิ์กับบทบาทหน้าที่ในวัฒนธรรมอีสาน

สุทธินันท์ ศรีอ่อน (อาจารย์ ดร. ประจำสาขาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

 

ครุพัน : สหัสวัตถุศักดิ์สิทธิ์กับบทบาทหน้าที่ในวัฒนธรรมอีสาน

 

 

ครุพัน คือ วัตถุศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาอีสานกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ดเกือบทุกวัดจำเป็นต้องมีวัตถุดังกล่าว เดิมครุพันสร้างขึ้นเพื่อบรรจุเครื่องร้อยเครื่องพัน เช่น ดอกบัวต่างๆ หมากพัน พลูพัน ดอกไม้นานาพรรณ บุหรี่พันมวน เป็นต้น ครุพันถูกสร้างขึ้นใช้ในพิธี และประเพณีบุญเทศน์มหาชาติเดือนสี่ ตามคติของชาวบ้านเพื่อเป็นเครื่องบูชาคาถา 1000 พระคาถา ในเทศกาลเทศน์มหาชาติ หรือบุญผะเหวด ในอีสานกลางจำเป็นต้องตั้งครุพันไว้ในพิธี 1 อัน 1 คู่ หรือ 2 คู่ เมื่อเสร็จงานบุญแล้ว ทุกวัดมักนำไปไว้ที่โต๊ะหมู่บูชา ต่อมาวัตถุดังกล่าวได้ดำรงอยู่ และมีหน้าที่สำคัญในฐานะเครื่องป้องกันอุปทวันตรายในพิธีกรรมของชาวอีสาน ทั้งบุญพิธีงานระดับครอบครัว เช่น สวดมนต์เย็นงานเฮือนดี ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น รวมถึงบุญพิธีงานระดับชุมชน เช่น บุญข้าวจี่ งานบุญคุ้มหรือบุญเบิกบ้าน งานบุญบั้งไฟ เป็นต้น บทบาทหน้าที่ที่สำคัญของครุพันคือ เป็นเครื่องต้านทานและป้องกันอันตรายที่อาจมีขึ้นในพิธี และมีไว้เพื่อป้องกันอัปมงคลอื่นๆ ที่จะบังเกิดขึ้นขณะทำพิธี

 

ประเด็นสำคัญครุพันมีหน้าที่แทนเครื่องร้อยเครื่องพันในงานบุญเดือนสี่เทศน์มหาชาติ ในปีที่ไม่สามารถจะเครื่องบูชาคาถาพันอย่างอื่น เช่น ดอกไม้ หมาก พลู ดอกบัว ดอกสะแบง หรือเครื่องพันได้ จะต้องตั้งครุพันไว้ในพิธีถือว่าได้ทำการบูชาครบถ้วนแล้ว ประเด็นสำคัญนอกจากครุพันจะทำหน้าที่เป็นอารักษ์วัตถุในพิธีแล้ว ครุพันยังได้รับความเคารพนับถือไม่ต่างจากพระอุปคุต หรือพระสงฆ์ทั่วไป เพราะปรากฏว่าตำแหน่งสำหรับตั้งครุพันมักจะเป็นโต๊ะหมู่บูชาร่วมกับพระพุทธรูป หากแต่ต่ำกว่าพระพุทธรูป อีกทั้งยังมักได้รับการเก็บรักษาไว้บริเวณอาสน์สงฆ์สำหรับเจ้าอาวาส ดังนั้น ครุพันในวัฒนธรรมอีสานจึงไม่ใช่เพียงวัตถุในพิธีทั่วไป หากแต่เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ที่มีบทบาทหน้าที่ เช่นเดียวกับพระอุปคุตที่จะต้องได้รับการเชิญมาในพิธี และมีสถานะเช่นเดียวกับพระสงฆ์ที่มีอายุพรรษาเช่นเจ้าอาวาส และมีสถานะเป็นเช่นเดียวกับพระเครื่องหรือของมงคล

 

คำสำคัญ: วัตถุศักดิ์สิทธิ์, บทบาทหน้าที่, พระอุปคุต

 

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 13 ฉบับที่ 2)

ประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ : บทบาทประเพณีที่มีต่อชาวสุรินทร์ในปัจจุบัน

สารภี ขาวดี (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประจำหลักสูตรภาษาไทยและการสื่อสาร สาขาภาษาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี )

 

ประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ : บทบาทประเพณีที่มีต่อชาวสุรินทร์ในปัจจุบัน

 

 

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของ ประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ ที่มีต่อชาวสุรินทร์ในปัจจุบัน โดยผู้วิจัยตั้งสมมติฐานว่าการดำรงอยู่ของประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ สัมพันธ์กับการมีหน้าที่รับใช้สังคม ผู้วิจัยเก็บข้อมูล 2 แหล่ง คือ เอกสาร และลงพื้นที่ภาคสนามประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ ของจังหวัดสุรินทร์ ในปี พ.ศ. 2555-2559 เพื่อสังเกตแบบมีส่วนร่วม และสัมภาษณ์บุคลากรขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ผู้ร่วมงาน และนักท่องเที่ยว ผลการศึกษาพบว่า ประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ มีบทบาทต่อชาวสุรินทร์ในปัจจุบัน 4 ประการ ได้แก่ บทบาทในการรวมกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดสุรินทร์เป็นหนึ่งเดียว บทบาทในการให้ความบันเทิงแก่ผู้ร่วมงาน บทบาทในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประจำเดือนสิบของจังหวัดสุรินทร์ และบทบาทในการเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม และกระบวนการขัดเกลาทางสังคม

 

คำสำคัญ: ประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ บทบาท
 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง ประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ จังหวัดสุรินทร์: การประกอบสร้าง และบทบาทของประเพณีประดิษฐ์  ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก “ทุนอุดหนุนวิทยานิพนธ์สำหรับบัณฑิต” บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีงบประมาณ 2559 โดยมีศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

 

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 13 ฉบับที่ 2)

ผู้เชี่ยวชาญประจำฉบับ - วารสารไทยศึกษา ปีที่ 13 ฉบับที่ 2

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ประคอง นิมมานเหมินท์

     สาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ศิราพร ณ ถลาง

     เมธีวิจัยอาวุโส สกว.

 

รองศาสตราจารย์ ดร. ปฐม หงษ์สุวรรณ

     ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

     ประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและปริญญาเอก) สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

รองศาสตราจารย์ ฤทธิรงค์ จิวากานนท์

     รองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธานีรัตน์ จัตุทะศรี

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรางคณา ศรีกำเหนิด

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาวัฒนธรรมตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุภัค มหาวรากร

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อาทิตย์ ทองทักษ์

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เปรม สวนสมุทร

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาการสอนภาษาไทย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย