ชาวไทยมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ มีความเชื่อเกี่ยวกับการเลือกที่อยู่อาศัยและการวางแผนผัง
บ้านที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ มิได้เป็นความเชื่อทางศาสนา ดังนั้นความเชื่อเรื่องที่อยู่อาศัยจึงคำนึงถึงความเหมาะสมว่า “ควร” หรือ “ไม่ควร” เท่านั้น ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าต้องปฏิบัติแต่อย่างใด
ชาวไทยมุสลิมมีความเชื่อว่าลักษณะของที่ดินที่ต้องระมัดระวัง ไม่ควรสร้างบ้านบนที่ดินลักษณะดังต่อไปนี้
- ที่ดินลักษณะเหมือนลิ้น มีที่นาขนาบข้าง
- ที่ดินที่เป็นสุสานหรือเคยเป็นสุสานมาก่อนไม่ว่าในศาสนาใดก็ตาม
- ที่ดินที่มีผีสิง หรือที่ที่เคยมีคนถูกผีหลอก
- ที่ดินที่มีทางลาดต่ำ และมีน้ำขังในทางทิศเหนือ
ส่วนการวางแผนผังบ้าน ชาวไทยมุสลิมมีความเชื่อว่า
- หน้าบ้านควรหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ครัวอยู่ทางทิศตะวันตก ยุ้งข้าวอยู่ทางทิศใต้ของตัวบ้าน
- จำนวนบันได้ต้องเป็นจำนวนคี่
- กลางบ้านต้องไม่มีประตู
- ถ้าลูกหลานจะต่อเติมบ้าน หรือสร้างบ้านในบริเวณเดียวกัน ห้ามสร้างทางทิศตะวันออกของบ้านหลังเดิม
ความเชื่อเหล่านี้สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน แต่ในปัจจุบันอาจคลายความเชื่อเรื่องนี้ไปมาก ด้วยเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อาจไม่ให้ความสำคัญกับลักษณะสำคัญของทิศทางที่อยู่อาศัยมากนัก
(อ้างอิงจากงานวิจัยเรื่อง ลวดลายตกแต่งบ้านของชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ ของ นันทา โรจนอุดมศาสตร์ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดยะลา วิทยาลัยครูยะลา. 2532)