ฮิญาบ (hijab) เป็นภาษาอาหรับ ในภาษามลายูถิ่นปาตานีเรียกว่า “กายน์กลูบง” คือ ผ้าคลุมศีรษะของผู้หญิงชาวมุสลิม โดยจะสวมใส่เพื่อปกปิดเส้นผมและบริเวณหน้าอก ส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงจะต้องคลุมฮิญาบในพื้นที่สาธารณะหรือในบริเวณที่มีผู้ชายที่ไม่ใช่คนในครอบครัวของตน ในทัศนะอิสลาม “เอารัตหรือเอาเราะห์” (สิ่งที่พึงปกปิด) สำหรับผู้หญิงคือทุกส่วนของร่างกาย เว้นแต่ใบหน้าและฝ่ามือ ซึ่งมีความต่างจากผู้ชายที่ต้องปกปิดแค่จากหัวเข่าถึงสะดือเท่านั้น ดังนั้นเส้นผม คอ และสัดส่วนบริเวณหน้าอกของผู้หญิงจึงต้องปกปิดไปด้วย เพื่อเก็บความเป็นส่วนตัวจากผู้ชายที่ไม่ใช่ครอบครัวของตนและเพื่อป้องกันไม่ให้สายตาและกามารมณ์ของผู้ชายจับจ้อง ในแง่สังคม ความหมายของการสวมใส่ฮิญาบในปัจจุบันถูกตีความว่าคือการจำแนกผู้หญิงคนนั้นเป็นผู้หญิงมุสลิมหรือไม่ ผู้หญิงที่สวมใส่ฮิญาบอาจถูกมองว่าไม่ใช่ผู้หญิงมุสลิม

อันที่จริง คำว่าฮิญาบ (حجاب) ที่ถูกระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานคือการอิงถึงม่านกั้นระหว่างห้องของภรรยาท่านศาสดามูฮำหมัดกับห้องสำหรับรับแขก มิได้หมายถึงผ้าคลุมศรีษะโดยตรง แต่ต่อมานักวิชาการอิสลามได้ตีความเพิ่มเติมโดยเชื่อมกับคำบัญญัติที่ให้มุสลิมผู้หญิงต้องปกปิดร่างกาย ทำให้ความหมายของฮิญาบได้กลายมาเป็นอย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน
ผู้หญิงมุสลิมเริ่มสวมใส่ฮิญาบมากขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์สำคัญของโลกสองเหตุการณ์ ได้แก่การปฏิวัติอิหร่าน (Iranian Revolution 1979) ทำให้มีการชูอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมมากขึ้น และอีกครั้งคือเหตุการณ์เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซนเตอร์ที่นครนิวยอร์คในปีค.ศ. 2001 เหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลสหรัฐเชื่อว่ากลุ่มมุสลิมอัลกออิดะห์ในตะวันออกเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง (https://themomentum.co/hijab-muslim/) ทำให้มุสลิมทั่วโลกตื่นตัวและร่วมกันป้องกันศาสนาของตนผ่านการแสดงออกเชิงอัตลักษณ์มากขึ้น สำหรับมุสลิมในประเทศไทยก็มีความตื่นตัวในการที่จะหันมาสวมใส่ฮิญาบมากขึ้น โดยเฉพาะนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย หากแต่ระเบียบราชการไทยในขณะนั้นยังไม่อนุญาตให้ผู้หญิงสวมฮิญาบได้ ทั้งในมหาวิทยาลัยและสถานที่ราชการ นำมาซึ่งการประท้วงครั้งใหญ่ที่มัสยิดกลางจังหวัดยะลาในปี พ.ศ.2531 นำโดยนักศึกษาจากวิทยาลัยครูยะลา เพื่อเรียกร้องให้มุสลิมมีสิทธิ์ในการแต่งตัวตามหลักศาสนาอิสลามได้ในสถานศึกษา สถานที่ราชการ รวมถึงสถานที่เอกชนต่าง ๆ อาจกล่าวได้ว่าการประท้วงฮิญาบที่ยะลา พ.ศ.2531 คือเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงมุสลิมในประเทศไทยสามารถสวมใส่ฮิญาบได้อย่างเสรีมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับประเภทของฮิญาบที่ผู้หญิงมุสลิมสวมใส่อยู่ในปัจจุบันมีหลายแบบ อาทิเช่น ผ้าคลุมบาวา ผ้าคลุมสามเหลี่ยม ผ้าคลุมแบบสวม ผ้าคลุมมัสตูรอ (ปกปิดใบหน้า เหลือแต่ดวงตา) ผ้าคลุมขนาดใหญ่ เป็นต้น ในจังหวัดยะลาถือเป็นตลาดผลิตฮิญาบขนาดใหญ่ที่ส่งไปขายทั่วประเทศ รวมถึงส่งออกไปขายที่ประเทศมาเลเซียด้วย