จังหวัดยะลามีกล้วยอยู่ชนิดหนึ่งที่แตกต่างไปจากท้องถิ่นอื่นและพบได้ในจังหวัดยะลาเท่านั้น คือกล้วยหิน แต่การคมนาคมขนส่งที่ดีขึ้นทำให้กล้วยหินป็นที่รู้จักและแพร่หลายในหลายจังหวัดชายแดนใต้ กล้วยหินเป็นกล้วยป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มีมากในอำเภอบันนังสตา แถวหมู่บ้านโต บ้านกาโสด บ้านป่าหวัง บ้านตะบิงติงงี บริเวณเลียบฝั่งแม่น้ำปัตตานีที่เป็นหินกรวด ชาวบ้านจึงเรียกกล้วยชนิดนี้ว่า “กล้วยหิน”
ลักษณะต้นของกล้วยหินคล้ายกับกล้วยชนิดอื่น ๆ ทั่วไป แต่ลักษณะหวีและผลค่อนข้างแตกต่างไปจากกล้วยชนิดอื่น ๆ ลักษณะของหวีจะมีผลถี่แน่นเรียงชิดติดกัน ผลสั้นเป็นรูปแบน ๆ ขนาดเล็กกว่ากล้วยน้ำว้าเล็กน้อย เปลือกหนา มีเนื้อน้อย เมื่อสุกจะมีสีเหลือง แต่จะเก็บในขณะที่ผลแก่ โดยสังเกตได้จากลักษณะของใบเลี้ยงจะเป็นสีน้ำตาลไหม้ ไม่นิยมเก็บตอนผลสุกเพราะจะเก็บไว้ไม่ได้นาน และถ้าผลสุกงอม แล้วจะใช้ต้มหรือทำเป็นขนมรับประทานไม่อร่อยเท่ากับผลที่พอสุก
ต้นกล้วยหินเจริญเติมโตได้ดีในบริเวณที่มีดินกรวดหิน และดินร่วนปนดินเหนียว แตกกอไว ในแต่ละต้นสามารถแตกเป็นหลายกอทำให้ได้ผลผลิตมาก กล้วยหินเป็นกล้วยป่าจึงมีความแข็งแรง สามารถเก็บเกี่ยวผลได้หลายปี
ต้นกล้วยหินสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน คือ ราก นำมาทำยาสมุนไพรทั้งสดและแห้ง ถ้าหากสดจะนำไปฝนกับน้ำ ส่วนรากแห้งจะต้มกับน้ำ ดื่มรักษาอาการท้องร่วง แก้ไข้ ดับกระหายได้
ลำต้น ปอกส่วนที่เป็นหยวกใช้แกงกับเนื้อหรืออื่น ๆ ได้อร่อยกว่าหยวกอื่นทั้งหมด หรือไม่ก็เอาลำต้นมาหั่นหรือสับใช้เป็นอาหารสัตว์
ใบตองกล้วย ใช้ห่อขนม ถ้านำไปลนไฟให้นิ่มจะยิ่งห่อได้ดีกว่าใบสด ๆ หรือนำไปย่างไฟเพื่อใช้ประคบแผลพุพองและผื่นคัน
ส่วนหยวกกล้วยและหัวปลีใช้รักษาอาการกรดในกระเพาะอาหาร ควบคุมน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน หรือจะรับประทานปลีเป็นผักจิ้มทั้งสด ๆ หรือลวกน้ำร้อนก่อนก็ได้ ส่วนของกล้วยดิบนั้นนำมาผลิตเป็นผงแป้งเพื่อรักษาแผลอักเสบบริเวณผิวหนัง สรรพคุณที่โดดเด่นอีกอย่างของกล้วยชนิดนี้คือมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงช่วยชะลอวัยและบำรุงร่างกายได้ดี
ผลกล้วยหินไม่นิยมนำมารับประทานตอนสุกงอมเหมือนกล้วยชนิดอื่น เนื่องจากไม่ค่อยอร่อย แต่นิยมทำแปรรูปเป็นขนมได้หลายชนิดที่รู้จักกันดีอย่าง กล้วยเชื่อม กล้วยบวชชี กล้วยทับ กล้วยทอด กล้วยหมก กล้วยต้ม กล้วยต้มมีรสอร่อยเป็นที่นิยม กล้วยหินต้มที่สามแยกบ้านเนียงเป็นที่เล่าลือกันว่าอร่อยมาก สร้างอาชีพและรายได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นมัสมั่นกล้วย แกงกะทิ กวนอาซูรอ สังขยากล้วยหิน ส่วนเปลือกกล้วยหินก็นำไปแปรรูปทำเป็นแชมพูสระผม สบู่ และสีย้อมผ้า (อ้างอิง http://blog.arda.or.th/กล้วยหิน)
เนื่องจากกล้วยหินเป็นที่ต้องการของตลาด ชาวบ้านแถบอำเภอบันนังสตาจึงได้นำกล้วยหินมาปลูกเป็นอาชีพเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว ปัจจุบันมีการปลูกกันมากที่นิคมพัฒนาภาคใต้ 5 (นิคมกือลอง) บ้านโต และเขื่อนบางลาง โดยปลูกกันเป็นสวน มีการบำรุงรักษาตามหลักเกษตร การทำสวนกล้วยหินจึงกลายเป็นอาชีพหนึ่งของเกษตรกรในบริเวณดังกล่าว และนับวันจะขยายตัวมากขึ้น เพื่อทดแทนกล้วยหินป่าที่หมดไปทุกที
